ขอนแก่น – นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า แรงงานต่างชาติมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและไม่ได้แย่งงานคนไทย ส่วนผู้ศึกษาแรงงานสัญชาติพม่าในจังหวัดขอนแก่นบอกว่า การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐส่งผลให้โรงงานนำแรงงานพม่าผิดกฎหมายไปขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายจึงทำให้แรงงานมีสิทธิมากขึ้น

บรรบากาศในงานเสวนามีผู้เข้าร่วมประมาณฟังประมาณ 20 คน

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ลานพิมลธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์ประสานงานสิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวทีเสวนา “การข้ามแดนของแรงงานข้ามชาติและมายาคติในสังคมไทย” โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เสียงที่เงียบในใจเธอ” เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเนื่องในวันแรงงาน

สถานะตามกฎหมายและการขูดรีดแรงงาน

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคามชี้ให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชี้ให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยแต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพลเมืองได้เหมือนคนไทยทั้งยังถูกมองว่าแย่งงานคนไทย

นายไชยณรงค์กล่าวอีกว่า แรงงานข้ามชาติแบ่งตามสถานะทางกฎหมายของแรงงานเป็น 4 ประเภท ได้แก่

แรงงานเข้าเมืองมาทำงานโดยผิดกฎหมายคือแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือแรงงานเถื่อนซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด

แรงงงานผ่อนผันคือแรงงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราว

แรงงานพิสูจน์สัญชาติคือแรงงานที่ถูกพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นแรงงานสัญชาติใดแล้วจะได้รับใบอนุญาตการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งจะสามารถทำงานระยะยาวได้ตามสัญญา

แรงงานตามนโยบายเฉพาะของแต่ละจังหวัด เช่น จังหวัดตามบริเวณชายแดนที่มีข้อกำหนดเป็นพิเศษ

นายไชยณรงค์อธิบายต่อว่า สถานะทางกฎหมายของแรงงานที่ไม่เหมือนกันส่งผลให้สิทธิของแรงงานต่างกัน หากพิจารณาตามกฎหมายแล้วแรงงานพิสูจน์สัญชาติจะเป็นแรงงานที่ได้รับสิทธิที่ดีที่สุด แต่กลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามจากการลงไปสัมผัสกับแรงงานต่างชาติในชุมชนของแรงงานกับนายไชยณรงค์พบว่า แรงงานพิสูจน์สัญชาติกลับเป็นกลุ่มที่ถูกละเมิดสิทธิอย่างมาก ในบางกรณีก็มากกว่ากลุ่มที่เป็นแรงงานที่ไม่ขึ้นทะเบียนด้วยซ้ำไป อาทิ เรื่องการขูดรีดภาษี การเข้าถึงสวัสดิการ และการจำกัดสิทธิการเดินทางตามกฎหมายที่ห้ามแรงงานข้ามชาติเดินทางออกนอกจังหวัดที่ตนทำงานอยู่

“สถานประกอบการหลายแห่งยึดหนังสือเดินทางของแรงงานไว้ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทำให้แรงงานหลายคนเลือกที่จะเป็นแรงานเถื่อนหรือแรงงานหนีนายจ้าง” นายไชยณรงค์กล่าว

แรงงานต่างชาติทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ

นางสาววิลาสินี โสภาพล ผู้ศึกษาแรงงานสัญชาติพม่าในจังหวัดขอนแก่น

นายไชยณรงค์บอกอีกว่า แรงงานข้ามชาติมักจะทำงานอยู่ประภท 3-Djobs คือ

งานที่มีความอันตราย (Dangerous)  เช่น งานก่อสร้างหรืองานออกเรือประมง

งานยากลำบาก ซ้ำซากจำเจ (Difficult) คือ งานที่ไม่ใช่ทักษะแต่ต้องทำงานในลักษณะเดิม เป็นเวลานาน เช่น งานร้อยพวงมาลัย

งานสกปรก (Dirty) เช่นงานที่เกี่ยวกับอุสหกรรมการประมง หรือที่เกี่ยวกับสารเคมี

สาเหตุที่ความต้องการแรงงานในลักษณะ 3Djobs ในประเทศไทยมีจำนวนมากเป็นเพราะเป็นงานระดับล่างสุด มีค่าจ้างที่ต่ำ และคนไทยไม่ต้องการทำงานในลักษณะนี้ นายจ้างจึงเลือกใช้แรงงานข้ามชาติ

“คนไทยส่วนหนึ่งมักมองว่า แรงงานข้ามชาติมาพึ่งพาประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงการใช้แรงงงานต่างชาติมาจากความต้องการแรงงานระดับล่างสุดของนายทุนไทย” นายไชยณรงค์กล่าว

ข้อมูลของกรมจัดหางานพบว่า แรงงานในลักษณะ 3- Djobs ในไทยยังขาดแคลนอยู่ประมาณ 5 แสนคน นายไชยณรงค์บอกว่า สิ่งนี้จึงเท่ากับว่าแรงงานข้ามชาติจะไม่ได้มาแย่งงานคนไทยแต่ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยอีก เช่น มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมการประมงซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 3

แรงงานพม่าเข้ามาในขอนแก่น

นางสาววิลาสินี โสภาพล ผู้ศึกษาแรงงานสัญชาติพม่าในจังหวัดขอนแก่น (ในที่นี้ใช้คำว่าพม่าแทนคำว่าเมียนมา-ผู้เขียน) กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานต่างชาติประมาณ 5,000 คนเป็นแรงงานพม่าประมาณ 3,000 คน ส่วนการเข้ามาของแรงงานเริ่มต้นจากการพัฒนาประเทศในยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2531 ได้มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า มีการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวเสรีนิยมมีการพัฒนาอุตสาหกรรมจึงต้องการแรงงานจำนวนมากเข้าไปทำงานตามโรงงานต่างๆ

ช่วงแรกมีคนอีสานเป็นแรงงานหลักที่ย้ายถิ่นไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมจนกลายเป็นแรงงานผลัดถิ่น ต่อมาคนอีสานไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมากทำให้แรงงานผลัดถิ่นขาดแคลน ดังนั้นแรงงานข้ามชาติจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในขอนแก่น โรงงานแหอวนจึงเริ่มนำแรงงานพม่าเข้ามาในขอนแก่นครั้งแรกเมื่อปี 2547

พัฒนาการและการต่อสู้ของแรงงานพม่า

นางสาววิลาสินีกล่าวด้วยว่า ช่วงแรกแรงงานพม่าเข้ามาทำงานในขอนแก่นอย่างผิดกฎหมายโดยจ่ายเงินให้นายหน้าประมาณคนละ 8,000-10,000 บาทเพื่อพาเข้ามาทำงาน แรงงานสวนใหญ่มาจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อมาทำงานอย่างผิดกฎหมายจึงจำเป็นต้องอยู่อาศัยแบบหลบๆ ซ่อนๆ นายจ้างไม่ได้พยายามทำให้แรงงานพม่าถูกฎหมายเพราะถ้าเป็นแรงงานถูกกฎหมายจะทำให้แรงงานสามารถมีอำนาจต่อรอง

“ช่วงต่อมาเจ้าหน้าที่รัฐมาเข้าตรวจสอบโรงงานแล้วพบว่า มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายทำให้ผู้ประกอบการจึงเริ่มนำแรงงานไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย” นางสาววิลาสินีกล่าวและบอกว่า ชีวิตของแรงงานเริ่มดีขึ้นเนื่องจากสามารถเดินทางไปในจังหวัดขอนแก่นได้ต่างจากเดิมที่ต้องหลบซ่อนอยู่ในที่พัก

นางสาววิสาสินีบอกด้วยว่า หลังจากแรงงานชาวพม่าในโรงงานแหอวนเริ่มเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายทำให้มีเรียกร้องจากนายจ้างมากขึ้น ในปี 2553 ที่มีการประท้วงใหญ่เนื่องมาจากมีแรงงานพม่าถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง ทำให้หลังจากนั้นมีการปรับความสัมพันธ์ครั้งใหญ่ระหว่างนายจ้างกับแรงงานนายจ้างเปิดพื้นที่รับฟังแรงงานพม่ามากขึ้น ข้อเรียกร้องต่างๆของแรงงานก็ถูกตอบสนอง เช่น เรื่องค่าแรงที่ปัจจุบันแรงงานพม่าได้เท่ากับคนไทย

image_pdfimage_print