“เป็นหญังตอนทักษิณอยู่ เงินมันคือหาง่ายแท้ คือจังว่าเดมือไปทางใด๋กะมีเงินตกใส่มือโลด”

คือถ้อยคำรำพึงหลังรัฐประหารปี 2549 ของชาวบ้านลาวอีสานคนหนึ่ง หากเราอ่านถ้อยคำนี้ในบริบทของการเสพตำนานพระศรีอาริย์ เราอาจเห็นได้ว่า “พลังวรรณกรรม” ซึ่งถูกเล่า รับฟัง และแทรกซึมอยู่ในพิธีกรรมงานบุญผะเหวด เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความตื่นตัวทางการเมืองของชาวอีสานที่มักถูกมองข้ามไปในคำอธิบายการเกิดก่อของขบวนการคนเสื้อแดง

คอลัมน์ความคิดเห็น โดย วิทยากร โสวัตร

เกิดต้นกัลปพฤกษ์ในศาสนาพระศรีอารย์ ผู้ใส่บาตรทำบุญอื่นๆ จะไปเกิด นึกอะไรก็สอยเอาได้ ภาพ: Moonfleet

รูปเขียนฝาผนังในวัด แสดงภาพของสังคมอุดมคติที่มีความมั่งคั่งพรั่งพร้อม ข้อความขอบล่างของรูปอ่านว่า “เกิดต้นกัลปพฤกษ์ในศาสนาพระศรีอารย์ ผู้ใส่บาตรทำบุญอื่นๆ จะไปเกิด นึกอะไรก็สอยเอาได้” ภาพ: Moonfleet

ในความตื่นตัวทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยของคนอีสานที่ก่อรูปเป็นขบวนการจนเป็นพลังทางสังคมนับเนื่องมาตั้งแต่ปี  2549  ที่มีขบวนการต่อต้านรัฐประหาร  หรือปรากฏการณ์แดงทั่วแผ่นดินในปี 2553  และล่าสุดผลการ Vote No ซึ่งคนอีสานส่วนใหญ่ไม่รับร่างธรรมนูญฉบับมีชัย  มีเงื่อนไขหรือเหตุปัจจัยหนึ่งที่นักวิชาการไม่ค่อยพูดถึงกัน  นั่นคือ  “พลังวรรณกรรม” หรือคติความเชื่อที่เกิดจากเรื่องเล่าแห่งอุดมคติ

อาจเพราะคำคำนี้ตกสมัยไปแล้ว  ตั้งแต่การต่อสู้ทางความคิดแบบสังคมนิยมพ่ายแพ้ไปในสังคมไทย  จนปัญญาชนไม่ให้ค่าแล้วก็ได้ แต่ผมกลับคิดว่าในขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของคนอีสานนั้นมี “พลังวรรณกรรม” เป็นแรงขับเคลื่อนอยู่อย่างแน่นอน

ทำไมผมจึงพูดเช่นนี้?  ก็เพราะว่าบรรยากาศของสังคมอีสานในยุคหนึ่งมันเต็มไปด้วยวรรณกรรมหรือเรื่องเล่า  เพราะวรรณกรรมหรือวรรณคดีไม่ได้มีจุดเริ่มหรือศูนย์กลางอยู่ในราชสำนัก  จึงไม่ผ่านการชี้ผิด-ถูก  ชั้นสูง-ชั้นต่ำ  มันจึงแพร่กระจายตัวได้ง่าย ดังที่ธวัช ปุณโณทก ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในงานศึกษาเรื่อง วรรณกรรมอีสาน ว่า “…การที่หัวเมืองอีสานเป็นเมืองเล็กๆ ไม่มีราชธานีที่มั่นคงและมีความเจริญรุ่งเรือง  จึงไม่ปรากฏว่าราชสำนักเป็นแหล่งกลางในการส่งเสริมวรรณกรรมให้เจริญรุ่งเรือง  สถาบันกลางของวรรณกรรมอีสานจึงเป็นวัดและชาวบ้านไป…”

วรรณกรรมที่ผมพูดถึงนี้หมายรวมถึงทั้งการอ่าน-เขียน และการฟัง-เล่า ซึ่งหลายครั้งก็แยกจากกันไม่ได้ อย่างเช่นงันเฮือนดี (งานศพ)  ก็จะมีคนที่อ่านหนังสือออกเปิดใบลานอ่านแล้วผู้คนก็แห่ล้อมเข้ามาฟัง  นี่ยังไม่นับวรรณกรรมที่ไปอยู่ในการแสดงหมอลำซึ่งทำนองการเทศน์และการลำนั้นมีลักษณะเดียวกันจึงไปกันได้ง่ายซึ่งทำให้การแพร่กระจายกว้างออกไปอย่างไร้ขอบเขตพื้นที่และระดับการศึกษา

การพูดจาของคนลาวฝั่งอีสานก็ยังเป็นท่วงทำนองเป็นผญา  แม้ในยุคหลังบรรยากาศแบบที่ชาวอีสานทั้งมวลเป็นนักกาพย์นักกลอนกันทั่วไปจะไม่มีแล้ว  แต่ในงานบุญผะเหวดสิ่งนี้ก็ยังคงอยู่ นึกภาพออกไหมครับ  ในงานบุญผะเหวด  ที่ศาลานั้นจะมีผ้าผะเหวดขึงแสดงไว้รอบ  แล้วจะมีพ่อพราหมณ์รับสลากกัณฑ์ของคนแต่ละคนมาแล้วพาไปที่ช่องภาพที่ตรงกับกัณฑ์นั้นๆ แล้วก็จะเล่าบอกเป็นนิทานบ้าง  เป็นท่วงทำนองลำหรือผญาบ้าง  หรือแม้แต่เด็กๆ ที่ไปวัดอยากรู้พ่อพราหมณ์หรือผู้ใหญ่คนอื่นก็จะเล่าเรื่องจากภาพวาดเหล่านั้นให้ฟัง

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า  พระเวสสันดรชาดก  ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องทศบารมีหรือพระเจ้าสิบชาติไม่ได้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายหรือถึงขั้นถือเป็นบุญใหญ่ในภาคอื่นๆ ของประเทศไทย  ยกเว้นภาคอีสาน ความนิยมของเวสสันดรชาดกคำกลอนนั้นสำคัญถึงขนาดที่ “ลาว คำหอม” ยังเขียนผญาสะท้อนไว้ในคำนำรวมเรื่องสั้น “ฟ้าบ่กั้น” ฉบับแปลเป็นภาษาสวีดิช

“คิดฮอดบ้าน              บุญพระเวสน์คือสิหลาย
คือสิมีกันหลอน           แห่งันรำฟ้อน
ทศพรกัณฑ์ต้น            มหาพนใกล้สิเที่ยง
เสียงมะลึกคึกคื้น         ยามลืมอ้ายผู้อยู่ไกล”

แม้แต่ระเบียบวิธีการเทศน์มหาชาติของคนลาวอีสาน ก็มีลักษณะเฉพาะมาก  กล่าวคือ  ตัวเนื้อหาพระเวสสันดร 13 กัณฑ์  ถูกห่อหุ้มด้วยเรื่องพระศรีอาริย์   โดยล้อมหน้าด้วย มะไลหมื่น (พระมาลัยขึ้นไปสวรรค์สนทนากับพระศรีอาริย์เรื่องบาปบุญ)  ต่อด้วย มะไลแสน  (พระมาลัยกลับลงมาเทศน์บอกชาวโลกในเรื่องที่สนทนากับพระศรีอาริย์)  และเมื่อจบพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์แล้ว  ยังต้องเทศน์ฉลองหรืออานิสงส์ของการฟังเทศน์นี้จะได้ไปเกิดในสมัยพระศรีอาริย์  ซ้ำยังมีการแห่แหนกันหลอน (ต้นดอกเงิน) เข้าวัด  และบ้านทุกหลังก็มีข้าวปลาอาหารเตรียมไว้ให้ผู้คนกินดื่มฟรีเรียกว่าเอาบุญ คล้ายการจำลองบ้านเมืองในอุดมคติคือโลกยุคพระศรีอาริย์นั่นเอง

เหมือนว่าการเอาบุญผะเหวดของคนอีสาน  หลักใหญ่ใจความไม่ได้อยู่ที่เรื่องราวของพระเวสสันดร  แต่อยู่ที่โลกพระศรีอาริย์

อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร บนผืนผ้าสี่เหลี่ยม ติดต่อกับผู้สนับสนุนจากทางไกลที่มาชุมนุมกันคับคั่งหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว

อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร บนผืนผ้าสี่เหลี่ยม ติดต่อกับผู้สนับสนุนจากทางไกลที่มาชุมนุมกันคับคั่งหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว

ภายหลังรัฐประหารปี 2549  ผมกลับไปที่บ้านเกิดในฐานะคนทำงานกองบรรณาธิการนิตยสารทางเลือกฉบับหนึ่งในกรุงเทพฯ  ถูกชาวบ้านชงกาแฟมาปลุกตั้งแต่เช้า  ให้ไปร่วมถกเถียงปัญหาสังคมการเมือง ทั้งที่สมัยผมเป็นนักศึกษาทำกิจกรรมทางการเมืองและวัฒนธรรมพยายามที่จะชวนคนเหล่านี้พูดคุยเรื่องทำนองนี้ก็ไม่เคยเป็นผล  เหตุเพราะตอนนั้นการเมืองมันดูห่างไกลจากปากท้องและชีวิตของพวกเขา

ระหว่างการสนทนา  มีผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดขึ้นเป็นเชิงถามว่า  “เป็นหญังตอนทักษิณอยู่  เงินมันคือหาง่ายแท้  คือจังว่าเดมือไปทางใด๋กะมีเงินตกใส่มือโลด  แต่ตอนนี้มันคือหาญากคักแท้เงินคำนี่”

ภาพที่เขาพูดว่า  ‘คือจังว่าเดมือไปทางใด๋กะมีเงินตกใส่มือโลด’  ภาษาที่ให้ภาพเปรียบแบบนี้  มันทำให้ผมนึกถึงฮูปในผ้าผะเหวดที่เขาขึงรอบศาลาวัดในงานบุญผะเหวด และเรื่องเล่าของพ่อพราหมณ์  ตรงช่องสุดท้ายสุดปลายผ้าผืนยาวนั้นเป็นรูปสังคมบ้านเมืองในยุคพระศรีอาริย์  ซึ่งในภาพนั้นสื่อความถึงอานิสงส์ของผู้ที่ฟังเทศน์ตั้งแต่แรกเริ่มจนจบภายในวันเดียวไม่มีขาดช่วงตอนแล้วจะได้ไปเกิดในยุคสมัยพระศรีอาริย์ ซึ่งในฮูปนั้นมีถุงเงินถุงทองห้อยย้อยลงมาตามต้นไม้  ใครใคร่หยิบยื่นไปเอาก็ได้สมพ้องต้องกันหมดไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ

และผมก็พบว่าบุญเดือนสี่ (บุญผะเหวด) ปีนั้น  ผู้คนที่มาวัดทั้งนุ่งห่มขาวและแบบทั่วไปต่างก็พูดคุยกันแต่เรื่องการเมือง  เศรษฐกิจ  และขยายวงคุยออกไปในทุกๆ งานที่ชาวบ้านมารวมกัน  ไม่ว่าจะเป็นงานศพ  งานบวช  งานแต่ง ฯลฯ  กระทั่งเกิดสภาเหล้าขาว  สภากาแฟตามสี่แยกในหมู่บ้าน  หรือเพิงพักชุมทางข้างเถียงนาเหมือนอย่างที่ผมพบเจอในเช้านั้น

เมื่อกลับไปศึกษาเรื่องมหาเวสสันดรชาดกในภาคอีสานครอบคลุมถึงกิจกรรมงานบุญต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว  จึงได้เห็นถึงพลังหรืออิทธิพลของวรรณกรรมต่อวิถีชีวิตและการต่อสู้ทางการเมืองของคนอีสานอย่างมีนัยสำคัญ  เช่น  ขบวนการผีบุญในลาวและอีสานต่อต้านอำนาจรัฐกรุงเทพฯ  ผู้ที่สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำหรือผู้มีบุญ (ผีบุญ) นั้น  ก็มักสร้างลักษณะอิงกับตำนานพระศรีอาริย์  หรือแม้แต่การทำงานมวลชนของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อให้มวลชนเข้าใจหรือเห็นภาพสังคมคอมมิวนิสต์ได้ง่ายขึ้นก็ยกตัวอย่างหรืออธิบายเทียบกับโลกพระศรีอาริย์  นั่นแสดงว่าเรื่องเล่าถึงชีวิตในโลกพระศรีอาริย์นั้นฝังลึกอยู่ในจิตใจของผู้คนอีสาน  แผ่นดินอีสานจึงกลายเป็นพื้นที่สีชมพูและสีแดงขึ้นมาในแผนที่ประเทศไทยของทางการและทหารตั้งแต่สมัยนั้น

ท่านผู้อ่านอย่าคิดว่าการต่อสู้เมื่อปี 2553 นั้นใหม่เกินกว่าที่สายธารวรรณกรรมนี้จะหล่อเลี้ยงนะครับ เอาเข้าจริงเมื่อสำรวจดูช่วงอายุของคนส่วนใหญ่ที่ไปร่วมขบวน  ก็ล้วนเติบโตมาในคำบอกสอนของพ่อแม่ผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยการยกเรื่องราวและเหตุการณ์ในวรรณกรรมขึ้นมาบอกเล่า ยกตัวอย่างในจังหวัดกาฬสินธุ์คนเกิดในช่วงปี พ.ศ.2500 หรือหลังนั้นนิดหน่อย  ยังจดจำเรื่องเล่าย่าญอย  ย่าญอง  ซึ่งทำตัวเหมือนผู้มีบุญหรือผีบุญตามคำเรียกของทางการ  เป็นผู้ถือศีลกินธรรมที่ทำให้คนศรัทธาและบอกว่าแก้วหินดินถ่านจะกลายเป็นเงินเป็นคำ เมื่อผู้คนหลั่งไหลเข้าไปหามากๆ ทางการก็จับตัวไปประหารที่ทุ่งศรีเมือง  และเมื่อเทียบเวลาประวัติศาสตร์ดู  ก็จะพบว่าไม่กี่ชั่วอายุคนก่อนนั้น  ล้วนอยู่ในขบวนการผีบุญ  ซึ่งเป็นอย่างที่บอกว่า  ขบวนการประชาชนเหล่านี้ล้วนมีลักษณาการอันก่อเกิดจากอุดมคติในลักษณะโลกพระศรีอาริย์ทั้งนั้น

การที่ชาวบ้านคนหนึ่งพูดขึ้นว่า  คือจังว่าเดมือไปทางใด๋กะมีเงินตกใส่มือโลด  มันแสดงถึงการเรียนรู้เชิงเปรียบเทียบ  ประกอบกับจังหวะและโอกาสที่เปิดให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็น “คนชั้นกลางใหม่”  จึงไม่แปลกที่คลื่นคนอีสานจะยาตราเข้ากรุงเทพฯ ในปี 2553  อย่างกับกองทัพของพญาคันคากและมิตรสหายหมู่สัตว์และแมลงที่ร่วมกันต่อสู้ทวงสิทธิที่จะได้ความอุดมสมบูรณ์กับพญาแถน  การเป็นคนชั้นกลางใหม่ของเขาในช่วงที่ผ่านมา  อย่างน้อยที่สุด  ทำให้เขาได้มีอยู่มีกินอย่างใกล้เคียงหรือเต็มกำลังศักยภาพที่เขาจะหาได้  ได้แชร์ผลประโยชน์ของชาติ  ซึ่งมันอาจหมายถึงการได้สัมผัสโลกพระศรีอาริย์บ้างแล้ว  โลกพระศรีอาริย์ในชาตินี้ในชั่วชีวิตนี้ที่พวกเขาเป็นคนกำหนดด้วยเสียงโหวตและการเลือกของพวกเขาซึ่งเขาเรียนรู้แล้วว่ามันมีพลังและเป็นจริงได้

แล้วใครจะกล้าบอกว่า  การต่อสู้ครั้งล่าสุดนี้แพ้  ในเมื่อการต่อสู้ก่อนหน้านั้นพวกเขาไม่เคยลิ้มรสชัยชนะด้วยซ้ำ  และใครจะคาดคิดว่าโลกพระศรีอาริย์ในใจของคนอีสานที่ดูเหมือนได้ถูกทำลายให้หมดสิ้นไปแล้ว  พวกเขายังลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างครั้งล่าสุดซึ่งส่งผลสะเทือนอย่างมากได้  และอย่าลืมว่าคนรุ่นใหม่ของอีสานในช่วงอายุ 40 ลงมาถึงสิบกว่าปีนั้น  ได้เคยมีชีวิตเห็นโลกพระศรีอาริย์ในลักษณะที่ว่า คือจังว่าเดมือไปทางใด๋กะมีเงินตกใส่มือโลด  มาแล้ว  ซึ่งทำให้พวกเขาได้อยู่ดีกินดีมาแล้ว  และพวกเขาก็ได้เห็น  การล้อมฆ่าพ่อแม่ลุงป้าน้าอาที่ไปทวงสิทธิ์ที่จะได้มีชีวิตในสังคมที่ต้องการที่ราชประสงค์ทั้งต่อตาและผ่านทางทีวีและอินเตอร์เน็ต

และอย่าลืมว่า  นั่นคือชีวิตของพวกเขาด้วย.

image_pdfimage_print