ข่าวโดยนักข่าวรับเชิญคายิง ธอร์ และจูเลียนน์ เบห์เรนส์

พื้นที่ชุมน้ำแก่งละว้า เป็นพื้นที่สำคัญในด้านระบบนิเวศวิทยา และเป็นแหล่งพักพิงของพันธุ์พืช และสัตว์ป่าที่หลากหลาย ภาพโดย จูเลียนน์ เบห์เรนส์
บ้านไผ่, จังหวัดขอนแก่น – เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ นักวิชาการ ประธานชุมชนต่างๆ และนักธุรกิจในพื้นที่ แสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนพัฒนาชาติระยะเวลาสิบปี ให้เปลี่ยนจังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
ณ วงเสวนาในตัวอำเภอบ้านไผ่ ผู้เข้าร่วม จำนวน 20 คน สนทนาถึงผลกระทบด้านลบ ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบๆ พื้นที่แก่งละว้า ที่อาจเกิดขึ้นจากแผนพัฒนาดังกล่าว และหาวิธีที่จะช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาล
แก่งละว้า เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศ เป็นแหล่งพักพิงของพันธุ์พืช สัตว์ป่า และเป็นแหล่งน้ำหลักของตัวเมืองบ้านไผ่ รวมถึงบริเวณโดยรอบ ทำให้ตัวแก่ง เป็นพื้นที่หลักที่ทุกภาคส่วนให้ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม
ในปี 2558 รัฐบาลที่นำโดยกองทัพ ผ่านแผนพัฒนาระดับชาติ เพื่อกระตุ้นการสร้างพื้นที่อุตสาหกรรม นอกเขตกรุงเทพ และปริมณฑล โดยในจังหวัดขอนแก่นเอง มี 13 บริษัทวางแผนเข้ามาลงทุนด้านโครงสร้าง และมีโครงการสร้างโรงงานในพื้นที่
ในวงเสวนา ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติท้องถิ่น ผู้เข้าร่วมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น มีการพูดคุยของชุมชนรอบๆ พื้นที่ ถึงการเข้ามาของเขตอุตสาหกรรม และความต้องการแนวทางป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนา
นักกิจกรรมในพื้นที่หลายคน กล่าวว่า หลายบริษัทเริ่มขยับก้าวแรก ด้วยการเตรียมพื้นที่สำหรับเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว
“พื้นที่ 2,300 ไร่ถูกกว้านซื้อไปแล้วจากนายทุนในพื้นที่ และนายหน้าก็กำลังเจรจากับชาวบ้านต่อ” เทียนชัย สันทอง สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่แก่งละว้ากล่าว
ผลที่ได้จากการทำแบบสอบถามโดยกลุ่มอนุรักษ์ และนักศึกษาชาวอเมริกันสองคน ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนในพื้นที่แก่งละว้า ยังไม่ทราบถึงแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 126 คน จาก 12 หมู่บ้าน แสดงความรู้สึกสับสน กับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งแม้ว่า การพัฒนาดังกล่าวจะส่งผลดีในด้านเศรษฐกิจ แต่สิ่งแวดล้อมอาจถูกทำลายได้
ประมาณร้อยละ 76 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่า พวกเขาเชื่อว่าการพัฒนาจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ โดยความกังวลมีตั้งแต่มลพิษทางน้ำ และทางอากาศ เสียงรบกวน และกลิ่นเหม็นที่เพิ่มขึ้น การหายไปของความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์ และชุมชนที่แออัดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 41.1 ของผู้ทำแบบสอบถาม สะท้อนว่า การพัฒนาอาจมีประโยชน์ในด้านการจ้างงาน และการเพิ่มขึ้นของธุรกิจต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดการย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง
แบบสำรวจยังชี้ด้วยว่า ประมาณร้อยละ 68 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่ทราบถึงสิทธิส่วนบุคคลของตนเอง และร้อยละ 62 ไม่ทราบสิทธิชุมชนที่พวกเขามี ผู้เข้าร่วมในวงเสาวนากล่าวว่า การรู้ถึงสิทธิส่วนบุคคล เป็นเรื่องกังวลหลักสำหรับการพูดคุยกันในอนาคต และการเคลื่อนไหวใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมในพื้นที่
นริศร จรรยานิทัศน์ นักธุรกิจที่เข้าร่วมงานเสวนา เชื่อว่า คนบ้านไผ่ควรเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนานี้ เพราะผลกระทบทั้งหมดจะตกอยู่กับพวกเขา
นริศรยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรม “ได้ใช้จ่ายเงินไปแล้วเกือบ 450 ล้านบาท ในการวิจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดจากการเปลี่ยนขอนแก่นให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม โดยอ้างว่า ความหลากหลายทางชีววิทยา และสิ่งแวดล้อมจะไม่ได้รับผลกระทบ”
ขณะที่วงเสวนาดำเนินไป เป็นที่ชัดเจนว่า ประเด็นการสนทนาผู้เข้าร่วมได้เปลี่ยนจากการหยุดยังการพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัด มาเป็นการจัดเตรียมความพร้อมของคนในอำเภอบ้านไผ่ ให้สามารถมีส่วนร่วม ในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรม
“เราจะปรับตัวเราได้อย่างไร สำหรับการพัฒนาที่กำลังจะเข้ามา เพราะเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพัฒนานี้ได้เลย” เป็นคำถามที่ จรูญพิศ มูลสาร นักกิจกรรมในพื้นที่แก่งละว่า ถามขึ้น
ในช่วงท้ายของวงเสวนา ผู้เข้าร่วมเห็นตรงกันในสี่ประเด็นหลัก เพื่อให้การพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในบ้านไผ่ ดำเนินต่อไป โดยประเด็นเหล่านั้น ได้แก่ ชื่อของกลุ่ม คือ “ตนฮักบ้านไผ่” การเน้นการวิจัยเรื่องสิทธิชุมชน รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เกี่ยวกับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ และศึกษาผลกระทบของอุตสาหกรรมที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ
ทางกลุ่มยังเห็นตรงกันว่า จะมีการพบปะกันบ่อยขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการต่อรองกับการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ดูเหมือนว่า เป็นข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
คายิง ธอร์ เป็นนักศึกษาคณะสังคมสงเคราห์ มหาวิทยาลัยเบเธล จูเลียนน์ เบห์เรนส์ เป็นนักศึกษาด้านการตลาดและการพัฒนานานาชาติ มหาวิทยาลัยทูเลน ทั้งสองคนเข้ามาเรียนด้านปัญหาการพัฒนา และโลกาภิวัฒน์ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเวลา 4 เดือน