โดย บูรพา เล็กล้วนงาม
การลงทะเบียนคนจนเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือคนจนแต่มีข้อสงสัยว่านโยบายที่ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 2 แก้ไขปัญหาความยากจนได้ผลหรือไม่
วันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสมัครเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 หรือ “การลงทะเบียนคนจน” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยเปิดให้ลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 15 พ.ค. ที่จะถึงนี้
สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างโครงการลงทะเบียนคนจนในปีที่แล้วกับปีนี้มีหลายประการด้วยกัน ได้แก่ ปีนี้รัฐบาลให้ประชาชนมาลงทะเบียนเร็วขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยให้มาลงทะเบียนตั้งแต่เดือนเมษายน ส่วนปีที่แล้วให้มาลงทะเบียนในเดือนกรกฎาคม
ปีที่แล้วรัฐบาลกำหนดให้ผู้มีสิทธิลงทะเบียนคนจนต้องมีรายได้ไม่เกินปีละ 100,000 บาท แต่ในปีนี้รัฐบาลเพิ่มเงื่อนไขเข้ามาอีก คือ ต้องมีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 100,000 บาท รวมทั้งต้องไม่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เกินกว่าจำนวนที่กำหนด เช่น บ้านหรือทาวเฮ้าส์เกิน 25 ตารางวา หรือห้องชุดเกิน 35 ตารางเมตร ฯลฯ
และสิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือปีที่แล้วรัฐบาลกำหนดว่าจะแจกเงินให้ผู้ลงทะเบียนคนละ 1,500 บาท และ 3,000 บาทตามลำดับ แต่ปีนี้รัฐบาลยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมอบสิ่งใดให้แก่คนจนแม้คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมต.สำนักนายกฯ แถลงมติคณะรัฐมนตรีว่า ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจะได้รับบัตรสวัสดิการประจำตัวที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการให้ โดยผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งเรื่องค่าโดยสาร ความช่วยเหลือเรื่องค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนปีที่แล้วมีประชาชนมาลงทะเบียนคนจนจำนวน 8,375,383 คน และรัฐบาลแจกเงินให้จำนวนกว่า 17,469 ล้านบาท
ขณะที่เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จะมีการทำประกันภัยอุบัติเหตุให้ผู้ลงทะเบียนคนจนซึ่งจะเป็นประโยชน์เมื่อรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็จะมีเงินชดเชยให้
สรุปคือการลงทะเบียนคนจนในปีนี้เร็วขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 3 เดือนก็จริง แต่ประชาชนต้องรอจนถึงเดือนมิถุนายนจึงจะได้รับบัตรสวัสดิการ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็ยังไม่ทราบว่าจะสามารถใช้สิทธิอะไรได้ จริงอยู่แม้จะรู้อย่างกว้างๆ ว่าปีนี้จะได้รับสวัสดิการแทนตัวเงิน แต่ก็ไม่ทราบว่าจะได้รับเท่าไรได้ในรูปแบบไหน และ เป็นประโยชน์อย่างไร
เมื่อพิจารณาถึงสวัสดิการที่คาดว่าคนจนจะได้รับอย่างคร่าวๆ ก็พบเรื่องน่าเป็นห่วงอยู่หลายกรณี อาทิ สวัสดิการค่าไฟฟ้าที่คนจนได้รับจะเป็นประโยชน์ต่อคนจนจริงหรือไม่ ในเมื่อประชาชนเจ้าของที่พักอาศัยก็ได้ใช้ไฟฟ้าฟรีอยู่แล้วหากใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 50 หน่วย
การได้สิทธิขึ้นรถไฟฟรีก็เป็นประโยชน์เฉพาะประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณที่มีเส้นทางรถไฟแล่น ผ่านและต้องการเดินทางไปตามเส้นทางของรถไฟเท่านั้น
ส่วนการทำประกันภัยอุบัติเหตุนั้น มีคำถามว่าการทำประกันภัยเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนจนจริงหรือไม่ ในเมื่อประชาชนย่อมได้สิทธิการรักษาพยาบาลฟรีอยู่แล้วจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เหตุใดรัฐบาลจึงต้องใช้จ่ายเงินซ้ำซ้อนเพื่อทำประกันภัยให้คนจนอีก ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ในกรณีนี้จะตกอยู่ที่คนจนหรือบริษัทประกันภัยกันแน่
การให้คนจนมาลงทะเบียนล่วงหน้าโดยไม่ระบุว่าพวกเขาจะได้รับสิทธิอะไรแสดงให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนในการช่วยเหลือคนจน รัฐบาลทำราวกับว่าคนจนไม่มีทางเลือกใดอีกแล้ว นอกจากรอรับความช่วยเหลือตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศในเวลานี้ที่ประชาชนไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตได้เองเพราะไม่มีแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงออก ฯลฯ เนื่องจากถูกกองทัพยึดไปตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557
แม้โครงการลงทะเบียนคนจนในปีนี้จะแตกต่างจากปีที่แล้วในรายละเอียด แต่สิ่งที่เหมือนกันคือโครงการทั้งสองไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม
เริ่มจากนิยามคำว่าคนจนของคณะรัฐมนตรีคือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี นิยามนี้ก็ไม่มีหลักเกณฑ์ว่าเป็นเพราะเหตุใด
ขณะที่ข้อมูลล่าสุดในปี 2558 จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า เส้นความยากจนของประเทศไทยอยู่ที่ 2,644 บาท/คน/เดือน โดยคนจนของประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 4,847,200 คน ภูมิภาคที่มีคนจนอยู่มากที่สุดคือภาคอีสานจำนวนประมาณ 1,929,800 คน รองลงมาคือภาคเหนือจำนวนประมาณ 1,007,800 คน จึงน่ากังขาว่าคณะรัฐมนตรีนำตัวเลข 100,000 บาทต่อปีซึ่งเป็นขอบเขตของความยากจนมาจากไหน
ประการต่อมาคือการคัดสรรผู้สมัครเข้าร่วมโครงการก็ไม่ได้แจกแจงว่าใช้วิธีใดเพื่อให้ได้ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปีจริงๆ แต่สมมติว่ารัฐบาลมีวิธีในการคัดสรรแล้วรัฐบาลก็ควรรู้ว่าใครเป็นคนจนบ้าง ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนทั้งหมดรวมถึงผู้ที่ลงทะเบียนในปีที่แล้วแล้วมาลงทะเบียนซ้ำอีกในปีนี้
ประการสุดท้าย คือ การแถลงข่าวของคณะรัฐมนตรีก็บอกแค่จำนวนของผู้เข้าร่วมโครงการในปีที่แล้ว และงบประมาณที่ใช้ไป แต่ไม่ได้บอกว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้คนจนลดน้อยลงไปเท่าไหร่ เหมือนเป็นการทำงานที่ไม่มีเป้าหมายและไม่สามารถชี้วัดความสำเร็จได้
จึงมีคำถามว่ารัฐบาลนี้ต้องการแค่มอบสวัสดิการเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่ประชาชนหรือต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้หายจนกันแน่ เพราะการมอบเงินหรือมอบสวัสดิการเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถทำให้คนจนหายจนได้แต่จะทำให้คนจนยากจนต่อไป ขณะที่รัฐบาลก็สามารถประชาสัมพันธ์ต่อสังคมว่าได้ช่วยเหลือคนจนไปแล้ว
เมื่อมองให้กว้างออกไปจะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจทำให้คนจนหมดไป เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 โดยทุกจังหวัดในภาคอีสานได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากวันละ 300 บาทเป็น 305 บาท ยกเว้น 2 จังหวัด คือ ขอนแก่นและนครราชสีมาที่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 308 บาท
เมื่อนำค่าแรงขั้นต่ำวันละ 308 บาทมาคำนวณหารายได้ต่อปีก็พบว่าเท่ากับปีละ 96,096 บาทเท่านั้น (วิธีการคำนวณนำจำนวน 52 สัปดาห์คูณจำนวนวันทำงานสัปดาห์ละ 6 วันคูณกับค่าแรงวันละ 308 บาท 52*6*308 = 96,096 บาท) จึงเท่ากับว่าแม้ผู้ที่มีงานทำตลอดทั้งปีก็ยังอยู่ภายใต้นิยามคนจนของรัฐบาลนี้เนื่องจากมีรายได้ไม่ถึงปีละ 100,000 บาท
จึงน่าสงสัยว่าถ้ารัฐบาลต้องการทำให้คนจนหมดไปรัฐบาลก็ควรจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างน้อยก็ต้องทำให้ผู้ที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำมีรายได้มากกว่าปีละ 100,000 บาท ซึ่งถือเป็นขอบเขตความยากจนของรัฐบาลนี้
ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจมอบสวัสดิการสังคมให้แก่คนจน รัฐบาลควรตระหนักว่าสวัสดิการสังคมเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรมอบให้แก่ประชาชนอยู่แล้ว เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันเนื่องจากคนแต่ละคนไม่สามารถเลือกเกิดได้ ฉะนั้นจึงต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนทุกคนแม้จะเป็นผู้ที่ด้อยที่สุดในสังคมสามารถเริ่มต้นชีวิตได้จากจุดเดียวกันสวัสดิการจึงไม่ใช่เรื่องการสงเคราะห์คนจนเช่นที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการแต่สวัสดิการสังคมคือหลักประกันขั้นพื้นฐานของการมีชีวิต
ด้านสวัสดิการที่รัฐบาลควรมอบให้แก่สังคม มีอาทิเช่น การศึกษาฟรี ในความหมายว่าฟรีอย่างแท้จริงไม่ใช่ต้องเสียเงินอื่นๆ อีก รวมถึงเงินกินเปล่าเมื่อบุตรหลานจะเข้าโรงเรียน หรือ แป๊ะเจี๊ยะ แบบที่เป็นอยู่ การรักษาพยาบาลฟรีที่ต้องเท่าเทียมกันและทั่วถึง ไม่ใช่แค่รักษาฟรีแต่คุณภาพการรักษาพยาบาลของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ทัดเทียมกับสิทธิของข้าราชการและสิทธิของผู้มีบัตรประกันสังคม
ส่วนถ้ารัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไป สิ่งควรทำหาใช่การแจกเงินหรือมอบสวัสดิการเล็กๆ น้อยๆ แต่ควรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เอกชนลงทุนจะได้เกิดการจ้างงาน นำประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดับประเทศรายได้ปานกลาง และ การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมด้วยการเก็บภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้าแก่ผู้มีฐานะร่ำรวย รายงานขององค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ประเทศไทย ระบุว่า คนรวยที่สุดร้อยละ 10 ของไทย เป็นเจ้าของทรัพย์สินถึงร้อยละ 79 ของทรัพย์สินทั้งประเทศ
ข้อเสนอที่กล่าวมาสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนจนหายจนได้เพียงแต่รัฐบาลนี้จะนำไปปฏิบัติหรือไม่เท่านั้น