ปัจจุบันแม่ค้าที่ขายของอยู่ที่บริเวณสถานีรถไฟอุบลราชธานี มีประมาณ 5-6 คน จากที่เคยมี 11 คน เนื่องจากมีการเก็บเงินรายวันจึงไม่ค่อยมาขาย

ปัจจุบันแม่ค้าที่ขายของอยู่ที่บริเวณสถานีรถไฟอุบลราชธานี มีประมาณ 5-6 คน จากที่เคยมี 11 คน เนื่องจากมีการเก็บเงินรายวันจึงไม่ค่อยมาขายบนฉากหลังของร้านค้าสะดวกซื้อของบริษัทที่ได้รับสัมปทานซึ่งขนาบชานชาลาสถานีรถไฟอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ แม่ค้าห้าหกรายนั่งเรียงรายกันอยู่ บ้างก็นั่งพื้น บ้างก็นั่งม้านั่ง

หากเป็นช่วงเวลาที่มีนักเรียนนั่งรถไฟไปทัศนศึกษา นางวนิต เดชเดิม อายุ 44 ปี จะจ่ายเงิน 10 บาทให้พนักงานบนตู้เสบียง เพื่อขึ้นไปขายของบนขบวนรถไฟ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่นาง “จะขายของหมดเกลี้ยง” แต่หากเป็นช่วงเวลาปกติ นางจะเดินเร่ขายของตามบริเวณชานชาลา โดยขายสินค้าเช่น ผลไม้ น้ำดื่ม และข้าวเม่า ตั้งแต่เวลา 9.30 น. จนถึงเวลา 17.30 น. เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวซึงมีลูกสามคน

“เจ้าหน้าที่ไม่ให้เดินขายบนรถนอนเพื่อไม่ให้รบกวนผู้โดยสาร เราก็จะขึ้นแต่รถไฟประเภทรถเร็วสองขบวน แต่ส่วนมากถ้าไม่มีนักเรียนจะไม่ขึ้นไป ขึ้นไปก็โดนเก็บ ไม่คุ้ม แล้วก็เสียเวลา” นางวนิตเล่า

แม่ค้าหาบเร่ที่ที่ชานชาลาอย่างนางวนิต ต้องจ่ายค่าที่วันละ 25 บาทให้กับร้านค้าที่ได้รับสิทธิ์ขายอาหารและเครื่องดื่มบริเวณสถานีรถไฟ และจ่ายซ้ำซ้อนอีกหากอยากขึ้นไปขายบนขบวนรถไฟทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ โดยผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อนายสถานีรถไฟอุบลราชธานี แต่ถูกปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในเรื่องนโยบายการเก็บเงินจากผู้ขายของ

การจ่ายค่าที่วันละ 25 บาทนั้น เป็นไปตามคำสั่งศาล ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากบริษัทรองเมืองคอนสตรัคชัน ซึ่งได้รับสิทธิ์ขายอาหารและเครื่องดื่มบริเวณสถานีรถไฟอุบลราชธานี ได้ดำเนินคดีกับแม่ค้าด้วยข้อหาบุกรุก ผลปรากฏว่าศาลตัดสินให้แม่ค้าแต่ละคนจ่ายเงินวันละ 25 บาทให้กับบริษัทรองเมืองคอนสตรัคชัน หากต้องการขายของที่บริเวณสถานีรถไฟอุบลราชธานี

ส่วนเรื่องอาหารที่นำมาขายที่บริเวณสถานีรถไฟนั้น  แม่ค้ากล่าวตรงกันว่า สามารถขายอาหารอะไรก็ได้ที่สามารถหามาขายได้ ทั้งผลไม้ต่างๆ โดยมีการตกลงกันแต่เนิ่นๆ แต่แม่ค้าทุกคนห้ามขายเครื่องดื่มน้ำอัดลมทุกชนิด ยกเว้นน้ำดื่มเท่านั้น  เพราะจะถือเป็นการขายตัดหน้าร้านค้าสัมปทานที่สถานี

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละวัน แม่ค้าที่ขายของที่สถานีต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ในวันธรรมดาขายไม่ค่อยได้ เฉลี่ยแล้ววันละไม่กี่ร้อยบาท  เนื่องจากคนใช้บริการน้อย ขายได้ดีเฉพาะวันเทศกาล เช่น เวลาเด็กนักเรียนไปทัศนศึกษา เทศกาลปีใหม่ ที่คนใช้บริการเยอะ ถือเป็นช่วงจับจ่ายใช้สอย ทำให้ขายหมดมีรายได้ถึง 500 บาทได้บ้าง

ป้ายเตือนของบริษัทสัมปทานขายอาหารสถานีรถไฟ ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาขายของบริเวณสถานีรถไฟ มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ป้ายนี้ลงวันที่ 20 มีนาคม 2555 อันเป็นช่วงเวลาที่คดีความระหว่างบริษัทกับกลุ่มแม่ค้าสิ้นสุด หลังจากสู้คดีกันสามปี

ป้ายเตือนของบริษัทสัมปทานขายอาหารสถานีรถไฟ ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาขายของบริเวณสถานีรถไฟ มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ป้ายนี้ลงวันที่ 20 มีนาคม 2555 อันเป็นช่วงเวลาที่คดีความระหว่างบริษัทกับกลุ่มแม่ค้าสิ้นสุด หลังจากสู้คดีกันสามปี

พนักงานประจำร้านค้าสัมปทานซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า ทางร้านค้าของบริษัทต้องจ่ายค่าเช่าที่เดือนละประมาณ 6-7 หมื่นบาท  และต้องเสียภาษีสินค้าต่างหาก ส่งผลให้ต้องขายอาหารและเครื่องดื่มในร้านค้าที่แพงกว่าข้างนอกสถานีรถไฟ และต้องเก็บเงินกับแม่ค้าที่ต้องการขายของที่บริเวณสถานีและข้ามสถานีมาขายวันละ 25 บาททุกวัน

ทั้งนี้ พนักงานที่ร้านค้าของบริษัทสัมปทานได้เปิดเผยว่า เรื่องราคาขายสินค้าต่างๆ ถูกกำหนดด้วยการตกลงกันระหว่างเจ้าของบริษัทกับสถานีรถไฟ  ส่วนตนมีหน้าที่ขายและรับเงินเดือนเท่านั้น

พนักงานคนดังกล่าวยังเล่าว่ามีผู้ใช้บริการบ่นถึงราคาขายเครื่องดื่มที่แพงเกินไป ทั้งบนรถไฟและที่ขายในร้าน และยังเสริมอีกว่า “บางคนฉลาดก็ซื้อมาจากข้างนอก” เพราะราคาถูกกว่ามาก

ส่วนแม่ค้าคนใด  หากอยากขึ้นไปขายบนขบวนรถไฟที่กำลังจะออกวิ่งไปอีกสถานีถัดไป  แม่ค้าทุกคนต้องจ่ายอีกครั้งในขบวนคนละ 10-20 บาท ซึ่งไม่รวมกับขบวนเที่ยวกลับในราคาเดียวกัน คนของตู้เสบียงอาหารที่เป็นของบริษัทสัมปทานรายเดียวกันจะเป็นคนเก็บ แต่สามารถขายบนขบวนรถไฟที่จอดอยู่นิ่งๆ ที่สถานีได้ตามปกติโดยไม่ต้องเสียเงิน

แม่ค้าหลายรายกล่าวตรงกันว่าหากเป็นรถไฟฟรีไม่ต้องเสียเงิน จะเสียก็ต่อเมื่อขึ้นขบวนรถไฟที่ต้องเสียเงินเท่านั้น เช่น รถไฟประเภทรถเร็ว แต่บางครั้งอาจเสี่ยงต่อการถูกตู้เสบียงจำกัดไม่ให้เดินขายได้

ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทยเผยต่อประชาชาติธุรกิจว่า การรถไฟฯ ได้เลือกบมจ. ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นผู้ให้บริการบนตู้เสบียงขบวนรถไฟใหม่สี่เส้นทาง อันรวมไปถึงรถไฟสายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานีขบวนใหม่ ที่เพิ่งเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายนเป็นต้นมา นโยบายนี้ส่งผลให้ซีพีกลายเป็นผู้ขายอาหารรายหลักในรถไฟชั้นดี โดยเอกชนที่ได้สัมปทานก็ยังสามารถเข็นรถเพื่อขายให้กับผู้โดยสารได้อยู่

แม่ค้าที่ขายของที่ชานชาลายังอีกกล่าวว่า จำต้องขายของที่สถานีรถไฟอุบลราชธานีต่อไป เพราะเป็นอาชีพที่ทำมานาน และเป็นอาชีพหลักด้วย มารดาของนางวนิตก็เคยเป็นแม่ค้าที่ขายของที่สถานีรถไฟแห่งนี้ ก่อนที่ลูกสาวจะรับช่วงต่อ

สำหรับนางสาวฉลอง ดวงคำ อายุสามสิบต้นๆ อาชีพขายของเร่ที่สถานีรถไฟอุบลราชธานี เป็นอาชีพที่ทางบ้านของเธอทำเป็นอาชีพหลักมาหลายสิบปี โดยเธอจะทำสลับกันกับงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ

“ขายมาตั้งแต่รุ่นยาย  สมัยนั้นรายได้ดีกว่านี้ แต่ทุกวันนี้คนใช้บริการน้อยลง  เพราะมีรถทัวร์  เครื่องบินให้บริการแข่ง  และมีรถส่วนตัวทำให้รายได้จากการขายลดลง และรถไฟเก่าด้วย ปัญหาเยอะ”  นางสาวฉลองกล่าว

สกุลรัตน์ ดีวงศ์ เป็นผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน รุ่นที่ 1

image_pdfimage_print