ชัยภูมิ – วันที่ 16 เมษายน ปีที่แล้ว เวลาประมาณ 9 นาฬิกา นายเด่น คำแหล้ หรือ พ่อเด่น วัย 65 ปี เกษตรกรและนักต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน เดินเข้าไปในป่าทุ่งลุ่ยลาย เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม เพื่อไปหาหน่อไม้และของป่า โดยตั้งใจนำของป่าไปวางขายที่ตลาดในช่วงเย็นตามปกติ แต่นายเด่นไม่ได้กลับออกมาจากป่าอีกเลย เดอะอีสานเรคคอร์ดขอบอกกล่าวถึงเรื่องราวชีวิตของพ่อเด่น ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และติดตามความคืบหน้าตลอดรอบปีที่ผ่านมา  

สู่ภูซางสู่โคกยาวจากดาวแดงถึงนักปฏิรูปที่ดิน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2514 ขณะอายุได้ 20 ปี นายเด่นอาศัยอยู่ที่ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู (ในปัจจุบัน)โดยประกอบอาชีพรับจ้างดำนาและชกมวย นายเด่นมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เช่น การจัดการศึกษาทางการเมือง สองปีต่อมานายเด่นได้เข้าร่วมกับ พคท.เต็มตัว โดยเข้าไปเคลื่อนไหวในพื้นที่เขตงานภูซาง ที่เป็นเขตงานในภาคอีสานตอนเหนืออยู่ระหว่างจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองบัวลำภู โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า “สหายดาว อีปุ่ม”  เมื่อปี 2518 – 2520 สหายดาว อีปุ่ม ถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนการเมืองการทหารที่ลาวและเวียดนาม เพื่อยกระดับความคิดทางการเมืองและการทหาร แล้วจึงกลับมาเคลื่อนไหวในเขตงานภูซางอีกครั้ง

ปี 2525 นายเด่นยุติการเคลื่อนไหวในป่าร่วมกับพคท.ที่แตกสลาย แล้วกลับมาเริ่มต้นชีวิตเกษตรกรอีกครั้ง ด้วยการปลูกข้าวโพดและถั่วแดง ที่ชุมชนบ้านโคกยาว ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ พร้อมแต่งงานกับนางสุภาพ คำแหล้ แต่ในปี 2528 รัฐบาลประกาศพื้นที่ “หมู่บ้านรักษ์ ประชารักษ์สัตว์” แล้วให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รวมทั้งนายเด่นย้ายออกไป พร้อมสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่ แต่เมื่อประชาชนเดินทางไปถึงที่ดินใหม่แห่งที่รัฐบาลจัดหาให้กลับปรากฏว่ามีคนทำกินอยู่แล้ว

นายเด่นและผู้เดือดร้อนรายอื่นเรียกร้องขอความเป็นธรรมเพื่อขอเข้าทำกินในพื้นที่เดิม โดยจัดการชุมนุม  บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอคอนสารหลายครั้ง ต่อมามีการรวมตัวของประชาชนพื้นที่ต่างๆ ของภาคอีสานที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาที่ดินจัดตั้งเป็นเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) มีการขยายแนวร่วมไปทั่วประเทศแล้วรวมตัวกันเป็นเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เพื่อผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการที่ดินโดยชุมชนในรูปแบบของโฉนดชุมชน จนรัฐบาลออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ทำให้นายเด่นและผู้เดือดร้อนคนอื่นกลับไปทำกินในที่ดินเดิมที่ถูกย้ายออกมาตั้งแต่ ปี 2528 ได้

แต่แล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ปี 2554 นายเด่น นางสุภาพ และประชาชน รวม 10 คน ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัว และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม โดยคดียังอยู่ในชั้นศาล

ความขัดแย้งครั้งใหม่ก่อนหายตัวไป

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หรือ มาตรการทวงคืนพื้นป่า ต่อมาในวันที่ 25 ส.ค. ปี 2557 เจ้าหน้าที่ได้ปิดป้ายประกาศที่ชุมชนโคกยาวเพื่อให้พ่อเด่นและประชาชนทุกหลังคาเรือนย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน โดยกล่าวหาว่าประชาชนได้บุกรุกเขตป่าสงวน ทำให้ประชาชนเคลื่อนไหวเรียกร้องจนมีการชะลอการย้ายออกจากพื้นที่

จนกระทั่งวันที่ 26 ม.ค. ปี 2558 มีหนังสือจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 สั่งให้พ่อเด่นย้ายออกจากที่อยู่อาศัยโดยอ้างว่าพ่อเด่นได้ทำผิด พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 พ่อเด่นจึงได้ทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีตอบกลับหรือดำเนินการใดๆ

ครบ 1 ปีการหายไปของพ่อเด่น

นางสุภาพ คำแหล้ ภรรยาพ่อเด่น คำแหล้ กับเติ่ง สุนัขของพ่อเด่น

วันที่ 16 เม.ย. ปีที่แล้ว นางสุภาพรอคอยการกลับมาของพ่อเด่นอยู่ที่บ้าน โดยปกติสามีจะกลับออกมาจากการหาของป่าในเวลา 15 นาฬิกา แต่ครั้งนี้มีเพียงสุนัข 2 ตัวที่ตามพ่อเด่นเข้าป่ากลับออกมาในเวลา 15 นาฬิกา และ 20 นาฬิกา นางสุภาพจึงได้รวบรวมคนในหมู่บ้านให้ช่วยกันแยกย้ายออกตามหา

สองวันถัดมา นางสุภาพไปแจ้งความคนหายที่สภ.ทุ่งลุยลาย แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ประจำที่โรงพัก จึงไปแจ้งความที่สภ.ห้วยยาง ในบริเวณใกล้เคียงกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะรายงานเรื่องนี้มายังสถานีตำรวจเอง

วันที่ 22 เม.ย. ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ห้วยยางให้ตรวจสอบบริเวณที่พ่อเด่นหายตัวไปเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ดำเนินการใดๆ วันเดียวกันประชาชนในหมู่บ้านโคกยาวพบร่องรอยการลากถูไปตามพื้นดิน และรอยนิ้วมือบริเวณลุ่มน้ำพรมแห่งน้ำในป่าลุ่ยลาย

ครบ 10 วันหลังหลังจากพ่อเด่นหายตัวไปมีผู้พบท่อนไม้ยาวประมาณ 2 เมตรตกอยู่บริเวณฝั่งลุ่มน้ำพรมตรงข้ามกับหน่วยพิทักษ์ป่าหนองไรไก่ โดยลักษณะของท่อนไม้ที่พบมีร่องรอยการผูกผ้าคล้ายกับว่าได้มีการแบกสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งมาจากที่อื่น

วันที่ 6 พ.ค. มีคนพบวัตถุคล้ายกระดูกจำนวน 3 ชิ้นตกอยู่ใกล้กับกอไผ่ที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งอยู่ด้านหลังของหน่วยพิทักษ์ป่าหนองไรไก่ 50 เมตร จึงมีการส่งมอบวัตถุชิ้นนี้ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ตรวจสอบว่าเป็นกระดูกของมนุษย์หรือของสัตว์

วันที่ 1 ส.ค. เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้าค้นหาเบาะแสของพ่อเด่นอีกครั้ง หลังจากนางสุภาพได้ยื่นหนังสือไปยังเจ้าหน้าที่หลังจากพบเศษผ้าขาวม้า ชิ้นส่วนกระดูก และปลอกกระสุนปืน โดยนางสุภาพจำได้ว่าผ้าขาวม้าเป็นของสามี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค. มีการพบเบาะแสสำคัญเชื่อมโยงถึงพ่อเด่น ชาวชุมชนโคกยาวได้พบวัตถุสิ่งของ ได้แก่ กางเกงขายาว รองเท้า 1 คู่ เป้สะพาย 2 ใบ ขวดน้ำ ถุงดำ และมีดพกสั้น ในบริเวณรอยต่อระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โดยนางสุภาพระบุว่าสิ่งของที่ถูกพบเป็นของสามีที่นำติดตัวไปในช่วงเช้าวันที่ 16 เม.ย. 2559 ซึ่งเป็นวันที่พ่อเด่นหายตัวไป

สองวันถัดมาเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจังหวัดชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจสภ.ห้วยยาง ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบบริเวณที่พบวัตถุและสิ่งของต่างๆ โดยได้พบหัวกะโหลก ซึ่งได้นำส่งไปยังสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจเพื่อตรวจสอบต่อไป

ตั้งแต่พ่อเด่นหายตัวไปเบาะแสสำคัญเริ่มปรากฎออกมาเพิ่มขึ้น แต่การหาสาเหตุที่ทำให้พ่อเดชหายไปไม่ใช่เรื่องง่าย สถิติที่รวบรวมโดยคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ระหว่างปี 2523 ถึง 2557 พบว่า ประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 89 กรณี โดยใน 81 กรณียังไม่สามารถสืบสวนหาผู้กระทำผิดได้

ผ่านไปแล้ว 1 ปีนางสุภาพก็ยังเชื่อว่าสาเหตุของการหายตัวไปของสามีมาจากความขัดแย้งกับเรื่องที่ดินที่มีมาอย่างยาวนาน

 

image_pdfimage_print