ขอนแก่น – นักวิชาการ ม.ขอนแก่นแนะรัฐบาลเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดทำนโยบายสาธารณะโดยต้องหารือกับทุกภาคส่วนของสังคม ด้านผู้ใหญ่บ้านโนนสะอาดเสนอให้รวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจะแสดงให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงข้อเท็จจริงได้ชัดเจนกว่าการบอกเล่าด้วยความรู้สึก

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวทีเสวนาย่อยในหัวข้อ “อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต นโยบายสาธารณะอีสาน” ภายใต้งานสัมมนาวิชาการเรื่อง “นโยบายสาธารณะเพื่อการปฏิรูปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

ผู้ร่วมงานเสวนาหัวข้อ อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต นโยบายสาธารณะอีสาน มีอาทิ นายสถาพร เริงธรรม อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น (คนซ้ายสุด) นายโชคชัย คุณวาสี ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัท โตโยต้าแก่นนคร (ขอนแก่น ) จำกัด (คนที่ 3 จากซ้าย) และนายวิพัฒนาชัย พิมพ์หิน อดีตประธาน กป.อพช. อีสาน (คนที่ 4 จากซ้าย)

นายสถาพร เริงธรรม อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการจัดทำนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ของรัฐบาลว่า วิธีการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศไทยยังยึดติดอยู่กับรูปแบบการสั่งการจากบนลงล่างซึ่งย้อนแย้งกับหลักการการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ต้องเน้นการกระจายอำนาจการกำหนดนโยบายให้แก่สังคม เน้นการมีส่วนร่วมเพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมมีสิทธิ์การคิดค้นนวัตกรรม และนำเสนอนโยบายที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ

“นโยบายสาธารณะที่จะทำให้สังคมไทยพัฒนาได้นั้นจะต้องอาศัยความคิดความเห็นจากทุกฝ่ายในสังคม นโยบายสาธารณะต้องเกิดประโยชน์กับสังคมส่วนรวมไม่ใช่เป็นการกำหนดนโยบายจากภาครัฐส่วนบน” นายสถาพรกล่าว

ทั้งนี้ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้คำนิยามนโยบายสาธารณะว่าคือกิจกรรมที่รัฐบาลเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ โดยใช้อำนาจของรัฐบาลในการจัดสรรกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตอบสนองค่านิยมของสังคม อย่างมีแบบแผน มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ  

ตัวอย่างนโยบายสาธารณะในสมัยรัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ภาคอีสาน เช่นโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งของประเทศไทย ปี 2558-2565

อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คนเดิมยังกล่าวอีกว่า ตนพยายามผลักดันแนวคิดนโยบายสาธารณะที่มาจากประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมและต่อผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะว่า การกำหนดนโยบายสาธารณะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกฝ่ายเปิดให้มีการสานเสวนาเพื่อหาข้อสรุปในการกำหนดนโยบายสาธารณะร่วมกัน

“ต่อไปนี้ก่อนที่รัฐบาลจะคิดหรือกำหนดนโยบายสาธารณะ รัฐบาลต้องทำงานในฐานะหุ้นส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นเอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง” นายสถาพรกล่าว

นายวิพัฒนาชัย พิมพ์หิน ผู้ใหญ่บ้านโนนสะอาด ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น และอดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) กล่าวว่า พื้นที่ตำบลโนนสะอาดกว่า 47,000 ไร่แต่เดิมเป็นพื้นที่ปลูกข้าว แต่หลังจากโรงงานน้ำตาลของบริษัท มิตรผลภูเวียง จำกัด มาตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอหนองเรือเมื่อ 13 ปีที่แล้วพื้นที่ปลูกข้าวดังกล่าวถูกเปลี่ยนมาปลูกอ้อยกว่า 10,000 ไร่

นายวิพัฒนาชัยกล่าวอีกว่า ประชาชนในหมู่บ้านร้องเรียนว่ามีสารเคมีจากการทำไร่อ้อย เช่น ยากำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี ปนเปื้อนไหลลงสู่นาข้าวจำนวนมาก จนมีการพูดกันว่าหากเหยียบน้ำในนาข้าวโดยไม่ใส่รองเท้าบู้ทจะทำให้เกิดผดผื่นขึ้นตามตัว ตนจึงบอกกับประชาชนในพื้นที่ว่า นอกจากจะรู้สึกว่าน้ำมีการปนเปื้อนของสารเคมีซึ่งทำให้เกิดการเจ็บป่วยแล้วควรมีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันด้วย ตนจึงชักชวนให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบร่วมกันเก็บข้อมูลว่าพื้นที่ไร่อ้อยและนาข้าวแปลงไหนใช้ยากำจัดศัครูพืชและปุ๋ยเคมีบ้างและใช้ชนิดใดเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์วัดค่าได้ จากนั้นจะนำข้อมูลไปเสนอต่อหน่วยงานส่วนท้องถิ่นและสาธารณสุขอำเภอ เพื่อให้สาธารณสุขได้รับทราบข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ผลปรากฏว่าเมื่อสาธารณสุขเห็นข้อมูลเหล่านี้ก็รู้สึกพอใจ จนนำมาสู่การสนับสนุนให้ประชาชนตรวจเลือดเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบจากการทำไร่อ้อย

“จากการชวนพี่น้องทำวิจัยและลงพื้นที่เก็บข้อมูลหมู่บ้านจำนวน 14 หมู่บ้าน พบว่า พี่น้องที่เป็นโรคผดผื่นจากการสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีจากการปลูกอ้อยมีเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนคนในหมู่บ้าน รวมทั้งอาหารที่เคยอยู่ในไร่นา เช่น เขียด ลูกอ๊อด แมลง ลดลงก็อย่างมาก” นายวิพัฒนาชัยกล่าว

อดีตประธาน กป.อพช.อีสาน ยังกล่าวเพิ่มว่า ถ้าหากทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหารวบรวมข้อมูลเชิงเชิงประจักษ์จะทำให้เมื่อเสนอนโยบายสาธารณะว่าด้วยเรื่องผลกระทบจากโรงงานมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ประเด็นคือว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชุมชนมีความมั่นใจที่จะพาประชาชนในพื้นที่ไปเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้น  

“สิ่งที่สำคัญในการต่อรองกับผู้กำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อช่วยกันพิทักษ์ปกป้องทรัพยากรอาหารในชุมชนคือการได้ข้อมูลจากการทำวิจัยแล้วใช้ข้อมูลเหล่านี้เกิดประโยชน์กับชุมชน” นายวิพัฒนาชัย กล่าว

นายโชคชัย คุณวาสี ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทโตโยต้าแก่นนคร (ขอนแก่น ) จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่ล้มเหลวของการดำเนินนโยบายสาธารณะในประเทศไทย คือการนำนโยบายมาปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ความล้มเหลวเกิดจากผู้ที่กำหนดนโยบายยังขาดความรู้ขาดข้อมูล และขาดความเข้าใจปัญหาต่างๆ ในสังคมอย่างแท้จริง

“คนที่รู้ปัญหาในสังคมไม่มีอำนาจกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนคนกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหากลับไม่มีข้อมูลมากพอที่จะแก้ไขปัญหา” นายโชคชัยกล่าว

นายโชคชัยยังได้กล่าวต่ออีกว่า ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการ กิจกรรม หรือแม้แต่นโยบายสาธารณะนั้น สิ่งที่จะทำต้องนิยามให้ได้ว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร โดยใช้หลัก 4W1H (Where,When,What,Who,How) ในการทำงานว่า เราจะทำอะไร ทำอย่างนั้นเพื่ออะไร จะทำเรื่องนี้จะทำอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ และที่สำคัญประเทศไทยไม่ค่อยชัดเจนคือเรื่องเวลา โดยเฉพาะการลงมือทำงานว่าจะเริ่มทำเมื่อไหร่แล้วจะเสร็จเมื่อไหน สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคืองบประมาณหลายเรื่องสามารถดำเนินการได้แต่เมื่อบอกว่าไม่มีงบประมาณก็ดำเนินการไม่ได้

ทั้งนี้ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทโตโยต้าแก่นนคร (ขอนแก่น ) จำกัด คนเดิมยังได้กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนระบบรางเบา ในจังหวัดขอนแก่นว่า โครงการนี้เริ่มต้นศึกษามาเกือบ 20 ปีผ่านการศึกษาวิจัยมา 3 รอบ มีงบประมาณในการศึกษาวิจัยแต่ไม่มีงบประมาณในการก่อสร้าง เมื่อปี 2558 ตนและนักธุรกิจจึงได้รวมตัวกันในนามกลุ่มบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) เพื่อผลักดันโครงการนี้อีกครั้งโดยได้ผ่านการพิจารณาไปหลายขั้นตอนแล้ว ขณะนี้อยู่ในกระบวนรอผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  

นายโชคชัยกล่าวว่า หากทุกภาคส่วนในจังหวัดขอนแก่นช่วยกันสร้างกระแสเพื่อสนับสนุนให้โครงการนี้ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นได้ในด้านการเมือง ก็จะทำให้ปลายปีนี้ขอนแก่นจะเป็นจังหวัดแรกถัดจากกรุงเทพมหานครที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา

image_pdfimage_print