อุบลราชธานี – ตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน เสนอรัฐบาลใช้พลังงานทางเลือกและยกเลิกเขื่อนปากมูน ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตประชาชน ในโอกาสเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของการมีเขื่อน ด้าน ปธ.กก.ชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล หวั่นภูมิปัญญาการจับปลาสูญหาย

ปริวัตร ปิ่นทอง ปธ.กก.ชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน (ที่ 3 จากซ้าย) และจันทร์นภา คืนดี ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูน (ขวาสุด) บอกเล่าถึงผลเสียที่ประชาชนได้รับจากเขื่อน พร้อมเรียกร้องให้ยุติการใช้เขื่อน

นางสาวจันทร์นภา คืนดี เจ้าหน้าที่ภาคสนาม สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ในฐานะตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงทิศทางการต่อสู้เรียกร้องใหม่ของชาวปากมูน ในเวทีเสวนาสาธารณะ ‘สู่ทศวรรษที่ 3 คนปากมูน ก้าวสู่การสร้างอธิปไตยทางพลังงาน’ ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

น.ส.จันทร์นภา กล่าวว่า แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน สามารถได้มาจากแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ หลายแหล่ง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งรัฐบาลสามารถตัดสินใจเลือกใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานที่สกปรก หรือ พลังงานที่ทำลายชีวิตคนและทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นแม่น้ำขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

 “มันมีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่แค่การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ถึงยกเลิกเขื่อนไป ก็มีไฟฟ้าใช้โดยที่ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายวิถีชีวิตผู้คนแบบนี้” น.ส.จันทร์นภา กล่าว

รายงานผลการศึกษากรณีเขื่อนปากมูนของคณะกรรมการเขื่อนโลก เมื่อปี 2543 ระบุว่า เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากมูน กำลังการผลิตไฟฟ้า 136 เมกะวัตต์เปิดดำเนินการในปี 2537 ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการผลิตไฟฟ้าและการพัฒนาระบบชลประทาน จากผลการศึกษาที่พบว่า มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนได้เพียง 40 เมกกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าผลประโยชน์ที่ต่ำกว่าที่วางเอาไว้

การสร้างเขื่อนปากมูนยังส่งผลกระทบความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์น้ำและสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของประชากร ปลาทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน อ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากมูนได้ท่วมและทำลายแหล่งวางไข่ที่สำคัญของปลา ได้แก่ แก่งต่าง ๆ ทำให้รายได้ในครอบครัวชาวประมงทั้งสองฝั่งแม่น้ำมูลลดลงด้วย ชาวประมงต้องเปลี่ยนอาชีพ ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของประชาชนเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

น.ส.จันทร์นภา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากว่า 20 ปีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูนเพียงแค่พยายามสื่อสารและรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลผลกระทบที่ตนได้รับจากการสร้างเขื่อน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศที่เคยอุดมสมบูรณ์ในลำน้ำมูลให้กลับมา เช่น แก่งน้อยใหญ่กว่า 50 แก่ง ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของปลา ที่ถือว่าเป็นแหล่งอาหารและแหล่งสร้างรายได้ของประชาชนที่มีวิถีชีวิตชาวประมงหาปลาทั้งสองฝั่งแม่น้ำมูลให้คนในสังคมได้รับรู้เท่านั้น แต่เข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูน ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกเขื่อนปากมูนด้วยการเปิดประตูระบายน้ำถาวร และ เร่งฟื้นฟูแม่น้ำมูลโดยเร็ว

ประชาชนหลายจากหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำมูน จ.อุบลราชธานี และ ประชาชนจาก อ.เมืองโขง แขวงจำปาสัก สปป. ลาว ร่วมฟังการเสวนาเวทีเสวนาสาธารณะสู่ทศวรรษที่ 3 คนปากมูนฯ

เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ปี 2558 กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูนได้เสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูน ในการประชุมครั้งที่ 4/2558 โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิษกุล เป็นประธานการประชุม ต่อมาคณะกรรมฯ มีมติสั่งจังหวัดอุบลราชธานี เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูนครบ 3 เดือนตามมติที่ประชุมครั้งที่ 3/2558 แต่หากระดับการไหลของน้ำลดต่ำกว่า 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้คณะทำงานสั่งปิดประตูเขื่อนปากมูนได้ทันทีเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

ข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อ ปี 2558 ยังต้องการให้รัฐบาลทดลองเปิดประตูเขื่อนปากมูนเป็นเวลา 5 ปี เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำมูลและทรัพยากรธรรมชาติ ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

น.ส.จันทร์นภา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันนี้ผลกระทบนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นแค่การปิดประตูเขื่อนกั้นทางน้ำไหลก็ส่งผลกระทบในวงกว้างชาวประมงจับปลาไม่ได้ เพราะประตูเขื่อนปิด ปลาจากแม่น้ำโขงมาวางไข่ไม่ได้ หลายคนขาดรายได้ บางคนอพยพไปทำงานที่อื่น            

นายปริวัตร ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล กล่าวย้ำถึงปัญหาที่ประชาชนได้รับว่า แม่น้ำมูลเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชาวลุ่มน้ำมูลเน่าเสีย เพราะประตูเขื่อนปากมูนปิดกั้นการไหลของน้ำ ปลาในแม่น้ำตายทั้งปลาธรรมชาติ และปลาที่เลี้ยงในกระชัง

นายปริวัตร กล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่ปี 2538 หลังเขื่อนเสร็จใหม่ๆ ตนกับชาวบ้านไปร้องเรียนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหากว่า 7 รัฐบาลแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทุกวันนี้ลูกหลานของตนไม่เคยลงไปจับปลาเพื่อสืบสาน ภูมิปัญญาการหาอาหารที่พ่อแม่และผู้เฒ่าผู้แก่ทำสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นความรู้เหล่านี้จึงอาจจะหายไป

image_pdfimage_print