โดยวิลาสินี โสภาพล

เรือนจำกลางจังหวัดนครพนมสถานที่คุมขังสมหญิง

ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมามีภาพข่าวชาวบ้านยากจนหาอยู่หากินถูกดำเนินคดีให้เห็นวันต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นคดีหนุ่มใหญ่ที่ถูกรวบพร้อมยาบ้า 2 เม็ด กราบลาพ่อแม่ชราเข้าเรือนจำ หรือคดีตา-ยายเก็บเห็ดถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทำไมพวกเขาถึงไม่สู้คดีเล่า? เรื่องราวตอนนี้จะเผยให้เห็นบางส่วนของการเลือกปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมของไทยต่อคนยากคนจน ผ่านชีวิตของ “สมหญิง” (นามสมมติ) ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำกลางจังหวัดนครพนม หลายเรื่องราวที่เธอเล่าให้ดิฉันฟัง ทำให้ดิฉันสงสัยว่า “หรือเพราะความจนจึงต้องทนเจ็บ” 

ดิฉันกับสมหญิง ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว เราเพียงมีโอกาสได้คุยกันในห้วงระยะเวลาสั้นๆ ที่เรือนจำกลางจังหวัดนครพนมเท่านั้น ดิฉันในฐานะนักวิจัยผู้เข้าไปสัมภาษณ์และสมหญิงอยู่ในฐานะผู้ให้ข้อมูล เราคุยกันได้ไม่นานนักก็ถึงเวลาต้องจากลา แต่เรื่องราวของสมหญิงได้ทำให้ดิฉันต้องมาคิดทบทวนและตั้งคำถามต่อการพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องยาเสพติดไม่น้อย 

ดิฉันกับสมหญิงเราคุยกันด้วยภาษาลาวถึงแม้สำเนียงภาษาลาวของดิฉันจะฟังดูห้วนๆ กว่าภาษาลาวของสมหญิงแต่เราก็คุยกันเข้าใจกันดี สมหญิงเป็นหญิงสาวชาวลาวอายุประมาณสามสิบต้นๆ เธอถูกตัดสินจำคุก 30 ปีด้วยข้อหาครอบครองยาเสพติดและลักลอบเข้าเมือง การขาดอิสรภาพเป็นระยะเวลายาวนานกว่าครึ่งชีวิตกับการครอบครองยาบ้าเพียง  เม็ดเดียวนั้นจะว่าไปมันก็ไม่ได้ยุติธรรมสำหรับเธอสักเท่าไหร่เลย 

ชีวิตสมหญิงก่อนที่จะมาอยู่ในเรือนจำนั้นก็คงเหมือนวัยรุ่นติดเพื่อนที่คึกคะนองชอบลองของทั่วไป เธอกล่าวกับดิฉันว่า “เรากับเพื่อนเสพยาเป็นปกติ แต่เราก็ไม่ได้ไปทำร้ายใครนะเราอยู่แต่กับกลุ่มของเรา เสพกันอยู่ที่บ้านเพื่อน” เธอมีอาชีพขายของที่ร้านค้าของญาติในฝั่งของประเทศไทย ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เพราะที่ประเทศลาวไม่มีงานให้ทำ แต่ในช่วงฤดูกาลทำนาเธอจะกลับไปช่วยงานที่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากริมโขงในฝั่งประเทศลาวทำนา  

ในวันที่เธอโดนจับเป็นวันที่เธอข้ามฝั่งไปเอายาบ้าหนึ่งเม็ดมาเสพจากคนที่รู้จักในฝั่งลาวเมื่อได้ยาเธอก็เดินทางข้ามฝั่งกลับมาไทย พอเธอขึ้นฝั่งมาก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาดักจับแล้วส่งเรื่องต่อไปจนถึงชั้นศาลตามลำดับ เธอกล่าวว่า เธอไม่ค่อยรู้เรื่องมากนัก ไม่รู้ว่าโทษจะหนัก เพราะเธอไม่ได้มีการศึกษา และเธอไม่มีเงินจ้างทนายความที่มีราคาค่างวดค่อนข้างสูง ทั้งยังไม่มีเครือข่ายในในการว่าจ้างทนายความ ดังนั้นทนายความของเธอจึงเป็นทนายความอาสาที่ศาลจัดหามาให้เพียงเพื่อให้ครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อที่จะ สามารถพิจารณาคดีความได้  

การเป็นคนลาวที่ข้ามฝั่งเข้ามาในประเทศไทยทำให้เธอถูกดำเนินคดี 2 ข้อหา  ข้อหาแรกคือลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (การลับลอบเข้ามาทำงานโดยไม่มีเอกสารตามกฎหมายพบเห็นได้ทั่วไปตามตะเข็บชายแดน-ผู้เขียน)  และข้อหาที่สองคือ ครอบครองครองยาเสพติดเพื่อจำหน่ายซึ่งโทษเป็นร้ายแรง (สมหญิงไม่ได้เป็นผู้จำหน่าย-ผู้เขียน) เธอจึงถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ยอมรับสารภาพ (เนื่องจากไม่มีเงินในการสู้คดี ทนายความจึงแนะนำให้รับสารภาพเพื่อจะได้ลดโทษ) ศาลจึงลดโทษเหลือ 30 ปี  

ชีวิตริมฝั่งโขงบริเวณชายแดนไทย-ลาว ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

 หากมองในแง่ของความซับซ้อนของความสัมพันธ์ทางเครือญาติริมสองฝั่งโขงซึ่งดำรงอยู่และเกิดขึ้นมาก่อนมีเขตแดนของรัฐชาตินั้น ดูเหมือนตัวบทกฎหมายไม่สามารถที่จะเข้าถึงความสลับซับซ้อนของแง่มุมทางสังคมตรงนี้ได้ ทั้งนี้คนในฝั่งไทยและลาวข้ามไปมาหากันเช่นนี้ก่อนที่จะมีพรมแดนของรัฐชาติเข้ามา สังคมวัฒนธรรมและระบบเครือญาติของสองฝั่งนั้นดำรงมาก่อนการเกิดขึ้นของการปักปันเขตแดน การปักป้ายข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยไม่พิจารณาถึงบริบทชีวิตของคนๆ หนึ่งที่ไปมาหาสู่ญาติพี่น้องทั้งสองฝั่งอย่างสม่ำเสมอจึงดูไม่ยุติธรรมเสียเลย หากมองไปในพื้นที่ชายแดน เราจะพบว่ามีคนแบบเดียวกับสมหญิงบริเวณชายแดนไทย-ลาว ที่มีเพียงแม่น้ำโขงเป็นปราการกั้นพรมแดนรัฐชาติ บางคนก็ทำงานไปกลับไทย-ลาว

ดิฉันจำได้ว่าสมหญิงบอกล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบๆ พร้อมสายตาละห้อยถึงความไม่ยุติธรรมที่เธอได้รับเนื่องจากเธอมองว่าโทษที่ได้รับรุนแรงเกินไปสำหรับการครอบครองยาบ้าเพียง1 เม็ด เนื่องจากเธอเองไม่ได้ส่งต่อหรือค้ายา เธอเพียงใช้ในการเสพเองก็เพียงเท่านั้น ในขณะที่หลายคนในเรือนจำครอบครองยาหลายแสนเม็ดแต่ถูกตัดสินจำคุกน้อยกว่าเธอนั้นก็มีให้เห็นอยู่อย่างหนาตา ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่พยายามผลักดันให้ลดโทษของกฎหมายยาเสพติดที่รุนแรงเกินไปโดยมีองค์กรหลักที่ดำเนินการเพื่อเร่งแก้ไขคือองค์กรกำลังใจ ของพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (อ่านรายละเอียดงานวิจัยในโครงการกำลังใจเพิ่มเติม 

โทษที่ยาวนานของคดียาเสพติดทำให้ผู้ต้องขังไทยล้นคุกและแออัดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกจากสถิติของกรมราชทัณฑ์พบว่า มีจำนวนผู้ต้องขังถึง 230,165 คน (กรมราชทัณฑ์, พฤษภาคม 2560) ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่ทางเรือนจำของไทยสามารถรองรับได้ ความแออัดเหล่านี้ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของคนในเรือนจำเป็นอย่างมากสภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้ต้องแย่งชิงทรัพยากรกันเนื่องจากคนมีจำนวนมากแต่ทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัดเช่นที่ตากผ้าที่ไม่เพียงพอ (แต่ละคนมีพื้นที่ในการตากผ้าเพียงหนึ่งคืบ หรือ 15-17 เซนติเมตรเท่านั้น) ก่อให้เกิดการลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้น หรือเมื่อเกิดการบาดเจ็บหรือป่วยไข้ผู้ต้องขังก็ไม่อยากที่จะไปหาหมอ (ที่สถานพยาบาลในเรือนจำ) เพราะคนแน่นและต้องรอคิวนาน มากไปกว่านั้นทุกครั้งที่ไป หมอและพยาบาลจะจ่ายให้เพียงแค่ยาพาราเท่านั้น ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะรักษาตัวเองและปล่อยให้บาดแผลมันเรื้อรังอยู่อย่างนั้น 

มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาความแออัดเหล่านี้ให้ยั่งยืนมากขึ้นโดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาจากต้นเหตุในกระบวนการพิจารณาคดี บทบัญญัติในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่6) พ.ศ. 2560 เปลี่ยนกรณีจำเลยครอบครองยาเสพติดจากคำว่า “ให้ถือว่า” มาใช้คำว่า “สันนิษฐานว่า” แทน แต่เดิมนั้นการครอบครองยาเสพติดนั้นให้ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งนับเป็นการตัดสินจำเลยโดยไม่มีการพิสูจน์ใดๆ การเปลี่ยนมาใช้คำว่า “สันนิษฐานว่า” จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาใช้ดุลยพินิจต่อการกระทำของจำเลยมากขึ้น นับว่าเป็นการปรับให้มีการตีความที่ยืดหยุ่นมากกว่าเดิม และสามารถนำพยานมาหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะครอบครองยาเสพติด “เพื่อจำหน่าย” ได้ (ดูเพิ่มเติม) เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีสิทธิ์พิสูจน์ความบริสุทธิ์ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความแออัดของเรือนจำในระยะยาว 

ชีวิตในเรือนจำของสมหญิงนั้นเหงา การไม่ค่อยมีญาติมาเยี่ยมทำให้เธอได้แต่เพียงทำงานแลกเงินให้ผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ที่มีเงินมากกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อจะมีรายได้มาซื้อของใช้ที่จำเป็น แม้จะน้อยใจในโชคชะตาแค่ไหนแต่เธอเล่าว่า ก็คงต้องใช้ชีวิตต่อไปโดยมองให้มันเป็นเรื่องของ “เวรกรรม” ที่ทำให้ชีวิตเธอต้องเป็นแบบนี้ ในแต่ละวันเธอจะนั่งสวดมนต์นั่งสมาธิอยู่ที่ลานพระพุทธรูป นั่นเป็นวิธีที่ทำให้เธอสบายใจและรู้จักที่จะปล่อยวาง และโยนเรื่องราวทั้งหลายให้เป็นเวรเป็นกรรมซึ่งทำให้เธอสบายใจขึ้นมาหน่อย  

เมื่อไหร่กันนะที่ระบบยุติธรรมของไทยจะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้จริง ๆ สักที ตัดภาพมาที่ข่าวหนึ่งเกี่ยวกับทายาทเครื่องดื่มบำรุงกำลังชื่อดังที่คดีใกล้จะหมดอายุความแล้วแต่ยังไม่สามารถที่จะจับตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ยิ่งเห็นชัดในเรื่องชนชั้นกับการถูกเลือกปฏิบัติ นี่กับคนจนที่ครอบครองยาบ้าเพียง 1 เม็ดต้องติดคุกสามสิบปี ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมันจึงไม่ใช่แค่ช่องว่างในทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มันยังรวมถึงการเอื้อประโยชน์ เครือข่ายทางสังคม และการเลือกปฏิบัติด้วย แม้ตัวบทกฎหมายจะเท่าเทียม แต่การเป็นคนจนนั้นเข้าถึงสิ่งที่ได้กล่าวไปข้างต้นได้น้อยกว่าและยากกว่าคนที่ร่ำรวย พวกเขาจึงมีตัวเลือกไม่มากในการต่อสู้คดี การยอมรับกับชะตาชีวิตและการกล่าวโทษเวรกรรมที่ทำให้มาถึงจุดนี้ จึงเป็นสิ่งที่ปลอบประโลมชีวิตพวกเขาในเรือนจำ

พวกเขาต้องทนไปอีกนานแค่ไหน เมื่อไหร่กันที่คนจนจะต้องไม่ทนเจ็บแล้ว  

image_pdfimage_print