หมาในมหาวิทยาลัย
คุณจะเลือกชื่นชมสัตว์ชนิดใดระหว่างสุนัขจรจัดที่ยืนตรงและเห่าหอนเวลาได้ยินเสียงเพลงชาติและกระรอกตัวน้อยที่มีอิสระจากเสียงเพลงปลุกใจ เรื่องสั้น “หมาในมหาวิทยาลัย” ชายคาเรื่องสั้นชวนตั้งคำถาม
เขียนโดย พีระ ส่องคืนอธรรม
ทบทวนเรื่องราวและประสบการณ์ที่ผ่านมาของ นพ.ศิวาเมษฐ์ แข่งเพ็ญแข นายแพทย์ผู้เข้าใจถึงความห่างไกลที่ผู้ป่วยจากชนบทในต่างอำเภอจังหวัดสุรินทร์ต้องเผชิญเมื่อยามต้องเดินทางเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลประจำจังหวัด พร้อมสะท้อนมุมมองต่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคว่าเป็น “การเปลี่ยนผู้ป่วยอนาถาเป็นการใช้สิทธิรักษา” คนไข้จึงไม่ควรร่วมจ่าย
นพ.ศิวาเมษฐ์ แข่งเพ็ญแข หัวหน้าแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลสุรินทร์ คนกรุงเทพฯ ที่เลือกทำงานในชนบทภาคอีสาน
“ถ้าจะอ้างว่าเป็นโรคทำตัวเอง ‘มึงต้องอย่ากินเหล้า’ ต้องจ่ายค่ารักษาเองก็คงไม่ค่อยแฟร์เท่าไร ข้าราชการที่ไม่ดูแลตัวเองก็มีเยอะแยะ ต้องจ่ายด้วยมั้ย?” นพ. ศิวาเมษฐ์ แข่งเพ็ญแข พูดถึงการตีตราคนรากหญ้าว่า นิยมกินเหล้าจึงป่วย ในทางตรงข้ามข้าราชการที่กินเหล้าแล้วป่วย มักไม่มีคนพูดถึงเท่าไรนัก
นพ. ศิวาเมษฐ์ หรือ หมอเมษฐ์ คงไม่ใช่ข้าราชการแพทย์คนเดียวในประเทศไทยที่ไม่อยากกล่าวโทษชาวบ้าน แต่เขาอาจเป็นหนึ่งในแพทย์จำนวนเพียงหยิบมือที่ยินดีแสดงความเห็นทวนกระแสอย่างไม่ต้องปั้นคำให้สุภาพ คำว่า “แม่ง” พรั่งพรูออกมาเป็นปกติ หากคุณได้มีโอกาสมานั่งสนทนากับเขาที่อยู่ในชุดกึ่งลำลอง เสื้อกีฬาคอปก-กางเกงสแล็กส์ดำ-รองเท้าแตะ บางทีคุณอาจลืมไปว่าเขาคือ อาจารย์แพทย์ผู้มากประสบการณ์คนหนึ่ง
นพ. ศิวาเมษฐ์ แข่งเพ็ญแข วัย 50 ปี หัวหน้าแผนกศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลสุรินทร์ เป็นประจักษ์พยานถึงความห่างไกลของชาวชนบทจากการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในอดีต จวบจนยุคหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC – เออีซี) ในปัจจุบันที่ประชาชนชาวกัมพูชาเดินทางข้ามพรมแดนมารักษาสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชนที่สุรินทร์กันเป็นจำนวนมาก เรื่องราวของหมอเมษฐ์แสดงให้เห็นว่า แนวคิดสวนกระแสของเขาไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ แต่ก่อตัวขึ้นมาจากบทเรียนของ “คนต่างจังหวัด” อย่างเขาเอง
ต่างอำเภอของต่างจังหวัด
หมอเมษฐ์เกิดที่กรุงเทพมหานคร แต่ย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองสุรินทร์ตั้งแต่เรียนชั้น ม.3 โดยย้ายตามพ่อซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การประปามาทำงานที่จังหวัดสุรินทร์ จนนับว่าตนเองเป็นคนอีสานคนหนึ่ง พูดภาษาลาวอีสานได้ พูดเขมรได้เป็นคำๆ
ด้วยโครงการ “แพทย์ชนบท” ทำให้เขาเป็นหนึ่งในคนจากต่างจังหวัดส่วนน้อยมากที่ได้โอกาสไปร่ำเรียนแพทยศาสตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากไม่นับโครงการแพทย์ชนบทแล้ว จากบรรดา 100 ที่นั่งที่สอบแข่งขันกันเข้ามา จำนวนกว่า 80% เป็นนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในรุ่นเดียวกันกับเขามี “ว้อล์กอิน” จากต่างจังหวัดจริงๆ ไม่ถึงห้าคน จนถึงทุกวันนี้ สภาพการกระจุกตัวของนักศึกษาแพทย์จากโรงเรียนไม่กี่แห่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ยังคงมีความเข้มข้นอยู่ โดยในปี 2556 มากกว่าร้อยละ 70 ของผู้สอบติดคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เป็นนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ช่วงกลางพุทธทศวรรษ 2530 หลังจากเรียนหมอหกปี หมอเมษฐ์ต้องกลับมาใช้ทุนในจังหวัดสุรินทร์ เขาได้ไปอยู่ที่อำเภอชุมพลบุรี ซึ่งมีพื้นที่เป็นชะง่อนยื่นออกไปแทรกระหว่างเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม
“จำได้ตอนไปชุมพลฯ ครั้งแรก ขนของไปเนี่ยะ ขับรถแม่งเลยอะ เลยไปสตึก [จ.บุรีรัมย์] คือทั้งอำเภอไม่มีอะไร นึกว่าจะเป็นเมือง แล้วบรรจุ[เป็นแพทย์]เดือนเมษา เดือนเมษาอะ กลางทุ่งกุลาร้องไห้ แล้งมาก แล้วอำเภอทั้งอำเภอมีห้องแถวอยู่ห้องเดียว”
ถึงเขาจะเป็นคนต่างจังหวัด แต่ก็เป็นคนต่างจังหวัดที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง ประสบการณ์การทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนในต่างอำเภอเริ่มจาก อ.ชุมพลบุรี และ อ.ท่าตูม รวมเวลาสามปี จึงทำให้เขาเริ่มเข้าใจถึงความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในภูมิภาค
หลังจากที่ได้บุกเบิกสร้างแผนกศัลยกรรมทั่วไปของโรงพยาบาลสุรินทร์มายี่สิบกว่าปี ปัจจุบันหมอเมษฐ์ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ให้นักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ. นครราชสีมา อีกด้วย และเขาเองก็อยากพานักศึกษาแพทย์ที่ตัวเองสอนได้มีโอกาสไปสัมผัสความเป็นจริงนอกเมือง
“อยากพานักเรียนแพทย์ไปตระเวนให้รอบสุรินทร์เลย ดูว่าอำเภอที่แม่งไกลๆ จากหมู่บ้านเข้ามาตรงถนนดำ ต่อรถบัสมาเนี่ยะ มันไกลขนาดไหน… โหบ้านนี้แม่ง ไกลขนาดนี้เลยเหรอวะ เลี้ยวเข้าไปอีกยี่สิบกิโลอย่างเงี้ยะ เราขับรถมายังไกลเลย แล้วชาวบ้านล่ะ วันนึงมีรถวันละเที่ยวอย่างเงี้ยะ ต้องออกมาตั้งแต่ตีห้าเพื่อมารอรถ คือเราไม่รู้หรอก เรามองที่ปลายทาง ทำไมแม่งมาไม่ทัน น้ำแม่งท่วมอย่างเงี้ยะ รถแม่งไม่วิ่งอย่างเงี้ยะ”
จากสงเคราะห์สู่สิทธิผู้ป่วย
ก่อนการมาถึงของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในปี 2544 หมอเมษฐ์เล่าถึงภาวะเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลโดยรัฐของผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลว่า “สมัยก่อนเนี่ยไม่มีทางเลย คนไข้ไม่มีตังค์ เค้าไม่มาอยู่แล้ว ให้นอนตายอยู่บ้านเยอะแยะ”
“พอเริ่มมี 30 บาท หมอรู้สึก…เปลี่ยนแปลงใหญ่ ก็เปลี่ยนจริง เปลี่ยนจากสงเคราะห์เป็นสิทธิ” หมอเมษฐ์เล่าว่า แต่ก่อนจะมีการใช้งบสงเคราะห์ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อน.’ อันย่อมาจาก ‘อนาถา’ นั่นเอง ซึ่งตรรกะการสงเคราะห์อาจกำลังกลับมาอีกครั้งในรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งผ่านประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาระบุไว้ว่า “บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ”
“ถ้าโครงการ 30 บาทไม่ดีมันยุบตั้งแต่หลังทักษิณแล้ว รัฐบาลทหารก็ไม่กล้าแตะ” หมอเมษฐ์แสดงทรรศนะเมื่อถามว่า โครงการฯ มีปัญหาต้องปรับปรุงหรือไม่อย่างไร หมอเมษฐ์เสนอว่า ปัญหาหลักอยู่กับความยุ่งยากของระเบียบการเบิกเงินและวงเงินที่มีให้อย่างจำกัดจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลงบประมาณ และโรงพยาบาลเองก็ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลถึงผลกำไร
“ปัญหาอยู่กับ สปสช. ซึ่งก็เป็นเหมือน ‘บริษัทใหญ่’ เป็นคนดูแลเงิน มันต้องปรับให้เบิกจ่ายจากเขาได้ง่ายขึ้น เบิกได้มากขึ้น โรงพยาบาลต้องปรับตัว ไม่ใช้ยาฟุ่มเฟือยเหมือนเมื่อก่อน เป็นโรงพยาบาลรัฐ ไม่ใช่โรงพยาบาลเอกชน คุณไม่ต้องการกำไร เขาเอางบมาให้คุณบริหารและบริการคนไข้ คุณไม่ต้องรวย คุณไม่ต้องมีเงินเก็บ มันไม่ใช่เงินเรา”
เมื่อมองถึงข้อเสนอที่ต้องการให้เปลี่ยนไปเป็นระบบร่วมจ่ายหรือ “ระบบโคเพย์” ซึ่งแพทย์จำนวนมากเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น หมอเมษฐ์กลับแสดงความเห็นไปในทางตรงข้าม เขามองว่า การกำหนดให้ร่วมจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์นั้นไม่ถูกต้อง รัฐต้องกำหนดราคาที่ต้องจ่ายให้ถูกเข้าไว้ เพราะจะส่งผลให้คนไข้หมดเนื้อหมดตัวจากการรักษาพยาบาลได้ “คุณต้องกำหนดมาก่อน จ่ายประกันราคาถูกๆ หน่อย ไม่ใช่จะไปคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ถ้า 10 เปอร์เซ็นต์ทำสองแสนนี่ก็สองหมื่นนะ”
ชาวกัมพูชาแห่กันมาหาหมออีสาน
นับตั้งแต่เปิดเออีซีเมื่อต้นปี 2559 หมอเมษฐ์ได้ให้บริการคนไข้อีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก นั่นคือ กลุ่มคนไข้จากประเทศกัมพูชาที่เลือกมารักษาในโรงพยาบาลเอกชนตามภาคอีสานตอนใต้
การเปิดเออีซีทำให้พลเมืองชาวกัมพูชาทำหนังสือเดินทางได้สะดวกขึ้น ทั้งยังมีถนนสภาพดีตัดผ่านช่องจอม จึงมีคนไข้จากกัมพูชาเดินทางมารับการรักษาในที่ราบสูงอีกฝั่งของเทือกเขาพนมดงรักจำนวนมาก โดยเฉพาะที่จังหวัดสุรินทร์ซึ่งพูดภาษาเขมรกันอยู่แล้ว
การเดินทางข้ามประเทศจากสุรินทร์ไปสู่กัมพูชาในปัจจุบันสะดวกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน “เดี๋ยวนี้ไปเสียมเรียบบ่อย ใกล้มาก ออกจากนี่แปดโมง สิบเอ็ดโมงก็ถึงแล้ว” ระยะทาง 236 กิโลเมตรในเวลาเพียงสามชั่วโมงกว่าซึ่งนับว่าเป็นระยะทางที่ “ใกล้” กว่าการนั่งรถสองแถวเทียวจากตัวเมืองสุรินทร์ไปอำเภอชุมพลบุรีสมัยที่หมอเมษฐ์ยังเป็นแพทย์ใช้ทุน ซึ่งต้องใช้เวลาถึงสี่ชั่วโมงสำหรับระยะทางเพียงหนึ่งในสามของทางไปเสียมเรียบ
นายแพทย์ศิวาเมษฐ์ทำงานนอกเวลาที่โรงพยาบาลสุรินทร์รวมแพทย์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนอีกด้วย เขาจึงมีโอกาสได้รักษาผู้ป่วยชาวกัมพูชาฐานะดีจำนวนมากที่เดินทางข้ามพรมแดนมารับรักษาพยาบาลคุณภาพดีในประเทศไทย
หมอเมษฐ์ไม่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับคนไข้เหล่านี้มากนัก นอกเหนือไปจากประวัติของผู้ป่วยซึ่งเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสเสียส่วนใหญ่ เนื่องจากแพทย์ในประเทศกัมพูชาและประเทศเวียตนามที่ให้การรักษาคนไข้เหล่านี้มาก่อนผ่านการเรียนการสอนและการฝึกฝนในระบบภาษาฝรั่งเศส หมอเมษฐ์จึงต้องขอให้แปลประวัติผู้ป่วยเป็นภาษาอังกฤษเสียก่อน
ถึงแม้ว่าคนไข้ที่เดินทางมาจากกัมพูชาจะมีฐานะ แต่หมอเมษฐ์ก็ยังพบว่า คนไข้เหล่านี้ยังได้รับการเลือกปฏิบัติและดูถูกอยู่ “เหยียดคนเขมรอย่างนี้ บางทีตัวเองก็พูดติดเขมรเหมือนกัน เหยียดคนอีสาน ทั้งๆ ที่จริงๆ ก็พ่อแม่คุณ … อยู่ในเมืองมานาน ก็เหยียดอะ อาจจะเพราะว่าเค้าเรียนมาน้อย เหยียดคนเรียนน้อย พ่อแม่คุณก็เรียนมาน้อยเหมือนกัน ก็รู้สึกว่าเราดูดีขึ้น เหยียดเค้าแล้วเราดูเหนือกว่า ดูถูกคนเขมรแล้วเราดูดีกว่า ประมาณนั้น”
“คนก็เลยรับไม่ได้ที่แม่งคนเขมรแม่งขับเล็กซัสมา อะไรอย่างเงี้ยะ ขับปอร์เช่มา อะไรอย่างเงี้ยะ ก็เค้ารวยอะ ทำไม ไม่ใช่ว่าต้องยากจนนี่หว่า” คือข้อสังเกตของเขา
หมอเมษฐ์กล่าวเปรียบเทียบเรื่องนี้กับประเด็นที่มีคน “จับผิด” สร้อยทองของชาวนารายหนึ่งที่ไปต้อนรับ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาจังหวัดอุบลราชธานีในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา โดยวิจารณ์ว่าคนดังกล่าวไม่ใช่ “ชาวนา” แต่เป็น “ตัวประกอบลืมถอดสร้อยทอง”
เขามองว่าทั้งสองกรณีนี้มีแนวคิดเดียวกันอยู่เบื้องหลัง นั่นคือ แนวคิดที่ว่า “ผู้รับ” ต้องมีภาพลักษณ์ “อนาถา” เป็นผู้รับการสงเคราะห์ของ “ผู้ให้” ผู้อยู่เหนือกว่า
หมอสุรินทร์ไม่กินสุรา (แล้ว)
“พอตรวจคนไข้มานานๆ แล้วเราได้เห็นความเป็นมนุษย์ของคนไข้ เราไม่ได้แค่รักษาโรค ถ้ามีเวลาเราก็จะถาม patient story [เรื่องราวผู้ป่วย แทนการถามเพียง patient history หรือ ประวัติผู้ป่วย] ทำไมนัดไม่มา ทำไมขาดยา แต่ก่อนก็จะโกรธ” หมอเมษฐ์เน้นเสียง “แต่เดี๋ยวนี้ เราก็ถามว่า ไม่มีเงินเหรอ ไม่มีคนพามาหรือเปล่า”
แต่สำหรับคนไข้ที่ “เยอะ” และ “ไม่น่ารัก” ซึ่งเขายืนยันว่าเป็นส่วนน้อย เขาก็ยังคงโกรธ และต้องใช้ไม้แข็งอยู่ โดยเขามองว่าถ้าในคนไข้ติดเหล้า 1,000 คน เขาสามารถช่วยให้เลิกได้ 1 คน ก็นับเป็นกำไรแล้ว
“อย่างกินเหล้าไม่หยุด ก็จะมีขู่บ้าง ‘ถ้าครั้งหน้ามาอย่างนี้ก็ไม่ต้องมาแล้ว มาถึงแล้วให้กลับบ้านเลย’ หรือ ‘ถ้ารักจะกินเหล้าก็อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน ป่วยก็นอนอยู่บ้านไป’ หรือ ‘อยากเห็นลูกโตมั้ย? อยากเห็นลูกรับปริญญามั้ย?’”
เมื่อถามว่าหมอเมษฐ์กินเหล้าหรือไม่ “เลิกกินมานานแล้ว” คือคำตอบ “วิ่งมาปีนึงแล้ว อีกอย่างก็แก่แล้ว กินมาเยอะแล้ว พอแล้ว” เขาบอกว่า แต่ก่อนกินเหล้าเร้ดเลเบิลไม่ก็แบล็กเลเบิลทุกสัปดาห์
หมอเมษฐ์ยังเล่าอีกว่า คนไข้ชอบเอาเหล้ามาฝาก “เหล้าไม่ได้มีไว้เก็บ คนไข้เอามาให้เป็นของขวัญตลอด เค้ารู้ว่าเราชอบก็เอามาให้” แต่หลังจากมีการรณรงค์ ‘ให้เหล้า=แช่ง’ ก็ไม่มีเหล้าเป็นของขวัญอีกเลย
ฝันอยากเปิดร้านหนังสืออิสระ
ความฝันส่วนตัวของหมอเมษฐ์มีอยู่สองสามอย่าง อย่างหนึ่งคือ เขาอยากศึกษาจารึกเขมรโบราณ ด้วยความสนใจในโบราณคดีที่มีมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาแล้ว ทุกวันนี้เขาก็เดินทางไปเสียมเรียบอยู่บ่อยครั้ง
ความฝันอีกอย่างคือ การเปิดร้านหนังสืออิสระ เน้นขายหนังสือเฉพาะกลุ่มประเภทคลาสสิกและวรรณกรรมต่างประเทศ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าได้ทำแน่ๆ หลังจากพ้นตำแหน่งหัวหน้าแผนกศัลยกรรมทั่วไปอีกห้าปีหลังจากนี้
“เมื่อก่อนสุรินทร์ก็มีร้านแบบนี้ แต่ก็ปิดไป เดี๋ยวนี้ book chain หนังสือดีๆ ก็มาก แต่หลบอยู่ไหนไม่รู้”
จากสมัยเด็กๆ ที่อ่านนิยายสืบสวนสอบสวนและนิยายกำลังภายใน จนปัจจุบันที่ได้อ่านงานวรรณกรรมทั้งไทยและเทศ รวมทั้งงานวิชาการและบทความวิพากษ์วิจารณ์สังคม หมอเมษฐ์พบว่าไม่มีโอกาสพบปะคนที่คุยเรื่องหนังสือได้ด้วย เขาจึงอยากเปิดพื้นที่ให้คนอ่านหนังสือได้เจอหนังสือดีๆ และพบปะกัน
“อยากทำร้านหนังสือเล็กๆ ที่เจ้าของเป็นคนอ่านหนังสือ อยากให้คนอื่นอ่านหนังสือ”