โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

การอยู่ในประเทศที่ไม่นิยมการคิดวิเคราะห์แยกแยะหรือคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทำให้การตัดสินใจหลายอย่างและหลายครั้งไม่ได้ยึดโยงกับเหตุผลและความเป็นไปได้ สิ่งนี้นำมาซึ่งความเสียหายในระดับตัวบุคคล สังคมส่วนรวม และประเทศ

กระแสการตรวจสอบการจำหน่าย “กระทะโคเรีย คิง” เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ใช้สื่อออนไลน์คนหนึ่งโพสต์ภาพกระทะยี่ห้อดังกล่าวที่จำหน่ายในประเทศสิงคโปร์ในราคา 600 บาทซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาจำหน่ายในประเทศไทยหลายเท่าตัว กรณีดังกล่าวทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ออกมาชี้แจงว่าเป็นกระทะคนละรุ่นกัน

ทั้งนี้ การโฆษณาจำหน่ายกระทะโคเรีย คิงทางสถานีโทรทัศน์ระบุว่า กระทะมีราคาจริง 15,000 บาท แต่จำหน่ายในราคา 3,300 บาท พร้อมให้สิทธิซื้อกระทะ 1 ใบแถม 1 ใบ พร้อมแถมตะหลิวราคา 900 บาทให้อีกต่างหาก

กรณีที่เกิดขึ้นทำให้มีการตรวจสอบกระทะยี่ห้อนี้ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือ การตรวจสอบคุณสมบัติของกระทะว่าตรงตามที่โฆษณาหรือไม่ หน้าที่ส่วนนี้มีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเจ้าภาพ ลักษณะที่สองคือ การตรวจสอบต้นทุนการผลิตของกระทะยี่ห้อนี้ การตรวจสอบนี้นำโดยนายเกษมสันต์ วีระกุล ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ที่ออกมาเปิดเผยว่า กระทะดังกล่าวมีต้นทุนการผลิตเพียง 358 บาทเท่านั้น

เมื่อข้อมูลดังกล่าวปรากฎสู่สาธารณะ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการนำกระทะราคาถูกมาตั้งราคาขายสูงกว่าต้นทุนการผลิตหลายเท่าตัว แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกมุมหนึ่งว่าการซื้อขายสินค้าดังกล่าวเกิดจากความสมัครใจของผู้บริโภคเอง และผู้ผลิตหรือเจ้าของสินค้าก็ต้องมีกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้      

แม้จะยังไม่มีข้อยุติว่าการขายกระทะยี่ห้อดังกล่าวเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ แต่จากข้อมูลด้านสื่อการโฆษณาที่เปิดเผยโดยบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย (บริษัทวิจัยตลาด) พบว่า 10 อันดับของแบรนด์ที่ใช้งบซื้อสื่อโฆษณาสูงสุดของปี 2559  (มกราคม- ธันวาคม 2559) เป็นของกระทะโคเรีย คิง โดยพบว่าใช้เม็ดเงินโฆษณาต่อเนื่องทั้งปีสูงถึง 1,651 ล้านบาท มากกว่าแบรนด์อันดับ 2 คือผลิตภัณฑ์โค้กถึงกว่าสองเท่าตัว

ข้อมูลดังกล่าวสามารถพิจารณาได้ 2 ประการ ประการแรกกระทะโคเรีย คิง เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องผู้ผลิตจึงมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าแล้วนำกลับมาซื้อโฆษณาสินค้าได้ตลอดทั้งปี ประการที่สองการทุ่มงบโฆษณาจำนวนมหาศาลส่งผลให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่องจึงเกิดกระแสซื้อสินค้าตามๆ กันไปในวงกว้าง

ย้อนกลับมาที่ข้อถกเถียงเรื่องความเหมาะสมของการทำตลาด ประเด็นนี้สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ถ้าผู้บริโภคคุ้นเคยต่อการคิดวิเคราะห์แยกแยะหรือคิดอย่างมีวิจารณญาณพอสมควร การโฆษณาด้วยวิธีการดังกล่าวคงจะใช้ไม่ได้ผลในวงกว้าง แต่สาเหตุที่ทำให้โฆษณาลักษณะดังกล่าวใช้ได้ผลน่าจะมาจากการที่คนไทยบางส่วนขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์แยกแยะ ใช่หรือไม่

ตัวอย่างของการขาดทักษะการคิดวิเคราะห์แยกแยะยังพบเห็นได้จากข่าวเรื่องการใบ้หวย (การทำนายตัวเลขที่จะชนะรางวัลสลากกินแบ่ง) ทุกต้นเดือนและกลางเดือน ซึ่งพบว่าทุกวันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยยังเชื่อเรื่องการใบ้หวยเหล่านี้อยู่ แม้โอกาสถูกรางวัลของแต่ละตัวเลขจะมีค่าเท่ากันก็ตาม

ข่าวการหลอกลวงที่พบเห็นได้บ่อยอีกประเภทคือ ข่าวการชักชวนคนมาลงทุนในสินค้าหรือบริการที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนตามปกติ เช่น ธุรกิจแชร์ลูกโซ่และการขายของออนไลน์ ข่าวที่ดังที่สุดในช่วงเดือนที่แล้วคงหนีไม่พ้น ข่าวซินแสโชกุนเจ้าของธุรกิจอาหารเสริมที่ขายทัวร์ไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในราคาถูกกว่าความเป็นจริง แต่เมื่อถึงวันเดินทางกลับไม่มีเที่ยวบินตามกำหนด ทำให้ลูกทัวร์นับพันคนต้องตกค้างที่สนามบิน พร้อมสูญเงินรวมกันหลายสิบล้านบาท

นอกจากพฤติกรรมการเชื่อโดยปราศจากทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณจะพบเห็นได้ทั่วไปในระดับประชาชนแล้ว ก็ยังสามารถพบเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ได้ในระดับผู้บริหารประเทศเช่นกัน อย่างเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดในรายการทางสถานีโทรทัศน์ว่า “ผู้ที่มีรายได้น้อยแต่อยากสบาย เกียจคร้าน แล้วต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้น คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความจริง”

ลงทะเบียนคนจน จุดลงทะเบียนคนจนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จังหวัดขอนแก่น เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปีมาลงทะเบียนคนจนเพื่อรอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

แต่วันต่อมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ปีนี้มียอดรวมผู้มาลงทะเบียนคนจนกับรัฐบาลแล้ว 12,416,211 คน เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วถึงกว่า 4 ล้านคน พร้อมคาดว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลว่าจะดูแลช่วยเหลือด้านสวัสดิการจริง

หากเมื่อพิจารณาถึงคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เกิดคำถามว่า นายกรัฐมนตรีมีทักษะในการคิดวิเคราะห์แยกแยะเกี่ยวกับความยากจนหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงบอกว่าสาเหตุแห่งความยากจนมาจากความเกียจคร้าน ส่วนตัวเลขคนจนที่มาลงทะเบียนที่เพิ่มขึ้นนั้น แสดงถึงความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลตามที่พล.ท.สรรเสริญระบุจริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาความยากจนไม่ถูกวิธี จึงมีคนจนเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านคน

วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนพ.ค.-ส.ค. ปี 2558 เผยแพร่ บทความปัญหาความยากจนในสังคมไทย โดยธนพล สราญจิตร์ ระบุว่า ประชาชนไทยมีปัญหาความยากจนโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ว่าประเทศไทยมีระดับรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลเพิ่มมากขึ้น แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ถูกจัดสรรให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ภาครัฐจึงต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไป ส่วนสาเหตุของความยากจนมาจากการไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเนื่องการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางและนายจ้าง

ขณะที่ผลการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการแก้ปัญหาความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ปี 2557 ระบุว่า สาเหตุของปัญหาความยากจนในภาคอีสานมาจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศและปัญหาเศรษฐกิจ ทําให้ประชากรมีรายได้ต่ำและยังมีปัญหาแรงงานที่ยังขาดฝีมือทักษะในการประกอบอาชีพ

ผลวิจัยเรื่องความยากจนทั้งหมดข้างต้นไม่พบว่ามีการศึกษาใดที่ระบุว่า สาเหตุของความยากจนมาจากความเกียจคร้านตามความคิดของพล.อ.ประยุทธ์ เลย ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้นำรัฐบาลทหารคนนี้ไม่ได้ใช้ทักษะในการคิดวิเคราะห์แยกแยะแต่อย่างใด มีแต่ใช้ความเชื่อส่วนตัวในการทำงาน ฉะนั้น วิธีแก้ปัญหาที่รัฐบาลนำมาใช้ต่อผู้มาลงทะเบียนคนจนจึงเป็นเพียงแค่การแจกเงินเล็กน้อยและมอบสวัสดิการเพียงบางส่วนให้เท่านั้น แต่รัฐบาลไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามข้อเสนอของงานวิจัยที่ผ่านการศึกษามาแล้ว   

เมื่อพิจารณาในภาพกว้าง จึงพอสันนิษฐานได้ว่า สาเหตุที่ผู้นำประเทศและประชาชนทั่วไปขาดไร้ซึ่งทักษะการคิดวิเคราะห์แยกแยะนั้น น่าจะมาจากระบบการศึกษาของไทยที่เน้นให้ท่องจำและเชื่อตามมากกว่าใช้ความคิดสร้างสรรค์ ส่วนการก้าวออกไปให้พ้นจากสังคมที่ไร้ซึ่งการคิดวิเคราะห์แยกแยะคือ การส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใช้เหตุผลในการตัดสินใจ แต่ สิ่งนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่มีรัฐบาลที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน

  

image_pdfimage_print