นักกิจกรรมยื่นคำร้องค้านคดีละเมิดอำนาจศาล
ขอนแก่น – นักกิจกรรม 6 คนยื่นคำร้องคัดค้านข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลต่อศาลจังหวัดขอนแก่นจากการจัดกิจรรมให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” โดยระบุว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ได้รบกวนการพิจารณาคดีในศาล กระทำนอกบริเวณศาล และเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่ได้รับการรองรับไว้ในกติการะหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของไทย

นักศึกษาและนักกิจกรรมเรียกร้องให้ศาลขอนแก่นปล่อยตัวไผ่ ดาวดิน เมื่อ 10 ก.พ. 2560
เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นักกิจกรรมทั้ง 6 คนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาล เข้ายื่นคำคัดค้านคำกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลจังหวัดขอนแก่น
คดีละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มกิจกรรมและเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค ประมาณ 30 คน จัดกิจกรรมให้กำลังใจและเรียกร้องให้ศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นเบื้องสูง และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวออนไลน์บีบีซีไทย
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่นแจ้งข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลต่อผู้จัดกิจกรรมจำนวน 7 คน ว่า “ทำการปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง และนำอุปกรณ์มาเป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจการพิจารณาของศาล บริเวณหน้าศาล”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา นักกิจกรรม 6 คนที่ถูกออกหมายเรียก ได้แก่ นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายพายุ บุญโสภณ นายอาคม ศรีบุตตะ นายจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินทางมาศาลจังหวัดขอนแก่นตามการนัดไต่สวน
ขณะที่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้รับหมายเรียกจึงไม่ได้มาศาล ศาลจังหวัดขอนแก่นได้แจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้ง 6 คนว่าละเมิดอำนาจศาล และเลื่อนนัดไต่สวนไปเป็นวันที่ 31 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ จึงเป็นที่มาของการยื่นคำร้องคัดค้านคำกล่าวหาดังกล่าว
คำร้องคัดค้านคำกล่าวหาขอให้ศาลพิจารณาพิพากษายกคำกล่าวหา เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นการรบกวนและขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาลในคดีที่นายจตุภัทร์เป็นจำเลย โดยในวันเกิดเหตุ (10 ก.พ. 2560) ศาลสามารถพิจารณาคดีได้โดยอิสระตั้งแต่เริ่มการพิจารณาจนเสร็จสิ้น
“การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาในวันดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดยสุจริต เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของนักศึกษาและเยาวชนต่อกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น” คำร้องคัดค้านฯ ระบุ
ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงในคำคัดค้านว่า พวกตนไม่ได้กระทำความผิดอาญาเนื่องจากไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย หรือก่ออันตรายใดๆ อีกทั้งกิจกรรมของนักศึกษาไม่ได้กระทำในห้องพิจารณาคดีหรือในบริเวณศาล ดังนั้น จึงไม่เป็นการรบกวนหรือขัดขวางการพิจารณาคดีของศาล และไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยอันถึงกับเป็นการละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลจะต้องเป็นการกระทำที่รุนแรงพอจะขัดขวางการอำนวยความยุติธรรมของศาล
คำร้องคัดค้านฯ ยังระบุอีกว่า ในวันดังกล่าว ศาลจังหวัดขอนแก่นไม่ได้มีข้อกำหนดห้ามไม่ให้กระทำสิ่งใดก่อนหรือในระหว่างการพิจารณาคดี และไม่ได้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลห้ามทำกิจกรรมดังกล่าว พวกตนจึงเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า สามารถแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นทั่วไปในสังคมได้
ผู้ถูกกล่าวหายังระบุด้วยว่า การกระทำของพวกตนอยู่ภายใต้หลักการสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงออกและในการแสดงความคิดเห็นตามตราสารระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีและมีผลผูกพันโดยตรง ทั้งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันก็ได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวไว้อย่างชัดแจ้งด้วย