ผืนป่าตอนเหนือของประเทศฟินแลนด์และสวีเดนส่วนทีติดกับแถบอาร์กติกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี  จะเต็มไปด้วยผลไม้ป่าชนิดแบร์รี่นานาชนิดผุดขึ้นทั่วพื้นที่ป่า  ในอดีตมีเพียงแต่ครอบครัวชาวพื้นถิ่น  ที่มักจะเก็บแบร์รี่เหล่านี้มาแช่เย็นไว้เพื่อบริโภคโดยการแปรรูป เอาไว้ทำเป็นแยมชนิดต่างๆ หรือเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์

ต่อมาประเทศฟินแลนด์และสวีเดนได้พัฒนาการค้าอุตสาหกรรมผลไม้ป่าจากที่มีเพียงในครอบครัวชาวพื้นถิ่น  จนได้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ส่งออกให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก  เมื่อการเก็บแบร์รี่กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  รัฐบาลฟินแลนด์จึงประกาศให้สิทธิแก่ชาวต่างชาติในการเข้ามาเก็บแบร์รี่ได้โดยเสรี  จึงตามมาด้วยระบบจัดหาแรงงานข้ามชาติเข้าป้อนสู่อุตสาหกรรม  โดย ส่วนมากเป็นคนงานที่มาจากประเทศไทย รองลงมาเป็นคนงานจากประเทศเวียตนาม

ในปี 2558  มีแรงงานไทยได้รับอนุญาติให้เดินทางไปทำงานทั้งหมด 3725 ส่วนใหญ่เป็นคนมากจากภูมิภาคอีสาน (3574 คน คิดเป็นร้อยละ 95.9) และจังหวัดที่โดดเด่นเรื่องนี้ คือชัยภูมิที่มีแรงงานเดินทางไปที่ประเทศฟินแลนด์มากที่สุดในไทย ถึง 1251 คน ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางไปเพื่อเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาลดังกล่าว จากข้อมูลของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ

ช่วงเดือนกรกฎาคม-ปลายกันยายน อันเป็นช่วงว่างเว้นจากการเพาะปลูกแถบภาคอีสาน เกษตรกรหลายคนเลือกไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ผ่านบริษัทนายหน้าผู้จัดหางานชาวไทย ด้วยหวังจะว่าจะเก็บเงินก้อนโตกลับมาจุนเจือครอบครัวและชำระหนี้สินการเกษตร

แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนที่สมหวัง หลายต่อหลายคนต้องผิดหวังจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการถูกกดราคาผลไม้  การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม  ทำให้เมื่อหักลบที่ลงทุนจ่ายไปหลักแสนบาทแล้วอาจจะไม่คุ้มทุนอย่างที่หวังไว้

จ่ายเงินแสนเสี่ยงดวง

จุดเริ่มต้นของการพาคนต่างชาติเข้ามาเก็บแบร์รี่  เริ่มจากราวปี 2530 เมื่อหญิงไทยที่มาแต่งงานกับคนสวีเดนหรือฟินแลนด์ เชิญชวนญาติๆ ให้มาเที่ยวและมาเก็บผลไม้ป่าเป็นเวลาสองเดือนในช่วงว่างรอฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

พอเห็นรายได้ดี เหล่าญาติที่เดินทางมาก็เลยตั้งใจไปเพื่อเก็บแบร์รี่กันมากกว่าไปเที่ยว และพอได้เงินกลับเมืองไทย ข่าวก็แพร่สะพัด สะใภ้ไทยในสแกนดิเนเวียหลายคนก็ผันตัวเป็นนายหน้าจัดการเส้นทางและเก็บค่าหัวคิว อีกทั้งให้กู้ยืมเงินดอกเบี้ยสูงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงเก็บค่าใช้จ่ายเรื่องบ้าน อาหาร และรถเช่าของคนเก็บแบร์รี่ด้วย

ไพรสันติ จุ้มอังวะ  อายุ 47 ปี ชาวไร่มันสำปะหลังและอ้อยจากอำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ  เป็นคนหนึ่งที่เคยเดินทางข้ามทวีปไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ในช่วงปี 2556 เขาเอ่ยปากว่าการไปเก็บแบร์รี่เหมือนกับการซื้อหวย ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้โกยเงินกลับบ้าน

เรื่องเริ่มต้นเมื่อคนบ้านเดียวกันชักชวนไพรสันติให้ไปฟินแลนด์เหมือนที่เขาเองได้ไปในฤดูกาลก่อนหน้า ไพรสันติก็เหมือนเกษตรกรจำนวนมาก ต้องกังวลเรื่องหนี้สินและภาระทางครอบครัว และมีปัจจัยซ้ำจากราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ “คือเราจะมารอ[ให้ราคาผลผลิตขึ้นแล้วค่อย]ขายมันก็ไม่ไหว  แถมไปไม่นานได้เงินเลยคนเลยเสี่ยงที่จะไปเยอะ”

เมื่อเป็นช่วงหลังจากเว้นว่างจากการทำเกษตรพอดี บวกกับลักษณะงานเป็นงานระยะสั้นทำเพียงสองเดือน ทำให้เป็นแรงจูงใจอีกอย่างให้คนในชุมชนชักชวนตามกันไปเป็นพรวน “มันก็เหมือนซื้อหวยนั่นหละ  มีคนเดียวถูกก็ซื้อตามกันไปแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะถูก”

ไพรสันติ จุ้มอังวะ เกษตรกรชาวชัยภูมิอายุ 47 ปี ผู้ตัดสินใจไป "ซื้อหวยที่ฟินแลนด์" เมื่อปี

ไพรสันติ จุ้มอังวะ เกษตรกรชาวชัยภูมิอายุ 47 ปี ผู้ตัดสินใจไปเสี่ยงโชคที่ฟินแลนด์เมื่อปี 2556 คนอีสานมีสัดส่วนถึงร้อยละ 95.9 ในหมู่พลเมืองไทยที่ได้รับวีซ่าไปเก็บแบร์รี่ที่ฟินแลนด์ โดยจังหวัดชัยภูมิมาเป็นอันดับหนึ่งอย่างกินขาด คือราว 1 ใน 3 ของทั้งหมดเลยทีเดียว

หลักจากไพรสันติเริ่มสนใจจะตีตั๋วไปบ้าง  ก็มีคนของทางบริษัทจัดหางานมาติดต่อถึงที่เพื่อมารวบรวมเอกสารต่างๆ  ซึ่งทางบริษัทจะจัดการเรื่องเอกสารต่างๆ ให้ วีซ่าก็ไม่ต้องไปทำเอง  หากรายใดไม่มีเงินสดค่านายหน้า  ทางบริษัทสามารถทำเรื่องให้สามารถกู้เงินกับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ได้โดยสะดวกในวงเงิน 50,000 บาทต่อคนโดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าเก่าของธนาคาร   นอกจากนั้นคุณไพรสันติยังต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับนายหน้าโดยตรง เพิ่มอีก 23,000 บาท และต้องจ่ายอีกวันละ 16 ยูโรเมื่ออยู่ที่ฟินแลนด์เป็นค่าที่พักและค่าเช่ารถ

ระบบการจ่ายเงินจะต่างออกไปแล้วแต่บริษัทหรือนายหน้าแต่ละคน เช่นบางคนจ่ายในไทยเพียง 2-3 หมื่นบาทแต่ต้องไปจ่ายที่ฟินแลนด์หลักสองพันยูโร ในขณะที่บางคนไม่เสียค่าใช้จ่ายในประเทศไทยเลย แต่ต้องไปจ่ายในฟินแลนด์อีกประมาณ 4,800 ยูโร

แต่ไม่ว่าจะมีระบบการจ่ายเงินแบบใด  จำนวนเงินหลักแสนที่ต้องจ่ายไป  กลายเป็นชนักติดหลังให้นักเดินป่าหาแบร์รี่เหล่านั้นต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้กลับมาเพียงพอทดแทนที่เสียไป

ชีวิตประจำวันในแคมป์คนงาน

คนงานเก็บแบร์รี่ต้องตั้งแคมป์อยู่ด้วยกันใกล้เขตป่า  ในแคมป์ของคุณไพรสันติอยู่ด้วยกันประมาณ 50 คน ต้องตื่นนอนกันตั้งแต่ตี 3 เพื่อมาประกอบอาหาร โดยส่วนผสมก็ต้องซื้อไปจากเมืองไทยทั้งนั้น ไพรสันติเล่าให้ฟังว่าในช่วงก่อนไปฟินแลนด์จะมีร้านค้าหลายร้านในอำเภอแก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เปิดให้คนที่จะไปเก็บผลไม้สามารถใช้เครดิตเอาข้าวของต่างๆ ไปก่อนและค่อยชำระหลังกลับประเทศไทย

กินข้าวและทำธุระส่วนตัวเสร็จ  ทุกคนก็ต้องรีบออกเดินทางโดยรถยนต์ที่เช่าไว้ แยกกันหาแบร์รี่ทีมละ 5-10 คน ไปถึงแต่ละจุดในเขตป่าก็จะจอดส่งสมาชิกในกลุ่มลงปฏิบัติการ  ทีมของคุณไพรสันติมีอยู่ 9 คน ทั้งเก้าคนนี้เป็นคนที่มาจากละแวกบ้านเดียวกันทั้งหมด

280820102995

ผลไม้ป่าในฟินแลนด์มีสองชนิดหลักๆ คือ ลิงงอนแบร์รี่ (lingonberry) และบลูแบร์รี่ (blueberry) ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “หมากดำ” และ “หมากแดง” ตามลำดับ แต่ละชนิดออกผลในช่วงเวลาต่างกัน ภาพ: โคมทอง

แบร์รี่ที่เก็บได้จะนำมารวมกันเป็นของทีม ส่วนเงินที่ได้จะแบ่งเท่าๆ กัน  กว่าจะกลับมาถึงแคมป์ก็ประมาณสองทุ่ม (เวลานั้นในฤดูร้อนฟินแลนด์พระอาทิตย์ยังไม่ตก)  แล้วจะมีรถของทางบริษัทมารับที่แคมป์เพื่อนำแบร์รี่ไปต่อแถวชั่ง กว่าจะแล้วเสร็จก็เกือบถึงเที่ยงคืนในบางวันกว่าจะได้นอน

แต่ยังไม่ทันที่ไพรสันติได้เริ่มเก็บ ก็เริ่มเห็นเค้าลางของปัญหา “พี่ไปวันที่ 29 กรกฎาคม มีแคมป์ข้างๆ ที่มีคนมากกว่า 100 คนที่มาก่อนตั้งแต่ต้นเดือน เริ่มเก็บไปหมดแล้วในรัศมีร้อยกิโลเมตร” เมื่อเก็บผลไม้ได้น้อย คนแคมป์ของไพรสันติจึงเข้าต่อรองกับทางบริษัทเพื่อขอย้ายแคมป์ไปตั้งที่อื่น  แต่ตัวแทนของบริษัทปฎิเสธคำขอนั้น  “เขาบอกไม่ได้ ให้เก็บต่อไป  ถ้าไม่งั้นก็กลับบ้านไป แต่เรากลับไม่ได้ เรากู้หนี้ยืมสินมาเยอะเลยต้องทน”  หลายครั้งไพรสันติกับทีมต้องขับรถข้ามเมืองไปไกลๆ เพื่อไปป่าส่วนที่ยังไม่มีใครเข้าไปเก็บ หลายครั้งต้องพักค้างคืนในป่ากลางอากาศหนาวเหน็บเพื่อประหยัดค่าน้ำมัน  วันหนึ่งๆ ทีมของคุณไพรสันติเก็บลิงงอนได้คนละราว 50 กิโลกรัม รวมแล้ว 500 กิโลกรัม ได้ราคารับซื้อ 1.4 ยูโรต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าต่ำมาก

สถานการณ์ค่อยเริ่มดีขึ้นเมื่อฤดูลิงงอนแบร์รี่ (หมากแดง) มาถึงกลางเดือนสิงหาคม คนในทีมของไพรสันติก็เริ่มเก็บผลได้มากขึ้น ประมาณ 80 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน  ความหวังที่จะโกยเงินกลับประเทศเริ่มกลับมาชุ่มชื้นอีกครั้งเมื่อทุกคนคำนวณตัวเลขนี้เข้ากับเวลาที่เหลือก่อนกำหนดกลับช่วงต้นเดือนตุลาคม

แต่แล้วก็กลับเกิดอุปสรรคขึ้นมาอีก “พอมาวันที 5 กันยายนตอนเย็นทางบริษัทบอกให้ย้ายแค้มป์ไปที่อื่นภายในพรุ่งนี้  เลยถามว่าทำไมต้องย้ายเพราะที่นี่ก็มีหมากแดงเก็บ” ทางบริษัทสั่งให้ย้ายแค้มป์ออกห่างไปอีกกว่า 100 กิโลเมตร  เป็นชนวนที่นำคนงานไปสู่การประท้วงต่อต้านบริษัท

คนงานรวมตัวสู้เพื่อสิทธิ

หลังจากจำใจย้ายที่ตั้งแคมป์ห่างออกมาจากที่เดิมกว่า 100 กิโลเมตร โชคที่เคยมีก็ดับวูบลง คนงานในแค้มป์ไม่พบแหล่งผลไม้ป่าในบริเวณใกล้เคียงเลย ทำให้เกิดการเจรจาอีกครั้งที่เพื่อขอย้ายแคมป์กลับไปที่เดิม ซึ่งทางบริษัทก็ปฎิเสธอีกครั้ง

“เขาก็บอกจะส่งเรากลับบ้าน พวกเราก็ไม่ได้อยากจะกลับหรอก กลับมามันก็มีหนี้สิ้น  ไม่มีใครอยากกลับ  เพียงแค่ให้ย้ายเราไปในที่ที่มันมีผลไม้บ้าง ไม่ใช่อยากจะย้ายเราไปที่ไหนก็ได้”

สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นเมื่อตัวแทนบริษัทนำกำลังตำรวจเข้าพูดคุยกับคนงานและไม่ยอมให้เช่ารถต่อ  ทางคนงานจึงได้ขอความช่วยเหลือจากองค์กรเกี่ยวกับสิทธิแรงงานในประเทศไทย ไพรสันติเล่าถึงท่าทีของทางบริษัทขณะนั้นว่า “ทางบริษัทบอกว่าเราเป็นพวกหัวรุนแรง เป็นพวกขี้เกียจ  เอารถบัสมาด้วย  จะส่งเรากลับอย่างเดียว”

ต่อมามีกลุ่มสิทธิแรงงานเข้าไปช่วยเจรจากับตำรวจในทางเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นจรรยา ยิ้มประเสริฐ นักสิทธิแรงงานไทยที่อาศัยอยู่ในฟินแลนด์ ลี แอนเดอร์สัน กลุ่มเยาวชนซ้าย และทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวฟินแลนด์

หลังจากหารือกันเองภายในกลุ่มคนงานและปรึกษาบุคคลต่างๆ ที่มาให้ความช่วยเหลือ นักเก็บผลไม้ 50 คนจึงรวมตัวกันเดินทางไปยังสถานีตำรวจเมือง Saarijarvi เพื่อแจ้งความต่อกับบริษัท Ber-ex  และผู้เกี่ยวข้อง อีกทั้งยืนยันจะเดินทางกลับประเทศตามกำหนดเดิมคือต้นเดือนตุลาคม หลังจากก่อนหน้านั้นทางบริษัทได้เปลี่ยนตั๋วเครื่องบินของคนงานทั้งหมดมาเป็นวันที่ 14 กันยายน โดยกลุ่มคนงานมองว่าการเลื่อนตั๋วเครื่องบินนี้เป็นการขัดขวางการต่อสู้ของคนงาน

เหตุการณ์ความขัดแย้งนี้กลายเป็นข่าวดังในฟินแลนด์ มีกลุ่มสิทธิแรงงานหลายกลุ่มสนับสนุนฝั่งคนงานเก็บแบร์รี่ ไม่ว่าจะเป็นสภาแรงงานฟินแลนด์ ซึ่งประกาศตัวเรียกร้องให้ออกมาตรการเงินเดือนขั้นต่ำ หรือกลุ่มเยาวชนที่เดินขบวนสนับสนุนการต่อสู้ครั้งนี้ที่กรุงเฮลซิงกิ

“เขาก็พาไปทำกิจกรรมต่างๆ พาไปสหภาพแรงงานบ้างผลักดันในส่วนที่ว่าให้เราเข้าสหภาพแรงงานของฟินแลนด์  เข้าไปรัฐสภาฟินแลนด์[เพื่อไปยื่นเรื่องเรียกร้อง]เกี่ยวกับปัญหาของพวกเรา  สหภาพ[แรงงานฟินแลนด์]ก็คอยช่วยเรื่องโรงแรมต่างๆ กับเรา”

photo_2016-12-15_12-52-22

ตัวแทนบริษัท Ber-ex นำกำลังตำรวจมาเพื่อให้ยึดรถเช่าจากคนงาน และให้ไล่คนงานออกจากที่พัก ผลปรากฏว่ามีกลุ่มสิทธิแรงงานในฟินแลนด์ให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก ภาพ: จรรยา ยิ้มประเสริฐ

เงินก้อนเดียวที่บริษัทยอมให้หลังจากต่อรองกัน คือเงินจากผลไม้ที่เก็บได้เท่าที่ผ่านมา  “ผมก็ได้อยู่ประมาณ 1300 ยูโร จ่ายให้แค่ 30 คน อีก 20 คนเขาบอกว่าเป็นหนี้เขา ไม่ยอมจ่ายอีก 20 คนนั้น ซึ่งเราไม่รู้ว่าค่าอะไร”

ไพรสันติเองก็ไม่ทราบแน่ชัดถึงเหตุผลว่าทำไมบริษัทที่ไม่ให้พวกเขาย้ายแคมป์  แต่จากที่สังเกตเห็นปัญหาในปีหลังๆ มาในการเก็บผลไม้ในฟินแลนด์ จะเห็นว่าทางบริษัทมักจะต้องการย้ายกลุ่มคนงานที่ยังไม่สามารถหาผลไม้ได้ถึงเป้าของบริษัท ให้มาเก็บในพื้นที่ใหม่แทนคนงานอีกกลุ่มที่สามารถหาผลไม้ได้จนปลดหนี้ที่ติดค้างกับบริษัท หรือกลุ่มคนงานไม่ได้ติดหนี้บริษัท

“เขาพยายามให้เราใช้หนี้เขาให้ได้  คุณจะย้ายไปไหนก็แล้วแต่” ไพรสันติตั้งข้อสังเกต “เพราะคนที่ไปปีนี้เขาไปในระบบที่จ่ายในไทย 38000 บาท และเขาจะไปหักเอา 3100 ยูโรที่ฟินแลนด์  พอเขาเก็บผลไม้ได้เกิน 3100 ยูโร สามารถใช้หนี้ได้แล้ว ก็ย้ายเขาออกแล้วให้กลุ่มอื่นที่ยังเก็บได้น้อยมาเก็บแทน”

จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักสิทธิแรงงานผู้ติดตามประเด็นความขัดแย้งนี้ มองว่าระบบการใช้แรงงานข้ามชาติเก็บผลไม้ในฟินแลนด์นี้เป็นระบบที่บีบให้ต้องทำงานอย่างหนักเหมือนเครื่องจักรเพื่อให้มีเงินติดมือกลับบ้าน “ทั้งระบบมันแพงเกินไป คือสองเดือนกับค่าใช้จ่ายแสนห้า ยังไงเราก็ต้องถูกบีบให้เป็นเครื่องจักร”

ซ้ำร้ายที่หลายครั้งราคาผลไม้ลดต่ำลง ทำให้คนงานแต่ละคนต้องทำงานหนักขึ้น หากราคาปกติต้องเก็บได้รวมสามตันจึงคุ้มทุนที่จ่ายไป  แต่หากราคาตกต่ำ แต่ละครต้องรีบเร่งเก็บให้ได้ถึงห้าตัน ในเวลาสองเดือนเศษๆ ต้องเก็บถึงวันละ 80 กว่ากิโลกรัมโดยเฉลี่ยต่อคน  จรรยาอธิบายว่า “ตอนกู้ ธ.ก.ส. นายหน้าเขามีวิธีนำเสนอว่าจะได้เงินกลับบ้าน เป็นแสนแน่นอน  แต่ประเด็นคือพอมาถึงที่ฟินแลนด์  พอราคาผลใม้ตก มันเป็นอีกวิธีนำเสนอเขาก็อ้างว่าเป็นกลไกลตลาด มันผลักความเสี่ยงทุกอย่างให้กับแรงงาน”

นอกจากนี้ บริษัทในฟินแลนด์สามารถขอโควตากับรัฐบาลให้พาคนมาเก็บแบร์รี่ในฐานะนักท่องเที่ยวได้ เพราะหากเป็นลูกจ้างก็จะต้องเข้าสู่กรอบการควบคุมทางกฎหมายฟินแลนด์  “นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่อุตสาหกรรมแบร์รี่พยายามจะหลีกเลี่ยง  รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ผลักดันตรงนั้นให้มีสิทธิเป็นวีซ่าทำงานด้วย” จรรยากล่าว

ระบบดังกล่าวจึงเป็นระบบที่ไม่มีหลักประกันให้กับคนงาน  ทำให้คนงานต้องรับความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ เองทั้งหมด  จรรยาเสนอว่าควรจะหยุดระบบดังกล่าวตั้งแต่ประเทศต้นทางที่ผู้จ้างงาน  ส่วนประเทศไทยก็ควรต้องยับยั้งการรับรองระบบดังกล่าว  “กระทรวงแรงงานควรจะหยุดยั้งกระบวนการนี้  หยุดกระบวนการไปการันตีวีซ่า เพราะกระบวนการนี้มันไม่เคยแฟร์กับแรงงานเลย”

สู้ต่อที่เมืองไทย

หลังการต่อสู้ในต่างแดนร่วมหนึ่งเดือนจนคดีความถูกสั่งฟ้องขึ้นศาลฟินแลนด์  กลุ่มคนงานทั้ง 50 คนก็ได้เริ่มเดินเกมต่อสู้ในประเทศไทยโดยการยื่นฟ้องบริษัทนายหน้าสัญชาติไทยต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

“เราเอาเรื่องค้ามนุษย์ เราก็เดิน[เรื่องต่อดีเอสไอ]กันเอง  ทางฟินแลนด์ก็ส่งข้อมูลเป็นเอกสารมาช่วยเรื่อยๆ  แต่เรื่องก็ยังไม่ไปไหน ตอนนี้ก็สามปีแล้ว”  ไพรสันติตัดพ้อถึงความล่าช้าในการดำเนินคดีที่ไทย  “ขนาดเราสู้เรายังไม่ได้อะไรเลย  แต่เราสู้ในส่วนที่จะให้บริษัทเขารู้ว่าบ้างว่าไม่ใช่จะมาโกงคนไทยได้ทุกอย่าง”

นอกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มคนงาน 50 คนผู้ต่อสู้บริษัทที่ว่าจ้างตนในฟินแลนด์แล้ว ไพรสันติยังได้กลายมามีส่วนร่วมผลักดันให้กลุ่มอื่นที่ได้เสียหายจากการเก็บผลไม้ในต่างประเทศออกมาปกป้องสิทธิเช่นเดียวกัน  เช่นกลุ่มคนงานที่สวีเดน ซึ่งปัจจุบันได้ฟ้องร้องบริษัทนายหน้าต่อศาลแรงงานจังหวัดนครราชสีมา

ไพรสันติชี้ว่าปัญหาในการต่อสู้ของกลุ่มคนงานที่กลับมาประเทศไทยคือรวมกลุ่มกันได้ยาก เพราะแต่ละคนต่างมีภูมิลำเนาที่ต่างกัน

เมื่อเดือนตุลาคมมาถึง ไพรสันติก็กลับมาสู่วิถีของเกษตรกร อ้อยและมันสำปะหลังพร้อมเก็บเกี่ยวรอท่าอยู่ในไร่ แต่สิ่งใหม่ที่รอท่าเขาอยู่คือหนี้สิน ธ.ก.ส กว่าห้าหมื่นบาท ซึ่งจวบจนวันนี้ผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี หนี้ห้าหมื่นบาทนั้นก็ยังไม่รับการชำระแต่อย่างใด

ถึงคนส่วนใหญ่จะไม่สามารถโกยเงินหลักแสนกลับบ้านได้ แต่ความเป็นไปได้นั้นก็ยังคงเป็นแรงจูงใจ “ก็ยังบอกว่ามันเหมือนจะซื้อหวย  เราไม่รู้ว่ามันจะถูกไหม  แต่เราก็คิดว่ามันจะถูก  เพราะเห็นคนคนเดียวได้เป็นแสน  คนอื่นก็ยังคิดว่าจะได้เหมือนกัน” ไพรสันติทิ้งท้าย

 

image_pdfimage_print