ละเมิดอำนาจศาล – ดุลพินิจที่คลุมเครือและกว้างขวาง
ขอนแก่น – นักเคลื่อนไหวตั้งข้อสงสัยต่อการถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาลจากการจัดกิจกรรมหน้าศาลขอนแก่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากกฎหมายมาตรานี้มีขึ้นเพื่อรักษาความสงบในบริเวณศาลเท่านั้น ขณะที่นักวิชาการชี้ศาลใช้ดุลพินิจอย่างคลุมเครือและตีความข้อกฎหมายอย่างกว้างขวาง
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมาหมายศาลจังหวัดขอนแก่นถูกส่งถึงมือนักเคลื่อนไหวทั้ง 7 คน แจ้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลเนื่องจากประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จากการจัดกิจกรรมให้กำลังใจ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ด้านนอกรั้วศาลจังหวัดขอนแก่น การตั้งข้อหาเช่นนี้จึงเป็นอีกครั้งที่ผู้จัดกิจกรรมถูกดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลจากกฎหมายที่ให้ดุลพินิจแก่ศาลทุกขั้นตอน มีกระบวนการพิจารณาคดีที่รวบรัด และศาลสามารถตัดสินคดีได้ทันที ทำให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎหมายละเมิดอำนาจศาลว่าปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงออกหรือไม่
ย้อนกลับไปเมื่อเช้าวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่บริเวณนอกรั้วศาลจังหวัดขอนแก่น กลุ่มกิจกรรมและเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค ประมาณ 30 คน ได้จัดกิจกรรมเพื่อให้กำลังใจและเรียกร้องให้ศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นเบื้องสูง และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวออนไลน์บีบีซีไทย
กิจกรรมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันเพื่ออ่านบทกวีและคำแถลงการณ์ให้กำลังใจนายจตุภัทร์ พร้อมทั้งได้นำรองเท้าบูทมาทำเป็นเครื่องหมายตราชู ทำให้ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่นแจ้งข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลต่อผู้ร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าว 7 คน ประกอบด้วย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิยาลัยขอนแก่น 4 คน นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 คน นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาขอนแก่น 1 คน และนักกิจกรรมทางการเมืองจากกรุงเทพฯ อีก 1 คน

เครือข่ายนักศึกษา 4 ภาคจัดกิจกรรมให้กำลังใจนายจตุภัทร์ บุญภัทรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน หน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา จนนำมาสู่การแจ้งข้อกล่าวหาต่อนักเคลื่อนไหว 7 คน ฐานละเมิดอำนาจศาล
นศ. เชื่อจัดกิจกรรมไม่เป็นความผิด
นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ ‘ไนท์’ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เล่าถึงเหตุผลในการจัดกิจกรรมว่า เนื่องจากเห็นถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีของไผ่ที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการปกติทางกฎหมายอย่างที่เรียนมา กระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบือนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตนจึงออกไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อจะบอกว่า “กระบวนการยุติธรรมมันได้ตายไปแล้ว”
ส่วนการนำรองเท้าบูทมาทำเป็นเครื่องหมายตราชู นายพายุ บุญโสภณ หรือ ‘พายุ’ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 บอกว่า ต้องการจะสื่อว่ากระบวนการยุติธรรมมันเอียงไปทางรองเท้าบูทที่หมายถึงทหาร ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้กำลังใจไผ่และได้กระทำบริเวณภายนอกศาล จึงคิดว่าไม่มีความผิดอะไร และเห็นว่าการดำเนินคดีข้อหาดังกล่าวมีขึ้นเพื่อยับยั้งความเคลื่อนไหวของนักศึกษา
“ผมเข้าใจว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายข้อนี้ซึ่งมีไว้เพื่อรักษาความสงบภายในห้องพิจารณาคดี” นายอาคม ศรีบุตตะ หรือ ‘ป๊อด นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 อธิบายถึงหลักของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลว่า เป็นไปเพียงเพื่อรักษาเรียบร้อยภายในศาลแต่กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นนอกบริเวณศาล การกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาลจึงเป็นการตีความกฎหมายที่กว้างเกินไป
“ผมก็สงสัยว่าทำไมตีความกว้างจัง แล้วที่บอกว่าประพฤติไม่เรียบร้อยบริเวณศาลมันกว้างมาก ตีความยังไงก็ได้” ป๊อด กล่าวและว่า กิจกรรมในลักษณะดังกล่าวไม่ควรจะมีกฎหมายห้าม เพราะในต่างประเทศก็ยังมีการวิพากษ์การทำงานของศาลอย่างเป็นอิสระกว่านี้
ประพฤติตนไม่เรียบร้อยฯข้อหาที่จับต้องไม่ได้
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความเพ่ง มาตรา 30-33 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี ให้การดำเนินคดีของศาลไม่ถูกรบกวน มีความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนให้ความเคารพและปฏิบัติตาม ซึ่งมีการระบุองค์ประกอบของความผิดไว้ใน มาตรา 31 ว่า ผู้ใดกระทำการอย่างใดๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
(1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
(2) เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 156/1 แล้ว ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
(3) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่นๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น
(4) ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 54
(5) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตามมาตรา 277”
มีกำหนดโทษคือไล่ออกจากบริเวณศาลและโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนบทกำหนดโทษอยู่ในมาตรา 33 ที่ระบุว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐาน ละเมิดอำนาจศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือทั้งสองวิธี ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
(ข) ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ การไล่ออกจากบริเวณศาลนั้น ให้กระทำได้ชั่วระยะที่ศาลนั่งพิจารณาหรือภายในระยะเวลาใดๆ ก็ได้ ตามที่ศาลเห็นสมควรเมื่อจำเป็นจะเรียกให้ตำรวจช่วยจัดการได้ ในกรณีกำหนดโทษจำคุกและปรับนั้น ให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
ทั้งนี้ข้อหาละเมิดอำนาจศาลยังเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่ศาล เมื่อมีการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นต่อหน้าศาลและศาลเห็นเอง ศาลสามารถสั่งลงโทษได้เลยทันทีโดยไม่ต้องไต่สวนไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่ในทางปฏิบัติหากการกระทำใดไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้าผู้พิพากษาโดยตรง ผู้พิพากษาอาจเรียกผู้รู้เห็นเหตุการณ์มาไต่สวนเพียงฝ่ายเดียวจนได้ข้อเท็จจริงตามที่ศาลพอใจ ศาลก็สามารตัดสินลงโทษได้
ขณะที่การทำกิจกรรมของบุคคลทั้ง 7 คนถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตาม 31(1) วรรคท้าย คือ “ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล”
ถึงแม้เจตนารมณ์ของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลจะมีไว้เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี เพื่อให้การดำเนินคดีของศาลไม่ถูกรบกวน แต่พบว่ายังมีหลายครั้งที่กฎหมายดังกล่าวนี้ถูกใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของศาล เช่น คดีของนางสุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นำกลุ่มมวลชนกว่าร้อยคนรวมตัวกันหน้าอาคารศาลแพ่ง วางพวงหรีด และชูป้ายข้อความเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อการชุมนุมของกปปส. เมื่อปี 2557 ต่อมาผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่งได้ยื่นฟ้องฐานความผิดละเมิดอำนาจศาล นำมาสู่การคำพิพากษาของศาลฏีกาสั่งลงโทษจำคุก 2 เดือน แต่เนื่องจากนางสุดสงวนรับสารภาพจึงลดเหลือจำคุก 1 เดือน
อีกกรณีศาลฎีกาพิพากษาให้นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย จำคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 3 ปี เนื่องจากนายประชัยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองว่า การตัดสินคดีของศาลถูกครอบงำจากอิทธิพลของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
หรือ ตามฎีกา 8005/2551 ศาลพิพากษาให้ จำคุก 6 เดือน ปรับ 500 บาทโทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี กรณีที่จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้าน ระบุว่า ศาลปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ไม่สุจริต เลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

รองเท้าบู้ตที่ถูกนำมาทำเป็นเครื่องหมายตาชูเป็นหนึ่งกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ต้องการจะสื่อว่ากระบวนการยุติธรรมมันเอียงไปทางทหาร
ความคลุมเครือต่อการทำผิดกฎหมาย
น.ส.สรชา สันตติรัตน์ อาจารย์พิเศษ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้เขียนบทความ “คดีละเมิดอำนาจศาลกับหลักความยุติธรรมในกระบวนพิจารณาคดีของศาล” โดยศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาล ตั้งแต่ปี 2475-2555 ทั้งหมด 107 คดี มองว่า ถ้อยคำที่เป็นปัญหามีความไม่ชัดเจนอยู่ในมาตรา 31 (1) โดยในเฉพาะในส่วนถ้อยคำว่า “ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายที่ศาลเป็นผู้ใช้ดุลพินิจได้ในทุกขั้นตอน
“ความผิดนี้มันมีขึ้นมาเพื่อควบคุมให้สงบเรียบร้อย ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้วความผิดฐานนี้เลยไม่มีนิยามที่มันชัดเจนว่าพฤติกรรมตนไม่เรียบร้อยมันคือการกระทำแบบใดบ้าง” น.ส.สรชา กล่าวพร้อมเสริมว่า เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาฎีกาแล้วยากที่จะหาหลักเกณฑ์และมาตรฐานว่าอะไรเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อย ในหลายกรณีมีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันบางคดีถูกตัดสินให้เป็นความผิดแต่อีกบางคดีไม่เป็นความผิด
ส่วนการจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา บริเวณนอกรั้วศาลจังหวัดขอนแก่น น.ส.สรชา เห็นว่า ศาลอาจจะมองว่าเป็นรบกวนความสงบส่งผลต่อการพิจารณาคดีภายในห้องพิจารณาคดี การตีความว่าการกระทำเกิดขึ้นภายในหรือนอกบริเวณศาลนั้นยากต่อการตีความ ถึงแม้จะมีบางคำพิพากษาให้คำนิยามบริเวณศาลว่าหมายถึงตัวอาคารบริเวณพื้นที่ตั้งของศาลไปถึงรั้วของศาล แต่ในหลายกรณีที่มีกระทำนอกศาลก็ยังมีความผิด จึงไม่มีอะไรเป็นบรรทัดฐานได้ว่ากระทำอยู่ในหรือนอกรั้วจะเป็นความผิดหรือไม่
น.ส.สรชาบอกอีกว่า การพิจารณาคดีในคดีละเมิดอำนาจศาลเป็นการใช้ดุลพินิจของศาลในทุกขั้นตอน จึงทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีนั้นยากที่จะวางแผนในการต่อสู้คดี อีกทั้งยังเป็นการดำเนินคดีที่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าการกระทำอย่างไรถึงจะเข้าข่ายกระทำความผิด แม้กระทั่งการต่อสู้คดีในชั้นศาลที่กฎหมายให้อำนาจศาลพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนของพนักงานสอบสวนหรืออัยการ และไม่จำเป็นต้องมีทนายสำหรับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งหมดทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีไม่มีเหมือนกฎหมายอื่นๆ ทั่วไป

สรชา สันตติรัตน์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้เขียนบทความ “การพิจาณาและลงโทษคดีละเมิดอำนาจศาลภายใต้พระปรมาภิไธยฯ”(ซ้าย) สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ขวา) : ภาพจากเว็บไซต์ประชาไท
ดุลพินิจศาลกับการตีความอย่างกว้างขวาง
น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า กฎหมายละเมิดอำนาจศาลส่งผลต่อการวิพากษ์วิจารณ์ศาล เนื่องจากถูกผูกติดกับดุลพินิจของศาลมากเกินไปและการตีความเริ่มกว้างขวางขึ้น การที่ศาลจะใช้อำนาจลงโทษทันทีโดยที่ไม่ต้องฟ้องคดีตามปกตินั้น ศาลควรจะตีความโดยจำกัดและแคบลงกว่านี้
น.ส.สาวตรีอธิบายความว่า กฎหมายละเมิดอำนาจศาลมีอยู่ทั่วโลกทั้งในระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) และระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) โดยประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณีที่คำพิพากษามีสถานะเป็นกฎหมาย เช่น อังกฤษ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะกว้าง เพราะถือว่าศาลเป็นองค์กรสำคัญ ต้องได้รับคุ้มครองทุกที่ทั้งในศาลและนอกศาล รวมถึงคุ้มครองลูกขุนด้วย เพราะมองว่าการไปวิพากษ์วิจารณ์คนเหล่านี้ในระหว่างพิจารณาคดีจะทำให้เหมือนมีอิทธิพลต่อการตัดสินคดี
อาจารย์คณะนิติศาสตร์คนเดิมยังระบุเพิ่มว่า ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรอย่างในประเทศเยอรมนีก็มีกฎหมายการละเมิดอำนาจศาลเช่นเดียวกัน แต่ของเยอรมนีกฎหมายระบุชัดเจนว่าจะคุ้มครองศาลเฉพาะเพื่อให้การดำเนินพิจารณาเป็นไปโดยเรียบร้อย โดยใช้หลักว่าศาลเป็นเหมือนประธานในการประชุมจึงมีอำนาจ หากเกิดความวุ่นวายก็สามารถเข้าจัดการได้ทันที แต่เนื่องจากคำพิพากษาในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรไม่ได้เป็นบ่อเกิดของกฎหมายเหมือนระบบกฎหมายจารีตประเพณี ข้อหาละเมิดอำนาจศาลจึงให้ความคุ้มครองศาลจำกัดแค่ในบริเวณศาลและต่อการกระทำที่ทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยไม่เรียบร้อยเท่านั้น การวิพากษ์วิจารณ์ศาลข้างนอกบริเวณศาลถ้าไม่ได้รบกวนกระบวนการพิจารณาจึงไม่ถือเป็นความผิด
“ในส่วนของประเทศไทยที่ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรแต่ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายจารีตประเพณีมาด้วย ทำให้ประเทศไทยคุ้มครองศาลกว้างมากๆ มีทั้งกฎหมายละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายพิจารณาความเพ่ง และกฎหมายหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ทำให้มีการตีความครอบคลุมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์ศาลว่าเป็นความผิดด้วย แทนที่จะมีการเป็นเพียงการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในศาลหรือบริเวณศาลเท่านั้น” น.ส.สาวตรี กล่าว
ทั้งนี้ น.ส.สาวตรียกตัวอย่างอีกว่า ศาลปกครองที่มีกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองนำกฎหมายละเมิดอำนาจศาลมาใช้เช่นกัน แต่มีกฎหมายระบุว่าหากต้องมีการลงโทษปรับหรือจำคุก ต้องให้องค์คณะอื่นที่มิใช่องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นผู้พิจารณาและสั่งลงโทษ เพื่อไม่ให้เป็นการนำคู่ขัดแย้งมาตัดสินคดีและมีข้อยกเว้นระบุไว้ชัดเจนว่าการวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการบัญญัติกฎหมายละเมิดอำนาจศาล
“ถ้ามีการเข้ามาสังเกตการณ์หรืออาจจะประท้วงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมน่าจะไม่มีความผิด” น.ส.สาวตรีกล่าวม พร้อมยังมองว่า ศาลควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ในเรื่องของการปฏิบัติงานเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของศาลได้ เหมือนกับการตรวจสอบหน่วยงานรัฐอื่นๆ โดยเป็นการตรวจสอบวิจารณ์โดยสุจริต ส่วนกฎหมายละเมิดอำนาจศาลควรจะให้ศาลใช้อำนาจได้ทันทีเฉพาะในกรณีมีการขัดขวางหรือก่อความวุ่นวายในห้องพิจารณาคดีที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินคดี หรือ ถ้าเกิดเรื่องขึ้นในบริเวณศาลต้องเป็นเรื่องรุนแรงที่จะขัดขวางหรือมีอิทธิพลต่อการพิจารณาคดีเท่านั้น
ในวันที่ 24 เม.ย.ที่จะถึงนี้ ศาลขอนแก่นนัดพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลระหว่างศาลขอนแก่นกับนักเคลื่อนไหวทั้ง 7 คน โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 คนยืนยันว่าจะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าศาลขอนแก่นจะใช้ดุลพินิจในคดีนี้อย่างไร