ขอนแก่น – กว่า 40 วันแล้ว ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นและศาลจังหวัดขอนแก่น เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายที่แวะเวียนมาเยี่ยมและทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักกิจกรรมทางการเมือง
หลังศาลจังหวัดขอนแก่นให้ประกันตัว ไผ่ดาวดิน คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 112 ด้วยการแชร์รายงานจาก BBC Thai เกี่ยวกับพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ บนหน้าเฟซบุ๊กของตนในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ตามด้วยการที่ศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งถอนประกันตัวนายจตุภัทร เหตุไม่ลบโพสต์ข่าว BBC ที่เป็นเหตุแห่งคดี ทั้งโพสต์เย้ยหยันอำนาจรัฐ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ จนทำให้หลายคนในสังคมเกิดคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีของคดีดังกล่าว

ประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมไผ่ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ร่วมกันทำ “กิจกรรม The Mask Fighter หน้ากากนักสู้” บริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้เรียกร้องให้ปล่อยตัว “ไผ่ ดาวดิน”
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของ “ไผ่ ดาวดิน” มองว่า การวินิจฉัยถอนประกันตัวนายจตุภัทร นั้นเป็นการพิจารณาคนละประเด็นกับประเด็นที่พนักงานสอบสวนร้องขอ เนื่องจากพนักงานร้องในประเด็นที่นายจตุภัทรแสดงความเห็นใจเพื่อนที่กรุงเทพที่ไม่ได้รับประกันตัว และโพสต์เฟสบุ๊กในลักษณะเย้ยหยันอำนาจรัฐ แต่ศาลกลับพิจารณาในเรื่องที่นายจตุภัทรไม่ยอมลบโพสต์ที่โดนกล่าวหา “ไผ่บอกว่าจะเก็บไว้เป็นหลักฐานว่าเขาบริสุทธิ์ใจ มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ต้องหาจะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน ไอ้เรื่องลบหรือไม่ลบเฟซบุ๊กในข้อความที่ถูกกล่าวหาของ BBC ในวันที่ให้ประกันตัวก็ไม่มีเงื่อนไขให้ลบ”
“ตอนนี้ไผ่ถูกคุมตัวระหว่างรอพิจารณาคดี เท่ากับเป็นการลงโทษไปล่วงหน้า” สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ มองว่าการถอนประกันตัวนายจตุภัทร เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมายทั้งกฎหมายในประเทศ อย่างประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา และมาตรฐานสากลว่าด้วยการพิจารณาประกันตัว ทำให้เหมือนเป็นการลงโทษล่วงหน้าทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด โดยมองว่าการวินิจฉัยไม่ให้ประกันตัวควรจะมีเหตุผลที่มีลักษณะเฉพาะและแคบ คือผู้ต้องหามีพฤติการณ์ชัดเจน ว่าจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรูปคดีหรือจะหลบหนี แต่เหตุผลที่ศาลใช้ในกรณีของนายจตุภัทรนั้นเป็นเหตุผลทั่วไปกว้างๆ อย่างการเย้ยหยันรัฐ ซึ่งไม่เกี่ยวกับรูปคดีหรือพฤติกรรมที่จะหลบหนี
ที่ผ่านมา ทางฮิวแมนไรท์วอทช์เป็นกังวลในเรื่องการประกันตัวของผู้ต้องหาในคดีอาญามาตรา 112 ซึ่งมักขอประกันตัวได้ยาก
“ในอนาคตถ้าเรามองว่ามีคนจำนวนมากไม่ยอมรับอำนาจของ คสช. แล้วถูกจับ คนที่เห็นต่างเหล่านี้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ก็อาจมีการนำเอาคำวินิจฉัยจากคดีไผ่มาเป็นแนวทางในการให้ประกันตัวต่อไปหรือไม่” นายสุณัยกล่าว
นอกจากนั้น นายสุณัยยังตั้งข้อสังเกตถึงการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของฝ่ายความมั่นคงในดำเนินการฟ้องร้องคดี โดยคดีของนายจตุภัทรเป็นตัวอย่างหนึ่งที่กระบวนการดำเนินคดีเริ่มมาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร “ตั้งแต่รัฐประหาร [ปี 2557] เป็นต้นมากองทัพหรือฝ่ายทหารกลายเป็นต้นทางของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก มันก็มีคำถามว่าหน่วยงานอื่นๆ ได้ตรวจสอบหรือถ่วงดุลการวินิจฉัยของกองทัพบ้างหรือเปล่า” นายสุณัยทิ้งท้าย
ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักวิชาการภาควิชาการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เล่าถึง ความรู้สึกหลังได้เข้าเยี่ยมนายจตุภัทรที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นว่า ตนรู้สึกเศร้าและชื่นชมนับถือ รู้สึกเศร้าเพราะนายจตุภัทรไม่ควรจะถูกดำเนินคดี และรู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญที่ยืนยันในจุดยืน โดยนางไทเรลมองว่า การดำเนินคดีนายจตุภัทร ไม่ยุติธรรมในทุกแง่ ทั้งเป็นการถูกเลือกปฏิบัติโดยเป็นคนเดียวที่ถูกดำเนินคดี ทั้งที่มีผู้แชร์ข่าวชิ้นเดียวกันของ BBC กว่าสองพันคน ทั้งการถอนประกันที่ไม่เป็นตามกฎหมาย และการตรวจร่างกายที่เข้มงวดในระดับเดียวกับนักโทษข้อหาร้ายแรง ซึ่งถือเป็นการทำร้ายร่างกายอย่างหนึ่ง “หลังจากมีการรัฐประหาร จะเห็นว่า คสช. จะขยายวิธีการใช้กฎหมายทั้งที่จริงไม่ใช่กฎหมายแต่ดูเหมือนเป็นกฎหมาย เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ กับคนวิจารณ์คสช.” นางไทเรลกล่าว
นางไทเรล ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทย ว่าถึงแม้ตามที่ปรากฏต่อสาธารณะจะยังไม่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการต่อต้านรัฐบาลทหารดังเช่นในอดีต แต่ยังมีการจับกุมคุมขังที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และ“ตามอำเภอใจ” อยู่อย่างเช่นในอดีต “ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึง 6 ตุลา [พ.ศ. 2519] ที่เขาได้กักขังพันกว่าคน แล้วก็สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวที่มีประสิทธิภาพ” โดยในช่วงนั้นมีข้อหาการกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์มาใช้จำกัดสิทธิ์ของผู้เห็นต่างจากรัฐ
คดีของนายจตุภัทรจึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้เห็นต่างจากรัฐ “ทั้งที่คนอื่นที่แชร์ไม่ได้ถูกกล่าวหา เพราะไผ่เป็นศัตรูของรัฐ และกฎหมาย 112 ก็กว้างพอที่จะใช้อย่างนั้น” นางไทเรลกล่าว
สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลยให้เหตุผลที่ทางกลุ่มได้ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายจตุภัทรว่า เป็นการดูแลซึ่งกันและกันเพราะนายจตุภัทรเคยมาร่วมต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ เป็นประโยชน์สาธารณะกับทุกคนซึ่งควรจะได้รับการดูแล คดีความที่ยังไม่มีการไต่สวนก็ยังไม่ถือว่ามีความผิด ควรจะสามารถประกันตัวได้ “ก็พูดยากนะ ยิ่งมีการพิจารณาลับอย่างนี้ คดีควรเป็นสาธารณะที่ทุกคนได้จดจำว่ามันผิดตรงไหน ก็ว่าไปตามเนื้อผ้า ไม่ใช่โดยกระบวนการลับหรือใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมกับเขา” นายสุรพันธ์กล่าว
ปิยรัฐ จงเทพ นายกสมาคมเพื่อเพื่อน ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่ทำงานช่วยเหลือนักโทษการเมือง มองกระบวนการยุติธรรมในคดีดังกล่าวว่า
“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมไม่มองว่าเป็นเรื่องของทางกฎหมายด้วยซ้ำไป เพราะกติกา ข้อบังคับทางกฎหมายต่างๆ ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้” นายปิยรัฐกล่าว
เช่นเดียวกับนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ ในประเทศไทย ที่ถูกกระบวนการยุติธรรมทำให้การต่อสู้คดีเป็นไปอย่างลำบาก จนบั่นทอนกำลังใจนักโทษทางการเมืองหลายๆคน “หลายครั้งคุณฝากขังเขา แล้วอยู่มาวันหนึ่งคุณอาจจะยกฟ้องก็ได้ หรือจะให้ประกันดื้อๆ ก็มี” ซึ่งนายปิยรัฐมองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการลงโทษผู้ต้องหาหรือนักโทษทางการเมืองเหล่านั้นไปก่อนแล้ว ทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด โดยถูกคุมขังรวมกับนักโทษคนอื่นๆ เหมือนเป็นอาชญากร ทำให้หลายคนต้องยอมรับสารภาพเพื่อการลดโทษ “ถ้าเมื่อผมรู้ว่าผมสู้ไปก็ไม่มีทางชนะ ผมก็ต้องยอมรับสารภาพแล้วรอวันลดโทษ ถ้าคุณสู้คุณอาจจะติดคุก 11 ปีเหมือนกับสมยศ พฤกษาเกษมสุขก็ได้ มันมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว” นายปิยรัฐเล่า
นายปิยรัฐยังได้บอกถึงเหตุผลที่ตนแต่งชุดนักโทษมาเยี่ยมนายจตุภัทรที่ศาลจังหวัดขอนแก่น “ผมพยายามบอกกับสังคมไทยและสังคมโลกว่าไม่ว่าคุณจะอยู่ข้างในหรือข้างนอก[ที่คุมขัง] ตราบใดที่คุณยังอยู่ในประเทศนี้ คุณไม่ต่างอะไรกับนักโทษ อยู่ที่ว่าโซ่ตรวนของคุณมายาวมันสั้นต่างกันเท่านั้นเอง” นายปิยรัฐทิ้งท้าย