อ่านตอนแรกของบทสัมภาษณ์ได้ที่นี่
พีระ ส่องคืนอธรรม สัมภาษณ์

ร่วมหาความหมายของ “สาธารณรัฐลาวล้านช้าง” ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งการก่อตั้ง “สมาคมนักเขียนแม่น้ำโขง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จากชัชวาลย์ โคตรสงคราม
คุณชัชวาลย์เคยเขียนถึงหนังสือ กาเต้นก้อน รวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของตัวเองไว้ว่า เป็นผลงานของคนเขียนจาก “สาธารณรัฐลาวล้านช้าง” อยากรู้ที่มาของคำนี้
จริงๆ เคยคุยเกริ่นๆ กับเพื่อนๆ และน้องนุ่งหลายคนตอนปี 2551- 2552 ว่า เรามาตั้งสาธารณรัฐไซเบอร์ได้มั้ย คิดกันกับเพื่อนว่าจะมีสาธารณรัฐไซเบอร์ได้มั้ย ให้มีประธานาธิบดี มีนายกรัฐมนตรี มีประธานรัฐสภา มีทุกอย่างที่เป็นรัฐ แล้วก็ทำกิจกรรมที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ผสมผสานสองฝั่งโขง ซึ่งเราเรียกว่าเครือญาติชาติพันธุ์
อยากทำขึ้นมาเลยบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต คือ ต้องการเสนอความคิดให้เห็น สมาชิกคือพลเรือนของประเทศนี้ ทุกวันที่ตื่นมา คิดถึงคำนี้ มันรู้สึกท้าทายมากนะ
แต่ว่าก็มีคนหนึ่งเตือนบอกว่า ทำแบบนี้มันจะผิดกฎหมายแน่นอน เพราะเราสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นมาบนอินเตอร์เน็ต
คิดว่าการใช้คำว่า “สาธารณรัฐ” มันจะเป็นการกระตุกหนวดเสืออำนาจรัฐไทยหรือเปล่าฮะ
ถามว่ามันจะไปเป็นภัยต่อความมั่นคงของใครมั้ย ของไอ้พวกที่อยู่ในทำเนียบรึเปล่าเนี่ย ก็คงไม่เกี่ยวหรอก ไอ้พวกคสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา – ผู้เขียน) พวกรัฐประหารเนี่ย ก็ไม่เกี่ยวหรอก แต่รู้สึกว่ามันสร้างพลังมาก มันเป็นอิสระเนาะ
คิดนะสาธารณรัฐลาวล้านช้างเนี่ยเป็นการสร้างพื้นที่ทางโลกทัศน์ให้กับตัวเอง ไม่ขึ้นกับโครงสร้างใหญ่เล็กอำนาจใดๆ แต่สร้างตัวเองให้เป็นศูนย์กลาง นำเราไปสู่อิสรภาพทางความคิดและการศึกษา ไม่ได้สร้างเพื่อวัดว่าใครดีกว่าใคร แต่เพื่อสร้างพลังให้ตัวเราเอง
คิดจริงจังขนาดไหนฮะเรื่องการตั้งสิ่งนี้ขึ้นมา?
คล้ายๆ ว่าจะทำเหมือนหัวหนังสือพิมพ์ คิดอย่างนี้เลยนะ แล้วก็มาคุยกันเล่นๆ ว่าจะใช้ชื่ออะไร สาธารณรัฐลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง คิดเล่นๆ แต่คุยจริงจังมาก ว่าให้มีรัฐมนตรีศึกษาธิการ แล้วให้รัฐมนตรีคนนี้มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลศึกษาไปสู่สมาชิก คิดแบบนี้
ดูมันบ้าบอนะบางทีแต่มันไม่มีทางออกไง คล้ายๆ มันอึดอัดในสิ่งที่เรารับรู้มา ในข้อมูลสองฝั่งโขง ก็ลาวมันถูกกดมากในภาคอีสาน รวมทั้งเขมร รวมทั้งผู้ไท อะไรพวกนี้ มันถูกละลายหมด มันถูกเอาไปต่อเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาตินิยม เหมือนที่ใครพูดไว้ มันถูกนับเพื่อที่จะไม่นับไง มันถูกนับไว้เพื่อที่จะไม่ถูกให้เป็นส่วนหนึ่งของการนับไง
คำว่าลาวไปอยู่หลังสุดเลยนะ แต่จริงๆ มันอยู่ข้างหน้าคุณแต่คุณถูกทำให้เข้าใจว่ามันอยู่หลังสุด แล้วงานเขียนต่อไปจะเป็นไปได้ยังไง มันไม่ได้หรอก ถ้าคุณไม่หันกลับมา คุณไม่มีอะไรให้เล่น งานวรรณกรรมมันคืออะไรล่ะ มันต้องมีข้อมูล แต่ตอนนี้มันกลับไม่ได้ไปไม่ถึงไง นักเขียนอีสานเนี่ยคุณอยู่ต่ำกว่าคุณอยู่ท้ายสุด คุณไปต่อเขาเองแล้วคุณจะไปสู้เขาได้ยังไง คุณสู้เขาไม่ได้คุณไปไม่ถึงแน่นอน
คุณรู้มั้ยว่าลุงคำพูน บุญทวี เนี่ยเห็นกบฏผีบุญอยู่ข้างหลัง ลุงคำพูนเกิด ปี 2454 เห็นขบถผีบุญแน่นอน แต่ไม่เขียนถึง ตอนนั้นเรายังไม่ทันคิด ถ้าเราคิดได้เราจะถามแกตอนนั้นว่าทำไมไม่เขียนถึง
ทำไมถึงกับบอกว่านักเขียนอีสาน “กลับไม่ได้ไปไม่ถึง”
อาจจะมองโลกในแง่ร้ายนะ ตัดสินเลยว่าคุณไปไม่ถึง แต่คุณกลับมาได้มั้ยก็ไม่อยากกลับมา มันจึงเป็นจารีตนิยมที่ชั่วร้ายไง ตัวจารีตไม่ได้ชั่วร้ายนะ แต่ชั่วร้ายที่คุณรับมาครอบคุณอยู่ สุดท้ายคุณไปไม่ถึงตัวบทที่ยิ่งใหญ่ ไปไม่ถึงภูมิปัญญาความเป็นมนุษย์ นักเขียนลาวฝั่งขวาจะไปข้างหน้าก็ไม่ได้ สมาคม รางวัล คุณไปไม่ถึง
อีสานมันมองไม่พ้นหัวแม่เท้าตัวเอง พวกสายที่เขียนหนังสือเป็นเล่มนี่แหละ มันเป็นข้อจำกัดที่ยากจะอธิบาย มันมาจากลักษณะอัตลักษณ์ มันไม่สู้ มันประนีประนอมไง แล้วถ้าพูดอย่างนี้การปฏิวัติลาวสำเร็จได้ยังไง มันคนละเบ้าหลอมไง คนฝั่งขวานี่เบ้าหลอมอีกแบบหนึ่ง ตั้งแต่ ปี 2475 แล้ว มันก็เริ่มฆ่ามาเรื่อยๆ ใช่มั้ย ขนาดอาวุธที่เหลือจากสงครามโลกครั้งที่สองของเสรีไทยที่ภูพาน (จ.สกลนคร – ผู้เขียน) ก็ยังถูกมองเลยว่าจะมาแยกประเทศไป ก็ระแวงไง
กวีนักเขียนทางใต้เขาถอดรื้อ วิเคราะห์นักเขียนสากลมาก่อนเป็น 20 ปีแล้ว ถ้าเล่มไหนดีมันจะมีมือภาษาไปถอดมาให้นักเขียนด้วยกันอ่าน แล้วจะมีวิเคราะห์วิธีการเล่าเรื่อง ปรัชญาการเล่าเรื่อง ปรัชญาของนักเขียนคนนั้น เช่นของเจมส์ จอยซ์ ของดอสโตเยฟสกี้ พวกนี้มันถอดรื้อหมดเลย
หมายถึงว่านักเขียนปักษ์ใต้ได้งานคุณภาพจริงๆ เพราะมีเครือข่ายพวกนี้?
มันมีเครือข่ายไง ที่เราทำโจทย์ เราวิเคราะห์พวกนี้แล้ว ถึงจะมาทำตรงนี้ไง แต่ถามว่ามีใครตอบรับมั้ย มึงก็วิ่งตามกรุงเทพฯอย่างเดียว รุ่นใหม่ๆ ไม่มาฟังไม่มาคิดเรื่องพวกนี้ไง มัวแต่ไปเอ้อระเหยลอยชายอยู่
แล้วที่ปักษ์ใต้ สังเกตมันทำงาน เราไปนอนบ้านพี่กนกพงศ์ (สงสมพันธุ์) เนี่ยะ เวลาไปเจอกัน มันเจองานดีๆ มันจะเอามาแจกกันอ่าน นี่เชื่อมั้ย มันจะม้วนๆ ใส่กระดาษมาเหน็บใส่กระเป๋าหลังกางเกงยีนเลย นี่เรื่องจริงนะฮะ มันไม่ธรรมดา แล้วงานนักเขียนรางวัลโนเบล เขาอ่านไปแล้วเป็นยี่สิบปี เราๆ ท่านๆ เพิ่งได้อ่าน ถามว่ามันจะทันเค้ามั้ย ไม่มีทาง

แผนที่ประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรลาวล้านช้าง (พ.ศ. 1896-2115) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรไทยยุคปัจจุบัน
อธิบายแนวคิดเรื่องการก่อตั้งสมาคมนักเขียนแม่น้ำโขงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไหมฮะ
โจทย์ก็คือคิดว่าอยากจะทำรางวัลขึ้นมา ทำไมมันจะต้องเอาแต่กรุงเทพเป็นฯศูนย์กลาง เราคุยกันมาเป็นสิบปีนะ แต่ก็คุยกันอยู่ไม่กี่คน แล้วคิดทุกอย่าง ทั้งการทำหนังสือ การสร้างระบบบรรณาธิการ มันต้องสร้างคนลุ่มน้ำโขงขึ้นมาหน่อย ไม่ใช่ว่าคุณเข้าไปทำงานรับจ้าง แล้วคุณก็ไปรับใช้โครงสร้างตรงนั้น แล้วคุณทิ้งรากเหง้าตัวเอง มันใช้ไม่ได้
แล้วช่วงนั้นทำวิจัยปริญญาโทเสร็จความคิดเริ่มเปลี่ยน ประจวบกับนวนิยายเรื่อง ทะเลน้ำนม ถูกดองไว้หลายปีไม่มีใครเป็นบรรณาธิการ มันเกิดความรู้สึกกดดันด้วยไง เราก็ยิ่งคิดอยู่ว่าพวกกรุงเทพฯมึงนับกู แต่มึงนับไว้เพื่อที่กูจะไม่ถูกนับ
และตรงนี้ก็เป็นภาพสะท้อนว่า พัฒนาการของระบบบรรณาธิการต้นฉบับของกวีนักเขียนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง มันล้มเหลว คือมันไม่มีใครคิดทำ และที่สำคัญ มันเป็นภาพเสนอให้เห็นระดับของการยอมรับกัน ระดับของอุดมคติทางวรรณคดี มันโยงผลรวมไปถึงคุณภาพของงานเขียน ซึ่งหมายถึงคุณภาพของความคิดและวิธีคิดที่ล้มเหลวขลาดกลัวและล้าหลังของเราด้วย
แล้วก็คิดในเชิงสาธารณะไงว่า เราต้องทำตรงนี้ด้วย แล้วเราต้องสร้างคนรุ่นใหม่เราคิดถึงคนรุ่นต่อไปว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป มีปัญหา คือมันจะถูกละลายไง คุณจะถูกละลายกลายเป็นชาติพันธุ์ไหนก็ไม่รู้เลยในอีก 20-30 ปี ที่ทำที่คิดที่พูดเพราะอยากจะสร้างความหมายบางอย่างขึ้นมา
เราต้องสร้างจัดสัมมนาคุยกันถ่ายทอดความคิด แต่เราจะหาคนกลุ่มนี้จากที่ไหน เพราะมันเป็นไทยไปแล้ว มันเชื่องหมดแล้ว ก็ต้องคิดตรงนี้ด้วย จัดสัมมนา แปลงานแลกเปลี่ยนกันอ่านจับกลุ่มกัน คือ เรามองว่ามันเป็นการต่อสู้ชนิดหนึ่ง
จะเปิดตัวสมาคมฯ ตอนไหนฮะ
กำลังเตรียมเอกสารอยู่ จะแถลงข่าวปีนี้

นิทานอุรังคธาตุ เป็นวรรณกรรมเก่าแก่ของดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง เล่าตำนานการสร้างพระธาตุพนม อันเป็นที่บรรจุกระดูกส่วนอกของพระพุทธเจ้า อุรังคนิทานยังมีการผสมผสานโลกของนาคและเทวดาเข้ากับศรัทธาในศาสนาพุทธ
ส่วนหนึ่งของสมาคมนักเขียนลุ่มน้ำโขงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีการตั้ง “อุรังคธาตุอะวอร์ด” ขึ้นมา อธิบายแนวคิดได้ไหม?
คือเป็นการชูขึ้นมาว่า เราก็มีขนบของเรา สองฝั่งโขงเนี่ย อุรังคธาตุเป็นตำนานสร้างพระธาตุพนมนะ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนสองฝั่งของ มันเป็นคำที่บ่งบอกถึงภูมิภาคที่เต็มไปด้วยศรัทธาและความเชื่อ และบางทีศรัทธาและความเชื่อนั้นมันก็ทำให้เราหันหน้าหนี ปิดหูปิดตาไปจากความจริงบางอย่าง มันมีทั้งข้อดีข้อเสีย
มันบ่งบอกถึงภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความอัศจรรย์ เรื่องเหนือจริง ครอบงำ แล้วมันก็ทำให้คนในภูมิภาคนี้เป็นแบบนี้แหละ น่ารัก ว่านอนสอนง่าย เป็นคนที่เชื่ออะไรโดยบางทีไม่ได้คิดอะไรให้มันหลายชั้นเลย เป็นอ้ตลักษณ์ชาติพันธุ์ เราก็เลยเอามาตั้ง
คือมองสองด้าน?
มองสองด้าน ใช่ๆ
แล้วมีกระแสตอบรับต่อแนวคิดรางวัลนี้ยังไงบ้างฮะ?
คือคนก็ถามอย่างงี้แหละ ทำไมต้องใช้คำว่าอุรังคธาตุ เราก็อธิบายให้เอกสารไปว่า เพราะอย่างน้อยพระธาตุพนมมันก็เป็นที่ศูนย์รวมจิตใจของคน ทำให้เป็นที่รับรู้
จริงๆ มันก็คือเป็นการเสียดเย้ยไง ถ้าพูดในเชิงความคิดเชิงการเมืองนะ พวกกวีนักเขียนต้องมีความคิดเชิงการเมือง ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องเขียนหนังสือหรอก ไปทำอย่างอื่นซะ ก็คือมันเป็นการเสียดเย้ยรางวัลอะไรทางวรรณกรรมต่างๆ ที่สถาปนาขึ้นมา เราก็กลับมาสู่จุดที่ว่าเราสร้างพื้นที่ของสาธารณรัฐฯ ขึ้นมาเพื่อทำศูนย์กลางเองไง คุณมีได้เราก็มีได้ ไม่ต้องไปรอ เราต้องมีรางวัลเป็นของตัวเอง คุณจะรอซักกี่ชาติล่ะ วรรณกรรมก็มีการเมืองในนั้น ก็เล่นการเมือง พี่สมคิด สิงสง นี่บทบาทศักดิ์ศรีสมเป็นศิลปินแห่งชาติได้ไหม ก็ได้ แต่ถามว่าเค้ามองมั้ย เค้าไม่มอง เพราะมีคนรอคิวกันอยู่ มองเห็นตัวตนกันเลย ปีหน้าใครได้รู้หมดแล้ว เล่นการเมืองกัน ล็อกสเป๊กหมดนั่นแหละ รางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ดที่เวียงจันทน์ล่าสุดมันล็อกสเป๊ก ไม่มีอะไรหรอก แล้วมึงไปรอทำไมมึงไปเดินตามเค้าทำไมก็ต้องสร้างสาธารณรัฐฯขึ้นมา
เราต้องการเอาอุรังคธาตุมาวางไว้แล้วเราบอกว่าเราจะเอาวรรณกรรมมาพูดความจริงบางอย่างที่พูดไม่ได้พูดแล้วมันไม่มีคนจำคนฟัง เราก็เขียนไว้ในหนังสือสิ คนรุ่นหลังที่ค้นหาเค้าอาจจะมาเจอในวันหนึ่ง ในอนาคตคนกลับมาอ่าน มันจะหนาวนี่คือสิ่งที่คิดนะ
ที่บอกว่าเขียนทิ้งไว้ แล้วพอคนมาเจอแล้วจะ “หนาว” เช่นยังไงบ้าง?
ก็หมายถึงแนวคิดเรื่องสาธารณรัฐนี่แหละ แล้วก็อีกประเด็นคือการใส่บางอย่างลงไป ใส่ตัวละครเข้าไปที่แย้งกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมลงไปในเรื่องแต่งของเรา เราก็ใส่ไปให้กระจัดกระจายในงานเขียน แล้วก็พูดถึงความเป็นคนลาวเนี่ย เราอาจจะย้ำคิดย้ำทำเกินไปก็ได้นะน่าเบื่อเนาะ แต่เราต้องการแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่คนไทยไง มันเป็นคนลาว แล้วจะมาบอกว่าเป็นไทยได้ยังไงเพราะมันคนละสาย คือมันสายเดียวกันแหละแต่มันแบ่งกันมา เราก็ต้องบอกว่ามันไม่ใช่
แต่ถามว่าเด็กมัธยมศึกษาที่เราคุยด้วยมันเข้าใจมั้ย มันไม่มีทางเข้าใจว่ามันเป็นคนลาว หรือว่ามันเป็นคนผู้ไท เป็นญ้อ เป็นกูย เป็นเขมร เป็นขอมเก่า มันก็คือคนไทยนั่นแหละ จริงๆ คนเราทำมาหากินมันก็ไม่ต้องคิดเรื่องพวกนี้หรอก แต่เราอยู่ในสายคิดไง เราก็ต้องพูดสิ่งเหล่านี้แหละมันจะได้มีน้ำหนัก
แต่สาธารณรัฐลาวล้านช้างก็เป็นมายาคติอย่างหนึ่งไหม
ก็เป็นมายาคติ ในทางอัตบุคคล ปัจเจกบุคคลคือเป็นการสร้างพื้นที่ทางโลกทัศน์ให้ตัวเองโดยที่ไม่ต้องขึ้นกับใคร ไม่ต้องขึ้นกับโครงสร้างใหญ่โครงสร้างเล็กอะไร แต่เราทำตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพื่อประโยชน์ทางการสร้างงานวรรณกรรม ตรงนี้ชัดเจนนะ เราต้องการสร้างพื้นที่ขึ้นมาเพื่อให้มันไม่อยู่ใต้อำนาจใดๆ แต่ว่าจะสร้างอำนาจของตัวเองในแง่การศึกษาสองฝั่งโขงแล้วนำมาใช้ จะว่าสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมก็ได้
ฉะนั้นคำว่าสาธารณรัฐลาวล้านช้างเนี่ยเป็นคำที่นำเราไปสู่อิสรภาพทางความคิด โดยที่ไม่ต้องติดกรอบอะไรต่างๆ ที่ว่ามา ซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาเทียบเคียง แต่ไม่ได้ศึกษาเพื่อบอกว่าดี-ชั่ว-ผิด-ถูกไม่มี แต่เพื่อสร้างพลังให้ตัวเอง เพื่อให้ถึงที่สุดของความเป็นมนุษย์ในชีวิตของเรา เราเห็นแบบนี้เราก็หยิบมาใช้ คือในวันข้างหน้าไม่นานเราอาจเห็นเจ้าสุพานุวงศ์อาจจะสนทนากับพระพุทธเจ้าในชาติก่อนก็ได้ ที่พระธาตุพนมอะไรแบบนี้ เล่นไปหน่อยสิ เพราะมันเป็นเรื่องของบันเทิงคดี ประโลมโลก แต่ว่ามันต้องมีวิธีคิดที่มันหนีไปจากความซ้ำซากจำเจ
แล้วงานเขียนของคุณชัชวาลย์ที่ใช้คำเรียกว่างานเขียน “สกุลแม่น้ำโขงนิยม” นี่ไม่ใช่จารีตนิยมอีกแบบหนึ่งเหรอ
เป็นจารีตนิยมอีกแบบนึง แต่มันยังไม่มีทิศทางรูปร่างชัดเจนหรอก แต่คำว่าสกุลแม่น้ำโขงนิยมนี่เสียดเย้ยแน่นอน ส่วนกรุงเทพฯ จะเป็นสกุลไหนไม่แน่ใจเพราะมันเต็มไปด้วยทั้งพม่าทั้งมอญทั้งอินเดีย ต้นปีนี้ก็มีการประกาศแล้วว่ารามเกียรติ์เป็นวรรณคดีแห่งชาตินะ จริงๆ เค้าน่าจะเอาสังข์ศิลป์ชัย (สินไซ-ผู้เขียน) หรือท้าวฮุ่งท้าวเจืองขึ้นมาเป็นวรรณคดีแห่งชาติบ้างนะ เอาลิลิตพระลอมาอย่างเนี้ย แต่ลิลิตพระลอก็ถูกยกขึ้นมาแล้วละ
ถ้าสมมุติวันหนึ่งสังข์ศิลป์ชัยได้ถูกยกให้เป็น “วรรณคดีแห่งชาติ”ของไทย คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น
คืออย่างนี้ อะไรก็ตามที่พวกนี้จับไปไว้แสดงว่ามันเป็นของเค้าแล้ว คือคล้ายๆ ว่าคุณเป็นของเขาแล้ว
อย่างลิลิตพระลอถึงมันจะเป็นของเหนือ แต่มันก็เขียนด้วยสำนวนกลาง ก็เป็นของเขาแล้ว?
นั่นแหละ มันก็เป็นของเขาแล้วไง คือลุงคำสิงห์ (คำสิงห์ ศรีนอก) ได้รับเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติเนี่ย ก็ลุงคำสิงห์เป็นของเขาแล้วไง เพราะฉะนั้นวันไหนก็ตามที่สังข์ศิลป์ชัยถูกประกาศแล้ว มันเป็นของเขาแล้ว แล้วบางอย่างมันจะเปลี่ยนไปเด๊ะ นี่เรื่องจริงนะ ก็หมายถึงอำนาจรัฐมันจะต้องเอาอะไรเข้ามาประกอบสร้าง เพราะมันต้องการกลืนทุกอย่าง มันเหมือนยักษ์ชนิดหนึ่งที่กลืนทุกอย่างไปเป็นของมัน
มันก็จะกลืนเรื่อยๆ ไง มันก็จะรวมไปถึงการลัดลดย้ายที่ ซึ่งมันก็อาจจะเป็นไปได้ในอนาคต เพราะคนรุ่นใหม่ขึ้นไป มันละลายพรมแดนละลายความเป็นอะไรพวกนี้ แต่มันจะมีศูนย์กลางอยู่ที่จะคุม ก็คืออำนาจตามกฎหมาย แต่อาจจะเกิดการยอมรับกันมากขึ้น อาจจะประกาศให้สรรพลี้หวน (งานเขียนที่อุดมด้วยคำผวนหยาบโลน – ผู้เขียน) ของปักษ์ใต้เป็นวรรณกรรมแห่งชาติก็ได้ หรือเอาวรรณคดีฝ่ายลาวมาเป็นวรรณคดีแห่งชาติก็ได้ มันยอมรับกันมากขึ้น มีคนรุ่นใหม่ที่เจือจาง อาจจะเป็นไปได้
แต่มันก็หมายความว่ามันมีอำนาจชาตินิยมส่วนกลางมาทำให้มันเจือจาง อะไรที่มันมาบั่นทอนความเป็นศูนย์กลางเนี่ยก็จะถูกตัดออก จะน้อยลง เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ถูกทำให้เป็น “ไทย” มันก็เป็นของเขาแล้ว นี่ไงวงจรแห่งความชั่วร้ายบางประการของรัฐชาตินิยม
พูดเรื่องลาวเยอะอย่างนี้ เคยแอบเห็นคุณชัชวาลย์รำพึงบนเฟซบุ๊กว่าอยากย้ายไปอยู่หลวงพระบาง คิดจริงจังไหมฮะ?
คือหลังจาก ปี 2545-2546 มาเนี่ย พูดตามตรงก็คือเราปฏิเสธ เราขิวอำนาจรัฐที่เข้ามาจัดการครอบงำเรื่องเครือญาติชาติพันธุ์ ก็เลยมีความใฝ่ฝัน มีความคิดอยากจะไปอยู่หลวงพระบาง อยากจะมีคนใกล้ชิดสักคนที่เป็นคนลาว
แล้วเราก็รู้สึกว่ามันสบายใจเพราะเราไม่ต้องมาคุยกับคนที่รับจารีตของไทย อย่างสมมุติอยู่ที่โรงเรียน เราพูดแบบนี้กับครูผู้หญิงไม่ได้ อย่างหมวดภาษาไทยเนี่ย ไม่มีทางที่จะสื่อสารกันรู้เรื่องได้ เขาหาว่าเราเป็นกบฏ
แล้วก็ต้องอยู่ท่ามกลางผู้ที่อยู่ภายใต้จารีตนิยมที่เป็นวรรณกรรม แล้วตำราเรียนของไทย คุณไปไล่ดูสิเป็นพระราชนิพนธ์ทั้งนั้นเลย แต่ไปดูของลาว ภาคหนึ่งเป็นประวัติวรรณคดี ภาคสองเป็นวรรณคดีปฏิวัติลาว ภาคสามเป็นวรรณคดีต่างประเทศ ตั้งแต่ชั้นม.หนึ่ง-ม.เจ็ด เขาเรียนแม็กซิม กอร์กี้ เรียนดอสโตเยฟสกี้ เรียนคาวาบาตะของญี่ปุ่น รพินทรนาถ ฐากูร เรียนของพวกเช็คสเปียร์ เค้าเรียนหมดนะ แล้วไทยทำอะไร?
พูดตามตรงนะ คือตำราวรรณคดีไทยทุกวันนี้ที่มาเรียนในชั้นมัธยมนะ บทวิเคราะห์มันชี้นำหมดเลย คือมันล็อกสเป๊กหมดเลย ไอ้ตรงไหนที่มันจะนำไปสู่ความคิดที่เป็นอิสระเนี่ยะ มันตัดออกหมด พูดถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้มีประเด็นไหนที่พูดถึงความหมายเลย คืออ่านดูแล้วมันธรรมดา แล้วจะสอนยังไง เราก็เลยต้องให้นักเรียนมันไปค้นประวัติอะไรมาคุยกัน