บทความรับเชิญ โดย คามีล บริดเจอร์ และจูลี เอร์ลิช

หนุ่ม–สมเกียรติ สุนทรสวัสดิ์ ผู้ประกาศตัวว่าเป็น “เด็กเนิร์ด” นักศึกษาแพทย์ศาสตร์ อายุ 29 ปี ภาพนี้ถ่ายในห้องสมุดคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ที่หนุ่มชอบมาใช้บริการ

“ผมไม่ใช่คนดีนะ” สมเกียรติ สุนทรสวัสดิ์ หรือ ‘หนุ่ม’ เอ่ยปากยอมรับ “เรื่องเงินมาก่อน”

หนุ่มยิ้มเขินๆ ใต้แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์ในห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ภายใต้ชุดเครื่องแบบของนักศึกษาแพทย์ เสื้อเชิ้ตสีขาวและกางเกงสีดำ หนุ่มดูเหมือน “เด็กเนิร์ด” ที่พบได้ทั่วไปในหมู่นักศึกษาแพทย์ชนชั้นกลางที่มาจากอีสาน ผู้ซึ่งสนใจเรียนแพทย์เพื่อรายได้ที่มั่นคงและสวัสดิการที่ดี แต่เมื่อเขาเอ่ยปากพูดคุย ชายหนุ่มผู้นี้มีประเด็นทางสังคมและการเมืองที่ส่งผลต่อประเทศและวิชาชีพแพทย์มากมายจะเล่าให้ฟัง

ด้วยอายุ 29 ปี หนุ่มเป็นนักศึกษาแพทย์ที่อายุมากที่สุดในหมู่เพื่อนร่วมรุ่นชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยของแก่น หนุ่มเรียนจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชในเมืองอุบลราชธานี ในเวลานั้น เขาก็เหมือนเด็กเรียนดีจำนวนมาก เขาเข้าสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนหมอ ผลปรากฏว่าเขาสอบผ่าน แต่ใจเขาอยากไปอยู่ที่อื่น หนุ่มตัดสินใจเข้าเรียนฟิสิกส์ในระดับปริญญาตรีและเรียนโทต่อด้านคณิตศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้ว่าแม่ของหนุ่มจะกระซิบบอกเพื่อนๆ ว่าเสียใจที่หนุ่มไม่เข้าเรียนหมอ แต่ครอบครัวของหนุ่มก็สนับสนุนการตัดสินใจของเขาด้วยการให้ทั้งเงินและกำลังใจ

พ่อแม่เขาไม่เข้มงวดนัก หนุ่มเล่าว่า “ผมรู้ว่าลึกๆ แล้วพ่อแม่ต้องการอะไร แต่พวกเขาก็ไม่กดดันผม” ซึ่งต่างจากเพื่อนนักศึกษาหลายคนที่ถูกพ่อแม่บังคับให้เรียนแพทย์เพราะว่าพวกเขาสอบผ่าน

หลังจากได้ปริญญาสองใบแล้ว อะไรสักอย่างก็ดลใจให้หนุ่มตัดสินใจเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ หนุ่มเล่าว่าครอบครัวของเขา “งง แต่ก็ดีใจ  พ่อแม่อยากปิดซอยเลี้ยง”

รูปลักษณ์ของเขาอาจดูกลมกลืนไปกับนักศึกษาโดยรอบในห้องสมุดแห่งนี้ แต่สิ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ คือความเชื่อ เขากระตือรือร้นที่จะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสังคมที่เขาสนใจ “ซึ่งก็แทบจะทุกเรื่อง” หนุ่มบอก เขาสนใจตั้งแต่ความขัดแย้งกันภายในคณะ ประเพณีรับน้องของมหาวิทยาลัย ไปจนถึงเรื่องที่ใหญ่และสุ่มเสี่ยงกว่าอย่างการรัฐประหารของประเทศไทย

หนุ่มบอกว่าเพื่อนของเขาหลายต่อหลายคนเห็นด้วยกับคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ของเขา แต่พวกนั้นไม่ต้องการแสดงออกเพราะกลัวมีปัญหากับผู้มีอำนาจ หรือไม่ก็ไม่ได้ใส่ใจประเด็นเหล่านั้นมากพอจะแสดงออก

ช่วงที่ยังอยู่กรุงเทพ หนุ่มได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เขาไปร่วมชุมนุมจุดเทียนคัดค้านการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557  ทุกวันนี้เขาไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหวอะไร แต่ก็ยังเป็นขาประจำออกความเห็นทางการเมืองบนเฟสบุ๊คอยู่ไม่ขาด

พอตอนนี้ที่หนุ่มเป็นนักศึกษาแพทย์ เขาก็ได้เบนเข็มมาวิพากษ์วิจารณ์สิ่งซึ่งอยู่รอบตัวด้วย เสียงคัดค้านของหนุ่มต่อประเพณีคณะทำให้เกิดสถานการณ์ที่หนุ่มบอกว่า “ระอุ” จนถูกอาจารย์ฝ่ายบริหารคณะเรียกพบ เมื่อเราขอให้เขาเล่าวีรกรรมของตัวเองให้ฟัง หนุ่มก็เหลียวซ้ายแลขวาดูต้นทางในห้องสมุด ก่อนเล่าด้วยเสียงเบาแทบกระซิบ

เทอมที่ผ่านมานี้เอง หนุ่มต่อต้านการบังคับนักศึกษาแพทย์ที่มีศาสนาพุทธอยู่บนบัตรประชาชนให้เข้าค่ายปฏิบัติธรรมเป็นเวลาห้าวัน ถึงแม้ว่านักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่จะไม่ได้แฮ็ปปี้กับการเข้าค่ายนี้ แต่ต่างก็ไปเข้าร่วมอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่หนุ่มได้ปฏิเสธ

หนุ่มเชื่อว่ามหาวิทยาลัย “ไม่ควรใช้หลักศาสนามาบังคับ” เอากับนักศึกษา หนุ่มและเพื่อนนักศึกษาจำนวนหนึ่งประกาศเจตจำนงไม่เข้าค่ายปฏิบัติธรรม ด้วยเหตุนี้ อาจารย์จึงขู่พวกเขาว่า ถ้าหากไม่เข้าร่วมกิจกรรมแล้วละก็ จะถูกตัดสิทธิ์สอบรวบยอดก่อนจบปีสาม ทำให้เพื่อนของหนุ่มหลายคนยอมจำนนเข้าร่วมกิจกรรม

แต่ตัวหนุ่มเองยังยืนกรานอย่างเดิม อีกทั้งยังปฏิเสธที่จะเขียนชี้แจงเมื่ออาจารย์คนหนึ่งขอให้เขาเขียนบอกว่าเขาจะทำอะไรทดแทนการเข้าค่ายปฏิบัติธรรม หนุ่มยอมเสี่ยงที่จะไม่ได้เข้าสอบ “เขาเรียกไปคุย บอกว่าตอนนี้ยังไม่รู้จะทำไง” หนุ่มเล่า “เขาบอกจะประชุมอาจารย์อีกที เพราะไม่เคยมีแบบนี้” ถึงตอนนี้หนุ่มก็ยังไม่แน่ใจว่าตนจะได้รับอนุญาตให้สอบรวบยอดในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้หรือไม่

หนุ่มเหลียวซ้ายแลขวาก่อนจะกระซิบเล่าวีรกรรมต่อต้านของเขา

หนุ่มเหลียวซ้ายแลขวาก่อนจะกระซิบเล่าวีรกรรมของตนที่ไปต่อต้านประเพณีอย่างหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น

เมื่อถามว่าทำไมหนุ่มถึงเลือกที่จะเรียนแพทย์ “หลักๆ ก็เพื่อเงินกับหน้าตา” คือคำตอบ แพทย์แผนปัจจุบันยืนอยู่ชั้นบนสุดในระบบช่วงชั้นในสังคมไทย หนุ่มเล่าว่าถึงแม้ยังเรียนไม่จบ เป็นแค่นักศึกษาแพทย์ เขาก็ยังถูกปฏิบัติแตกต่างจากคนอื่น คนเรียกเขาว่าคุณหมอ และปฏิบัติต่อเขาอย่างดีมากกว่าคนอื่นๆ ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

หนุ่มกล่าวว่าสถานะที่สูงเช่นนี้ของคุณหมอทำให้ “หมอหลายคนไม่ให้เกียรติคนไข้อย่างที่เขาควรได้รับในฐานะที่เป็นคน” ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า หนุ่มคิดว่าการที่แพทย์ไม่ให้เกียรติคนไข้มีสาเหตุมาจากความคิดที่ว่าตนดีกว่าหรือ “สูงส่ง” กว่าคนไข้ ความคิดที่ว่านี้เห็นได้จากความเฉยชาในหมู่หมอๆ ต่อความเป็นไปได้ที่จะมีการยกเลิกโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งตัวหนุ่มเองรู้สึกเดือดกับประเด็นนี้เป็นพิเศษ

ภายหลังรัฐประหาร ปี 2557 รัฐบาลทหารได้ส่งสัญญาณหลายครั้งว่าจะมีการยกเครื่องระบบประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานครั้งใหญ่ ด้วยจุดยืนของรัฐบาลในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน และยังมิได้ประกาศแผนโยบายระยะยาวออกมา การยกเลิกโครงการ 30 บาทฯ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ต้องเผชิญกับค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินกว่าจะจ่ายได้ และจะสร้างปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง ทั้งการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ป่วยฉุกเฉิน

“เราเรียนเพื่อจะไปเป็นหมอรักษาคนไข้ แต่เรากลับเงียบเรื่องระบบ 30 บาท” หนุ่มยิงฟันเล่าด้วยเสียงกระซิบ “การยกเลิกระบบ 30 บาทเป็นเรื่องใหญ่มาก คนไข้เป็นจำนวนมากจะได้รับผลกระทบ”

หนุ่มรู้สึกเคืองใจกับการพูดอย่างทำอย่างในสังคมแพทย์ “อาจารย์สอนผมว่าให้คิดถึงคนไข้[เสมอ]” หนุ่มบอก แต่อย่างไรก็ตามหนุ่มสังเกตว่ากลับไม่มีใครให้ความสำคัญกับประเด็นร่วมจ่าย ในขณะที่เกรี้ยวกราดกันใหญ่กับคำพิพากษาคดีความหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำงานของแพทย์

“หลายเดือนก่อน มีคดีหนึ่ง” หนุ่มเริ่มเล่า เด็กคนหนึ่งป่วยเป็นวัณโรค โรคร้ายได้แพร่เชื้อไปถึงสมอง และเด็กเสียชีวิตในที่สุด* ครอบครัวของเด็กอ้างว่าแพทย์ไม่ได้วินิจฉัยวัณโรคอย่างถูกต้องก่อนหน้านี้ ทำให้ลูกตนไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที คดีนี้ไปถึงชั้นศาล และแพทย์ถูกตัดสินให้เป็นผู้มีความผิดถึงแม้ว่าแพทย์เองได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องตามระบบแล้วก็ตาม

เรื่องราวอันน่าตกตะลึงนี้ได้แพร่สะพัดไปทั่วคณะแพทย์และในวงการแพทย์พยาบาล “คนที่นี่โวยกันใหญ่เรื่องคดีนี้ โพสต์กันเต็มเฟซบุ๊ก” หนุ่มเล่า เพื่อนและอาจารย์หลายท่านแสดงออกว่านี่คือจุดตกต่ำของแพทย์เฉพาะทางที่ทำงานในดินแดนทุรกันดาร เพราะจะไม่มีแพทย์ที่อยากไปประสบชะตากรรมแบบนี้อีก

แต่พอเป็นประเด็นโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค สังคมในคณะแพทย์ก็ไม่เห็นปริปากว่ากระไร “เรื่องคดีวัณโรคนั้นยังไม่ร้ายแรงเท่าเรื่องโครงการ 30 บาท แต่ทำไมเงียบ?” หนุ่มถาม

พูดถึงอนาคต หนุ่มยืนยันว่าเขาจะยังคงเป็นขาประจำแสดงความเห็นทางสังคมการเมืองต่อไป (โดยไม่ได้ไปเดินขบวนด้วย) เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เขาฝันว่าสักวันจะกลับไปศึกษาด้านคณิตศาสตร์ต่อ

“อายุสัก 45 50 จะกลับไปเรียนปริญญาเอกคณิตศาสตร์” หนุ่มว่า “แต่อันนี้เป็นโลกอุดมคติ ถ้ายังมีแรงเหลือตอนนั้นนะ” หนุ่มกล่าว เขาต้องการมีลูกมีครอบครัวที่ดี และดังเช่นพ่อแม่ หนุ่มจะไม่กดดันลูกให้เรียนหมอ แต่จะให้ลูกมีเสรีภาพในการเลือกทางเดินของตัวเอง

แม้ว่าตัวหนุ่มจะยอมรับว่าเรียนแพทย์เพื่อเงิน แต่เขาก็ยังมีเชื่อว่าแพทย์มีหน้าที่รับผิดชอบต่อคนไข้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน “เรามีหลักการของเราอยู่ แล้วเราก็มีเรื่องเงิน มาเรียนหมอก็ไม่อยากกินเกลือเนาะ แต่หลายๆ อย่างมันก็ไม่โอเคอ่ะ” หนุ่มทิ้งท้าย

 

คามีล บริดเจอร์ เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอเมริกัน วอชิงตัน ดีซี ศึกษาวิชาสาธารณสุข และวิชารัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ จูลี เอร์ลิช เป็นนักศึกษาจากวิทยาลัยมิดเดิลเบอรี เมืองมิดเดิลเบอรี มลรัฐเวอร์มอนต์ ศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์และสาธารณสุขโลก จูลีปรารถนาที่จะเป็นแพทย์ ปีหน้าเธอจะสมัครเข้าเรียนคณะแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนี้ทั้งสองกำลังศึกษาอยู่ที่คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น

*ข้อมูลที่ว่าเด็กคนนี้เสียชีวิตนั้นเป็นข้อมูลผิดพลาด ทางเดอะอีสานเรคคอร์ดขออภัยในความคลาดเคลื่อนทางข้อมูลมา ณ ที่นี้

image_pdfimage_print