โดย วิลาสินี โสภาพล

หากกล่าวถึงที่อยู่ของแรงงานพม่า หลายคนมักจะนึกถึงตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หรือจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นเหมือนลิตเติ้ลเบอม่า (Little Burma) หรือชุมชนของแรงงานพม่าขนาดย่อมๆ ในประเทศไทย แต่น้อยคนนักจะทราบว่ามีแรงงานพม่าอยู่ที่อีสานจำนวนไม่น้อย

เมื่อหลายปีที่แล้วดิฉันมีโอกาสไปเดินซื้อของที่ตลาดบางลำพูซึ่งเป็นตลาดสดขนาดใหญ่ใจกลางเมืองขอนแก่น ดิฉันต้องแปลกใจไม่น้อยเมื่อพบว่ากลุ่มผู้บริโภคหลักในวันหยุด โดยเฉพาะวันอาทิตย์ (ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของแรงงานภาคอุตสาหกรรม) คือแรงงานพม่า พวกเขาแต่งตัวดูแปลกตาจากคนท้องถิ่นในพื้นที่ทาหน้าด้วยทานาคาสีเหลืองนวลออกจากจับจ่ายใช้สอยสินค้า ความฉงนดังกล่าวนำพาดิฉันออกเดินทางเพื่อสืบเสาะว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นใคร เดินทางเข้ามาทำอะไรในจังหวัดขอนแก่น อาศัยอยู่ที่ไหน และมีความเป็นอยู่กันอย่างไร ในพื้นที่ของคนอีสานที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับคนพม่าเท่าไหร่นัก

จากการสอบถามสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น พบว่าแรงงานพม่าเป็นกลุ่มแรงงานหลักของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในอุตสาหกรรมของจังหวัดขอนแก่นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมแหอวน แรงงานพม่ามีจำนวนมากกว่าแรงงานจากประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชา ซึ่งมีอาณาเขตใกล้กับขอนแก่นมากกว่าประเทศพม่า

ดิฉันพบว่าแรงงานพม่าในจังหวัดขอนแก่นมีจำนวนมากถึง 3,148 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนในจังหวัดขอนแก่น 5,416 คน (สถิติจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น, 2559) โดยโรงงานที่ศึกษานั้นมีพนักงานประจำกว่า 3,500 คน เป็นแรงงานท้องถิ่นเป็นจำนวน 2,000 คน และแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าจำนวน 1,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์พม่ากว่าร้อยละ 90 และมีชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มอญ และฉิ่น ปะปนกันไป

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล พบว่าแต่ก่อนโรงงานแห่งนี้จ้างแรงงานคนไทยทั้งหมด ก่อนที่จะรับแรงงานพม่ามาทำงานเมื่อสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากคนไทยออกไปทำงานต่างถิ่นมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้แรงงานในท้องถิ่นไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน และด้วยโรงงานแห่งนี้มีศูนย์ส่งสินค้าที่ตั้งอยู่อำเภอแม่สอดมาก่อนเนื่องจากส่งออกแหอวนไปจำหน่ายยังประเทศพม่าเป็นจำนวนมาก จึงมีเครือข่ายในการจัดหาแรงงานพม่าเพื่อเข้ามาทำงานในโรงงาน ดังนั้นแรงงานพม่าจึงกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแหอวนแทนที่แรงงานท้องถิ่น

ทางเข้าไปยังที่พักของแรงงานพม่า

เซยา ชาวพม่าวัยหนุ่ม อายุสามสิบต้นๆ เป็นคนพาดิฉันเข้าไปในชุมชนของแรงงานสัญชาติพม่าที่ตั้งอยู่หลังโรงงานได้ เซยาขี่รถจักรยานยนต์มือสองที่ซื้อจากคนไทยในโรงงานเดียวกันมารับดิฉันที่บริเวณหน้าโรงงาน เราขี่รถบดไปบนถนนลูกรังแคบๆ จากหน้าโรงงานจนถึงที่พักอาศัยของแรงงานพม่านับรวมแล้วเป็นระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร สองข้างทางเต็มไปด้วยพงหญ้า พื้นที่ว่าง และแปลงพืชผักสวนครัวที่แรงงานปลูกไว้กินและขาย ระหว่างทางพบเห็นแรงงานพม่าปั่นจักรยานออกมาทำงานเป็นระยะๆ เนื่องจากโรงงานแห่งนี้ทำงานทั้งหมด 2 กะ คือ กะเช้าเริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็นและกะบ่ายเริ่มตั้งแต่ 5 โมงเย็นจนถึงตี 2 และหยุดงานทุกวันอาทิตย์

ลานกว้างด้านทิศเหนือก่อนจะถึงที่พักเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม บางคนเล่นกีฬา บางคนพบปะพูดคุยกัน ติดกันนั้นเป็นที่ตั้งของศาลาชุมชน ซึ่งแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าร่วมกันสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลาย พ.ศ. 2557 เพื่อใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันสำคัญของพุทธศาสนา จัดงานแต่งงาน และงานอื่นๆ

ถัดจากลานกว้างด้านหน้าเริ่มเห็นเป็นที่ตั้งของทั้งบ้านเดี่ยวและห้องแถวยาวเหยียดปลูกติดกันราว 40 หลังเต็มสองข้างทาง หลังคามุงด้วยสังกะสี ประตูและหน้าต่างทำจากสังกะสีเช่นกัน ผนังเป็นปูนเปลือย ห้องแถวหันหน้าชนกันโดยมีทางระบายน้ำเป็นเส้นกั้นระหว่างห้องแถวแต่ละหลัง มีห้องน้ำแบบรวมตั้งอยู่ห่างจะห้องแถวทางด้านทิศใต้ ส่วนด้านหน้าเป็นที่ตั้งของร้านค้าและที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ

สภาพที่พักของแรงงานพม่าที่มาทำงานที่จ.ขอนแก่น

หลบๆ ซ่อน ๆ : ชีวิตและการเดินทางสู่จังหวัดขอนแก่น

“แรงงานพม่าเข้ามาทำงานที่โรงงานนี้ช่วงแรกตอน พ.ศ. 2547 แต่ก่อนที่พักไม่ใช่แบบนี้พี่ ไม่ดีเท่าตอนนี้ แต่ก่อนใช้ที่เลี้ยงไก่เป็นที่อาศัยอยู่ เอาใบไม้มุงเอา อันนี้เพิ่งมาเปลี่ยนไม่กี่ปีหลังจากที่พม่าเยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็มาอยู่นี่ได้สัก 4 ปี ที่พักตรงนี้เพิ่งสร้างในช่วง พ.ศ. 2550 เองพี่” (เซยา,สัมภาษณ์ 10 เมษายน 2556)

พ.ศ. 2547 เป็นปีแรกที่แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าได้เริ่มเดินทางเข้ามาทำงานในขอนแก่น โดยได้ค่าแรงเพียงวันละ 100 บาท แน่นอนว่าแรงงานส่วนใหญ่นั้นได้เดินทางเข้ามาทำงานกันอย่างผิดกฎหมาย หลายคนยอมรับว่าในช่วงแรกตนเองไม่มีหนังสือเดินทาง ไม่มีใบรับรองการทำงาน หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็น “ผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง” ทำให้ภาครัฐมองแรงงานเหล่านี้ว่าเป็นกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต และไม่น่าไว้ใจนัก จึงพยายามผลักดันคนเหล่านี้ออกจากประเทศไทย

“ตอนแรกที่มาทำงานที่นี่ ได้แค่วันละร้อย เขาให้ข้าวเรากิน แต่เราออกไปไหนไม่ได้เลย ต้องอยู่แต่ในโรงงานกับที่พักแค่นั้น เขาไม่ให้ออกไปไหน ออกไปหอพักคนไทย (ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของโรงงาน) ยังไม่ได้เลย” (หม่องเซ,สัมภาษณ์ 18 มีนาคม 2557)

ด้วยความที่เป็นผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง ทำให้เจ้าของโรงงานไม่อนุญาตให้พวกเขาเข้าในเมืองขอนแก่น พวกเขาจึงต้องทำงานอย่างหนักและอาศัยอยู่แต่ในที่พัก

แต่หลังปี 2555 หลังจากที่ตำรวจเข้มงวดกับการใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมากขึ้น ทำให้โรงงานเริ่มพาแรงงานเหล่านี้ไปขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานโดยถูกกฎหมาย และในระยะหลังพบว่าทางโรงงานเริ่มรับแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าที่เป็น MOU เข้ามาทำงาน ทำให้ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าที่ถูกกฎหมาย

“ตอนที่ผมมาลำบากมากพี่ เพราะเข้ามาเมืองไทยแบบผิดกฎหมาย คือที่พม่าไม่มีงานเลยพี่ ใครก็อยากออกจากประเทศ ไฟฟ้าก็ไม่มีใช้ ผมกับเพื่อนๆ เลยตัดสินใจมาหางานที่เมืองไทย เริ่มต้นที่แม่สอดก่อน ตอนนั้นทำงานเก็บดอกไม้ เก็บส้มที่แม่สอด แต่พอดีช่วงนั้นนายหน้าหางานมาให้เลยตัดสินใจไปหางานใหม่ที่ดีกว่า ตอนนั้นจำได้เลยว่าเดินเท้าจากแม่สอดไปเชียงใหม่ ไปสุโขทัย แล้วก็เดินไปรอรถที่อยู่กำแพงเพชร ใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน รอสามวันนายหน้าค่อยมารับ แล้วค่อยนั่งรถกระบะมาขอนแก่น ไม่รู้เลยว่าขอนแก่นอยู่ไหนจนกระทั่งมาถึง

อัดกันเป็นปลากระป๋อง 20 คนกินอะไรก็ไม่ได้จะกินก็จอดรถกลางป่ากินมาม่ากัน นอนอยู่ข้างทาง บางคนตายกลางทางก็มีแต่ก็ต้องทิ้งไว้ เวลาข้ามน้ำข้ามป่ามาหิวมากพอทนไม่ไหวก็ขาดใจไปซะก่อนก็ต้องปล่อยไป เพราะเราต้องเดินทางต่อ พอถึงขอนแก่นต้องจ่ายค่านายหน้าให้พวกที่มาส่ง 10,000 บาทนะพี่แต่ตอนนี้ถนนหนทางดีแล้วไปง่ายมาง่าย พวกที่มาใหม่ส่วนใหญ่เป็น MOU นี่นั่งรถกันมาเลยสะดวกสบายกว่าเดิมเยอะไม่เหมือนช่วงที่พวกผมมา” (อะคู, สัมภาษณ์, 7 มีนาคม 2558)

แรงงานพม่าในจ.ขอนแก่นทำบุญในวันอาสาฬหบูชาภายในชุมชนพม่าบริเวณหลังโรงงาน

หลายคนผ่านการทำงานที่อำเภอแม่สอดมาก่อน เนื่องด้วยอำเภอแม่สอดเป็นเมืองชายแดนที่คึกคักตั้งอยู่ติดกับเมืองเมียวดี ประเทศพม่า อำเภอแม่สอดจึงเปรียบเสมือนแหล่งฝึกงานขั้นต้นสำหรับแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ทั้งยังเป็นพื้นที่ของการหางานใหม่ๆ หรือหาเครือข่ายใหม่ๆ เพื่อที่จะเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสาคร หรือพื้นที่ตอนในของประเทศไทย

“ผมออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 16 ปีแต่ก่อนทำงาน ที่แม่สอด-เมียวดีไปกลับๆ เพื่อนชวนไปทำงานที่อื่นพอดี ก็มาด้วยกันกับเพื่อนสิบคน เดินป่ามานะพี่ ผมเดินป่ามาสิบวัน ไม่กินข้าวมาห้าวัน มันไม่มีเงินกิน ถึงนครสวรรค์ก็ให้เขามาส่งที่นี่ (ขอนแก่น) แล้วพี่รู้ไหมคนที่มาส่งผมเป็นใคร เขาเป็นตำรวจนะพี่ ตำรวจก็มาส่งพวกผมเองเลยที่ขอนแก่นทั้งๆ ที่รู้ว่าพวกผมเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แต่เราจ่ายค่าหัวให้ตามที่เขาเรียกนะ เขาเรียกคนละ 8,000 บาท” (สัมภาษณ์ ยะอาว, 24 สิงหาคม 2557)

เมื่อ พ.ศ. 2548 โรงงานได้เริ่มรับสมัครพนักงานโดยตรงที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีนายหน้าที่โรงงานว่าจ้างเป็นคนดูแลและตั้งจุดรับสมัครแรงงานพม่าในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงาน เนื่องจากโรงงานอ้างว่าจะจัดการให้แรงงานเอง แต่โรงงานไม่ได้จัดการขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกกฎหมาย ทำให้โรงงานถูกดำเนินข้อหาใช้แรงงานผิดกฎหมายอยู่เสมอ และ แรงงานมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดี หลายต่อหลายครั้งต้องหลบซ่อนเจ้าหน้าที่

การเรียกร้องของแรงงานพม่าและการกวดขันของทางการทำให้โรงงานมีการเปลี่ยนแปลง โดยนำแรงงานไปขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผลที่ตามมา คือแรงงานสามารถเดินทางในบริเวณจังหวัดขอนแก่นได้ แรงงานได้เพิ่มค่าแรงจากวันละร้อยกว่าบาทเป็น 300 บาทเท่ากับคนไทย มีการสร้างที่พักพิงให้มีสภาพเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยมากขึ้น การเปิดพื้นที่เหล่านี้ก่อให้เกิดความเป็นชุมชนข้ามแดนของแรงงานพม่าในจังหวัดขอนแก่น

ตอนต่อไปจะแสดงให้เห็นภาพชุมชนของแรงงานพม่าที่เขามักพูดเสมอว่าไม่ต่างจากบ้านเกิดของเขา “ทุกอย่างที่นี่เหมือนอยู่ที่พม่าเลยพี่ แต่เพียงไม่ได้อยู่ที่ประเทศพม่าเท่านั้นเอง”

image_pdfimage_print