เนื่องในวันแรงงานสากลวันที่ 1 พ.ค.นี้ เดอะอีสานเรคคอร์ดจึงขอชวนผู้อ่านมาสำรวจ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ของรัฐบาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมาทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมากน้อยเพียงใด
เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างหรือคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน ฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละห้าคน มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 5-10 บาทจากเดิมวันละ 300 บาท โดยแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัดเป็น 4 กลุ่ม โดยจังหวัดที่ปรับขึ้น 5 บาทมี 49 จังหวัด ปรับขึ้น 8 บาทมี 13 จังหวัด ปรับขึ้น 10 บาทมี 7 จังหวัด และไม่ปรับขึ้นเลยมี 8 จังหวัด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา
การขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำครั้งก่อนนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 สืบเนื่องจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทซึ่งนำเสนอโดยพรรคเพื่อไทยระหว่างหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งนโยบายดังกล่าวจึงนำมาปฏิบัติใช้จริง รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัดนำร่องในเดือนเมษายนปี 2555 และประกาศใช้ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2556
การทำงานของผู้ใช้แรงงานที่จ.ขอนแก่น หลังคณะกรรมการค่าจ้างปรับขึ้นค่าแรงอีกวันละ 10 บาทตั้งแต่ต้นปี 2560
ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันควรเป็นวันละเท่าไหร่
ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันหมายความว่า ค่าตอบแทนต่ำสุดซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นรายวันตามที่กฎหมายกำหนด การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมาเป็นการขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ปีท่ามกลางค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้เดอะอีสานเรคคอร์สนใจหาเครื่องพิสูจน์ว่าการขึ้นค่าจ้างเพียง 5-10 บาท และมีถึง 8 จังหวัดไม่ขึ้นค่าจ้างเลยนั้นเหมาะสมต่อค่าครองชีพในปัจจุบันหรือไม่
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ให้คำนิยามว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรจะสามารถเลี้ยงดูแรงงานและครอบครัวอย่างน้อยรวม 3 ชีวิตให้สามารถอยู่รอดได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยปี 2557 และปี 2558 พบว่าค่าใช้จ่ายของครัวเรือนอยู่ที่ 20,892 บาท และ 21,818 บาทตามลำดับ ดังนั้นค่าจ้างขั้นต่ำของไทยนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานของ ILO หรือไม่
นายศศิชาติ บัวเนตร วัย 40 ปี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (Safety) ในอำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น ให้ความเห็นว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนเพียงคนเดียว หากจะให้สามารถเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้ก็ควรอยู่ที่ประมาณ 400 บาทต่อวัน เพราะค่าเพียงแค่ค่าอาหาร 3 มื้อต่อวันก็คิดเป็นค่าใช้จ่ายเกือบครึ่งของค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละวันแล้ว ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งก็นำไปใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย และค่าอื่นๆ ซึ่งแทบจะไม่มีเงินเหลือเก็บ
“ทุกวันนี้คนงานส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยโอที (ค่าจ้างล่วงเวลา-ผู้เขียน) ไม่โอทีทำมันอยู่ไม่ได้ เอาแค่แรงมันไม่พอเหลือให้ลูกหรือใช้อย่างอื่น” นายศศิชาติกล่าว
นายศศิชาติจึงเป็นผู้ใช้แรงงานอีกคนที่ต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ค่าจ้างล่วงเวลาเพิ่มเติมจากค่าแรงในแต่ละวัน
นายศศิชาติ บัวเนตร วัย 40 ปี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (Safety) ในอำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น มองว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ล่ะวัน
นายสมัย ภูแผนนา สมาชิกสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง หนึ่งกลุ่มแรงงานที่เคลื่อนไหวเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม มองว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของแรงงาน แต่เดิมการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทก็ไม่ค่อยเพียงพออยู่แล้ว ฉะนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-10 บาทต่อวันจึงถือว่าไม่เพียงพอ สังเกตได้จากการที่แรงงานในกลุ่มของตนเองเริ่มมีหนี้สินมากขึ้น อย่างล่าสุดก็มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีก
“ค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน 421 บาทต่อวันเป็นอัตราที่กลุ่มเสนอต่อรัฐบาล” นายสมัยขยายความว่า อัตรานี้คำนวณจากการสำรวจค่าใช้จ่ายของคนในสหภาพควบคู่กับการปรับขึ้นราคาสินค้า ส่วนที่เรียกร้องค่าจ้าง 421บาทต่อวันก็เพราะต้องการให้แรงงานสามารถดูแลครอบครัวเขาได้ด้วย
บทความ “ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน จะกินอยู่อย่างไรใน 1 วัน” ตีพิมพ์เมื่อปี 2558 และ บทความ “พ.ศ.นี้ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท คน 1 คนจะกินอยู่อย่างไรในเมือง” จากเว็บไซต์ประชาไท ตีพิมพ์เมื่อปี 2559 ได้แจกแจงค่าใช้จ่ายของแรงงานในหนึ่งวัน โดยอ้างอิงจากรายงานราคาสินค้าขายปลีกของกระทรวงพาณิชย์ และค่าโดยสารขนส่งมวลชนจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพื่อแสดงให้เห็นราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคพบว่า ในปี 2558ค่าใช้จ่ายต่อวันของผู้ใช้แรงงานอยู่ที่ 285.67 บาท และ 303.14 บาทในปี 2559 ค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่รวมค่าเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เครื่องใช้สอยในครัวเรือน กิจกรรมนันทนาการ ค่าน้ำค่าไฟฟ้า ค่าแสวงหาความรู้ หนังสือ และ หนังสือพิมพ์
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยที่ปรับขึ้นเป็น 305-310 บาทต่อวันไม่สามารถดูแลคนในครอบครัว 3 คนตามมาตรฐานได้
ภาพจากบทความ “พ.ศ.นี้ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท คน 1 คนจะกินอยู่อย่างไรในเมือง” แสดงรายจ่ายต่อวันของผู้ใช้แรงงาน
ค่าจ้างขั้นต่ำต้องมาจากสภาพชีวิตจริง
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามมติของคณะกรรมการไตรภาคี เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ใช้ ปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจ ในการคำนวณการเพิ่มของค่าจ้างขั้นต่ำ 10 ปัจจัยได้แก่
1) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับปัจจุบัน 2) ดัชนีค่าครองชีพ 3) อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อตั้งแต่ปี 2558-2559 4) มาตรฐานค่าเฉลี่ยการครองชีพ 5) ต้นทุนการผลิต 6) ราคาสินค้าและบริการ 7) ความสามารถของธุรกิจ 8) ผลิตภาพแรงงาน 9) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และ 10) สภาพเศรษฐกิจและสังคม
นายแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นใช้ปัจจัยประกอบการพิจารณาหลายปัจจัยเกินไปจนทำให้ ไม่สามารถรู้ว่าปัจจัยไหนที่จะเป็นตัวใช้คำนวณ ซึ่งปัจจัยหลายอย่างก็ไม่สอดคล้องกับชีวิตแรงงานจริงๆเช่น อัตราเงินเฟ้อ จึงทำให้การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่จริงของผู้ใช้แรงงาน
“หลักเกณฑ์ที่ดีที่สุดคือหลักเกณฑ์ที่ไปสอบถามตัวผู้ใช้แรงงานเอง มันไม่ควรจะใช้ตัวเลขมาคำนวณเฉยๆ คุณเอาอัตราเงินเฟ้อไปคำนวณ คุณก็จะพบอัตราเงินเฟ้อมันต่ำ อัตราเงินเฟ้อมันคำนวณจากทุกอย่างรวมกันซึ่งบางตัวมันไม่เกี่ยวกับชีวิตคนงาน” นายแลกล่าวและมองว่า เมื่อไม่มีตัวเลขใดชี้วัดที่แน่นอน ในที่สุดแล้วจะขึ้นอยู่กับการต่อรองของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งที่ผ่านแรงงานสามารถต่อรองได้หลายอย่างเพราะมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยเอื้อให้มีการต่อรอง แต่บรรยากาศในตอนนี้ไม่เอื้อให้เกิดการต่อรอง
“ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นมันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ว่ามันไม่พอกันแต่ต้องยอมรับ” นายแลกล่าว
วันที่ 1 พ.ค.นี้ การขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงาน เช่นเดียวกับวันแรงงานในทุกปีที่ผ่านมา แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวคงไม่ถูกนำไปปฏิบัติหากรัฐบาลยังไม่มีความจริงใจต่อการแก้ปัญหาของผู้ใช้แรงงาน