คอลัมน์ความคิดเห็น โดย วิทยากร โสวัตร

การอ่านหนังสือไม่ใช่เรื่องไกลตัวสามัญชนอีสาน แต่การอ่านหนังสือถูกตัดตอนด้วยนโยบายรวมศูนย์การศึกษาของธรรมยุตินิกายและการกวาดล้างฝ่ายซ้าย ทำให้หนังสือกลายเป็นของฟุ่มเฟือยเหมาะสำหรับคนมีฐานะ หนังสือจึงตกไม่ถึงสามัญชนอีสานที่ยังใฝ่รู้อยู่ 

ภายหลังการล้อมปราบที่ราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร ปี 2553 ผมกลับบ้านที่กาฬสินธุ์และติดสมุดปกขาว การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ โดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff กลับไปด้วย ระหว่างที่พักการอ่านแล้ววางหนังสือเล่มนั้นไว้ ผมก็สังเกตเห็นว่า ญาติพี่น้องจ้องมองผมอยู่ตลอดเวลา แต่เปล่าพวกเขาไม่ได้สนใจผม พวกเขาสนใจหนังสือที่ผมกำลังอ่านอยู่ต่างหาก แล้วพวกเขาก็ให้พี่ชายคนรองของผมเข้ามาถามว่าอ่านจบหรือ ยังผมถามกลับว่าทำไมเหรอ แต่ถ้าอยากอ่านก็เอาไปอ่านได้

ภายหลังที่พี่ชายหยิบไปอ่านหนังสือเล่มนั้นก็เดินทางไปอีกไกลผ่านมือคนมากมายและยังไม่กลับมาถึงผม (จนต้องหาซื้อเล่มใหม่) ผมเคยพบมันอยู่ที่วัดในสภาพเยินและอยู่ในมือเหี่ยวๆ ของผู้เฒ่าจำศีล ภายหลังจากนั้นมันก็หายไปอีก

แต่ที่ดีมากกว่านั้นเวลาผมกลับบ้านเกิด ผมจะมีเพื่อนคุยเรื่องการบ้านการเมืองมากขึ้นเพื่อนเหล่านั้นก็คือชาวบ้านเหล่านี้นี่เองและผมก็มักติดหนังสือหลายๆ เล่มกลับบ้าน อ่านแล้ววางๆ ไว้ และไม่นานมันก็จะไปอยู่ในมือของคนนั้นคนนี้

จากการศึกษาค้นคว้าและประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่า การอ่านหนังสือและการฟังคนอ่านหนังสือไม่ใช่เรื่องไกลตัวสามัญชนอีสาน วัฒนธรรมการอ่านมีมาแต่เดิมคู่กับวัดวาอารามและการศึกษาของสงฆ์ผ่านวรรณคดีลาวตัวธรรม-ตัวไทยน้อย แต่ถูกตัดตอนด้วยนโยบายรวมศูนย์การศึกษาของธรรมยุตินิกายสมัยรัชกาลที่ 4 และถูกตัดตอนอีกครั้งหลังการกวาดล้างฝ่ายซ้ายระหว่างปี 2510-2519 แนวคิดที่ว่าคนอ่านหนังสือเป็น “ปัญญาชน” ที่ไม่ใช่คนธรรมดา เป็นของฟุ่มเฟือยที่คนมีฐานะเท่านั้นจะเข้าถึงได้ จึงเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ และเป็นแนวคิดที่ทำให้เรามองข้ามความสนใจใฝ่รู้ของคนธรรมดาที่ไม่มีหนังสืออยู่ในมือ

หนังสือสมุดปกขาวการสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ

ผมได้อ่านวรรณคดีอีสาน เรื่อง กาฬะเกษ จัดพิมพ์โดย สำนักงานค้นคว้าฟื้นฟูและรวบรวมวรรณคดีอีสาน วัดทุ่งศรีเมือง  อ.เมือง จ.อุบลราชธานี รวบรวมและชำระโดย พระอริยานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีอีสาน วัดมหาชัย อ.เมือง จ.มหาสารคาม พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศิริธรรม 60/22-23 ถนนชยางกูร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อปี 2519 มีนายปรีชา พิณทอง เป็นผู้พิมพ์-โฆษณา ในคำนำของผู้รวบรวมและชำระมีข้อความตอนหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเหมือนการบันทึกความทรงจำแต่หนหลัง ซึ่งฉายให้เห็นโลกของหนังสือและการอ่านของคนอีสาน ซึ่งเป็นมิติชีวิตที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน

“หนังสือกาฬะเกษนั้น ชาวอีสานนิยมทุกยุคทุกสมัย และจะมีไว้ประจำบ้านเรือนและวัดวาอาราม…แต่ว่าวรรณคดีชิ้นนี้ ใครเป็นผู้แต่งหรือแต่งขึ้นในสมัยใด อันนี้ยากจะบอกให้ทราบได้ละเอียด เพราะผู้แต่งในสมัยก่อนนั้น ไม่ยอมจารึกจารชื่อไว้ในใบลาน ทั้งแต่งในสมัยใดก็ไม่บอกไว้ เป็นแต่เพียงผู้จารคัดลอกกันมาบอกชื่อของตนไว้เท่านั้น ว่าผู้นั้นเป็นผู้จารคัดลอก ขอให้ได้บุญมากๆ ดังนี้”

นั่นหมายความว่าครั้งหนึ่งคนอีสานนิยมอ่านวรรณกรรม ซ้ำยังนิยมมีไว้ “ประจำบ้านเรือน” เป็นสมบัติส่วนตัว ตรงนี้พอจะนึกเห็นภาพได้ว่า สมัยที่วรรณคดีเหล่านี้อยู่ในใบลาน ผู้ชายที่ได้บวชแล้วได้เรียนหนังสือตัวธรรม-ตัวไทยน้อยได้อ่านวรรณคดีเหล่านี้ที่มีอยู่ในวัดแล้วเกิดความรู้สึกซาบซึ้งขึ้นมา ก็คัดลอกใส่กระดาษหรือใบลานเปล่าเพื่อเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว เมื่อสึกออกมาก็เอามาอ่านอยู่เนืองๆ อ่านให้กันฟัง คัดลอกบางตอนเอาไปเว้าสาว และเมื่อมีคนชอบเรื่องเดียวกันก็คงขอคัดลอกต่อๆ กันไป กระทั่งแพร่ขยายไปในวงกว้างผ่านทางเพลง กลอนลำ จนซึมเข้ามาเป็นรสนิยมของชีวิต  

มีการคัดลอกไว้เป็นสำเนาเก็บไว้ประจำวัดวาอารามเป็นสมบัติส่วนกลางหรือสาธารณะ เอาไว้เผยแพร่ให้คนหมู่มากอ่าน ถ้าไม่ทางตรง (โดยการบวชเข้าไปอ่านหรือหมู่ผู้ชายที่ได้รับอนุญาตให้เข้าหอไตรหรือจับหรือบายใบลาน/หนังสือผูกได้) ก็ทางอ้อมโดยผ่านพระอ่านหรือเทศน์ให้ฟังหรือเอาไปอ่านให้กันฟังในงานศพ หรือแปรสภาพเป็นฮูปแต้มตามผนังสิมหรือแผ่นผ้า เพื่อให้บริการผู้ที่อ่านหนังสือยังไม่ออกหรือไม่นิยมอ่านหรือมีเวลาน้อยได้เสพ หรือจะมองว่าเป็นหนังสือสำหรับเด็กก็ได้ เห็นฮูปก็เพลิดเพลิน เกิดความสนใจก็จำเป็นที่ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ต้องเล่าเรื่องอธิบายฮูปแต้มให้ฟัง (แต่ภายหลังกรมศิลปากรได้ออกแบบโบสถ์มาตรฐานให้วัดไทยทั่วราชอาณาจักร สิมเกือบทั้งหมดก็โดนทุบทิ้งเพื่อสร้างโบสถ์ใหม่ตามกรมศิลปากร ฮูปแต้มเรื่องราวในวรรณคดีทั้งหลายก็หายไปด้วย)

นี่เท่ากับแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยครั้งหนึ่งอีสานมีรสนิยมทางหนังสือและเป็นสังคมแห่งการอ่าการฟ้งและการเรียนรู้ เพราะวรรณคดีเป็นที่รวมของทุกศาสตร์

แล้วอยู่ ๆ ก็คล้ายว่าวัฒนธรรมการอ่านเช่นนี้หายไปเหลืออยู่แต่ในศิลปะการแสดง ดังจะเห็นได้จากการนิยมฟังหมอลำมาทุกยุคสมัย ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราววรรณคดีที่เคยจารไว้อย่างแพร่หลาย การที่มีความนิยมฟังหมอลำเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าคนในสังคมมีพื้นความรู้และรสนิยมบางอย่างอยู่ในชีวิตจิตใจอยู่แล้ว

ตรงนี้น่าสนใจว่าวัฒนธรรมหนังสือและการอ่านวรรณคดีของคนอีสานหายไปได้อย่างไร?

มันเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่กับการสร้างอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในช่วง รัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 6 ด้วยระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่กำหนดโดยผู้ปกครองส่วนกลางผ่านระบบโรงเรียนซึ่งในตอนนั้นก็คือวัด มีการชำระตำราให้สอดคล้องรับกับอุดมการณ์ดังกล่าว แม้แต่หลักธรรมในพุทธศาสนาก็ได้คัดกรองเอาบางหัวข้อหรือบางหลักธรรมซึ่งสอดรับส่งเสริมอุดมการณ์ดังกล่าวผ่านการเผยแพร่ทั้งทางการเรียนตามตำราและการสอนผ่านการเทศนา

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือความรู้ความผิดถูกทางศีลธรรมถูกผูกขาดอยู่กับปากพระซึ่งเป็นตัวแทนของระบบการศึกษาสมัยสร้างชาตินี้ และหัวหอกในการกระจายการศึกษาสมัยสมัยนั้น ก็คือพระฝ่ายธรรมยุตินิกายซึ่งเป็นนิกายที่รัชกาลที่ 4 ตั้งขึ้นสมัยที่ทรงผนวชอยู่ก่อนที่จะสึกออกมาเป็นพระมหากษัตริย์ไทย ถึงข้ันมีการยกเลิกอักษรและภาษาถิ่นให้ใช้อักษรและภาษาไทยกลาง (อย่างน้อยที่สุดก็ให้ปริวรรตเป็นตัวอักษรไทยภาคกลาง บางข้อมูลถึงขั้นว่ามีการสั่งเผาทำลายหนังสือผูก/ใบลานตัวอักษรท้องถิ่น)  

แต่แล้วรสนิยมทางหนังสือและวัฒนธรรมแห่งการอ่านและการเรียนรู้ก็ได้กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 หลักฐานที่บ่งชี้ได้ก็คือ พี่ๆ ของผมมักเอ่ยอ้างถึงถ้อยคำของพ่อว่า “อยากให้ลูกจักคนได้หมากลิ้นฟ้าพาดบ่า”  (ให้นึกถึงเสื้อครุยเนติบัณฑิตนะครับ ไอ้ผ้าที่อยู่ไหล่ซ้ายนั่นแหละที่คนอีสานเรียกว่าหมากลิ้นฟ้า)

ถ้อยคำของพ่อที่ว่า ยังสะท้อนถึงความสนใจในเรื่องการเมืองด้วย เพราะมันไปพ้องกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎรในข้อที่เกี่ยวกับการเร่งขยายการศึกษาให้แก่ประชาชน และสอดคล้องกับการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ของนายปรีดี พนมยงค์ และผมก็ยังพบว่าตามบ้านเรือนของตระกูลเก่าๆ ตามวัดวาอารามในเมืองอุบลก็ดี หรือในเมืองที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ อย่างชัยภูมิ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ มีหนังสือ/ตำราเก่าๆ อยู่มากมาย และดูเหมือนจะมีสถานะเป็นของเก่าแก่ของตระกูลและบางที่ก็เป็นของรกรื้อ  จนเห็นพระและคนรุ่นลูกหลานขนเอามาชั่งกิโลขาย ผมยังเคยซื้อได้หลายๆ เล่มตอนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและมีหลายเล่มที่ได้จากลูกหลานของคนรุ่นนั้น

เช่น ประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส เอมิล (งานของรุสโซ ที่นายเตียง ศิริขันธ์ แปล) เคมาล (นายเลียง ไชยกาล เรียบเรียง) สันติบาลใต้ดิน ปรีดีหนี พูนศุข ลี้ภัย นิติสาส์น ปีที่ 4 ของ ขุนประคุณคดี (ซึ่งรวบรวมบทบรรยายของนักวิชาการหลายท่าน หนึ่งในนั้นมีคำบรรยายของนายปรีดีด้วย) หนังสือพิมพ์ (เล่ม) อาเซียไหม่ ต้นเหตุและเหตุการน์แห่งสงครามมหาบูรพาอาเซีย ว่าด้วยการตื่นตัวของชนชาติอาเซีย ไทย-ยี่ปุ่น-จีน-อินเดีย-และมานจูกัว ฯลฯ

หนังสือหลังการปฏิวัติของคณะราษฎร นับแต่สมัยพุทธทศวรรษที่ 2480 (ขวาบน) พุทธทศวรรษที่ 2590 (สามเล่มล่าง) และช่วงพุทธทศวรรษที่ 2510 (ซ้ายบน)

เมื่อขบวนการประชาธิปไตยหรือคณะราษฏรถูกทำลายลงไป จากนั้นไม่นานเมืองไทยตกอยู่ในระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (ปี 2501-2516) เริ่มต้นจากยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทุกสิ่งทุกอย่างถูกผูกขาดจากส่วนกลางยิ่งขึ้นไม่เว้นแม้แต่การศึกษาเรียนรู้

หลังจากยุคแห่งการเรียนรู้ขาดช่วงไปความตื่นตัวทางความรู้และความนิยมอ่านหนังสือก็กลับมาอีกในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แน่นอนว่าสภาพสังคมตอนนั้นมันทำให้หนังสือมากมายไหลทะลักเข้าอีสานทั้งหนังสือฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ผมพบข้อมูลนี้ตอนบวชเรียนช่วงปีท้ายๆ ที่ได้ไปเป็นพระวิทยากรบวชเณรภาคฤดูร้อนที่จังหวัดชัยภูมิแถวๆ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ผมพบว่าวัดของหมู่บ้านในหุบเขาเหล่านั้นมีหนังสือในยุคนั้นมากมาย และมีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดชัยภูมิได้เล่าเรื่องราวสมัยที่เขาทำหน้าที่กระจายหนังสือที่ส่งตรงมาจากขบวนการนักศึกษาในกรุงเทพฯ และพอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เขากับเพื่อนและชาวบ้านต้องขับรถกระบะขนหนังสือไปทิ้งแม่น้ำชีอยู่เป็นเดือนๆ

พอสิ้นสุดสงครามในชนบท รสนิยมทางหนังสือและวัฒนธรรมการอ่านก็หายไปอีก (ช่วงนี้ผมเกิดแล้ว) ความรู้ทุกอย่างถูกผูกขาดอยู่ที่โรงเรียน และในห้องสมุดก็ไม่เคยมีหนังสืออื่นใดนอกจากตำราเรียน หนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียนกลายเป็นของฟุ่มเฟือย หรือกลายเป็นของชั้นสูงของคนรวยเพราะราคาแพงแตะต้องไม่ได้ รสนิยมหนังสือกลายเป็นของปัจเจกชนส่วนน้อย และคนอ่านหนังสือก็ดูจะกลายเป็นคนแปลกจากคนส่วนใหญ่ไป และมักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกหัวรุนแรง (การอ่านหนังสือทำให้เป็นคนหัวรุนแรง)  และตลาดหนังสือในเมืองไทยก็ซบเซาลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน จากที่เคยพิมพ์ 2,000 – 3,000 เล่ม ก็เหลือแค่  1,000 เล่ม 500 เล่ม หรือบางเจ้าก็ 100 – 200 เล่ม  

กล่าวได้ว่าโครงสร้างการศึกษาที่รับใช้อุดมการณ์เพียงชุดเดียว ได้ส่งผลต่อระบบหนังสือของชาติซึ่งนั่นก็เท่ากับเป็นการ “ตัดหนังสือ” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทางตรงที่สุดไม่ให้ถึงมือประชาชน

แต่ในเมื่อความสนใจใฝ่รู้เป็นคุณสมบัติที่มีมาตลอดของสามัญชนคนอีสาน สาเหตุของความขาดแคลนจึงไม่ใช่ความผิดของคนธรรมดา ผมจึงเกิดแรงบันดาลใจขึ้นว่า เราจะทำให้หนังสือดีๆ ถึงมือประชาชนได้อย่างไร ?

โปรดติดตามตอนต่อไป

image_pdfimage_print