อุบลราชธานี – ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจ.อุบลราชธานีระบุ หลักเกณฑ์การคัดกรองผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยของรัฐบาลปัจจุบันไม่เป็นธรรม ส่งผลให้สหายเก่ากว่า 7 หมื่นคนไม่มีรายชื่อได้รับเงินช่วยเหลือ พร้อมเตรียมยื่นหนังสือเรียกร้องต่ออดีตนายกรัฐมนตรีผู้ออกคำสั่งเมื่อปี 2523

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่บ้านโคกใหญ่ ตำบลนาจะหลวย อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรือ ผรท.จ.อุบลราชธานีกว่า 150 คน ซึ่งเป็นผรท.กลุ่มที่ 4 ตามการแบ่งกลุ่มของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมตัวกันหารือเพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหว เนื่องจากยังไม่มีรายชื่อเป็นผู้ได้รับเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพสำหรับผรท.ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523

ผรท.จ.อุบลราชธานีรวมตัวเรียกร้องเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพ สำหรับผรท.จากรัฐบาล ที่บ้านโคกใหญ่ ต.นาจะหลวย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมาอนุมัติเงินให้เงินผรท.จำนวน 6,183 ราย รายละ 225,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 1,391,175,000 บาท

กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรือ ผรท. คือสหายร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. ที่ตัดสินใจยุติการสู้รบกับรัฐบาล และออกจากป่าตามคำสั่ง 66/2523 ที่เปิดโอกาสให้พวกเขามาร่วมพัฒนาชาติไทย

นายอภินันท์ จันทร์สมาน หรือ สหายปรีดา อายุ 59 ปี แกนนำผรท.จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า สาเหตุที่ผรท.กลุ่มที่ 4 ไม่มีรายชื่อได้รับเงินจากรัฐบาลในครั้งล่าสุดนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดกรองที่ตนเห็นว่าไม่เป็นธรรม อาทิ กำหนดว่าจะให้เงินแก่ผรท.เฉพาะบุคคลที่เกิดในปี 2509 หรือเกิดก่อนหน้านั้น แต่พันธสัญญาที่พล.อ.เปรม ตินสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี (ดำรงตำแหน่ง ปี 2523-2531) ลงนามกับผรท.เกิดขึ้นเมื่อปี 2523 ฉะนั้นผู้ที่เกิดหลังปี 2509 จนถึงปี 2523 จึงเป็นผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

นายอภินันท์ จันทร์สมาน หรือ สหายปรีดา (เสื้อดำ) แกนนำผรท.จ.อุบลราชธานี หารือกับผรท.เรื่องหลักเกณฑ์การได้รับความช่วยเหลือ

หลักเกณฑ์การคัดกรองอีกประการที่นายอภินันท์เห็นว่าไม่เป็นธรรม คือการกำหนดว่าผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งทางราชการ อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ไม่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ แต่ผรท.เห็นว่าการได้ตำแหน่งเหล่านี้เกิดขึ้นหลังออกจากป่าเมื่อปี 2523 ก่อนหน้านั้น พวกเขาก็ยังเป็นสหายร่วมพคท.อยู่ ฉะนั้นจึงสมควรได้รับเงินจากรัฐบาลในฐานะผรท.ด้วยเช่นกัน

“จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ผรท.ในภาคอีสานไม่มีชื่อได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลรวมถึง 70,000 คน” สหายปรีดากล่าว

ด้วยจำนวนตัวเลขของผู้ที่ไม่มีชื่อได้รับความช่วยเหลือยังมีอยู่มาก แกนนำผรท.จ.อุบลราชธานีกล่าวว่า กลุ่มแกนนำผรท.ภาคอีสานจะหารือกันเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว โดยจะทำหนังสือเพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนหลักเกณฑ์ และจะไปยื่นหนังสือเรียกร้องต่อพล.อ.เปรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกองทัพภาคที่ 2 ทั้งนี้ ทางกลุ่มแกนนำฯ จะกำหนดเวลายื่นหนังสืออีกครั้ง

ผรท.จ.อุบลราชธานีตัดสินใจยื่นหนังสือเรียกร้องถึงพล.อ.เปรม ตินสูลานนท์ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้แก้ไขหลักเกณฑ์การได้รับความช่วยเหลือ

“สิ่งที่ผรท.กังวลมากที่สุดคือ มติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้เป็นการให้เงินสนับสนุนเป็นครั้งสุดท้าย แต่ยังมีผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ” นายอภินันท์กล่าว

image_pdfimage_print