ปุจฉา : เห็ดกับคนอีสานมีอะไรเหมือนกัน?

วิสัชนา : ทั้งเห็ดและคนอีสานเฟื่องฟูอยู่ในดินแดนที่อยู่ยาก ซึ่งทั้งเห็ดและคนอีสานก็ยืดหยุ่นพอจะทำให้ที่เหล่านั้นกลายเป็นแหล่งหลักพักพิง

หลายทศวรรษที่ผ่านมาทั้งเห็ดและคนอีสานเผชิญความเปลี่ยนแปลง ซึ่งก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจมากพอๆ กับระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นการขูดรีดแรงงานและรีดไถไม้ป่า การแยกย้ายหายหน้าของคนทำงาน และการสาบสูญของป่าที่อยู่อาศัยเห็ด

20140704_101714

เห็ดก่อที่เพิ่งเก็บใหม่ๆ เป็นเห็ดราในวงศ์ russulaceae ร่วมกับเห็ดอีกกว่า 1,900 สายพันธุ์ทั่วโลกที่ได้รับการบันทึก

แต่สิ่งหนึ่งยังคงเดิม — คนอีสานยังคงรักการเก็บเห็ดป่ามาแกงกิน บทความชิ้นนี้เป็นลำนำฉลองความสำราญของการเก็บเห็ด แต่ก็เป็นคำเตือนในจังหวะเดียวกัน เพราะสถานที่ที่เราเคยพบพ้อเห็ดมาก่อน วันนี้พรุ่งนี้อาจไม่มีเห็ดหลงเหลือแล้วก็เป็นได้

อีสานแนะนำให้ฉันได้รู้จักโลกของการเก็บเห็ดเมื่อสองปีที่แล้วตอนที่ฉันทำงานมานุษยวิทยาภาคสนาม ฉันบังเอิญติดรถไปกับคนในหมู่บ้าน ไปยังที่สักแห่ง (ไม่บอกว่าที่ไหน) ที่มีป่ายูคาลิปตัสตั้งเรียงรายเป็นทิวแถวเว้นระยะห่างเท่าๆ กันอยู่ตลอดสองข้างทางลูกรังหลังถนนลาดยางมะตอยสองเลนขาดช่วงไป หลายกิโลเมตรจากถนนใหญ่ที่มีป้ายชี้เข้าไปยังวัดประจำหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ฝั่งหนึ่งมีป้ายปักพื้นเขียนว่า “องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ แปลงปี 2526” ส่วนอีกฝั่งเขียนว่า “แปลงปี 2527” องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจผูกขาดที่เริ่มเอาไม้ยูคาลิปตัสมาปลูกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2518 เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเพื่อตอบสนองความต้องการไม้เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ผลที่ตามมาของการปลูกป่ายูคาลิปตัสเช่นนี้ก็คือ พื้นที่ป่าจะรอดจากการถูกหักร้างเพื่อปรับให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร แต่ขณะเดียวกันพื้นที่นี้ก็ถูกตราไว้ล่วงหน้าเพื่อหารายได้เข้ารัฐ

ถึงกระนั้นก็ตาม การผูกขาดยาวนานกว่า 30 ปีของสปีชีส์ยูคาลิปตัสก็กลับเปิดโอกาสให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้เฟื่องฟูขึ้นมาในป่าเชิงเดี่ยวแห่งนี้

[pullquote] วิธีการหาเห็ดที่ดีที่สุดคือการย้อนกลับไปสถานที่ที่คุณเคยพบพ้อมันมาก่อน
—แอนนา โลเว็นฮอปต์ ซิง [/pullquote]

เมื่อแรกเห็น คุณอาจคาดไม่ถึงว่าเห็ดกินได้จะขึ้นอยู่ดกดื่นในป่ายูคาลิปตัส เห็ดป่าขึ้นในสถานที่ที่มีอยู่เพื่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวได้อย่างไรกัน แต่–ดูนั่นสิ ขึ้นเป็นหย่อมบ้าง กระจัดกระจายบ้าง ขึ้นตรงจอมปลวก ซ่อนอยู่ใต้ไม้พุ่มหรือใบไม้แห้ง หรือนี่ เห็นไหม โผล่จุปุจิปิต้องเอาเสียมงัดติดขี้ดินขึ้นมา ฉันเริ่มได้รู้จักมักคุ้นกับเห็ดหลากหลายรูปแบบ บ้างก็หอม บ้างก็ทรงคือโคย สีสันตลอดสายรุ้งแล้วยังมีสีขาว สีเทา สีดำ มีกระทั่งบนเปลือกไม้ยูคาลิปตัส–เห็ดเผิ่งยูคา สีม่วงก็มี สีน้ำตาลก็มี รสขมจนต้องตมหลายน้ำ

หมู่เราไปที่นั่นในฐานะมือสมัครเล่น เป้าหมายในวันนั้นคือการทำแกงเห็ดหม้อใหญ่เพื่อแบ่งกันกินในครอบครัวและเครือญาติ เหมือนเกมผจญภัยที่มีทีมของฉันช่วยพาเล่นทิวทอเรียลให้ มีดวงตาเป็นสกิล มีเสียมเป็นอาวุธ มีเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวเป็นชุดเกราะ และโชคลาภเป็นตัวแปรให้การเล่นแต่ละครั้งสนุกไม่ซ้ำเดิม

เห็ดระโงกขายได้ราว 120 บาทต่อกิโลกรัมในตลาดหัวเมือง

หมู่เราไม่ใช่ “นักเก็บเห็ดมืออาชีพ” พวกแม่ญิงที่ออกล่าเห็ดตามจุดประจำตั้งแต่ยังมืด ออกเดินชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า มีหยุดพักเพียงช่วงสั้นๆ กว่าที่เราจะไปถึง นักเก็บเห็ดมืออาชีพก็นั่งขายเห็ดราคาแพงอยู่ในกระท่อมมุงจากริมถนนสายหลักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเห็ดปลวกซึ่งมีรากยาวงอกออกมาจากจอมปลวก อันเป็นเห็ดชนิดที่เป็นที่ต้องการมาก ในบางช่วงมันมีราคาถึงกิโลกรัมละ 300 บาท แล้วยังมีเห็ดระโงกเปลือกขาวและยอดสีส้มวาวเหมือนไข่เค็มนั่นด้วย ขายในตลาดในเมืองได้กิโลกรัมละ 120 บาท แต่หากขายตามข้างทางก็จะได้ราคาเพียงครึ่งหนึ่งหรือน้อยกว่านั้น เพื่อนที่พาฉันไปเก็บเห็ดประมาณเอาว่า ป่ายูคาที่กินพื้นที่ไม่เกิน 200 ไร่แห่งนี้ออกเห็ดให้ชาวบ้านเก็บไปขายได้เงินรวมๆ กันแล้วตกฤดูละเป็นล้านบาท

หลายทศวรรษก่อน เป็นเรื่องปกติที่ป่าอยู่ถัดไปจากหมู่บ้านในอีสาน และชาวบ้านก็พึ่งพาป่าไม้เพื่อหาอาหารและวัตถุดิบ เมื่อใดก็ตามที่ชาวอีสานเข้าไปในป่าที่อยู่รอบหมู่บ้าน ถึงเวลาก็จะกลับออกมาพร้อมตะกร้าพูนเห็ดพร้อมสมุนไพร โดยไม่ต้องกังวลหากเห็ดจะเหี่ยถิ่มไปบ้าง

เมื่อกลับถึงบ้าน ผู้เฒ่าจะช่วยนั่งสแกนเห็ดที่เก็บมา หยิบขึ้นมาพินิจทีละดอก ดอกไหนน่าสงสัยก็โยนทิ้งไป ให้เก็บไว้เฉพาะเห็ดที่รู้ว่าทานได้และรสดี ในสมัยนั้นมีเห็ดแค่ไม่กี่ชนิดที่ “ไว้ใจได้” เห็ดส่วนใหญ่มากจึงถูกโยนทิ้งเป็นสปอร์

แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว ผืนป่าริมหมู่บ้านเหล่านั้นแทบไม่มีเหลืออยู่ ในกลางพุทธทศวรรษ 2520 ป่าไม้ที่ยังเหลือในอีสานถูกประกาศเป็นป่าเสื่อมโทรมกันมาก ชาวบ้านจึงสามารถเข้าถางป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อทำการเกษตรและถือครองโฉนดที่ดิน

เนื่องจากประชากรในอีสานทวีคูณขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 6.8 ล้านคนในปี 2495 เป็น 12 ล้านคนในปี 2513 จนเป็น 19 ล้านคนในปี 2522  ป่าไม้จึงถูกแผ้วถางเพื่อการเกษตร ป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยแผ่กิ่งก้านสาขาครอบคลุมพื้นที่ 102,667 ตารางกิโลเมตรในปี 2495 ทว่าเพียงยี่สิบเอ็ดปีให้หลัง (ปี 2516) ตัวเลขนั้นก็ลดลงครึ่งหนึ่ง และลดฮวบลงอีกครึ่งหนึ่งของที่เหลือในปี 2522 ตลอดช่วงเวลานี้ ถึงแม้จะมีการตัดไม้ทำลายป่า แต่ที่ดินสำหรับการเพาะปลูกต่อประชากรกลับมีจำนวนน้อยลง อัตราส่วนลดลงจาก 1.88 ไร่ต่อคนในปี 2495 เหลือเพียง 1.57 ไร่ต่อคนในปี 2522

สิ่งหนึ่งที่การลดลงของตัวเลขพื้นที่เพาะปลูกต่อประชากรแฝงเร้นไว้ ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าชาวอีสานส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นได้ผันตัวเป็นไปแรงงานตามฤดูกาลเพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนและครอบครั้ง บ่อยครั้งต้องไปทำงานในดินแดนห่างไกล หรือเริ่มประกอบกิจการขนาดเล็ก บางครั้งก็ทดแทนการปลูกข้าวไปเลย

ถึงแม้ป่าไม้จะถูกหักถาง แต่เห็ดยังคงเฟื่องฟูอยู่บนคันนาและกองฟาง และในผืนป่าที่เหลืออยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระสงฆ์ การขาดแคลนป่าไม้ทำให้ชาวบ้านแห่กันไปยังป่าไม้ที่เหลืออยู่ซึ่งอยู่ไกลออกไปทุกที เมื่อไปไต้เห็ดหลายแห่งมากเข้าๆ ก็นำไปสู่การเพิ่มพูนความรู้ชาวบ้านเกี่ยวกับพันธุ์เห็ดป่าและทำให้เห็ดเริ่มกลายเป็นของที่ต้องแข่งกันหามากขึ้น

ในเช้าวันที่หมู่เราไปเก็บเห็ด หมู่เราไปถึงราวๆ หกโมงเช้า นับว่าสายกว่าอีกหลายต่อหลายทีม ป่ายูคาที่นี่มีชาวบ้านมาทั่วทุกสารทิศในรัศมีขับรถหนึ่งชั่วโมง เห็นป้ายทะเบียนรถจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ

บางครั้งหมู่เรามะงุมมะงาหราอยู่กว่าสิบนาทีก็ยังไม่พบอะไรเลยนอกจากเห็ดพิษ ครั้งหนึ่งฉันเจอเห็ดสีแดงดอกใหญ่ ใหญ่จนหมวกดอกจะมุ่นเสียแล้ว ฉันตื่นเต้นมาก แต่ลุงของเพื่อนบอกฉันว่ามันแก่เกินไป ฉันควรปล่อยมันไว้ตรงนั้นเพื่อให้มันงอกขึ้นมาใหม่จะดีกว่า

20140701_074733

เห็ดชุดแรกที่ผู้เขียนเก็บได้ในตอนเช้า

หลังผ่านไปสองสามชั่วโมง พวกเรากลับไปที่รถปิ๊กอัพ คำถามหมู่เราถามกันมากที่สุดก็คือ “หมานบอ?” คล้ายว่าเป็นวันที่หนึ่งหรือสิบหกของเดือน เราเอียงตะกร้าให้กันดูว่าใครสามารถกว่าใคร กินแซนวิชไส้หมูหยองคลายหิว และเตรียมตัวกลับบ้าน

เรื่องนี้เกิดขึ้นช่วงกลางปี 2557 เมื่อฤดูเก็บเห็ดมาถึงอีกครั้งในปีถัดมา ฉันย้อนกลับไปที่ป่ายูคาแห่งนั้นเพียงเพื่อจะได้พบว่าไร่ยูคาลิปตัสได้กลายสภาพเป็นไม้ซุงพร้อมป้อนอุตสาหกรรมเสียแล้ว กิ่งไม้เล็กๆ กระจัดกระจายทิ้งไว้ตรงที่เคยมีลำต้นใหญ่ กีดขวางเส้นทางการเดินเท้า เหลือป่าเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงสภาพเดิมอยู่ นักเก็บเห็ดที่เคยมากันหลายคันรถก็เหมือนจะไปที่อื่นกันหมด

อนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นใด? ถ้าให้ฉันเดา ป่ายูคาลิปตัสที่เป็นอดีตแล้วนี้ก็คงจะถูกชาวบ้านแถวนั้นเข้ายึดครองเพื่อปรับเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ แต่มันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ทุกวันนี้คนไทยเห็นดีเห็นงามกับอุดมการณ์อนุรักษ์ป่าไม้กันมากขึ้น แต่หลายครั้งหลายครา การอนุรักษ์กลับถูกเขียนบทให้เป็นการต่อสู้กันระหว่างธรรมชาติที่ไม่มีมนุษย์อยู่กับความโลภของมนุษย์(คนเมือง) อันเป็นกรอบคิดที่กีดกันไม่คิดถึงการหาของป่าและการใช้ประโยชน์จากป่าไม้แบบคนพื้นถิ่น น่าจินตนาการดูว่าถ้าการเข้าป่าหาเห็ดกลายเป็นกิจกรรมยามว่างที่ “คูล” เหมือนในสหรัฐอเมริกา คนรุ่นใหม่ของประเทศนี้จะเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ต่างไปยังไงบ้าง? ฉันหวังว่านักอนุรักษ์รุ่นใหม่จะพยายามทำความเข้าใจป่าจากหลายมุมมองมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องสวมบทให้มนุษย์เป็นผู้บุกรุกจอมละโมบหรือผู้มีอุดมการณ์อนุรักษ์ป่าไม้

ความผูกพันของคนหาของป่ากับป่าไม้จะยังคงอยู่ในสายเลือดต่อไป ทุกวันนี้พอพูดถึงการเก็บเห็ด คนก็มักจะนึกไปถึงวิถีชีวิตชนบทดั้งเดิมในประเทศไทย ในช่วงฤดูกาลเก็บเห็ดปีที่แล้ว สื่อออนไลน์หลายสำนักยังเสนอข่าวเรื่องที่ “ไผ่ พงศธร” ไปเก็บเห็ดกับคุณแม่ ซึ่งกระแสตอบรับต่างก็สะท้อนว่านักร้องลูกทุ่งคนนี้ไม่ลืมรากเหง้าอีสานของตัวเอง ดังแล้วยังติดดิน

สำนึกในรากเหง้านี้ไม่เพียงจะดีต่อการโหยหาอดีต แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการคะนิงหาอนาคตด้วย เป็นต้นว่านักอนุรักษ์อาจแปลอุดมการณ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในทางสอดคล้องกับสำนึกในรากเหง้าของคนอีสาน เพื่อพัฒนาการเรียกร้องนโยบายปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

บางที สิ่งหนึ่งที่คนอีสานมี แต่เห็ดไม่มี อาจช่วยให้ทั้งสองเฟื่องฟูไปด้วยกันได้ สิ่งนั้นฉันคิดว่าคือความทรงจำ ความทรงจำร่วมกันที่ก่อให้เกิดสุภาษิตลาวอีสานอย่าง “ขุดมันให้จ่งเง้า เห็ดเฒ่าให้จ่งไว้ ไม้แห้งจั่งเฮ็ดฟืน ความยังยืนสิตามมา” ชาวบ้านหลายคนพูดตรงกันว่าทรัพยากรในระบบนิเวศหลายอย่างอาจกลายเป็นอดีตในอีกไม่นาน ทั้งอึ่งที่มาวางไข่ในป่าละเมาะ ที่ลุ่มรับน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และไม้เนื้อแข็งล้ำค่าที่ปัจจุบันถูกขโมยชั่วข้ามคืนเพื่อสนองต่อความต้องการจากประเทศจีน

ทว่าความหวังยังมี ชาวบ้านที่ฉันรู้จักเคยเล่าให้ฉันฟังว่ามีข้อตกลงกันในหมู่บ้านว่าจะไม่เข้าไปรบกวนพื้นที่ป่าบริเวณดอนปู่ตาประจำหมู่บ้าน จะไม่ปีนขึ้นต้นไม้ต้นนั้นเพื่อจุดรังต่อเอาไข่มากิน ฯลฯ ความทรงจำที่แทรกซึมอยู่ภายในข้อตกลงเหล่านี้สร้างบรรทัดฐานให้กับชุมชน เพื่อที่ชุมชนจะได้หาทางรับมือกับความขาดแคลนเชิงนิเวศวิทยาที่กำลังมาถึง เมื่อเราพบว่าสถานที่ที่เราเคยพบพ้อเห็ดไม่มีเห็ดอีกต่อไปแล้ว เราอาจไว้อาลัย  แต่เราก็อาจย้ำเตือนกับตนเองได้ด้วยเช่นกันว่าเราต้องสร้างที่สักแห่ง — หรือไม่ก็ปล่อยที่สักแห่งไว้ — เพื่อให้เห็ดทั้งหลายได้เฟื่องฟู


บทความชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษเมื่อเดือนธันวาคมปีพ.ศ. 2558

image_pdfimage_print