ภาพโรงพยาบาลในชนบทห่างไกลที่ขาดแคลนทั้งบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือ เป็นภาพที่เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานที่ขาดแคลนแพทย์สูง การทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลประจำอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนจึงเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย
นายแพทย์กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ แพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี 2552 ผู้เลือกที่จะทำงานกับโรงพยาบาลชุมชนมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2530 บอกเล่าแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาโรงพยาบาลที่อาศัยความร่วมมือกับชุมชน รวมถึงมุมมองต่อหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ส่งผลต่อโรงพยาบาลชุมชนและแนวโน้มในอนาคต

นายแพทย์กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ มองว่าการกระจายอำนาจให้ชุมชนร่วมจัดการสถานพยาบาลจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณะสุขครั้งสำคัญ หลังจากการมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
จากน.ศ.สู่แพทย์ชนบทนักพัฒนา
“ผมเป็นพวกไม่มีอุดมการณ์นะตอนแรก ก็คือเรียนเก่ง ใครก็บอกให้เรียนหมอ” หมอกิติภูมิ เล่าย้อนถึงแรงจูงใจเมื่อเข้าศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าไม่ได้มีตั้งใจจะมาเป็นแพทย์ในชนบทตั้งแต่แรก แต่มีความคิดเหมือนกับเด็กที่มีผลการเรียนดีคนอื่นๆ ที่มักเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์
หมอกิติภูมิ บอกถึงบรรยากาศในรั้วมหาวิทยาลัยหลังจากเริ่มเรียนปี 1 เมื่อปี 2524 ว่า เนื่องจากเป็นช่วงหลังเหตุการณ์การเมืองครั้งสำคัญอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ทำให้กระแสการเรียนเพื่อรับใช้ประชาชนยังแรงอยู่ แม้จะไม่มีกระแสที่จะเข้าป่าเพื่อร่วมปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเหมือนนักศึกษารุ่นก่อน แต่มีกระแสการเข้าไปศึกษาและร่วมกันพัฒนาชุมชน นักศึกษาที่ทำกิจกรรมในช่วงเวลานั้นจึงกิจกรรมเชิงพัฒนาชุมชนอย่างแพร่หลาย
น.ศ.แพทย์กิติภูมิเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ชื่นชอบในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกรั้วมหาลัย จนได้มาเคลื่อนไหวร่วมกับสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย โดยเคลื่อนไหวในประเด็นกฎหมายสิทธิบัตรยา ซึ่งมีข้อกังวลจากนักศึกษาและผู้คัดค้านกฎหมายดังกล่าวว่าจะทำให้ราคายาสูงขึ้น เพราะสิทธิในการผลิตยาจะถูกผูกขาดอยู่เพียงแค่บริษัทยายักษ์ใหญ่ระดับโลกไม่กี่แห่ง ทำให้บริษัทยาเหล่านั้นสามารถกำหนดราคายาได้เอง
“ที่เรามาเน้นทำกิจกรรมเรื่องการเมืองเพราะมันมาเกี่ยวกับสุขภาพ มันทำให้เราเห็นว่าระบบสาธารณสุขมันไปเกี่ยวโยงกับการเมืองภาพใหญ่”หมอกิติภูมิย้อยความหลัง
เป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่เป็นหมอกิติภูมิทำงานประจำโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดศรีสะเกษ จนได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ประจำปี 2552
หมอกิติภูมิย้อนถึงความคิดเริ่มแรกที่เข้ามาทำงานในชนบทว่า ถึงแม้จะเป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยแต่ก็ยังไม่ได้มีแนวคิดการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน เหมือนในปัจจุบัน เพียงต้องการมาประจำโรงพยาบาลชุมชนเพื่อใช้ทุนการศึกษา ให้ครบระยะเวลา 3 ปีตามที่รัฐบาลกำหนดให้นักศึกษาแพทย์ทุกคน ต้องทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาลเป็นเวลา 3 ปีหลังจากสำเร็จการศึกษา เมื่อใช้ทุนครบก็ตั้งใจจะไปเรียนต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเหมือนกับแพทย์หลายคน
“ผมมีเพื่อนเป็นทั้งนักกิจกรรมและไม่ใช่นักกิจกรรม ถ้าเป็นกลุ่มนักกิจกรรมก็จะมีการตั้งความหวังเอาไว้ว่า เราจะไปพัฒนาชนบท คนไหนซ้ายๆ หน่อยก็บอกจะนำประชาชนไปปักธงแดงที่พระนคร (นำประชาชนเข้าไปปฏิวัติในเมืองหลวง-ผู้เขียน) เพื่อนที่ไม่ใช่นักกิจกรรมก็จะเป็นประเภทที่ว่าไปใช้ทุน 3 ปีแล้วไปทำอย่างอื่น” หมอกิติภูมิอธิบาย
หมอกิติภูมิเริ่มทำงานเป็นแพทย์ในจังหวัดศรีสะเกษ โดยไปประจำที่โรงพยาบาลอำเภอห้วยทับทันเป็นเวลา 1 ปี แล้วได้ย้ายไปเป็นหมอเพียงคนเดียวของโรงพยาบาลอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษเป็นเวลา 8 ปี การเป็นแพทย์เพียงคนเดียวในอำเภอยางชุมน้อย ทำให้ต้องทำงานหนักกว่าปกติหลายเท่าบางครั้งต้องเข้าเวร 30 วันต่อเดือน
“จะว่าลำบากก็ลำบาก จะว่าสนุกก็สนุก คือ มันยังหนุ่มไงเลยรู้สึกว่ายังไหวอยู่” หมอกิติคุณกล่าว
การได้มาอยู่อำเภอเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเมือง แต่อยู่ท่ามกลางเขตป่าสงวนทำให้ยากลำบากในการเดินทาง ถึงจะเป็นอำเภอที่อยู่ห่างจากจังหวัดศรีสะเกษเพียง 20 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลากว่า 2-3 ชั่วโมงในการเดินทาง หมอกิติภูมิมารู้ภายหลังว่าอำเภอยางชุมน้อยเป็นอำเภอ ที่มักมีการย้ายข้าราชการมาประจำเพื่อเป็นการลงโทษ
“อยู่ไปเราก็รู้สึกว่ามันก็ดี เราเข้ากับชุมชนได้นะ เรารู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อชุมชน” หมอกิติภูมิกล่าวถึงเวลาที่ประจำโรงพยาบาลนาชุมน้อยว่า ทำให้ได้เข้าใจ การทำงานของแพทย์ชนบทที่ต้องสัมพันธ์กับชุมชนมากขึ้น และต่อมาได้ย้ายมา อยู่ที่โรงพยาบาลภูสิงห์จนมาจนถึงปัจจุบัน
การขาดแคลนแพทย์ในชนบท
ปัญหาขาดแคลนแพทย์เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับระบบสาธารณสุขไทยมาอย่างยาวนาน ถึงสถาบันการศึกษาจะสามารถผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากที่ผลิตได้ 899 คน ในปี 2539 เพิ่มขึ้นเป็น 2,537 คนในปี 2558 จนทำให้เริ่มมีแพทย์ที่เพียงพอต่อความต้องการ เห็นได้จากประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรต่อแพทย์ที่ลดลง จากประชากร 4,165 คนต่อแพทย์ 1 คน ในปี 2538 ลดลงเหลือ ประชากร 2,035 คนต่อแพทย์ 1 คนในปี 2558 โดยมีคาดการว่าสัดส่วนประชากรต่อแพทย์ของไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ประชากร 1500 คน ต่อแพทย์ 1 คน ตามมาตราฐานขององค์กกรอนามัยโลก (WHO)
แต่แพทย์ยังกระจุกตัวเพียงในกรุงเทพฯหรือหัวเมืองใหญ่ ทำให้แพทย์ยังขาดแคลนในเมืองเล็กๆ และชนบท โดยเฉพาะในภาคอีสานที่เป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนประชากรต่อแพทย์สูงที่สุด ในปี 2558 มีประชากร 3,491 คนต่อแพทย์ 1 คน ซึ่งต่างกับในกรุงเทพที่ประชากรเพียง 722 คน ต่อแพทย์ 1 คน
ทำให้แพทย์ชนบทต้องทำงานหนักนำไปสู่การไหลออกของแพทย์เพื่อไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าตอบแทนสูงแต่มีภาระหน้าที่น้อยกว่า หรือ โรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ที่มีภาระหน้าที่ น้อยกว่า ข้อมูลของชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป เมื่อปี 2558 ระบุว่า แพทย์เกือบร้อยละ 40 ของจำนวนแพทย์บรรจุใหม่ลาออก ซึ่งตกปีละประมาณ 600 คน
หมอกิติภูมิ มองว่า โรงพยาบาลชุมชนเป็นเพียงทางผ่านของแพทย์เพราะ รัฐบาลไม่มีมาตรการระยะยาวในการแก้ปัญหาแพทย์ไหลออกจากชุมชน อย่างเช่นค่าตอบแทนพิเศษที่ให้แพทย์ชนบทก็ไม่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับนโยบายของ แต่ละรัฐบาล ทำให้แพทย์ในชนบทไม่สามารถวางแผนชีวิตของตนเองได้
ผอ.โรงพยาบาลภูสิงห์ เห็นว่า ควรให้ค่าตอบแทนแพทย์ชนบทที่สมน้ำสมเนื้อกับ ความรับผิดชอบ แต่ที่ผ่านมาค่าตอบแทนดังกล่าวยังไม่มีความแน่นอนว่า จะจ่ายกันในรูปแบบใด ในบางรัฐบาลให้ในอัตราหนึ่งแต่บางรัฐบาลมีคำสั่งเปลี่ยนไป ให้ในอีกอัตราหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจูงใจแพทย์ให้อยู่กับชุมชนได้
หมอกิติภูมิ มองว่า ควรจะจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะเหมาจ่ายที่เพิ่มขึ้นตามอายุงาน เพราะถือว่ายิ่งอยู่กับชุมชนนานเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ระบบการเหมาจ่ายจะทำให้แพทย์สามารถกำหนดอนาคตของตัวเอง มากกว่าระบบจ่ายตามปริมาณงานหรือที่เรียกว่า P4P (Pay For Performance) ที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยเสนอ เนื่องจากเป็นระบบที่ยากต่อการจัดการ เช่น การนับจำนวนคนไข้ที่รักษา
“เรื่องรายได้ก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ต้องยอมรับว่ามันช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซนต์นะ มันต้องใช้หลายๆ นโยบายร่วมกัน” หมอกิติภูมิ กล่าว
แพทย์ในชนบทยังมีปัญหาด้านความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แพทย์หลายคนต้องย้ายจากโรงพยาบาลขนาดเล็กเพื่อไปอยู่ในโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่มีตำแหน่งงานในระดับที่สูงกว่ารองรับ อีกทั้งยังมีโอกาสในการศึกษาต่อ เพื่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่เป็นความก้าวหน้าทางวิชาการของแพทย์ และ การให้ทุนเพื่อศึกษาต่อมักมีเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ สภาพดังกล่าวจึงทำให้โรงพยาบาลชุมชน เป็นเพียงทางผ่านเพื่อไปสู่โรงพยาบาลที่ขนาดใหญ่
“ต้องทำให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นที่ทำงานที่ถาวรได้” หมอกิติภูมิ
โดยภาพรวมแล้วหมอกิติภูมิให้ความสำคัญกับการทำให้แพทย์สามารถอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนและมีความก้าวหน้าในชีวิตและการงานได้เหมือนกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่อื่นๆ เพราะยิ่งแพทย์ทำงานในชุมชนนาน ยิ่งทำให้เข้าใจชมชุนมากขึ้น แพทย์ที่อยู่กับชุมชนมานานจะรู้สภาพปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่ได้ดี เช่นแพทย์จะรู้ว่าคนชุมชนมักป่วยจากโรคอะไรสาเหตุมาจากไหน บางครั้งทราบอาการผู้ป่วยรายเดิมได้ตั้งแต่ยังไม่รักษา
ผอ.โรงพยาบาลภูสิงห์ บอกว่า แพทย์ในชนบทมีลักษณะการทำงานที่ต่างจากแพทย์ ที่อยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ คือ ต้องทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อให้การทำงานของโรงพยาบาล มีประสิทธิภาพและลดภาระในการรักษา โรงพยาบาลชุมชนไม่ใช่แค่มีหน้าที่รักษาอย่างเดียว แต่จะต้องส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟู ประชากรในชุมชนด้วย
หมอกิติภูมิยกตัวอย่างกิจกรรมสอนการลอยตัวในน้ำให้นักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่โรงพยาบาลจัดขึ้นโดยอธิบายว่า ในแถบอำเภอภูสิงห์มีแหล่งน้ำธรรมชาติเยอะทำให้มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเป็นประจำ 1-2 คนทุกปี กิจกรรมดังกล่าวเป็นตัวอย่างกิจกรรมเชิงรุกที่ทำร่วมกับหน่วยงานในชุมชนอย่างโรงเรียน
หมอกิติภูมิ เล่าให้ฟังอีกว่าภูสิงห์เป็นโรงพยาบาลแรกๆ ที่ให้แพทย์ลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้การรักษาแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวานหรือโรคลมชัก เพื่อลดการขาดยาของผู้ป่วย เนื่องจากอำเภอภูสิงห์มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ เป็นอำเภอที่ไม่มีรถประจำทางทำให้การเดินทางมาโรงพยาบาลทำได้ลำบากและผู้ป่วยต้องมีใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ
“เราเจอผู้ป่วยที่มีปัญหา อาจจะเป็นปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมหรือไม่มีคนดูแล เราตามไปดูถึงบ้านได้ว่าเราจะช่วยเขายังไง องค์กรส่วนท้องถิ่นจะช่วยเขาได้ยังไง รพ.สต.จะช่วยดูแลผู้ป่วยได้ยังไง แทนที่จะให้คนไข้แห่มาโรงพยาบาล” หมอกิติภูมิอธิบาย
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชนจะทำให้การทำงานแพทย์ดีขึ้นและลดความไม่ เข้าใจระหว่างแพทย์กับคนไข้ได้
การเรียนการสอนของแพทย์จะเน้นเฉพาะเรื่องการรักษา ไม่ค่อยมีการปลูกฝังหลัก การทำงานในชุมชน เช่น การจะเข้าใจว่าอะไรที่โรงพยาบาลชุมชน ที่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กสามารถรักษาเองได้ หรือ ลักษณะแบบไหนควรจะส่งต่อให้โรงพยาบาลที่ใหญ่กว่าทำให้แพทย์ที่จบใหม่ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการทำงานชุมชน
การกระจายอำนาจการบริหารโรงพยาบาลชุมชน
ปัจจุบันอำนาจการบริหารและการจัดการงบประมาณเริ่มโอนย้ายมาสู่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นมากขึ้น จึงเริ่มมีแนวคิดที่จะนำหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคไปอยู่ภายใต้สังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายหลังจากมี “พระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนทองถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒” ที่กำหนดให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดบริการสาธารณูปโภค ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จากนั้นเริ่มมีการโอนย้าย รพ.สต. บางส่วนไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบล แต่ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนนั้นยังไม่มีการโอนย้าย
ในมุมมองของ หมอกิติภูมิ ค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวที่จะให้หน่วยงานราชการ เช่น โรงพยาบาลและสถานศึกษาส่วนกลางที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ไปสังกัดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการควบคุมหน่วยงานนั้นได้ โดยหมอกิติภูมิมองว่าปัจจุบันการดำเนินงานของโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อชุมชน เนื่องจากโรงพยาบาลขึ้นตรงต่อกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ขึ้นตรงต่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“ผมไม่จำเป็นต้องรายงานต้องคนในชุมชนเลยว่าในเดือนที่ผ่านมาเรารักษาคนไข้ไปกี่คน ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ คนไข้ตายไปกี่คน คนไข้ที่ตายตายเพราะอะไรสมควรตายมั๊ย เราไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อชุมชนเลย เพราะรายงานก็ไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะเขาไม่มีอำนาจควบคุมเรา” หมอกิติภูมิ กล่าว และขยายความต่อว่า
ในประเทศที่มีการกระจายอำนาจที่ดีหน่วยงานราชการที่อยู่ในท้องถิ่น จะต้องมีวาระในการแถลงต่อชุมชนถึงผลงานที่ผ่านมาและแผนการในอนาคตของหน่วยงานนั้น
ในส่วนของประเทศไทยหมอกิติภูมิเสนอแนวความคิดที่ว่าให้ รพ.สต. สังกัดอยู่กับองค์กรบริหารส่วนตำบล โรงพยาบาลในแต่ละจังหวัดให้ขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วควรจะมีประชาชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลด้วย ซึ่งคนในชุมชนจะมองเห็นปัญหาและร่วมกับโรงพยาบาลกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหา
“ทำไมผู้ป่วยฉุกเฉินจำเป็นต้องผ่าตัดสมอง เราต้องส่งไปไกลถึงอุบล กว่าจะไปถึงก็ตายกันพอดี” หมอกิติภูมิยกตัวอย่างปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องผ่าตัดสมอง ซึ่งโรพยาบาลประจำอำเภอต้องส่งผู้ป่วยไปทำการรักษาไกลถึงจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อประชาชนในชุมชนเห็นปัญหาดังกล่าวว่าโรงพยาบาลในจังหวัดศรีสะเกษไม่มีแพทย์ที่สามารถผ่าตัดสมองได้ ก็จะสามารถเรียกร้องและร่วมกำหนดกับนโยบายในการแก้ปัญหา เช่น การพูดคุยกับองค์กรบริหารส่วนจังหวัดในการจัดหางบประมาณในการเปิดตำแหน่งแพทย์ประสาทและจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์

อีสานเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนประชากรต่อแพทย์คนสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ประชากร 3,491 คนต่อแพทย์ 1 คน
ตัดงบหลักประกันสุขภาพกระทบโรงพยาบาลชุมชน
ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเรื่องการตัดงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลังจากสำนักงบประมาณ ปรับลดงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในปี 2561 เหลือ 128,533 ล้านบาท จากที่สำนักงานหลักประกันแห่งชาติ (สปสช.) เสนอไป 141,916 ล้านบาท ทำให้มีความกังวลว่าจะประสิทธิภาพของของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติจะลดน้อยลง จนอาจจะมีการยกเลิกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
“ต้องยอมรับความจริงเลยว่ารัฐบาลมีงบประมาณลดลงค่าใช้จ่ายก็เยอะขึ้น เพราะไปใช้ในเรื่องกลาโหม ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ตัดงบ 30 บาทนะครับ เพียงแต่เพิ่มในอัตราที่ลดลง” หมอกิติภูมิ ขยายความว่า งบประมาณต่อหัวประชากรในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคควรจะเพิ่มขึ้นในทุกปีเพื่อนำไปปรับปรุงระบบประกันสุขภาพให้ดีขึ้น
“แต่ว่าถ้าสภาพเศรษฐกิจมันยังแย่อยู่แบบนี้มันก็อาจจะคงที่อยู่แบบนี้หรือลดลง ก็อาจจะมีการจัดสรรรูปแบบใหม่ เช่น ให้ประชาชนร่วมจ่าย แทนที่จะจ่ายสามสิบบาท” ผอ.โรงพยาบาลภูสิงห์กล่าว ถึงความเป็นไปได้ของการยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งอาจจะนำมาสู่ระบบการร่วมจ่ายที่ให้ผู้ป่วยจ่ายค่ารักษาครึ่งหนึ่ง แทนที่การจ่ายเพียง 30 บาท ผู้ป่วยหลายคนจะไม่กล้ามารับการรักษาโรงพยาบาล เพราะไม่สามารถคาดการณ์ค่าใช้จ่ายได้
จากการรับราชการแพทย์ในชนบทมานานเกือบ 30 ปี นพ.กิติภูมิ มองว่า การมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้โรงพยาบาลชุมชนในอีสานได้งบประมาณมากขึ้น เพราะเป็นการจัดสรรงบประมาณแบบคิดต่อหัวประชากรที่โรงพยาบาลรับผิดชอบ ไม่ได้คิดตามขนาดของโรงพยาบาลหรือจำนวนบุคลากรของโรงพยาบาลเหมือนก่อนหน้า เมื่อมีงบประมาณที่มากขึ้นทำให้โรงพยาบาลชุมนุมสามารถเปิดอัตราได้จึงมีบุคลากรได้เยอะขึ้น
ในทางกลับกันงบประมาณที่เพิ่มขึ้นก็มาพร้อมภาระหน้าที่ของโรงพยาบาลที่มากขึ้นตามความคาดหวังของประชาชน
“พูดถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามันมาพร้อมกันสิทธิของผู้ป่วย เมื่อเป็นสิทธิของผู้ป่วยมันก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องตอบสนองสิทธิของเขา แต่ถามว่าแพทย์ต้องทำงานหนักถึงขั้นเท่าเมื่อก่อนไหม เมื่อก่อนมันหนักว่านี้ทั้งโรงพยาบาลมีหมอคนเดียวอยู่เวรหัวหมุนเลย” หมอกิติภูมิกล่าว
เมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โรงพยาบาลชุมชนมีบุคลากรน้อยกว่านี้ ส่วนแพทย์ที่บ่นว่าหลังมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้ต้องทำงานหนักขึ้นนั้น ส่วนมากเป็นแพทย์ที่เพิ่งมาทำงานหลังจากมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ถ้ากลับไปใช้ระบบเก่าที่ไม่ใช้การจัดสรรงบประมาณแบบเหมาจ่ายต่อหัวประชากร แพทย์ในโรงพยาบาชุมชนจะยิ่งทำงานหนักกว่านี้