โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีการคำนวณว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน ปีหน้า หลังร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ แม้การเลือกตั้งจะไม่สามารถการันตีได้ว่าประเทศจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเต็มใบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 วางกลไกที่ให้อำนาจแก่ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อาทิ ศาล องค์กรอิสระ และ ส.ว. สามารถถ่วงดุลการทำงานของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งได้ รวมถึงนายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องมาจากส.ส.

แต่อย่างน้อยสถานการณ์ทางการเมืองก็ควรเปิดกว้างด้านสิทธิเและเสรีภาพมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับช่วงท้ายของการคืนความสุขให้ประชาชนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่กลับไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะเป็นเช่นนั้น

กรณีแรกคือ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา นักกิจกรรม 7 คนขึ้นศาลขอนแก่นเพื่อเริ่มกระบวนการไต่สวนข้อหาละเมิดอำนาจศาลจากการจัดกิจกรรมให้กำลังใจและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่บริเวณภายนอกศาลขอนแก่น คดีนี้แสดงให้เห็นว่าความเข้มงวดต่อการแสดงออกของประชาชนยังคงมีอยู่ต่อไป และศาลใช้อำนาจในการตีความว่าการกระทำใดเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลอย่างกว้างขวาง ซึ่งขัดกับหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษร (civil law) ของไทยที่ต้องตีความอย่างแคบ

กรณีที่สองคือเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมาเช่นกัน นายศตานนท์ ชื่นตา สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร รับทราบข้อหาที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบสวนต่ออัยการจังหวัดสว่างแดนดินว่า ทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งอัยการจังหวัดสว่างแดนดินได้นัดหมายใน วันที่ 27 เม.ย.ที่จะถึงนี้ว่าจะส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่

นายศตานนท์ ชื่นตา สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร รับทราบข้อหาทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ต่ออัยการจังหวัดสว่างแดนดิน คือ ตัวอย่างของการสร้างความหวาดกลัวให้ผู้ที่เห็นต่างจากอำนาจรัฐ

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสได้แสดงจุดยืนค้านการสำรวจแร่โปแตชในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จึงทำให้นายศตานนท์ถูกแจ้งความ

ทั้งสองกรณีดังกล่าวเข้าข่ายการใช้คดีความเป็นกลยุทธ์เพื่อคุกคามหรือปิดปากการมีส่วนร่วมของสาธารณชน หรือเรียกว่า SLAPP (strategic lawsuit against public participation) โดยการฟ้องคดีจากคู่ขัดแย้งไม่ได้มีเพื่อหวังผลในคดีแต่เป็นไปเพื่อหยุดยั้งนักเคลื่อนไหว

สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ายังมีการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นเพื่อจำกัดความเคลื่อนไหวของผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่ออำนาจรัฐ

กรณีต่อมาคือเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนายเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรม ไปทำความเข้าใจในมณฑลทหารบกที่ 11 ก่อนปล่อยตัวในเวลาต่อมา หลังจากนายเอกชัยเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเตรียมยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีขอให้ตรวจสอบกรณีที่หมุดคณะราษฎรหายไปจากลานพระบรมรูปทรงม้าและมีผู้นำหมุดชิ้นใหม่หรือหมุดหน้าใสมาฝังไว้แทน

สอดคล้องกับกรณีสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา นายวัฒนา เมืองสุข อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แจ้งข้อหาทำผิดจากการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ เนื่องจากนายวัฒนาโพสต์ความเห็นว่าหมุดของคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ

กรณีหมุดคณะราษฎรหายไปเป็นเรื่องน่าสงสัยแล้วว่าหายไปไหน ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่ติดตามหาตัวผู้นำหมุดไป แต่สิ่งที่น่าสงสัยยิ่งกว่าคือเหตุใดผู้รับผิดชอบถึงปล่อยให้หมุดหน้าใสซึ่งไม่มีที่มาที่ไปฝังอยู่ ณ จุดเดียวกับที่หมุดคณะราษฎรเคยอยู่มาตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. ปี 2479

ไม่ว่าคำตอบสุดท้ายของหมุดคณะราษฎรจะออกมาในรูปแบบไหนใครเป็นคนนำออกไปแต่การกระทำต่อนายเอกชัยและนายวัฒนาโดยเจ้าหน้าที่รัฐถือว่าเข้าข่ายการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น

จึงมีคำถามว่าระหว่างการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการปกครองจากเผด็จการเต็มใบไปเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบหลังจากมีการเลือกตั้ง จะถึงเวลาหรือยังที่ผู้มีอำนาจะหยุดสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

หากสังคมแห่งความหวาดกลัวยังคงอยู่การเลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะถูกลดทอนความสำคัญลงไปเช่นเดียวกับการออกเสียงประชามติเมื่อปีที่ผ่านมาที่ผู้รณรงค์ให้โหวตโนถูกจับกุม ขณะที่หัวหน้า คสช.สามารถประกาศต่อสาธารณะได้ว่าจะโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งที่คนทั้งสองกลุ่มอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติฉบับเดียวกัน

ฉะนั้นถ้าจะปกครองประเทศโดยใช้อำนาจเป็นใหญ่แล้วจะมีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ระบุว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปเพื่ออะไร

image_pdfimage_print