ในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าการเกษตรหลายชนิดตกต่ำเข้าขั้นวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือก ยางพารา หรือมันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่คนเริ่มหันมาปลูกกันมากในภาคอีสาน ทั้งยังมีแรงส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชนเพื่อตอบสนองนโยบายพลังงานทดแทนจากภาครัฐ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเกิดคำถามจากหลายฝ่ายว่า ปาล์มน้ำมันจะเหมาะสมแก่การปลูกและเป็นทางออกทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนสำหรับภาคอีสานหรือไม่?

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ผลิตปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 90 ของทั้งหมด ซึ่งอินโดนีเซียครองอันดับ 1 ถึงร้อยละ 55.1 ตามมาด้วยมาเลเซียร้อยละ 33.77 และไทยร้อยละ 3.73 จากข้อมูลของสำนักยุทธศาสตร์การค้า
ในปี 2547 ได้มีการปาล์มน้ำมันนำเข้ามาปลูกอย่างจริงจังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านการสนับสนุนของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นได้มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ใบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทน มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ 10 ล้านไร่ ภายในปี 2572 เพื่อสอดรับกับความต้องการไบโอดีเซลซึ่งสกัดมาจากปาล์มเข้าเป็นส่วนผสมในน้ำมัน ทำให้การปลูกปาล์มน้ำมันเริ่มขยายเข้ามาในอีสาน เห็นได้จากพื้นที่ปลูกที่ทวีคูณขึ้นเหยียบหลักแสนไร่ในเวลาไม่ถึงสิบปี
เอกชนเตรียมผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ ตั้งเป้าสิบปี-ล้านไร่
นอกจากภาครัฐ กลุ่มเอกชน “กรีนอีสานปาล์ม” ได้เข้ามามีบทบาทส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมัน โดยเน้นไปยังพื้นที่อีสานตอนบนที่มีพื้นที่ที่มีความชื้นที่เหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน ผ่านการตั้งสถานที่รับซื้อ และโรงสกัดน้ำมันจากปาล์มน้ำมันในพื้นที่เพาะปลูก โดยตั้งเป้าให้ภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันหนึ่งล้านไร่ภายในสิบปี
จากรายงานของศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center) “กรีนอีสานปาล์ม” เป็นความร่วมมือของบริษัทที่ใช้ปาล์มน้ำมันในการผลิตเคมีภัณฑ์ ในเครือโกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือปตท. กับบริษัทประกอบกิจการโรงสกัดน้ำมันอย่าง อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด และบริษัทศูนย์บริการรับซื้อปาล์ม โฮมปาล์ม เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกษตรกรภาคอีสานตอนบนหันมาปลูกปาล์มน้ำมันแบบยั่งยืนและครบวงจร โดยเน้นพื้นที่ในจังหวัดอีสานตอนบนสกลนคร บึงกาฬ หนองบัวลำภู และนครพนม ซึ่งทางกลุ่มมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม
ปัจจุบันบริษัทอีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มได้เข้ามาตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์มแล้ว และเริ่มผลิตตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และวางแผนจะเปิดโรงสกัดอีกหนึ่งโรงในจังหวัดสกลนคร
“การเลือกพื้นที่ภาคอีสานปลูกปาล์ม เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการปาล์มอีกมาก รวมทั้งต้องการเข้ามาบูรณาการการปลูกปาล์มที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน ซึ่งภาคอีสานเพิ่งเริ่มต้นจึงสามารถเอาระบบมาบริหารจัดการได้ แต่ภาคใต้มีการเพาะปลูกมานาน การเข้าไปสร้างระบบอาจเกิดความขัดแย้งกับผลประโยชน์ของผู้อื่นได้ ซึ่งยืนยันว่าภาคอีสานสามารถปลูกปาล์มได้แน่นอน และทำให้มีคุณภาพดีเท่ากับภาคใต้ได้” นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล กล่าวกับศูนย์ข่าวพลังงาน
ปาล์มน้ำเหมาะสมหรือไม่ในพื้นที่อีสาน?
พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่อีสานมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐศาสตร์การเกษตรเผยว่าในปี 2551 อยู่ที่ 41,701 ไร่ มาถึงปัจจุบันในปี 2559 มีจำนวน 112,087 ไร่ เพิ่มขึ้นกว่า 1.69 เท่าตัว แต่เมื่อเทียบกับพื้นที่การปลูกทั้งประเทศที่มี 4,515,678.7 ไร่ พื้นที่ปลูกในภาคอีสานก็นับเป็นเพียงร้อยละ 2.48 เท่านั้น นอกจากนี้แล้ว จำนวนผลผลิตต่อไร่ในอีสานยังต่ำกว่าภูมิภาคอื่นอย่างเช่นภาคใต้หรือภาคกลาง เพราะด้วยความที่ว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากในการเติบโต ในภาคอีสานจึงมักปลูกกันในพื้นที่มีแหล่งน้ำหรือมีอัตราความชื่นที่สูง โดยจังหวัดในอีสานที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มจำนวนมากได้แก่จังหวัดริมโขงเช่น อุบลราชธานี หนองคาย เลย บึงกาฬ
นายภสุ สกุลอารีวัฒนา นักวิชาการศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน จังหวัดหนองคาย จากประสบการณ์ที่เริ่มทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันมาตั้งแต่ปี 2549 มองว่าปาล์มน้ำมันสามารถปลูกได้ในภาคอีสาน แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ในอีสานจะปลูกได้ผลผลิตออกมาดี “มันก็เป็นไปได้นะที่ปาล์มจะเป็น[ที่นิยม]เหมือนยางพาราถ้าเราปลูกกันแบบไม่คุมพื้นที่ดีๆ แต่ค่อนข้างจะยากนะเพราะพื้นที่ที่เหมาะจะปลูกมันก็มีจำกัดพอสมควร” ภสุกล่าวโดยยกตัวอย่างยางพาราซึ่งปลูกกันอย่างแพร่หลายในภาคอีสาน จนปัจจุบันภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นอันดับสองรองจากภาคใต้
พื้นที่ที่เหมาะสมเหล่านั้นควรเป็นพื้นที่ใกล้กับแหล่งน้ำและมีน้ำเลี้ยงได้ในฤดูแล้ง จึงเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะปลูกในพื้นที่อีสานตอนบนหรือพื้นที่ติดแม่น้ำ
ปาล์มยังอาจเข้ามาเป็นคู่แข่งกับการปลูกข้าวซึ่งเป็นพืชหลัก เกษตรกรอีสานบางส่วนที่เปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกปาล์มน้ำมัน สาเหตุก็เพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร ซึ่งปาล์มน้ำมันใช้แรงงานน้อยในกระบวนการผลิต เมื่อเทียบกับข้าวซึ่งต้องใช้แรงงานอย่างหนักตั้งแต่หว่านจนเก็บเกี่ยว
แรงจูงใจหลักที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันคือราคารับซื้อที่สูง ภสุมีข้อสังเกตว่าในช่วงที่ราคาปาล์มขึ้นไปสูงถึง 4-5 บาทต่อกิโลกรัม จะมีเกษตรกรมาซื้อต้นกล้าในศูนย์วิจัยของเขาจำนวนมาก แต่ภสุยังมองว่า ปัจจุบันผลผลิตต่อไร่ในอีสานจากที่ได้สำรวจยังต่ำอยู่เมื่อเทียบกับผลผลิตต่อไรในภาคใต้ ซึ่งตนคิดว่ามาจากปาล์มในหลายพื้นที่ยังมีอายุน้อยอยู่ ผนวกกับเกษตรกรในอีสานยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดการดูแลปาล์มน้ำมัน “ผมคิดว่ามันเป็นพืชที่ยั่งยืนเลยถ้าเกษตรกรดูแลดีๆ และปลูกในที่ที่เหมาะสม” ภสุกล่าว
อนาคตความเป็นไปของปาล์มน้ำมันของอีสาน

ราคาปาล์มน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ “ดี” สวนทางกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ ที่ราคาตกต่ำ อันเป็นปัจจัยทำให้มีเกษตรกรหันมาปลูกปาล์มกันมากขึ้น ท่านสามารถดูภาพมาตรวัดระดับราคาของสินค้าการเกษตรและปศุสัตว์อื่นๆ ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นายสมโภชน์ กุลสุวรรณ เกษตรกร ในอ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นเกษตรกรอีสานรายแรกๆ ที่นำปาล์มน้ำมันเข้ามาปลูกในบ้านเกิดตั้งแต่ปี 2546 หลังที่เคยลงทุนเช่าพื้นที่รัฐบาลมาเลเซียปลูกปาล์มน้ำมันมามากกว่าสิบปี ทำให้เห็นว่าสภาพดินเป็นปัจจัยรองๆ ที่ทำให้ต้นปาล์มให้ผลผลิตที่ดี การเลือกพันธุ์ของปาล์มที่จะใช้ปลูกและการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธีต่างหากที่เป็นปัจจัยที่สำคัญกว่า ดังนั้นสมโภชน์จึงเชื่อว่าสภาพภูมิอากาศของอีสานไม่ใช่อุปสรรคนักในการปลูกปาล์มน้ำมัน เขามองว่าเพราะเกษตรกรในอีสานยังไม่เข้าใจวิธีการดูแลที่ถูกต้องทำให้ปาล์มให้ผลผลิตต่ำกว่าที่ควรเป็น
“ถ้าปีนี้ใบมันเป็นอย่างนี้ อีกปีเป็นอย่างนั้นเราต้องทำยังไง การเลือกพันธุ์เหมือนกัน พันธุ์ไหนจะอยู่กับอากาศบ้านเราทนแล้งได้ เราต้องรู้ว่าพันธุ์ไหนมาจากประเทศแถบไหน” สมโภชน์กล่าว นอกจากนั้นแล้วเขายังสังเกตว่าเกษตรกรในอีสานมักจะเลือกพันธุ์ที่ราคาถูกสามารถที่หาได้ตามท้องตลาดไว้ก่อน ซึ่งพันธุ์เหล่านั้นไม่เหมาะกับพื้นที่ภาคอีสาน
ไร่ปาล์มของสมโภชน์ “สวนศิริกาน” ให้ผลผลิตปาล์มสดมากถึง 3.4-3.7 ตันต่อไร่ ซึ่งสมโภชน์มองว่าสูงสำหรับภาคอีสาน อาจเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหากดูแลปาล์มให้ดี ภาคอีสานก็สามารถปลูกปาล์มน้ำมันมีผลิตที่ดีใกล้เคียงกับทางภาคใต้ได้
จากประสบการณ์ในวงการปาล์มน้ำมันมากกว่า 20 ปี สมโภชน์ยังมองว่าพื้นที่ปลูกปาล์มในอีสานยังน้อยอยู่ จึงยังสามารถขยายพื้นที่ไปได้อีกไปได้อีก เขาเชื่อว่าในอนาคตจะมีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อีกมากที่ต้องการจะมาลงทุนในธุรกิจปาล์มและพลังงานทดแทน ซึ่งพื้นที่การปลูกปาล์มทั่วประเทศยังมีไม่มากเพียงพอต่อความต้องการในอนาคตดังกล่าว
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาราคารับซื้อปาล์มน้ำมันในประเทศไทยถีบตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเผยว่าเมื่อปี 2549 ราคารับซื้อปาล์มน้ำเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2.39 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนในปี 2559 สูงถึง 5.4 บาทต่อกิโลกรัมโดยเฉลี่ย
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ผลิตปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 90 ของทั้งหมด ซึ่งอินโดนีเซียครองอันดับ 1 ถึงร้อยละ 55.1 ตามมาด้วยมาเลเซียร้อยละ 33.77 และไทยร้อยละ 3.73 จากข้อมูลของสำนักยุทธศาสตร์การค้า
กระนั้น อีกฝ่ายที่มองว่าปาล์มน้ำมันไม่น่าจะกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวสำคัญ ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่ามีความเป็นไปได้ยากที่ปาล์มน้ำมันจะปลูกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน “คือราคามันก็ไม่ได้ดีแบบผิดหูผิดตาแบบที่ยางพาราเป็นในสมัยก่อน ดูจากราคาแล้วมันก็พอไปได้ในภาคใต้แต่อีสานผมไม่แน่ใจ”
วิโรจน์มองว่าศักยภาพการแข่งขันของปาล์มน้ำมันของประเทศไทยยังไม่สามารถจะแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตใหญ่อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียได้ด้วยผลผลิตต่อไร่โดยเฉลี่ยของมาเลเซียและอินโดนิเซียสูงกว่าไทย ทำให้แข่งขันได้ยาก นอกจากนั้น วิโรจน์ยังอธิบายปัจจัยหลักสองอย่างที่ทำให้ปาล์มน้ำมันในไทยยังคงดำเนินไป คือการที่รัฐคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศโดยการห้ามนำเข้าปาล์มน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน Asian Free Trade Area (AFTA) ดังนั้นหากรัฐบาลเปิดการค้าเสรีเรื่องปาล์มจะทำให้ประเทศไทยได้พัฒนาความสามารถการแข่งขันกับประเทศเหล่านั้นมากขึ้น อีกประการคือข้อได้เปรียบเรื่องระยะทาง ทำให้ไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศแถบ พม่า กัมพูชา ลาว หรือจีนตอนใต้ได้ แต่ในตลาดโลกโดยรวมประเทศไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ส่วนวิธีการจัดการของรัฐบาลไทย คือการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลลงไปในน้ำมันหากมีปาล์มเหลือภายในประเทศมากๆ นั้น วิโรจน์มองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภคเพราะเป็นการนำน้ำมันไบโอดีเซลที่คุณภาพต่ำกว่าน้ำมันปกติมาใช้กับรถยนต์
ด้วยการที่ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ใช้แรงงานน้อยในกระบวนการปลูกและดูแลจัดการ ทำให้เกษตรกรในประเทศมาเลเซียหันมาปลูกปาล์มน้ำมันกันมาก ซึ่งแต่ในทางกลับกันปาล์มน้ำมันก็เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก หากปลูกในที่พื้นที่มีน้ำน้อยจะทำได้ผลผลิตต่ำตามไปด้วย ทำให้ผลผลิตในภาคใต้ของไทยยังต่ำกว่าในประเทศอย่างมาเลเซีย และจะต่ำลงมาอีกในภูมิภาคที่มีน้ำน้อยอย่างอีสาน
“สิ่งที่พวกกระทรวงเกษตรทำคือพยายามทำเรื่องปาล์มพันธุ์ทนแล้ง มันอาจจะไม่ตายเมื่อขาดน้ำนานๆ แต่เวลาที่น้ำไม่ดีผลผลิตมันก็ไม่ดีด้วย คืออยู่แค่สองสามตันต่อไร่ โจทย์มันก็ยากนะที่จะให้มันทนแล้งด้วยและให้ผลผลิตที่ดีด้วย” วิโรจน์ ณ ระนองทิ้งท้าย