เปิดเผยวิธีการฟ้องร้องแต่ไม่หวังผลในทางคดีที่บริษัทเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้เพื่อยับยั้งการทำกิจกรรมสาธารณะของประชาชน

ที่ผ่านมานักเคลื่อนไหวที่ทำกิจกรรมสาธารณะด้านต่างๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม สังคม และ การเมือง ถูกฟ้องร้องจากบริษัทเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง การฟ้องร้องดังกล่าวส่วนหนึ่ง คือการใช้คดีความเป็นกลยุทธ์เพื่อคุกคามหรือปิดปากการมีส่วนร่วมของสาธารณชน หรือเรียกว่า SLAPP (Strategic lawsuit against public participation) โดยการฟ้องคดีจากคู่ขัดแย้งไม่ได้มีเพื่อหวังผลในคดีแต่เป็นไปเพื่อหยุดยั้งนักเคลื่อนไหว

เดอะอีสานเรคคอร์ดประมวลการใช้คดีความเพื่อคุกคามการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคอีสานมานำเสนอ

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย

“กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย” คือ ประชาชนตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่รวมตัวคัดค้านการประกอบกิจการเมืองแร่ของบริษัททุ่งคำ จำกัด  

คู่ขัดแย้ง : บริษัททุ่งคำ จำกัด ฟ้องสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย 25 คน

ข้อหา : บุกรุก 4 คดี ละเมิด 5 คดี หมิ่นประมาท 6 คดี กีดขวางทางสาธารณะ 1 คดี และ เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 3 คดี รวม 19 คดี  

ความเป็นมา : ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชน 6 หมู่บ้านรวมในตำบลเขาหลวง รวมตัวกันเป็นกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลยเพื่อคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด การคัดค้านเหมืองแร่ทำให้สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลยถูกบริษัทฟ้องร้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง ตั้งแต่ปี 2553 ในคดีทางแพ่งรวมค่าเสียหายทั้งหมด 320 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลยหลายกลุ่ม รวมถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นในนามกลุ่ม “ดาวดิน”

กลุ่มรักษ์พัฒนา บ.ข.ส.

“กลุ่มรักษ์พัฒนา บ.ข.ส.” คัดค้านการย้ายสถานีขนส่งแห่งที่ 1 จังหวัดขอนแก่นไปยังสถานีขนส่งแห่งใหม่

คู่ขัดแย้ง : เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องแกนนำกลุ่มรักษ์พัฒนา บ.ข.ส. 7 คน

ข้อหา : กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ความเป็นมา : กลุ่มรักษ์พัฒนา บ.ข.ส. เป็นการร่วมกลุ่มของผู้ประกอบการภายในสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดขอนแก่น มีข้อเรียกร้องให้ยุติการย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่นแห่งที่ 1 ไปอยู่ที่สถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่นแห่งที่ 3 ตามมติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นกรณีแรกที่มีการนำพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาบังคับใช้หลังกฎหมายดังกว่ามีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม ปี 2558

กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส

“กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส” ประกอบด้วย ประชาชนในพื้นที่ 6 ตำบลของ อำเภอวานรนิวาส จังหวัด สกลนคร ได้ร่วมทำกิจกรรมหลายครั้งเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านการสำรวจแร่โปแตชของบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

คู่ขัดแย้ง : เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องนายศตานนท์ ชื่นตา สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส

ข้อหา : กระทำความผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ความเป็นมา : เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวานรนิวาสส่งหมายเรียกให้นายศตานนท์ สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา “ไม่แจ้งการชุมนุมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนมีการชุมนุม” เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ข้อเท็จจริงกิจกรรมดังกล่าวมิใช่การชุมนุมแต่เป็นการเดินบอกบุญ เพื่อเชิญชวนประชาชนในพื้นที่มาร่วมพิธีสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง อำเภอวานรนิวาส ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา

นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์

นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักศึกษาชั้น ปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและสิทธิชุมชน

คู่ขัดแย้ง : เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องนายภานุพงศ์

ข้อหา : ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จำนวน 2 คดี ทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา116 ข้อหายุยงปลุกปั่น 1 คดี และละเมิดอำนาจศาล 1 คดี

ความเป็นมา : นายภานุพงศ์สมาชิกกลุ่มนักศึกษาเผยแพร่สิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมหรือรู้จักกันในชื่อกลุ่ม “ดาวดิน” ได้รวมเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชุมชนร่วมกับภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ภายหลังเกิดการรัฐประหารในปี 2557 นายภานุพงศ์ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวในเรียกร้องประชาธิปไตยจนถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งหมด 4 คดี

นายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์

นายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมทางการเมือง

คู่ขัดแย้ง : เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องนายณรงค์ฤทธิ์

ข้อหา : ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และละเมิดอำนาจศาล

ความเป็นมา : นายณรงค์ฤทธิ์สมาชิกกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากเป็นผู้ร่วมจัดงานพูดเพื่อเสรีภาพรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน? เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2559 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

น.ส.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์

น.ส.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลภาคอีสาน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

คู่ขัดแย้ง : เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องน.ส.ดวงทิพย์

ข้อหา : ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

ความเป็นมา : น.ส.ดวงทิพย์ถูกดำเนินคดีจากกรณีพูดเพื่อเสรีภาพรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน? เช่นเดียวกับนายณรงค์ฤทธิ์ แต่น.ส.ดวงทิพย์ไม่ใช่ผู้ร่วมจัดงานแต่เป็นเพียงผู้เข้ามาสังเกตุการณ์ในบริเวณงานเพื่อเก็บข้อมูลเท่านั้น

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 7 มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นักกิจกรรมทางการเมือง

คู่ขัดแย้ง : เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องนายจตุภัทร์

ข้อหา : ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จำนวน 2 คดี ทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่น ทำผิดพ.ร.บ.ประชามติ ทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง และทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ความเป็นมา : นายจตุภัทร์ต้องเข้าออกเรือนจำอยู่หลายครั้งหลังจากการทำรัฐประหารในปี 2557 ปัจจุบันเขาถูกจำคุกระหว่างรอการพิจารณาคดีอยู่ที่ทัณฑสถานบําบัดพิเศษขอนแก่น ในคดีทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง และทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

จากการเผยแพร่บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทย ซึ่งนายจตุภัทร์ ถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียว แม้จะมีผู้อื่นอีกหลายพันคนที่แบ่งปันบทความดังกล่าวบนสื่อออนไลน์ และแม้กระทั่งสำนักข่าวบีบีซีไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตและเผยแพร่บทความต้นฉบับกลับไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นเพียงเพื่อต้องการการยุดยั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา

image_pdfimage_print