“ปรองดอง” กลับมาเป็นคำที่ถูกหยิบมาถกเถียงและพูดคุยในสังคมไทยอีกหนหนึ่ง หลังจากที่รัฐบาลออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2560  โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อจัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ” (ป.ย.ป.)

การรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในปีพ.ศ. 2549 ถูกนิยามเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหม่ของประเทศไทย ขยายความขัดแย้งในสังคม ตามด้วยความสูญเสียของทุกๆ ฝ่าย  จนกลายเป็นวาระแห่งชาติของทุกๆ รัฐบาลที่พยายามจะสร้างความปรองดอง  ผ่านการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ จนมาถึงการตั้ง ป.ย.ป.  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งในสังคมไทยยังมิได้หายไป  มันไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งภายในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น  แต่ฝังลึกในระดับรากฐานที่ประชาชนต่างขัดแย้งกันเองด้วย  กระบวนการปรองดองจึงอาจมิใช่แค่เรื่องของการ “เกี๊ยะเซียะ” ของคนบางกลุ่มอย่างที่เป็นมา

แม้รูปแบบหรือวิธีการปรองดองในยุค คสช. ยังไม่ชัดเจนมากนัก  แต่ตอนนี้ก็มีคำเปรยจากหัวเรือใหญ่อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  ว่าจะมีการกำหนดหัวข้อในการปรองดองและเชิญพรรคการเมืองต่างๆ  มาลงความคิดเห็นในหัวข้อดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การลงนามร่วมกันเป็นข้อตกลง เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ในการเดินหน้าประเทศต่อไปโดยสงบ มีนโยบายที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายและไม่ให้ฝ่ายใดเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้ง  ซึ่งกำหนดระยะเวลาคร่าวๆ 3 เดือนที่จะได้ข้อยุติเบื้องต้น

เดชา เปรมฤดีเลิศ นักพัฒนาเอกชนอีสาน  มองว่าบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ประชาชนถูกกดทับจากกฎหมายข้อบังคับต่างๆ  ทำให้ไม่เกิดความเท่าเทียมในการแสดงความเห็นของระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

ความต้องการและบรรยากาศของการปรองดอง

นักวิชาการและและนักพัฒนาเอกชนในภาคอีสานแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปรองดองว่า การปรองดองต้องมาจากความต้องการของประชาชน ไม่ใช่มาจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งบรรยากาศต้องเอื้อให้ประชาชนกล้าพูดความต้องการของตนเอง

“ถ้าตราบใดที่มวลชนไม่อยากปรองดองกันทำยังไงมันก็ปรองดองไม่ได้  มันต้องมาถึงจุดที่ทุกฝ่ายเห็นว่ามันจำเป็น  ที่คิดว่าต้องเคลื่อนย้ายจากจุดเดิมของตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า”   สมชัย ภัทรธนานันท์  อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าว

นายสมชัยมองว่าการปรองดองควรจะเริ่มจากความรู้สึกและความต้องการของประชาชนเองที่ต้องการจะแก้ปัญหาความขัดแย้ง  การใช้มาตรา 44 เพื่อตั้ง ป.ย.ป. ของ คสช. เป็นกระบวนการที่ไม่ทั่วถึง ที่รัฐบาลเลือกบางกลุ่มขึ้นมาร่วมกระบวนการปรองดอง  ซึ่งไม่ได้นับรวมรัฐบาลทหารเองที่เป็นคู่ขัดแย้งด้วย

“พอมีคำว่าปรองดองปุ๊บเหมือนมันหมายถึงผู้นำ นปช. พันธมิตรหรือ กปปส.  ทั้งที่ทหารไม่ได้อยู่ในนั้นเลย” นายสมชัยมองว่ากองทัพเองก็อยู่ในความขัดแย้งตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งการเป็นผู้ทำรัฐประหารและผู้สลายการชุมนุมหลายต่อหลายครั้ง

“ทั้งๆ ที่รัฐบาลเองก็เป็นคู่ขัดแย้ง แล้วเขาก็เลือกเอาฝ่ายเดียวให้ว่าจะเอาคนนี้ๆ มันก็ล้มเหลวตั้งแต่ทีแรกแล้ว” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัยเสนอว่า ในกระบวนการปรองดอง ควรดูว่าสาเหตุความขัดแย้งมาจากไหน  ประเด็นไหนบ้างที่ทำให้เกิดความไม่พอใจของแต่ละฝ่าย  ต้องให้ทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นการปรองดองให้ขึ้นมาจากข้างล่าง  ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาที่ต่างกันออกไป จึงจำเป็นจะต้องช่วยให้ปัญหาเหล่านั้นถูกหยิบยกขึ้นมาพูดให้หมด  ทั้งยังต้องสร้างบรรยากาศให้สามารถพูดคุยกันได้ในพื้นที่  ซึ่งกระบวนการต่างๆ อาจกินเวลานาน

“อาจจะต้องมีการคุยกันหลายรอบ  ประเด็นเหล่านี้อาจจะมีจุดเน้นที่ไม่เหมือนกัน  เช่นบางพื้นที่เขาอาจจะบอกว่าปรองดองไม่ได้ถ้าปัญหาอย่างนี้ยังอยู่  เช่นปัญหาการถูกทหารปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับเขา  อย่างนี้จะปรองดองได้อย่างไร” นายสมชัยยกตัวอย่างว่ามีประชาชนถูกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในภาคอีสานภายหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด เช่น ถูกจับกุมอย่างไม่เป็นไปตามกฏหมาย หรือถูกเรียกรายงานตัว

ส่วนเดชา เปรมฤดีเลิศ นักพัฒนาเอกชนในภาคอีสาน   ให้ความสำคัญต่อบรรยากาศทางสังคมการเมืองว่าเป็นเหตุปัจจัยที่อาจยับยั้งหรือเอื้อให้เกิดกระบวนการปรองดอง   โดยมองว่าบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ประชาชนถูกกดทับจากกฎหมายข้อบังคับต่างๆ  ทำให้ไม่เกิดความเท่าเทียมในโอกาสการแสดงความเห็นของระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

“คนไม่กล้าพูด มันเหมือนครูกับนักเรียนที่นักเรียนที่ต้องเกรงใจครู  ชาวบ้านยังพูดเรื่องปัญหาตัวเองไม่ได้เลย จะเอาอะไรไปพูดเรื่องปรองดอง บรรยากาศมันไม่เอื้อ”  โดยที่ผ่านมารัฐออกคำสั่งควบคุมการแสดงออกของประชาชนหลายฉบับ ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้การปรองดองเป็นไปได้ยาก เดชากล่าว

นายเดชามองความพยายามปรองดองที่ผ่านมาว่ายังไม่มีคนที่ทำการปรองดองในเชิงปฏิบัติการ  มีเพียงองค์กรที่ทำการศึกษาข้อมูลและให้ข้อเสนอแนะไว้มากมาย  เมื่อใดที่บรรยากาศทางการเมืองเปิดให้มีการพูดคุยมากกว่านี้  ก็เป็นเรื่องดีที่จะนำข้อเสนอที่เคยมีการศึกษาจากหลายฝ่ายมานำไปสู่การปฏิบัติ

ตัวกลางและความจริงของการปรองดอง

แน่นอนว่าการตั้ง ป.ย.ป. ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ครั้งแรกของความพยายามสร้างความปรองดองระหว่างคนในชาติ  รัฐบาลหลายๆ ชุดที่ผ่านมาก็ได้พยายามใช้คนกลางเพื่อแสวงหาความจริงอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เคยเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

อาทิเช่น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในปี 2553  ที่ตั้งโดยรัฐบาลนาย อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคมในปีเดียวกัน โดยมีภารกิจหลักในการสืบหารากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและจัดทำข้อเสนอในการสร้างความปรองดองในระยะยาว ตลอดระยะเวลา 2 ปี (เดือนกรกฎาคม 2553 – 2555) ใช้งบไปทั้งหมด 77 ล้านบาท ที่มีผลงานเป็นรายงานฉบับยาว 276 หน้า คอป. กลับไม่ได้เป็นยอมรับจากหลายฝ่ายเนื่องถูกมองว่าเป็นกระบวนการแก้ต่างให้กับรัฐบาลในขณะนั้น

จนต่อมาถึง “คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.)” ภายใต้รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2554  ที่พยายามนำข้อเสนอของ คอป. มาผลักดัน และกมธ.ปรองดอง ตั้งโดยสภาผู้แทนราษฏร ในเดียวกัน ที่มีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน มีการมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าจัดทำงานวิจัยเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติขึ้นมาเพื่อประกอบการทำงาน คณะกรรมการทั้งสองชุดและงานศึกษาวิจัยกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและไม่เป็นที่ยอมรับจากหลายๆ ฝ่ายเช่นเดิม

จากความล้มเหลวในความพยายามสร้างความปรองดองที่ผ่านมา ทั้งคนกลาง และความจริงที่เกิดขึ้น ถูกสังคมปฏิเสธทั้งสิ้น คำว่าปรองดองจึงไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนเชื่อมั่นเสมอไป จากการสำรวจตัวอย่างจำนวน 1,272 คน เกี่ยวการปรองดองครั้งใหม่นี้ จัดทำขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา มี 50.08% ที่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จและ 49.92% ที่คิดว่าล้มเหลว

 

ดังนั้นการปรองดองที่ประชาชนต้องการคืออะไร?

“ในเมืองไทยเชื่อถือไม่ได้สักคน กลุ่มหนึ่งโดนไล่ยิงไล่ฆ่ากันทุกฝ่าย  อีกกลุ่มนั่งอยู่เฉยๆจะมาเป็นกรรมการมันไม่ยุติธรรม”  นายทองบรร (ไม่เปิดเผยนามสกุล)  หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บทางเดินหายใจจากการถูกแก๊สน้ำตา  ระหว่างการร่วมชุมนุมกับ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในปี 2553 “ถึงเราจะเป็นผู้ตามแต่เราก็ใช่ว่าจะมีความคิดเหมือนผู้นำเสมอไป”  โดยขยายความต่อว่าในระดับมวลชนด้วยกันเองแล้ว  ไม่ได้เห็นด้วยกับท่าทีของแกนนำในทุกเรื่อง  อาทิ การที่แกนนำมีท่าทียอมรับหรือปฏิเสธการปรองดองครั้งล่าสุดของรัฐบาลเรื่องพรรคการเมือง ไม่ได้มีผลต่อเธอมากนัก  ซึ่งเธอมองว่าหากจะปรองดองก็ต้องเกิดการพูดคุยระหว่างกลุ่มประชาชนที่มีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ให้ทุกฝ่ายได้เสนอความคิดออกมาผ่านตัวแทน  ในระดับพื้นที่ประชาชนยังสามารถพูดคุยกันได้  โดยในปัจจุบันประชาชนทุกฝ่ายต่างมีปัญหา

“ตอนนี้สีไหนก็ทุกข์เหมือนกันหมด  เพราะเศรษฐกิจอะไรก็ไม่ดี ทุกฝ่ายทุกสีกระทบเหมือนกันหมด” นายทองบรรกล่าว

นายทองบรรยังให้มุมมองกับการค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาว่า ไม่สามารถนำความจริงมาให้แก่สังคม และกล่าวว่าตนเองไม่ได้ติดใจอะไร และสามารถให้อภัยกับเหตุรุนแรงที่ต้องเผชิญจนทำให้ต้องรักษาตัวจนถึงถูกวันนี้  เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้

“เราพูดได้เพราะไม่ได้สูญเสีย เราแค่บาดเจ็บเฉยๆ  ญาติคนที่เสียไปเขาอาจจะไม่ยอม มันก็พูดยาก”  นายทองบรรกล่าว ในทางกลับกันยังมีหลายคนที่ต้องสูญเสียคนใกล้ชิดไปหลายคน อาจจะต้องการรู้ความจริงอยู่ ซึ่งนายทองบรรทิ้งท้ายว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟังเสียงคนกลุ่มนี้

“ปรองดองกันแบบไหน  หมายความว่ายังไง รูปธรรมมันเป็นยังไงยังไม่รู้เลย แต่ตามข่าวก็รู้แค่ว่ามีสี่ด้าน ก็รู้กันแค่นั้น  ถ้าข้างล่างไม่เอาด้วยจะทำยังไง” คุณเอก อดีตการ์ด นปช. ที่มีประสบการณ์กับเหตุการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมทั้งในกรุงเทพมหานครและในจังหวัดขอนแก่น  ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรองดองว่าเกิดขึ้นจากความต้องการของฝ่ายรัฐบาล  แต่ยังไม่ใช่ความต้องการของคนทั้งหมดในสังคมและประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจถึงรูปธรรม

คุณเอกกล่าวอีกว่าการปรองดองควรจะมาจากการพูดคุยของคนกลุ่มคนต่างๆ แล้วเลือกตัวแทนเข้าไปร่วมวง  แทนที่จะเลือกคนที่มีบทบาทนำในแต่ละฝั่ง หรือการหาคนที่รัฐบาลคิดว่าเป็นกลาง “มันไม่มีคนกลางหรอก เคยสำเร็จไหมล่ะกี่ชุดแล้ว แล้วชุดนี้จะได้ไหมล่ะ”

คุณเอกมองว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกิดเหตุความรุนแรงมากมาย  นำมาสู่การบาดเจ็บสูญเสียของทั้งสองฝ่าย  กระบวนการปรองดองจึงไม่ควรมองข้ามเรื่องการคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย  “ความจริงมันยังสำคัญนะ ต้องรู้ก่อนว่าใครทำกับทั้งสองฝ่าย  ต้องมีคนรับผิดชอบแล้วค่อยมาพูดเรื่องปรองดองกัน งั้นคนที่ตายไปไม่มีค่าเลยหรอ”  คุณเอกทิ้งท้าย

วสันต์ ชูชัย ทนายความผู้เคยเข้าร่วมการชุมนุมร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกปปส. ขอนแก่น  มองว่าการปรองดองหลายครั้งที่ผ่านมาว่ามีการศึกษาข้อมูลที่ดี  แต่ผู้ผลักดันกลับเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง  การปรองดองที่ผ่านมาจึงเป็นการนำข้อมูลเฉพาะด้านดีเพื่อเข้าข้างตัวเองเท่านั้น

“การปรองดองที่ผ่านมา จึงไม่ใช่ความคิดความรู้สึกของประชาชนที่แท้จริง  เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มการเมืองเท่านั้น”  นายวสันต์กล่าว

นายวสันต์มองว่ามวลชนแบ่งเป็นหลายกลุ่มเป็นเพราะมองสาเหตุของปัญหาต่างกัน  “คนไทยยังไม่มองปัญหาด้วยเหตุด้วยผล เอาความรู้สึกแล้วถูกแรงจูงใจโดยผลประโยชน์” ดังนั้นนายวสันต์ จึงมองว่าการปรองดองของ คสช. ควรเปิดให้คนไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้าไปทำหน้าที่ เพื่อไม่ให้ลำเอียงไปทางใดทางหนึ่ง

“ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องค้นหาความจริง ถ้ามุมมองทางการเมืองและสังคมผมว่าไม่จำเป็น  แต่มุมมองกฎหมายที่มีการร้องทุกข์  คนมีหน้าที่อย่างตำรวจ ต้องสืบพยานหลักฐานตามกฎหมาย”  นายวสันต์กล่าว

เขามองว่าการค้นหาความจริงของกระบวนการปรองดองที่ผ่านมา ไม่สามารถหาความจริงที่เป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่ายได้  ทั้งยังสร้างความขัดแย้งใหม่ ในฐานะนักกฎหมายตนจึงมองว่า ควรจะหาความจริงในกระบวนการศาล

“การที่จะไปค้นหาว่าใครเป็นใคร  นอกเหนือจากการดำเนินการทางยุติธรรม ไม่จำเป็นต้องไปหามาตอบกับสังคมเพราะ พอหามาก็จะมีการไม่เห็นด้วยจากอีกฝ่ายหนึ่ง  อาจจะเป็นการไปทำให้ไฟมันลุกขึ้นอีก”  นายวสันต์ทิ้งท้าย

ปรองดอง–เครื่องมือรักษาอำนาจ

นายสมชัย นักวิชาการจากม.มหาสารคาม ยังมองว่าวาทกรรมการปรองดองหลายครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของรัฐบาล โดยใช้เหตุผลเรื่องความสงบเรียบร้อยของประเทศเพื่อควบคุมกลุ่มคนที่เห็นต่าง “เป็นเครื่องมือในการควบคุม  ทำอะไรก็ต้องปรองดอง กลายเป็นยุทธวิธีในการปกครองได้โดยสะดวก” เขากล่าว

โดยที่ผ่านการเคลื่อนไหวชุมนุมและรณรงค์ต่างๆ หลายครั้งถูกห้ามโดยฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายปกครองด้วยเหตุที่ว่าประเทศกำลังอยู่ในบรรยากาศการปรองดอง

ไม่ใช่เพียงกลุ่มก้อนทางการเมืองที่เคลื่อนไหวเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างเท่านั้นที่ถูกจำกัดเสรีภาพการแสดงออก  กลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวในเกี่ยวกับปากท้องหรือทรัพยากรต่างๆ  ก็ถูกจำกัดสิทธิไม่ให้รวมตัวเคลื่อนไหวคัดค้านในประเด็นของตนเช่นกัน ทำให้ยิ่งเป็นการกดทับปัญหาเหล่านั้นที่มีอยู่มากมายไม่ให้ได้รับการแก้ไข

กรชนก แสนประเสริฐ ผู้ประสานงาน  “ขบวนการอีสานใหม่” เห็นว่า   การฦพยายามปรองดองท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหามากมาย  จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งถูกลืมไปและปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ถูกทำให้คลี่คลายลง  โดยการอ้างความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเพื่อห้ามการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ปัญหา  เป็นการบังคับชาวบ้านไม่ให้สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อการต่อสู้เรียกร้อง  ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ของภาคประชาชน

“ต้องมาถามว่าคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านคือใคร  หนึ่งคือนายทุน สองคือรัฐบาลที่ไปร่วมมือกับนายทุน  ประเด็นทหารคือมาบอกให้ชาวบ้านไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวทั้งๆ ที่ทหารเป็นคู่ขัดแย้งของเขา มันไม่ใช่คนที่ควรจะมาบอกว่าจะปรองดอง”

แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะพยายามเริ่มกระบวนการปรองดองครั้งใหม่  ในภาวะที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่าการปรองดองของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา แต่ความสำเร็จของการปรองดองนั้น สุดท้ายแล้วตัวชี้วัดก็จะยังคงอยู่ที่การยอมรับของประชาชนในชาติ  ดังนั้นแล้ว จะมองข้ามเสียงของประชาชนไม่ได้เลย

 

 

image_pdfimage_print