เฌรารด์ เฌอเน็ต นักทฤษฎีวรรณกรรม ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “ปริบท” (paratext) หรือ “ธรณีประตู” (seuils, threshold) ไว้ว่า งานวรรณกรรมที่ตกไปถึงมือผู้อ่าน มักมิได้มีแต่ตัวบทเปลือยๆ หากแต่มีหลายสิ่งหลายอย่างรายรอบ ไม่ว่าจะเป็นปก ชื่อผู้ประพันธ์ คำนำ ภาพประกอบ สิ่งเหล่านี้หากจะนับเป็นส่วนหนึ่งของตัวบทก็ไม่ใช่เสียทีเดียว แต่ที่แน่ๆ กลับเป็นส่วนสำคัญที่ผู้มีส่วนจัดพิมพ์สนธิกำลังกันส่ง “สาร” เกี่ยวกับตัวบทให้แก่ผู้อ่าน เป็น “ธรณีประตู” ที่เป็นทางเข้าและทางออกสำหรับสาธารณชน
วิทยากร โสวัตร พินิจ “ธรณีประตู” ของหนังสือ “มหาเวสสันดรชาดก (ของเก่า) สำนวนอีสาน” ถอดนัยยะของ “สถาบันพิมลธรรม” ผู้หยิบต้นฉบับวรรณคดีลาวอีสานเล่มนี้มาจัดพิมพ์ ทำไมสงฆ์อีสานต้องเอาชื่อพระพิมลธรรม ซึ่งเป็นหนามยอกอกของฝ่ายอนุรักษนิยมไทย มาเป็นชื่อสถาบัน? ทำไมต้องเลือกมหาเวสสันดรชาดก “คำลาว” มาเป็นปฐมบทของโครงการ “อีสานศึกษา”? การหาคำตอบเหล่านี้นำไปสู่ข้อสรุปที่น่าตื่นตะลึงที่ว่า หนังสือที่รูปลักษณ์แสนเชยเล่มนี้เป็นหนังสือการเมือง!
คอลัมน์ความคิดเห็น โดย วิทยากร โสวัตร

หนังสือ “มหาเวสสันดรชาดก (ของเก่า) สำนวนอีสาน” หากไม่พินิจดูดีๆ ท่านอาจผ่านเลยมองไม่เห็นนัยยะทางการเมืองของการพิมพ์วรรณกรรมลาวอีสานเรื่องนี้ — สัสดี แสนศรี เมืองร้อยเอ็ด รจนา, มหาสิลา วีระวงส์ ปริวรรต, พระมหานิยม อุตฺตโม ตรวจชำระ, รศ. จิรภัทร แก้วภู่ บรรณาธิการ
งานศึกษาวรรณคดีอีสานหรือแม้แต่ผญาที่เห็นๆ อยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มักศึกษาแต่ที่ตัวบท แต่ไม่เห็นบรรยากาศที่ตัวบทเหล่านั้นดำรงอยู่ คล้ายว่ามันเกิดขึ้นมาลอยๆ แล้วก็มีคุณค่าลอยอยู่อย่างนั้น
แต่หนังสือเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก (ของเก่า) สำนวนอีสาน เล่มนี้ มีบทนำชื่อว่า วิธีการอ่านหนังสือคำกลอนของภาคอีสาน ซึ่งได้รวบรวมถ้อยคำของผู้ตรวจชำระวรรณคดีฉบับนี้ คือพระมหานิยม อุตฺตโม (ชำระเสร็จปี ๒๕๒๓, มรณภาพปี ๒๕๒๔) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศของสังคมอีสานโบราณที่การอ่านวรรณคดีเป็นเรื่องของสามัญชน “เมื่อก่อน พ.ศ. ๒๔๘๖ ถอยหลังไปสิบๆ หรือเป็นร้อยๆ ปี … ชาวอีสานทั้งมวลแม้แต่เด็กเลี้ยงควายเป็นนักกาพย์ นักกลอนกันทั่วไป”
พระมหานิยม อุตฺตโม ยังเล่าถึงทำนองในการอ่านวรรณคดีเล่มนี้ ว่าเนื่องจากมันเป็นเสียงไทยอีสาน จะ “ดัดจริต” อ่านแบบไทยกลางไม่ได้
เสียงไทยอีสานไม่มีตัว ช ฌ ฉ เมื่อเห็นเขียนเป็น ช ฌ ฉ อยู่คำใดก็ตามก็เป็นเพียงเขียนตามคำของไทยกลางเท่านั้น แต่เมื่อเวลาจะอ่านคำนั้น ก็ขอให้อ่าน ช และ ฌ เป็น ซ และให้อ่าน ฉ เป็น ส โดยตลอดทุกคำไป อย่าไปอ่านเป็น ช ฌ ฉ ตามไทยกลาง เพราะถ้าอ่านอย่างไทยกลางจะเป็นการดัดจริต แกล้งดัดแปลงให้ผิดจากสำเนียงของภาคอีสาน ยิ่งน่าเกลียด น่าหัวเราะ ไม่น่าฟัง…
ความข้อนี้เหมือนจะเป็นเสียงต่อต้านอำนาจครอบงำทางวัฒนธรรมจากภาคกลาง เมื่อนึกถึงบริบทของประวัติศาสตร์ประกอบที่ว่า คนอีสานถูกบังคับให้เรียนภาษาไทยกลาง วรรณคดีต่างๆ ที่จดจารด้วยตัวอักษรพื้นเมืองก็ต้องปริวรรตให้เป็นตัวอักษรไทยภาคกลางเพื่อรักษาไว้ไม่ให้สูญหาย
บทนำเสนอ ของหนังสือเล่มนี้ ยังได้บอกบางส่วนของประวัติพระมหานิยม อุตฺตโม (ซึ่งผมไม่เคยรู้เหมือนที่ไม่เคยรู้ว่าท่านตรวจชำระวรรณคดีเรื่องนี้และไม่เคยรู้ว่าท่านสนใจเรื่องวรรณคดีอย่างมาก) ว่า “สอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค เป็นพระวินัยาธิการสมัยที่มีการปกครองคณะสงฆ์เป็นสังฆมนตรี หนีไปลี้ภัยทางการเมืองร่วมคดีสมัยพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) ในประเทศเพื่อนบ้าน…”
ถึงตรงนี้จะไม่ให้คิดว่าเป็นหนังสือการเมืองได้อย่างไร!
พ้นจากผู้ชำระ เรามาดูชื่อสถาบันผู้จัดพิมพ์กัน และประเด็นนี้แหละที่ทำให้ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ มันเป็นหนังสือการเมืองที่ทำขึ้นโดยกลุ่มพระ (อีสาน) ที่ทำได้อย่างมีชั้นเชิงที่เหนือชั้น…
สถาบันพิมลธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น จัดตั้งขึ้นมาเมื่อต้นปี ๒๕๔๙ และได้เลือกหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกของโครงการ “อีสานศึกษา” ซึ่งตัวเล่มไม่มีรายละเอียดทางบรรณานุกรมใดๆ นอกจากที่โรงพิมพ์ทิ้งร่องรอยบอกเวลาไว้ท้ายเล่มว่า “พิมพ์ที่ หจก.ขอนแก่นการพิมพ์ ๒๕๕๑”
คำนำ ชี้แจงพันธกิจของสถาบันพิมลธรรมไว้ว่า “…เป็นศูนย์ข้อมูล ภูมิปัญญา แหล่งศึกษาค้นคว้า วิจัยและเผยแพร่ เป็นเวทีทางวิชาการและระดมทุน ในด้านวิปัสสนาธุระ สันติศึกษา และอีสานศึกษา ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง”
ถึงจะปฏิเสธว่าโครงการ “อีสานศึกษา” ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ชื่อ พิมลธรรม ซึ่งมาจาก พระพิมลธรรม นี้หลีกเลี่ยงจากการเมืองไม่ได้โดยประการทั้งปวง
พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนระบอบการปกครองใหม่ของสงฆ์หลังประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎรนั้นก็พยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ไทยให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองใหม่คือประชาธิปไตย
ชาวบ้านร้านตลาดในภาคอีสานล้วนแต่รู้จัก “หลวงพ่ออาจ” หรือพระพิมลธรรมทั้งนั้น พระภิกษุชาวขอนแก่นผู้นี้ถือว่าเป็นตัวแทนของระบอบประชาธิปไตยในโครงสร้างสงฆ์ไทยถูกกวาดล้างโดยระบอบเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เช่นเดียวกับนักการเมือง ปัญญาชน ประชาชนฝ่ายก้าวหน้าในสมัยนั้น
ใน คำนำ นี้เองก็ได้มีการเล่าประวัติของพระพิมลธรรมไว้ว่า “…ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีว่าการปกครองถึง ๔ สมัย และงานที่ พระพิมลธรรม ได้บุกเบิกไว้ ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายต่อความคิดและความรู้สึกผู้คนในสมัยนั้นไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ความริษยา และการคุกคามของผู้มีอำนาจทั้งจากทางตรงและทางอ้อม เรื่องราวความเป็นมาของท่านนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นตำนานแห่งการยืนหยัดต่อสู้กับความขัดแย้ง มิจฉาทิฐิ และการใช้อำนาจอันอยุติธรรมที่แอบแฝงอยู่ในสถาบันสงฆ์”
ข้อความนี้กลั่นมาข้อเท็จจริงของการกวาดล้าง “หลวงพ่ออาจ” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่พระพิมลธรรมถูกกล่าวหาว่าเสพเมถุนทางเวจมรรคกับลูกศิษย์ จากพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม จนกระทั่งถูกถอดออกจากสมณศักดิ์
พอตกปี ๒๕๐๕ ผู้นำเผด็จการก็รับลูกให้ยกเลิก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย แล้วประกาศใช้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งก็คือการกลับไปสู่โครงสร้างคณะสงฆ์ รศ. ๑๒๑ ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการรวมศูนย์มาจนทุกวันนี้
ในปีเดียวกันนั้น ท่านได้ถูกทางการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงบังคับให้สึกเป็นฆราวาส แต่ท่านไม่ยอมเปล่งวาจาสึก ถูกทรมานหักนิ้ว สุดท้ายกระชากจีวร จนท่านต้องนุ่งห่มขาว และถูกจำคุกอยู่ที่กองบังคับการตำรวจสันติบาลอยู่หลายปี จนกระทั่งศาลทหารสามารถพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความเท็จ และตัดสินยกฟ้องเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ แต่มหาเถรสมาคมก็ยังไม่ยอมถอนอธิกรณ์ให้ท่านเรื่องที่กล่าวหาว่าท่านเสพเมถุนกับลูกศิษย์
กระทั่งปี ๒๕๑๖ มีการปฏิวัติใหญ่ของนักศึกษาประชาชนในเดือนตุลาคม บ้านเมืองกลับมาสู่บรรยากาศของประชาธิปไตย จึงเกิดมีขบวนการ “ยุวสงฆ์” ขึ้นเคลื่อนไหวเรื่องนี้และเรื่องให้เปลี่ยนกลับไปใช้ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ในเดือนมกราคม ๒๕๑๘ การเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ของพระสงฆ์สามเณรที่ลานอโศก วัดมหาธาตุ ได้รับชัยชนะ ส่งผลให้พระพิมลธรรมคืนสู่สมณศักดิ์เดิม
แต่เรื่องการกลับไปใช้ พรบ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ทางรัฐบาลขณะนั้นเพียงแต่รับเรื่องไว้ แต่ปีรุ่งขึ้นเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ประเทศกลับไปสู่ระบอบเผด็จการ เรื่องการปกครองคณะสงฆ์แบบโครงสร้างประชาธิปไตยก็เงียบหายเท่าทุกวันนี้

พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม
การอ้างชื่อพระพิมลธรรม ยังมีนัยยะของการเมืองระดับภูมิภาค ที่ “พระทางอีสาน” มีสำนึกของความเป็นกลุ่มก้อนที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกันกับส่วนกลาง ดังที่มีการบันทึกไว้ในบทความ “คว่ำพระพิมลธรรม – ขบวนผ่าอาณาจักรสงฆ์” ว่า “เรื่องนี้ถ้าจะว่าไปแล้วอาจจะกลายเป็นปัญหาระดับประเทศเลยทีเดียว จะว่าเป็นเรื่องขัดแย้งระหว่างกลุ่มพระทางอีสานและพระที่รักความเป็นธรรม กับพระเถระผู้ใหญ่มหาเถรสมาคมก็ได้” (วารสารเคล็ดลับ วันที่ ๔-๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ หน้า ๑๓-๑๔)
การตั้งชื่อสถาบันของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่นว่า สถาบันพิมลธรรม จึงมีนัยยะทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ เป็นดั่งอนุสาวรีย์ที่ย้ำเตือนความไม่ยุติธรรมที่ “หลวงพ่ออาจ” เคยประสบ ทั้งยังวาดหวังถึงอนาคตที่คณะสงฆ์จะเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นด้วย
คุณลองนึกดูสิ ที่จังหวัดขอนแก่นนั้นมีอนุสาวรีย์รูปจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งสมัยผมเป็นนักศึกษาประมาณปี ๒๕๔๑-๒๕๔๕ มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่าปัญญาชนใหญ่ท่านหนึ่งยุให้ทุบทำลายอนุสาวรีย์นี้ในการปาฐกถาครั้งหนึ่ง (น่าจะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ตอนนั้นก็ฮึกเหิมนะครับ อยากจะทุบตามเขาบอกจริงๆ เพราะเกลียดจอมเผด็จการ แต่มานึกอีกทีเมื่อโตขึ้นหน่อย ก็เห็นว่านั่นเป็นวิธีการที่ค่อนข้างไร้สติ เพราะถ้าเกิดมีใครไปทุบจริงๆ ไอ้คนนั้นแหละจะถูกกระทืบ ถ้าไม่ตายตรงนั้นก็ต้องติดคุกอีก และเป็นที่แน่ชัดว่าจะหาคนกระทืบมารับผิดไม่ได้แน่นอน ส่วนคนยุ คนบอกก็จะลอยนวล อย่างมากก็ไปเยี่ยม
ผมว่าเรื่องพระพิมลธรรมกับจอมเผด็จการนี้ ทางพระเขาก็รู้ซึ้งแก่ใจดี และการตั้งสถาบันพิมลธรรมให้เป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยถือเป็นความอาจหาญ เป็นการบรรลุนิติภาวะทางปัญญาและอารมณ์อย่างน่านับถือ เพราะเมื่อสถาบันนี้เกิดขึ้นแล้ว และตราบเท่าที่ยังดำรงอยู่ ก็เสมือนหนึ่งอนุสาวรีย์ที่ยืนหยัดท้าทายอนุสาวรีย์จอมเผด็จการ และรับรองว่าถ้าใครไปศึกษาเรื่องนี้แล้ว ก็จะพบความจริง และความจริงนี่เองจะทำให้เห็นโทษเผด็จการและสมุนของมัน นี่เองจะเป็นการทุบทำลายอนุสาวรีย์จอมเผด็จการอย่างถอนรากที่สุด
มาถึงตัวบทของหนังสือเล่มนี้ มันมีความแปลกแตกต่างจากหนังสือที่เป็นคลาสสิกของวรรณคดีไทยอย่าง “มหาชาติคำหลวง” อย่างไรหรือไม่?
เท่าที่พบส่วนใหญ่แล้วมหาเวสสันดรชาดกในภาคอีสานจะเป็นกลอนร่าย ที่เรียกกันว่า “ลำพระเวส-เทศน์มหาชาติ” เป็นสำนวนที่พระสงฆ์ใช้เทศน์ในงานบุญผะเหวด ผู้ที่เคยบวชเคยเรียนมาทางพระทางเณรจะคุ้นเคยดี ทั้งที่เป็น ใบลานอักษรธรรม และใบลานอักษรไทยภาษาอีสาน
แต่เล่มนี้กลับเป็นสำนวนประเภทโคลงสาร ซึ่งขณะนี้พบเพียงฉบับของ “สัสดี แสนศรี เมืองร้อยเอ็ด” ฉบับนี้เท่านั้น
ถามว่า โคลงสาร มีความสำคัญอย่างไร?
โคลงสาร นั้นเป็นโคลงแบบเดียวกับที่ใช้แต่งเรื่อง สินไซหรือสังสินไซ ซึ่งถือกันว่าเป็นวรรณคดีชั้นยอดสุด ตัวเรื่องก็เป็นมหากาพย์ มีอิทธิพลต่อวรรณคดีเรื่องต่างๆ ของลาว/อีสาน และเป็นที่นิยมสูงสุดของคนลาว/อีสาน
ในอารัมภบทของหนังสือเล่มนี้ ก็ยังรวบรวมข้อสังเกตของพระมหานิยม อุตฺตโม ที่เชื่อมร้อยตัวบทนี้เข้ากับวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่ของลาวล้านช้างไว้ว่า “ได้ยินว่าท่านผู้แต่ง (เรื่องเวสสันดรชาดกคำกลอน) ได้แต่งเลียนแบบหนังสือสินไซย์เดิม ดูสำนวนที่ใช้ ถ้อยคำในบทกลอน คนทั้งหลายทุกชั้นภูมิจึงอ่านแล้วอ่านอีกไม่รู้ว่ากี่ครั้ง ก็ไม่เบื่อหน่ายเหมือนหนังสือสินไซย์ ฉะนั้น…และพ่อแม่ปู่ย่าตายายของพวกเราชาวอีสาน ไม่รู้ว่ากี่ชั่วคน ก็นิยมอ่านหนังสือสินไซย์กันอย่างไม่เบื่อ ไม่จืดจาง…”
ลองเทียบลีลาวรรณศิลป์ระหว่างมหาเวสสันดรชาดกสำนวนที่ขอตั้งฉายาไว้ว่า “มหาชาติคำลาว” เล่มนี้ กับสำนวนมหาชาติคำหลวงที่นักเรียนชั้นม.ปลายทุกคนต้องเรียนดูก็แล้วกันครับ อาจจะเห็นความแตกต่างในการใช้ภาษาพรรณนาถึงจิตใจของผู้เป็นแม่เมื่อยามที่พลัดพรากจากลูกน้อย
อันว่า นางมทีไห้ หิ้วตายดอมลูก
จิตล่าหล่ง หลงบ้านบ่นาน
นางคานเจ้า มึนทึนเทียวเถื่อน
นางก็ เลื่อนๆ น้ำ ตาไห้ฮุ่งหา…
อย่าให้ คลองชีวาไว้ เททวงทนยาก
ครั้นบ่ เห็นอ่อนน้อย ขอข้ามอดชีวัง แด่ท่อน
แม่ก็ หวังเพิ่งเจ้า จอมเกษเสน่หา
ลูกช่าง ไลมารดา อยู่ดงดอนไม้
ไผสิ มาเฮียงข้าง กินนมนอนแนบ
เคี้ยวข้าวป้อน เดินเหล่นแอ่วนม แม่นอ
ไผสิ หาผืนผ้า มาปูแขวนอู่
ไกว่แจ่มเจ้า วีให้อยู่เย็น แม่นอ
–“มหาชาติคำลาว” มทีกัณฑ์ หน้า ๑๓๗
เทียบกับ
แม่เที่ยวเซซังเสาะแสวง ทุกแห่งห้องหิมเวศทั่วประเทศทุกราวป่า สุดสายนัยนาที่แม่จะตามไปเล็งแล สุดโสตแล้วที่แม่จะซับทราบฟังสำเนียง สุดสุรเสียงที่แม่จะร่ำเรียกพิไรร้อง สุดฝีเท้าที่แม่จะเยื้องย่องย่างลงเหยียบดิน ก็สุดสิ้นสุดปัญญาสุดหาสุดค้นเห็นสุดคิด จะได้พานพบประสบรอยพระลูกน้อยแต่สักนิดไม่มีเลย จึ่งตรัสว่า เจ้าดวงมณฑาทองทั้งคู่ของแม่เอ๋ย หรือว่าเจ้าทิ้งขว้างวางจิตไปเกิดอื่น เหมือนแม่ฝันเมื่อคืนนี้แล้วแล … ดูกรสงฆ์ผู้ทรงพรหมจารี เมื่อสมเด็จพระมัทรีกำสรดแสนกัมปนาทเพียงพระสันดานจะขาดจะดับสูญ นางเสวยพระอาดูรพูนเทวษในพระอุรา น้ำพระอัสสุชลนาเธอไหลนองครองพระเนตร ทรงพระกันแสงแสนเทวษพิไรร่ำ ตั้งแต่ประถมยามค่ำไม่หย่อนหยุดแต่สักโมงยาม
–มหาชาติคำหลวง กัณฑ์มัทรี
การศึกษาวรรณคดีไทยฉบับกระทรวงศึกษาธิการนั้น คล้ายจะให้ภาพจำว่าภาคอีสานไม่มีวรรณคดี คนอีสานไม่มีรสนิยมทางวรรณกรรม (จะมีก็แต่วิถีชีวิตแบบ “ลูกอีสาน” ของคำพูน บุญทวี) ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว วรรณคดีอย่างพระเวสสันดรชาดก มิใช่เพียง “วรรณกรรมท้องถิ่น” ที่เป็นรองวรรณคดีของศูนย์กลางอำนาจ หากเป็นวรรณคดีที่มีขนบและสุนทรียภาพของตนเอง ทั้งถ้อยคำที่ใช้ก็เป็นคำสามัญในอัตราส่วนมากกว่าคำบาลีและราชาศัพท์
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าที่ทางสถาบันพิมลธรรมจัดพิมพ์ มหาเวสสันดรชาดก (ของเก่า) ที่เป็นกลอนลาวหรือคำลาวนี้ขึ้นมา เมื่อลองวางเทียบกับมหาชาติคำหลวงแล้ว มันคือคำยืนยันถึงการมีอยู่ของ “ชั้น” วรรณคดีของคนลาวอีสาน เพียงแต่ “ชั้น” ที่ว่านี้ยืนอยู่บนฐานสามัญชน และรับใช้สามัญชนผู้เสพผู้อ่าน
หนังสือรูปเล่มเชยๆ เล่มนี้ ผมจึงเห็นว่าเต็มไปด้วยนัยยะเรื่องคนเท่ากัน บนพื้นฐานปรัชญาประชาธิปไตย
เอ้า! มีหนังสือญาติโยมคนไหนหรือจากสถาบันหรือว่าองค์กรไหน เหนือชั้นแบบนี้บ้างครับ เอามาโชว์กันหน่อย.