เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามแผนเดินเรือและปรับปรุงร่องน้ำเดินเรือแม่น้ำโขง ขยายเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ขนาด 500 ตัน เพื่อขนสินค้าจากจีนผ่านหลวงพระบางของลาวถึงประเทศไทย  ทำให้องค์กรภาคประชาชนมากมายออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าว   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระเบิดแก่งน้ำโขงแถบชายแดนไทย-ลาว ในจังหวัดเชียงราย  ด้วยความกังวลว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงและเส้นเขตแดนระหว่างประเทศสองฝั่งโขง แม้แผนระเบิดแก่งดังกล่าวจะดำเนินการในภาคเหนือของประเทศ แต่องค์กรภาคประชาชนในภาคอีสานไม่น้อยได้ออกมาร่วมคัดค้านการระเบิดแก่ง เนื่องด้วยผลกระทบที่จะตามมาไม่ได้เกิดเพียงใน ภาคเหนือเท่านั้นแต่จะเกิดกับแม่น้ำทั้งสาย  

ภาพการรณรงค์ต่อต้านการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงของ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 ภาพถ่ายโดย วิศรุต แสนคำ

เสียงของคนต้นน้ำ:  ‘ครูตี๋’ ชี้ ระเบิดแก่งจะทำให้แม่น้ำกลายเป็นคลองส่งน้ำ  ทำลายระบบนิเวศและอธิปไตย

“ถ้ามองกว้างๆ ไม่ได้มองแก่งเดียว มองหลายๆแก่ง มองภาพรวมของแม่น้ำโขง การระเบิดแก่งนี้พูดให้สุภาพก็คือการเอาระบบนิเวศออกจากแม่น้ำโขง”  นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ อายุ 57 ปีประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กลุ่มภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวในประเด็นการอนุรักษ์และการพัฒนาแม่น้ำโขง

นิวัฒน์ย้ำถึงว่าเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเป็นระบบนิเวศสำคัญของแม่น้ำ อันเป็นกลไกที่ทำให้แม่น้ำมีชีวิต  เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำและพืชหลายชนิด ทำให้มีความมั่นคงทางอาหารของชุมชน  แม่น้ำโขงจึงเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของคนในอุษาคเนย์ และเป็นเหมือนเขื่อนโดยธรรมชาติที่ชะลอกระแสน้ำไม่ให้ไหลเชี่ยวเกินไป  ทำให้ตลิ่งพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมไม่เสียหาย

กลุ่มคนรักษ์เชียงของจึงกังวลว่าผลกระทบที่ตามมาหลังจากมีการระเบิดแก่ง  คือการทำลายระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขง “เหมือนเป็นคลองส่งน้ำดีๆนี่เอง ถ้าไม่มีเกาะแก่งมันไม่ใช่แม่น้ำ มันเป็นคลองส่งน้ำ แล้วมันไม่มีอะไรที่ทำให้สัตว์น้ำอยู่” นิวัฒน์กล่าว

นอกจากนี้ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ  ยังมีข้อกังวลในเรื่องเขตเเดนว่า หากมีการระเบิดแก่งจะทำให้ร่องน้ำที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนเปลี่ยนไป  ตามมาด้วยปัญหาเรื่องเขตแดนที่จะคลาดเคลื่อนของประเทศริมฝั่งแม่น้ำ

“มันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของจีน”  นิวัฒน์มองว่า โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อให้มีเส้นทางเดินเรือขนาดใหญ่ เป็นเรื่องของผลประโยชน์สำหรับประเทศที่ใช้เรือสินค้าขนาดใกล้เคียง 500 ตัน  “ลองคิดดู เราก็มีแต่เสีย คนลุ่มน้ำโขงมีแต่เสีย จีนก็มีแต่ได้ผลประโยชน์จากการค้า เรือก็เรือจีน สินค้าก็มาจากจีน”   นิวัฒน์ชี้ว่า ปัจจุบันจีนมีอิทธิพลในลุ่มน้ำโขงค่อนข้างมาก  โดยจีนมีความสามารถในการกำหนดระดับน้ำผ่านเขื่อนทั้ง 6 ในประเทศจีน ที่ผ่านมา การกำหนดระดับน้ำได้ของจีนนี้ส่งผลกระทบต่อคนริมน้ำโขงมากอยู่แล้ว  เพราะการขึ้นลงไม่ปกติของน้ำซึ่งไม่เป็นไปตามฤดูกาล

นิวัฒน์ยังให้ความคิดเห็นอีกว่า ประชาชนควรจะเรียกร้องกับรัฐบาลไทย  ให้ทบทวนโครงการนี้เพราะรัฐบาลไทยเป็นผู้อนุมัติโครงการ มากกว่าเรียกเอาจากจีน ดังที่มีโครงการรูปแบบเดียวกันในอดีตแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติจาก ครม.

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ อายุ 57 ปี ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อดีตข้าราชการครูสอนหนังสือให้กับเด็กชาวเขาบนดอยสูง ผู้ผันตัวมาร่วมกับชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงและเครือข่ายชาวบ้านในกัมพูชาและเวียดนาม

“ผมว่ารัฐไทยนี่แหละต้องทบทวน คำว่าอธิปไตย จีนก็ถือว่าประโยชน์ของเขา จีนก็ต้องรุกใช่ไหม ถ้าเราก็ถือว่านี่คืออธิปไตยของเรา ทำไมเราต้องเสียด้วย ถ้ารัฐบาลเราบอกว่าเราไม่ยอม  จีนจะทำอะไรได้  ผ่านมาครั้งที่แล้ว ที่มันทำไม่ได้ สำรวจไม่ได้ ก็เพราะ ครม.ไม่อนุมัติไง แต่ตอนนี้มันอนุมัติแล้ว”

 

เสียงคนปลายน้ำ: ชาวประมงอีสานกังวล ระเบิดแก่งภาคเหนือส่งผลถึงอีสาน

“ถ้าเขาระเบิดแก่งหินทางเหนือได้  มันก็จะลามมาทางเราด้วยกระแสน้ำมันก็จะแรงกว่าเก่าเดิม”  นิภาพร อุระ  อายุ 40 ปี เกษตรกรและชาวประมง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  เล่าถึงความกังวลว่า หากมีการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงราย จะส่งผลกระทบมาถึงแม่น้ำโขงในภาคอีสาน เนื่องจากหากไม่มีแก่งคอยต้านน้ำไว้จะทำให้น้ำไหลแรงกว่าเดิม ประกอบกับการปล่อยน้ำจากเขื่อนของจีน จะทำให้น้ำจะยิ่งทวีความแรงมากขึ้น  เพราะแม่น้ำโขงในอีสานส่วนใหญ่เป็นร่องน้ำลึกจำนวนเกาะแก่งไม่เยอะ  “มันก็มีผลกระทบกับเราอยู่แล้ว  เพราะมันน้ำสายเดียวกันถึงเราจะอยู่ปลายน้ำ  ถ้าน้ำมาแรงก็ระบบน้ำมันก็ต้องเปลี่ยน”  นิภาพรกล่าว

เธออธิบายว่ากระแสน้ำที่ไหลแรงขึ้นกว่าเดิมจะส่งผลให้ปลาเปลี่ยนพฤติกรรม  เพราะในช่วงหน้าแล้ง น้ำจะไหลเบาเป็นช่วงที่ปลาออกมาหากินละวางไข่และปลาอีกหลายชนิดที่อพยพขึ้นมาไกลจากทะเลสาบในกัมพูชา   ถ้ากระแสน้ำไหลแรงในช่วงแล้งขึ้นปลาจะเปลี่ยนพฤติกรรมหรือที่เรียกว่าปลาหลงฤดู  ไม่ว่ายขึ้นมา หรือว่ายมาแต่ไม่มีที่วางใข่ไม่มีแหล่งอาหาร ในช่วงที่ผ่านมาหลังมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีนทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนไป  ทำให้ปลาหลายชนิดหาย หากมีการระเบิดแก่งจะยิ่งส่งผลให้ปลาหายไปอีกหลายสายพันธุ์ นิภาพรกล่าว

นักวิชากร ม.มหาสารคามชี้ ระเบิดแก่งกระทบทั้งลำน้ำ  จีนยึดครองแม่น้ำโขง  

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็ว    ผ่านโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมายที่ประเทศจีนได้เริ่มดำเนินการหรือวางแผนไว้  เพื่อเชื่อมตะวันตกเชียงใต้กับอาเซียนภาคพื้นทวีปเข้าด้วยกันให้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ  โดยหนึ่งในนั้นคือการสร้างเขื่อนมากมายกั้นแม่น้ำโขงตอนบน  ถึงแม้เขื่อนเหล่านั้นจะก่อสร้างขึ้นในอาณาเขตของประเทศจีน  แต่ได้ส่งผลกระทบกับประเทศกว่าครึ่งในประชาคมอาเซียนที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน  ปัจจุบันทั้งไทย ลาว และกัมพูชาต่างประสบปัญหาภัยแล้วจากการกั้นแม่น้ำโขง

ชาญณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มองว่าการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง  ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงบริเวณใกล้กับแก่งที่ระเบิดเท่านั้น  แต่จะส่งผลกระทบไปกับแม่น้ำทั้งสาย  เช่นเดียวกันกับ การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของจีนที่ส่งผลกระทบมาถึงแม่น้ำโขงตอนใต้ทั้งหมด  โดยผลกระทบในช่วงแรกคือช่วงที่ทำการะเบิดแก่ง   ซึ่งจีนจะต้องปิดเขื่อนเพื่อดำเนินการระเบิด จะใช้สามวันโดยประมาณ  จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว  

ชาญณรงค์ชี้ว่า กลุ่มแรกที่จะมีปัญหาคือกลุ่มชาวประมง เนื่องจากการลดลงของน้ำอย่างเร็วจะทำให้ปลาหลงฤดู ปลาไม่ทำการอพยพทำให้จำนวนปลาจะลดลง  ทั้งการวางอุปกรณ์จับปลาก็เป็นไปได้ยาก  และกลุ่มเกษตรริมแม่น้ำในอีสานที่อยู่ริมแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชน ก็จะได้รับผลกระทบ  เช่นชุมชนส่วนใหญ่ในจังหวัดนครพนม  

อีกส่วนที่ได้รับผลกระทบคือแม่น้ำสาขาที่จะไหลลงแม่น้ำอย่างรวดเร็ว เพราะแม่น้ำสาขาต่างๆ จะอยู่สูงกว่าแม่น้ำโขง  สิ่งที่ตามมาคือน้ำใต้ดินที่ผุดขึ้นมาพร้อมเกลือที่อยู่ในชั้นใต้ทำให้เกิดการแพร่กระจายของน้ำเค็ม  ซึ่งในช่วงที่จีนระเบิดแก่งในเขตประเทศจีนในปีพ.ศ. 2545 แถบชายแดนจีนติดต่อกับลาวและพม่า ก็เคยเกิดการแพร่กระจายของน้ำเค็มในแม่น้ำสาขาอย่างแม่น้ำสงครามมาแล้ว

“คนกลุ่มนี้มันคือเส้นทางการค้าทางไกล มันมีพ่อค้าที่เป็นคนท้องถิ่นอยู่  จีนก็เข้าฮุบหมด  การค้าถูกทำลาย  ชาวประมงพื้นบ้านที่มีเรือขนาดสามร้อยถึงหนึ่งตันนี้วิ่งไม่ได้เลย” เขากล่าว ผลกระทบด้านการเดินเรือและการค้าเป็นอีกสิ่งที่จะตามมาหลังการระเบิดแก่ง นั่นคือการเข้ามาของเรือขนสินค้าขนาดใหญ่ของจีน  ทำให้เรือประมงและเรื่อขนสินค้าขนาดเล็กในท้องถิ่น ไม่สามารถเดินเรือได้ เพราะจะเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเรือขนาดเล็ก รวมไปถึงพื้นที่การเกษตรริมแม่น้ำด้วย  

นอกจากนี้ การทะลักเข้ามาของสินค้าการเกษตรจีนจะไปกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของคนริมโขงด้วย    

“กลุ่มที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่กลุ่มพ่อค้านะ แต่เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจส่งออกพืชผลทางการเกษตรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะไก่แช่แข็งและอาหารทหารแช่แข็งที่ส่งอาหารขึ้นไปจีน  คนที่ได้มันหยิบมือจริงๆ บอกว่าส่งออกไปจีน ใครได้ประโยชน์ตรงนี้ไม่มีการตั้งคำถาม”  ชาญณรงค์มองว่าการระเบิดเป็นเรื่องผลประโยชน์ของจีน  ที่รัฐบาลไทยหันไปมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนในระยะหลังที่ผ่านมา  

“จีนอาจจะระเบิดมาถึงทะเลสาบกัมพูชาก็ได้  ไม่รู้จีนคิดยังไงแต่ที่เห็นแน่ว่าต้องมาถึงหลวงพระบาง  มันก็ครึ่งทางแล้ว มันก็เหมือนยึดครองแม่น้ำโขงทั้งหมด”  อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  อธิบายความเป็นมาของการเข้ามาของจีนในลุ่มน้ำโขงว่า  หากแบ่งแม่น้ำโขงแบ่งตามภูมิศาสตร์การเมืองจะแบ่งได้สองส่วน  ส่วนแรกคือแม่น้ำโขงอยู่ในจีนไหลลงมาจนถึงเชียงแสนที่เรียกว่าแม่โขงตอนบน และอีกส่วนคือแม่โขงตอนล่างที่ไหลตั้งแต่เชียงแสนลงไปถึงเวียดนาม  

ในอดีตยุคล่าอาณานิคม ประเทศที่มีอิทธิพลในแม่น้ำโขงตอนล่างคือฝรั่งเศส  ที่เข้ามายึดทั้ง เวียดนาม กัมพูชา ลาว  โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำการค้าเป็นหลัก  จะเห็นได้จากการมีการทำสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส  เพื่อให้ไทยอำนวยความสะดวกในการค้าให้แก่ฝรั่งเศส   โดยในอดีตฝรั่งเศสเคยมีความพยายามในการระเบิดแก่งหลีผีในประเทศลาว  เพื่อเดินเรือการค้ามาแล้ว

หลังจากฝรั่งเศสถอนตัวจากลุ่มน้ำโขง  ประเทศที่มีอิทธิพลในแม่น้ำโขงก็คืออเมริกาในช่วงหลังแม่น้ำโขง  สิ่งที่อเมริกาทำคือการทำให้เกิดการสร้างเขื่อนจำนวนมากในภาคอีกสาน  องค์กรต่างๆของอเมริกาเข้ามาวางแผนการสร้างเขื่อน  ทำให้เกิดการสร้างเขื่อนจำนวนมากในลุ่มน้ำโขง  และยังสัมพันธ์กับการตั้งฐานทัพอเมริกาในอีสาน

“การผลิกผันที่สำคัญของการเข้ามาของทุนจีนในแถบแม่น้ำโขง  หรือจะเรียกว่าโลกาภิวัตรโดยทุนจีนก็ได้  หลังทศวรรษ 2530 มันก็เกิดข้อตกลงทางชายแดน  ความขัดแย้งระหว่างจีนกับเพื่อนบ้านคือ พม่า ลาว เวียดนาม มันก็เริ่มลงตัว”  

ในช่วงนั้น เป็นช่วงหลังที่ประเทศจีนเปิดประเทศ มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ  ทำให้จีนสะสมทุนอย่างรวดเร็ว  จึงเกิดนโยบายที่เรียกว่า  Lanchang Mekong Economic Belt หรือ สายพานเศรษฐกิจในล้านช้างแม่น้ำโขง  ที่จีนนำมาเรียกใหม่ว่าเส้นทางสายไหม เป็นเส้นทางใหม่   ที่จีนต้องการให้เป็นตลาดการค้าที่สำคัญของจีน  ยุทธศาสตร์ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้  หลักๆ มีสามข้อ คือหนึ่ง สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ  จึงจะเห็นได้ว่าหลังปี 1980 จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจำนวนมาก สองคือการทำส่งเสริมการท่องเที่ยวเหมือนที่เกิดในเขตยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน และสามคือ ยุทธศาสตร์การทำแม่น้ำโขงให้เป็นเส้นทางการค้า  จึงนำมาความพยายามระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือจีนขนาดใหญ่นำสินค้าเข้ามา

 

image_pdfimage_print