ขอนแก่น – ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น ระบุว่า การตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวมีความจำเป็นเพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่กับชุมชนได้ ส่วนตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนพื้นที่ลุ่มน้ำพองตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดรัฐบาลจึงห้ามเกษตรกรใช้น้ำแต่กลับไม่ห้ามโรงงงานอุตสาหกรรมบ้าง
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานเสวนาหัวข้อย่อยเรื่องเกษตรกรรม อุตสาหกรรม วิถีชุมชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน : ความท้าทายใหม่ในศตวรรษที่ 21 ภายใต้งานสัมมนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สู่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขร่วมกัน

นายสุรจิต สถาพรวลัยรัตน์ ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน จ.ระยอง (ซ้ายมือสุด) นายวิฑรูย์ กมลนฤเมธ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น (คนที่ 2 จากซ้าย) นายสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะภาคตะวันออก (คนที่ 3 จากซ้าย) และ นายบุญช่วย โสสีทา ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนพื้นที่ลุ่มน้ำพอง (คนที่ 5 จากซ้าย)
นายวิฑรูย์ กมลนฤเมธ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น กล่าวว่า รายได้จากภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของจ.ขอนแก่น เนื่องจากเป็นภาคอุตสาหกรรมทำรายได้สูงที่สุด ตามมาด้วยภาคการค้า ภาคการบริการ ภาคการเกษตร และ ภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นขอนแก่นจึงเป็นเมืองอุตสาหกรรม
แต่หากพูดถึงโรงงานอุตสาหกรรมมักได้ยินเสียงต่อต้านจากคนในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมจะสร้างปัญหา สร้างมลพิษ สร้างความรำคาญกับชุมชน ซึ่งปัญหาที่กล่าวมามีอยู่จริง แต่เมื่อเกิดปัญหาแล้ว จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชน นี่คือคำถามสำคัญ
นายวิทูรย์กล่าวว่า สาเหตุดังกล่าวทำให้สภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น สนับสนุนและผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry Zone) หรือนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยระหว่างที่ตนเป็นประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น ระหว่างปี 2553 – 2557 ได้ผลักดันนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวให้เกิดขึ้นที่ อ.ท่าพระ เนื่องจากพื้นที่สีม่วงหรือพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม ที่อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น มีโรงงานอุตสาหกรรมมากเกินสมควรแล้ว จึงมีการผลักดันให้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยเมื่อปี 2556 คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติหลักการให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวที่ อ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น

ผู้เข้าร่วมสัมนาประกอบด้วย อาจารย์ นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และ หน่วยงานของรัฐภายในจังหวัดขอนแก่น
นายบุญช่วย โสสีทา ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนพื้นที่ลุ่มน้ำพองกล่าวว่า หลังจากมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นที่อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เช่น โรงงานกระดาษ โรงงานสุรา โรงงานน้ำตาล ทำให้แม่น้ำพองไม่มีความอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต ตนกับองค์กรชุมชนพื้นที่ลุ่มน้ำพองจึงได้ผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำพองโดยจัดให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อทำการเกษตรไม่ใช่พื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากพวกตนได้รับผลกระทบจากการมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่
“แต่ก่อนชุมชนสามารถใช้น้ำในลำน้ำพองเพื่อทำการเกษตรได้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลประกาศห้ามประชาชนทำนาปรังแต่โรงงานอุตสาหกรรมไม่เคยถูกห้ามให้ใช้น้ำ สิ่งนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในพื้นที่กับโรงงานอุตสาหกรรม”นายบุญช่วยกล่าว

นายสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะภาคตะวันออก
ส่วนหลักการที่บอกว่าชุมชนอยู่ร่วมกันกับอุตสาหกรรมได้นั้น นายบุญช่วยบอกว่า เป็นไปได้ยากเพราะเพียงแค่กฎระเบียบต่างๆ เช่น การขออนุญาตการตั้งโรงงาน การทำเวทีประชาคมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (เวทีประชาคมคือเวทีรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ – ผู้เขียน) ก่อนจะตั้งโรงงาน แต่โรงงานในพื้นที่ลำน้ำพองไม่เคยปฏิบัติตาม
นายสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะภาคตะวันออกกล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมตะวันออกทำลายวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากว่า 50 ปี โดยนับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2504 ทำให้อุตสาหกรรมหนักเข้ามาในพื้นที่ เช่น การตั้งโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ (Thaioil) ที่จ.ชลบุรี นับจากนั้นประชาชนในเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออกต้องปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีคำถามว่าทำไมประชาชนต้องปรับตัวอยู่ฝ่ายเดียวโรงงานอุตสาหกรรมไม่ต้องปรับตัว
นายสมนึก กล่าวว่า เมื่อปี 2557 ตนกับคนในชุมชนอ่าวอุดม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้ไปร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภาเพื่อให้แก้ไขปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำที่สร้างมลภาวะทางทะเลแต่แล้วเรื่องก็เงียบหายไป ปัญหาก็ไม่ถูกแก้ไข ตนจึงชวนคนในชุมชนอ่าวอุดมมาร่วมกันออกแบบการพัฒนาชุมชน ในเรื่องการอนุรักษ์ของเก่า การทำศาลาริมน้ำ สร้างสวนสาธารณะ เป็นต้น จึงเป็นที่มาของการชวนให้โรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นปรปักษ์กันมาตลอด มาเป็นพันธมิตรเพื่อบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วกำหนดข้อตกลงชุมชนกับอุตสาหกรรมในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
นายสมนึกกล่าวอีกว่า การสร้างข้อตกลงชุมชนเพื่ออยู่ร่วมกันกับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนนั้นจัดทำผ่านโครงการถอดบทเรียนชุมชนบ้านอ่าวอุดม จนสามารถกำหนดเป็นธรรมนูญชุมชนบ้านอ่าวอุดม หรือ MOU อ่าวอุดม ซึ่งเน้นการบริหารจัดการมรดกในชุมชน แผนการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และ การจัดการมลพิษร่วมกัน
“ต้องทำอย่างนั้น ถ้าไม่รีบทำรีบเปลี่ยน สุดท้ายชุมชนจะถูกเปลี่ยนจิตวิญญาณชุมชนจะหาย วัฒนธรรมความเชื่อจะหาย สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในชุมชนจะหาย สุดท้ายอุตสาหกรรมจะได้พื้นที่ไปหมดเลย” นายสมนึกกล่าว

นายสุรจิต สถาพรวลัยรัตน์ ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน จ.ระยอง
นายสุรจิต สถาพรวลัยรัตน์ ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน จ.ระยอง กล่าวว่า สมาคมเพื่อชุมชน จ.ระยอง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 จากการรวมกันของบริษัทอุตสาหกรรม 5 แห่งในพื้นที่ ประกอบด้วย บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ดาวเคมิคอลประเทศไทย จำกัด บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จํากัด เพื่อร่วมกันสร้างต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ECO Industrial Town) โดยมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน จ.ระยอง บอกว่า ภารกิจสร้างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว (Green industry) ยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ ในส่วนนี้ก็จะแบ่งเป็นมิติการศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม และสร้างกลไกการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับชุมชน
นายสุรจิตกล่าวอีกว่า สมาคมได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อช่วยกันประเมินโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อผลักดันให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ถ้าหากโรงงานไหนไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน สมาคมจะมีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือในด้านปัญหาต่างๆ ที่โรงงานติดขัด เช่น เรื่องเทคโนโลยี และความรู้ความเข้าใจต่างๆ เป็นต้น