ขอนแก่น – สมาชิกขบวนการอีสานใหม่ระบุไทยตอบคำถาม ICCPR ไม่ชัดเจน โดยยกกฎหมายกองทุนยุติธรรมที่มีความก้าวหน้าไปชี้แจงแต่ไม่ส่งจริงในทางปฏิบัติ ขณะที่ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะกลับนำมาใช้ห้ามประชาชนปกป้องทรัพยากร

กรณีรัฐบาลไทยส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีการประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights ICCPR) ระหว่างวันที่ 13 -14 มีนาคม ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อตอบคำถามต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ 10 ข้อ

นางสาวณัฐพร อาจหาญ สมาชิกขบวนการอีสานใหม่ กล่าวถึงการตอบคำถามของผู้แทนรัฐบาลไทยว่า ไม่ได้ตอบคำถามสำคัญในหลายประเด็น หลายประเด็นที่ตอบก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยมีเวลา 48 ชั่วโมง หรือจนถึงวันพฤหัสบดีนี้ ในการทำรายงานชี้แจงเพื่อตอบคำถามทั้งหมด

นางสาว ณัฐพร อาจหาญ สมาชิกขบวนการอีสานใหม่ กลุ่มเคลือนไหวด้านสิทธิชุมชนและสิทธิทางการเมืองในอีสาน

นางสาวณัฐพรกล่าวอีกว่า กรณีที่ผู้แทนรัฐบาลไทยตอบคำถามส่วนใหญ่เป็นการยกกฎหมายที่รัฐบาลมองว่า เป็นความก้าวหน้าในการคุ้มครองสิทธิ อย่างเช่น พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรมซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการช่วยเหลือประชาชนเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องนี้ถึงแม้จะมีการปรับปรุงกฎหมายให้คณะกรรมการกองทุนในระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุมัติเงินกองทุนเพื่อความรวดเร็ว แต่ที่ผ่านมาคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองมักจะเข้าถึงกองทุนนี้ยาก อีกทั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดหลายคนเป็นเจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งหลายกรณีเจ้าหน้าที่เป็นคู่ขัดแย้งกับจำเลยเอง

อีกกรณีคือเรื่องการออก พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ผู้แทนไทยได้อธิบายว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนไม่ได้ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิการแสดงออกของประชาชน แต่นางสาวณัฐพรกลับมองว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนหลายครั้ง เช่น กรณีของกลุ่มที่ออกมาชุมนุมคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่นออกไปนอกเมือง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นคดีแรก และในหลายๆ กรณีของภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องทรัพยากรในภาคอีสานก็ถูกห้ามชุมนุมเคลื่อนไหวโดยการอ้างถึงพ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ

นางสาวณัฐพร กล่าวอีกว่า เรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผู้แทนไทยยังไม่ตอบแน่ชัด แม้ทางการไทยเคยรับข้อเสนอจากนานาชาติ ในเวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ว่า รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างอิสระ แต่เมื่อมีการจัดเวที “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับชีวิตคนอีสาน” จัดโดยภาคประชาสังคมและนักศึกษา ที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้เข้าห้ามจัดเวทีโดยอ้างว่าขัดต่อคําสั่งคณะรักษาสงบแห่งชาติเรื่องการรักษาความสงบ และได้สั่งยกเลิกจัดเวที ทำให้ทีมผู้จัดและผู้สังเกตการณ์จำนวน 11 คน ถูกดำเนินคดีในความผิดตามคำสั่งดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเท่ากับว่ารัฐบาลไทยไม่ทำตามข้อเสนอที่สัญญากับนานาชาติว่าจะนำไปปฏิบัติ

image_pdfimage_print