ขอนแก่น – กรรมการขบวนการอีสานใหม่ระบุว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะลิดรอนสิทธิการชุมนุมของประชาชน เป็นกฎหมายที่ซ้ำซ้อนไม่มีความจำเป็นและสมควรถูกยกเลิก ด้านเจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมบอกว่า พ.ร.บ.การชุมนุมฯ กระทบต่อสิทธิชุมชนเรื่องการชุมนุมเรียกร้อง

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามกลุ่มดาวดิน ขบวนการอีสานใหม่ และศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ร่วมกันจัดเวที “สามัคคี (พ.ร.บ.) ชุมนุม” การละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาของขบวนการเคลื่อนไหว ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุม เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่บ้านนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน จ.ขอนแก่น

เพื่ออภิปรายถึงพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2558 โดยเนื้อหาของกฎหมายกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐก่อนชุมนุม และมีข้อกำหนดว่าบริเวณใดสามารถชุมนุมได้ ซึ่งที่ผ่านมาภาคประชาชนหลายฝ่ายเห็นว่า เป็นการจำกัดสิทธิการแสดงออกของประชาชน

ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย (ซ้ายไปขวา)นาย กรชนก แสนประเสริฐ กรรมการขบวนการอีสานใหม่ นาย วงศกร สารปรัง เจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม และ นาย ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่จากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

นายกรชนก แสนประเสริฐ กรรมการขบวนการอีสานใหม่กล่าวว่า พ.ร.บ.การชุมนุมฯ เป็นการกฎหมายที่ไม่ได้ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน แต่เป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนและขาดความชอบธรรม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มีเนื้อหาไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ซึ่งกฎหมายที่คำนึงสิทธิมนุษยชนควรจะมีลักษณะ 4 ประการ ได้แก่ ต้องปกป้องสิทธิมนุษยชน เคารพสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเติมเต็มสิทธิมนุษยชน

นายกรชนก ขยายความว่า การปกป้องเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คือการยืนยันหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนคือต้องไม่ให้ผู้ใดละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนเรื่องการเติมเต็มคือหากมีส่วนไหนขาดหายไปก็ต้องทำให้คนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่ง พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ไม่มีลักษณะดังกล่าว เนื้อหาของกฎหมายมีเพียงการควบคุมการกระทำของประชาชนเพื่อปกป้องภาครัฐและรัฐบาลทหารที่เสนอกฎหมายนี้

ข้ออ้างในการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเพื่อควบคุมการชุมนุมใหญ่ที่ผ่านมา เช่น การปิดสนามบิน การปิดทำเนียบ และการปิดสถานที่ราชการ แต่ความเป็นจริงมีกฎหมายอื่นในการควบคุมการชุมนุมอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นออก พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ให้ซ้ำซ้อนกัน

นายกรชนกกล่าวอีกว่า ในทางปฏิบัติ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ถูกใช้เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาด้านต่างๆ ออกมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิ เช่นการชุมนุมของผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ การออกมาทวงคืนหมุดคณะราษฎรก็ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ

เมื่อมองไปยังอนาคต นายกรชนกเห็นว่า มีช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ แต่ควรจะยกเลิกกฎหมายฉบับนี้เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน

“อย่ากลัวกฎหมายฉบับนี้มากเกินไปเพราะมันไร้ความชอบธรรม และไม่ใช่กฎหมายที่ดี มันมีค่าน้อยกว่าสิ่งที่พี่น้องต่อสู้มาก เราต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพวกเราเพื่อลูกหลาน สิ่งที่เราทำมีค่ามากกว่า” นายกรชนกกล่าว

นายวงศกร สารปรัง เจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม เปิดเผยว่า พ.ร.บ.การชุมนุมฯ เป็นการทำลายหลักสิทธิชุมชนที่เป็นเครื่องมือของประชาชนในการต่อรองกับอำนาจรัฐ นับตั้งแต่สิทธิชุมชนถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หลักสิทธิชุมชนถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของประชาชน การชุมนุมจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาของประชาชนถูกสื่อสารออกไปในวงกว้าง

นายวงศกรบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามออกกฎหมายฉบับนี้หลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากถูกภาคภาคประชาชนคัดค้าน แต่สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้ถูกออกในยุคของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นการออกกฎหมายที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน

“เมื่อลงไปอ่านที่รายละเอียดในกฎหมายก็พบว่ามีความพยายามทำให้การชุมนุมเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มีหลากหลายขั้นตอน มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากมาย  และที่สำคัญมีการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุมได้” นายวงศกร กล่าวว่า

นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ กล่าวว่า ตั้งแต่พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มีผลบังคับใช้ พบว่า มีการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิมากกว่าใช้เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการชุมนุม

เสรีภาพในการชุมนุมแม้ไม่ใช่สิทธิโดยสมบูรณ์สามารถจำกัดได้ แต่ไม่ใช่เป็นการจำกัดที่กระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิ ซึ่งสิทธิในการชุมนุมเป็นเรื่องที่ถูกยอมรับอย่างเป็นสากลโดยต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากความรุนแรง

เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ผู้นี้บอกว่า ในต่างประเทศก็มีกฎหมายในลักษณะที่ควบคุมการชุมนุมสาธารณะเช่นกัน แต่ประเทศเหล่านั้นมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมมากกว่าใช้กฎหมายมาปิดกั้นไม่ให้เกิดการชุมนุม และการบังคับใช้กฎหมายจะต้องไม่กระทบสาระสำคัญสิทธิ ซึ่งหมายความว่า จะต้องไม่ขัดขวางแสดงความคิดเห็นของประชาชน ไม่กระทบต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และต้องไม่ลดทอนอำนาจต่อรองของประชาชน

นายณัชปกรมองว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะของประเทศไทยเป็นกฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม ตั้งแต่การออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยไม่มีความยึดโยงกับประชาชน สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ ประกอบด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ที่ไม่เข้าใจการเคลื่อนไหวของประชาชน

“คนพวกนี้ไม่เคยเข้าใจปัญหาของชาวบ้านว่า ทำไมพวกเขาต้องออกมาเคลื่อนไหวชุมนุม ตลอดเวลาหลังจากมีการบังคับใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะในยุค คสช.นอกจากตัวกฎหมายเองจะมีปัญหาแล้วการบังคับใช้ก็มีปัญหาไม่ต่างกัน” นายณัชปกรกล่าวและเพิ่มอีกว่า ข้อมูลของเวปไซต์ iLaw ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2558 – เดือนมกราคม 2559 พบว่า มีอย่างงน้อย 15 กรณีที่ผู้นำรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐอ้าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพื่อข่มขู่ประชาชนไม่ให้แสดงความคิดเห็น

ตัวอย่างเช่น การจัดค่ายเยาวชนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย การทำบุญสืบชะตาแม่น้ำของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร การชูป้ายผ้าของกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ หรือการชุมนุมของกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งหนึ่งก็เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกฎหมายมาอ้างว่าไม่สามารถทำได้ ทั้งที่ได้รับยกเว้นไว้ในเนื้อหาของกฎหมาย กรณีดังกล่าวแสดงถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้พ.ร.บ.การชุมนุมฯ เป็นเครื่องมือในการขมขู่เพื่อปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน

image_pdfimage_print