โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

การลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ยังทำไม่สำเร็จ และคาดว่าจะไม่สำเร็จต่อไปถ้ายังจัดการปัญหาด้วยวิธีการเช่นเดิม

ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ ปี 2560 มีอุบัติเหตุรวม 3,919 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 478 ราย และบาดเจ็บรวม 4,128 คน มากกว่าปีที่แล้วทุกสถิติ ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ ปี 2559 มีอุบัติเหตุรวม 3,379 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 380 ราย และผู้บาดเจ็บรวม 3,505 คน

ทำให้เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกว่า จะเพิ่มความเข้มงวดให้มากยิ่งขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายใน 3 เดือนจากนี้จะดำเนินคดีทุกอย่าง “แก้ปัญหาด้วยมาตรา 44 ก็ยังแก้ไม่ได้ ดังนั้น จะมีอะไรมากไปกว่าต้องบังคับใช้กฎหมายก่อนที่จะมากกว่าไปนี้”

แต่แล้วพล.อ.ประยุทธ์ก็เลือกที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 เพื่อแก้ไขปัญหาเช่นเดิม โดยออกคำสั่งหัวหน้าคสช. 2 ฉบับ คือ คำสั่ง ฉบับที่ 14/2560 เรื่องประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายจราจร และ คำสั่ง ฉบับที่ 15/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มความปลอดภัยรถสาธารณะ

สถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ ปี 2559 อุบัติเหตุรวม 3,447 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 442 ราย และผู้บาดเจ็บรวม 3,656 คน มากกว่า การเกิดอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ ปี 2558 ในทุกสถิติ มีอุบัติเหตุรวม 3,375 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 364 ราย และผู้บาดเจ็บรวม 3,559 คน

มีการแถลงข่าวด่วน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่กรมการขนส่งทางบก ถึงรายละเอียดของคำสั่งคสช. ฉบับที่ 14/2560

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รถกระบะจะห้ามไม่ให้นั่งด้านหลังจะให้นั่งเฉพาะห้องโดยสารเท่านั้น หากบอกว่าได้รับผลกระทบก็กระทบแน่นอน แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของประชาชน

ส่วนสงกรานต์ปีนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้ห้ามนำโอ่ง หรือถังน้ำขึ้นท้ายรถกระบะ สามารถนำขึ้นได้ตามปกติ แต่จะต้องไม่มีคนไปนั่ง หรือยืนอยู่ท้ายรถ หากพบก็จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับปรับแน่นอน

พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธ์ ผช.ผบ.ตร. กล่าวว่า การบังคับให้คบขับและผู้โดยสารทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัยนั้นเจ้าหน้าที่จะแจ้งเตือนก่อน แต่ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่จะจับปรับตามกฎหมายทันที

ต่อมาพล.ต.ท.วิทยา ระบุเพิ่มเติมว่า รถกระบะมีแค็บก็ห้ามนั่งในแค็บเพราะส่วนที่เป็นแค็บไม่ได้ออกแบบให้เป็นที่นั่ง แต่มีไว้สำหรับใส่สิ่งของหากนั่งในแค๊บจะมีความผิดฐานใช้รถผิดประเภท

การไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนหนึ่งต้องเดินทางด้วยรถกระบะโดยนั่งในแค๊บและท้ายกระบะ ทำให้คำสั่งคสช.ถูกต่อต้านเป็นวงกว้างอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนซึ่งถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

ภาพล้อเลียนการห้ามนั่งท้ายกระบะถูกสร้างขึ้นมาอย่างหลากหลาย ความจำเป็นของกฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุถูกมองข้ามไป ประกอบกับการที่คนไทยจำนวนหนึ่งไม่เคารพกฎจราจรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น การไม่สวมหมวกกันน๊อค และการขับรถย้อนศร ทั้งหมดจึงนำไปสู่จุดที่ไม่มีการพูดคุยระหว่างประชาชนกับคสช. สังเกตได้จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มักสนับสนุนคสช.ทุกครั้งก็ไม่มีการสำรวจเรื่องนี้ออกมา

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ จึงต้องออกมาแถลงข่าวชะลอการจับปรับผู้ทำผิดกฎหมายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ออกไปก่อน เช่น เจ้าหน้าที่จะจับปรับกรณีรถยนต์ส่วนบุคคลที่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารเบาะหน้าไม่คาดเข็มขัดนิรภัย แต่จะอนุโลมตักเตือนผู้โดยสารที่นั่งเบาะหลัง และรถกระบะอนุโลมให้นั่งในแค็บ และท้ายรถกระบะได้ไม่เกิน 6 คน แต่ห้ามนั่งบนขอบกระบะหรือฝาปิดท้ายรถ

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้คำสั่งคสช. ที่ออกมาเพื่อหวังลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครบถ้วน จึงเกิดคำถามว่าจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560 จะลดลงจากช่วงปีใหม่และช่วงเดียวกันของปีที่แล้วหรือไม่ แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าต้องมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอย่างไม่สมควร เนื่องจากมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลถูกต่อต้านจนใช้การไม่ได้ ทั้งที่มีเวลาเตรียมการนานถึง 3 เดือน

บทเรียนที่ได้รับคือรัฐบาลควรลดการใช้ไม้แข็งเพื่อบังคับให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎจราจรมาเป็นการใช้ไม้อ่อนด้วยการประชาสัมพันธ์ อบรม ทำความเข้าใจ อย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะการใช้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ทำให้อุบัติเหตุลดลง

อีกกรณีคือพล.อ.ประยุทธ์ควรทบทวนตัวเองหรือไม่ว่า อำนาจตาม ม.44 ไม่สามารถใช้บริหารราชการการแผ่นดินอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ จริงอยู่ ม.44 ทำให้เกิดคำสั่งที่มีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโต้แย้งไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้ามคำสั่งจาก ม.44 ก็ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงประชาชน ฉะนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการใช้ ม.44 จึงไม่ใช่ประชาชนแต่เป็นพล.อ.ประยุทธ์ที่จะสั่งอย่างไรก็ได้

ส่วนวิธีการที่เหมาะสมกว่าการใช้ ม.44 แก้ปัญหาอุบัติเหตุ คือ การแก้ไขหรือออกกฎหมายจราจรด้วยขั้นตอนปกติผ่านสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เนื่องจากผู้ที่มาจากประชาชนย่อมมีความรับผิดชอบต่อประชาชนมากกว่าผู้ที่มาจากการยึดอำนาจและคณะ (แม่น้ำ 5 สาย) ที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อใครทั้งสิ้น อีกทั้งกฎหมายปกติก็มีความแน่นอนชัดเจนในการรับรู้ต่างจากคำสั่ง ม.44 ที่ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับความพอใจของคสช.

การใช้อำนาจตามม.44 ลดอุบัติเหตุจึงเป็นความล้มเหลวที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายของประชาชน

มองในมุมกว้างจะพบว่าอำนาจตามม.44 แม้จะมีความแข็งแกร่งและเป็นอำนาจที่พยุงให้คสช.ดำรงอยู่ได้ด้วยการปราบปรามผู้คิดเห็นต่าง ล่าสุดคือกรณีวัดพระธรรมกาย แต่ถ้าประชาชนร่วมมือกันต่อต้าน คสช.ก็คงไม่สามารถต้านทานได้ แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนที่ประชาชนจะออกมาขับไล่คสช.อย่างพร้อมเพรียงโดยไม่คำนึงถึงสีเสื้อ เช่นเดียวกับการต่อต้านการไม่ให้นั่งในแค๊บและท้ายกระบะ

image_pdfimage_print