ชายป่วยคนหนึ่งที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดด้วยการพึ่งพาระบบบริการสุขภาพของประเทศที่หลายคนยกย่องว่าดีเยี่ยม แต่ทว่าเป็นระบบที่มักล้มเหลวในการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลมากที่สุด ชะตาชีวิตจากการทำงานรับจ้างในไร่อ้อยไปจนถึงการยอมรับซึ่งความตายในวัยเพียง 36 ปี “เดี่ยว” ไม่โดดเดี่ยวท่ามกลางชะตากรรมอันโหดร้ายนี้

บทความพิเศษ โดย ประวีนา เฟร์นส และ แอบบี มาริโน รายงานจากอำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เรียบเรียงโดย พีระ ส่องคืนอธรรม

ตอนที่ 1 ชะตาชีวิตอันเลือนราง

เดี่ยวผ่ายผอมลง น้ำหนักตัวของเขาเหลือเพียง 48 กก. เท่านั้น การหดตัวเล็กลงของร่างกายเดี่ยวที่เป็นอยู่เช่นนี้ไม่ต่างจากโอกาสที่เขาจะมีชีวิตรอด

ผิวที่แห้งเหี่ยวกระด้างทำให้มองเห็นซี่โครงแทบทุกซี่บนร่างกายของเดี่ยว ขาของเขาเต็มไปด้วยผื่นแดง แต่ร่องรอยกล้ามเนื้อที่ปรากฎบนแขนยังพอเผยให้ได้รู้ว่า ครั้งหนึ่งเขาคนนี้เคยเป็นชายหนุ่มผู้มีร่างกายแข็งแรงมาก่อน แม้ปัจจุบันร่างกายของเขาจะทรยศผันเปลี่ยน แต่ขณะที่เขายกถุงน้ำยาล้างไตขึ้น ก็ยังพอสังเกตได้ว่าพละกำลังในยึดจับของเดี่ยวยังมีอยู่อย่างเข้มแข็ง

ทุกวัน เดี่ยวจะนั่งบนเก้าอี้โยก เก้าอี้ตัวนี้วางอยู่หน้ากองลังกระดาษที่ตั้งเรียงรายอย่างกับหอคอยด้านหลัง เดี่ยวจะนั่งอยู่ตรงนั้นพร้อมกับถืออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยต่ออายุเขาออกไป ที่แขวนอยู่ทางซ้ายมือคือแหจับปลาที่เดี่ยวตั้งใจจะถักให้เสร็จเพื่อเอาไปขาย แต่แหผืนนี้ก็ยังแขวนอยู่ตรงนั้นรอวันที่จะถูกถักทอให้เสร็จ ปฏิทินหนึ่งแผ่นแขวนอยู่บนเก้าอี้โยกที่เดี่ยวนั่ง เหมือนกับว่าปฏิทินอันนี้กำลังนับถอยหลังตามจำนวนวันและสัปดาห์ของชีวิตที่เหลืออยู่ของเดี่ยว

เดี่ยวมีเวลาเหลืออยู่ไม่มากนัก

แต่ละวันที่เดี่ยวยังคงยืนหยัดมีชีวิตอยู่ ก็นับเป็นอีกวันที่โรคร้ายยังพรากชีวิตไปจากเขาไม่ได้

ศูนย์บริการสุขภาพที่ให้บริการบำบัดภาวะไตล้มเหลวต้องใช้เวลาเดินทางถึงหนึ่งชั่วโมง หากได้รับการบำบัดที่นั่น เดี่ยวอาจกลับมาใช้ชีวิตตามที่หวังอีกครั้ง แต่ทว่า เขาจะต้องเดินทางไปที่ศูนย์รักษาถึงสามครั้งต่อสัปดาห์ตลอดชีวิต

การเดินทางไปยังศูนย์บริการแห่งนี้คือสิ่งที่เดี่ยวไม่อาจทำได้

สถานะผู้ป่วยของเดี่ยวอยู่กึ่งกลางระหว่างผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหนักหนาสาหัสพอที่จะเรียกรถฉุกเฉินมารับได้กับผู้ป่วยร่างกายอ่อนแอเกินไปที่จะเดินทางโดยสารรถเมล์อันน่าละเหี่ยใจเพื่อไปรับบริการทางการแพทย์ หากต้องเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ เดี่ยวต้องเบียดเสียดแทรกตัวร่วมกับฝูงชนเต็มคันรถ ต้องเผชิญกับความแออัดและอากาศอบอ้าว ฝุ่นคลุ้งกระจายไปทั่วขณะโดยสารรถ แถมรถที่แล่นก็กระแทกดังครืนตลอดเส้นทางถนนอันขรุขระ

เดี่ยวแทบไม่มีเรี่ยวแรงมากพอที่จะยกเท้าขึ้นรถเมล์เสียด้วยซ้ำ

เพียงแค่คิดถึงเรื่องการเดินทางไปยังศูนย์รักษาแห่งนี้ ก็เป็นเรื่องที่หนักหนาเกินไปสำหรับเดี่ยว และอีกอย่างคือ เดี่ยวเองก็ไม่มีเงินค่าเดินทางไปรักษาที่ศูนย์บริการ

ชื่อ “เดี่ยว” มาจากคำว่า “โดดเดี่ยว” แต่เดี่ยวไม่โดดเดี่ยวท่ามกลางชีวิตอันโหดร้ายเช่นนี้

เดี่ยวกำลังจะตาย ตอนนี้เขายังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่นานเขาก็จะตาย

แม่ของเดี่ยวรู้ว่าเขาจะตาย แพทย์ที่รักษาก็รู้

เดี่ยวเองก็รู้

เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของชายคนหนึ่ง ความตายที่กำลังคลืบคลานเข้ามาในไม่ช้า และการยอมรับชะตากรรมของตนเองโดยไม่ปริปากบ่น เรื่องราวของเขาไม่ควรจะจบลงเช่นนี้

เรื่องราวชีวิตของเดี่ยวอาจไม่เป็นเช่นนี้ เรื่องราวของเขาอาจเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าว่าด้วยเรื่องการการฟอกเลือดรักษาชีวิตของเดี่ยวไว้ได้อย่างไร ไปจนถึงเรื่องราวการดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตอยู่ของเดี่ยว

แต่ทว่า เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพที่บีบบังคับให้ผู้ป่วยต้องเผชิญกับทางเลือกที่ตัดสินใจยาก ทางเลือกที่กุมกำหนดชะตาชีวิตของเดี่ยวเอาไว้

พิษรสหวานจากงานในไร่อ้อย

เดี่ยวอายุ 36 ปี แนวโครงกระดูกที่โผล่ออกมาให้เห็นพร้อมกับผิวที่แห้งเหี่ยวตามร่างกายของเดี่ยว เหล่านี้คือร่องรอยที่บอกได้ว่า ครั้งหนึ่งเดี่ยวเคยมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์มาก่อน เมื่อปี 2552 หมอบอกว่าเดี่ยวเป็นโรคไตเรื้อรัง ตอนนั้นเดี่ยวอายุเพียง 29 ปี เป็นช่วงอายุที่น้อยกว่าปกติที่จะเผชิญกับภาวะไตเรื้อรัง หลายปีก่อนที่เดี่ยวจะพบว่าตนเองเป็นโรคไตเรื้อรังนั้น เขาเคยทำงานรับจ้างพ่นสารเคมีตามไร่อ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่เข้ามายึดพื้นที่การเกษตรในภาคอีสานไม่นานมานี้ โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรในจังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดบ้านเกิดของเดี่ยว

เมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้เปลี่ยนพื้นที่และวิถีการเกษตรของชุมชนภาคอีสานอย่างชัดเจน มีการตั้งโรงงานน้ำตาลมากกว่าสิบแห่งขึ้นตามอำเภอต่างๆ ทั่วจังหวัดหนองบัวลำภู และเมื่อช่วงห้าปีที่ผ่านมา จังหวัดหนองบัวลำภูเองก็ได้เพิ่มพื้นที่มากขึ้นถึงห้าเท่าเพื่อปลูกอ้อยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่กระหายน้ำและต้องใช้สารเคมีในการเพาะปลูก

โดยทั่วไป มักมีการปลูกอ้อยบนพื้นที่ดอน แต่ปัจจุบันมีการปลูกอ้อยบนพื้นที่ลุ่มเหมือนกับการเพาะปลูกข้าว ซึ่งการปลูกอ้อยในพื้นที่เช่นนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อทั้งเกษตรกรและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้เคียง ทว่าในตอนแรกมักไม่มีใครมองเห็นปัญหาจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่นเดียวกันกับโรคเรื้อรังต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา เนื่องจากผลกระทบจากการใช้มักปรากฎให้เห็นหลังจากสัมผัสหลายครั้ง

ผลการวิจัยนานาชาติระบุว่าสารเคมีเป็นพิษที่ใช้ในภาคเกษตรกรรม คือตัวการหลักที่ทำให้ปัญหาโรคเรื้อรังยิ่งแย่ลง นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้วิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้สารเคมีเหล่านี้ต่อสุขภาพของมนุษย์และยืนยันว่าการใช้สารเคมีมีผลต่อปัญหาโรคเรื้อรัง เขากล่าวว่า “ผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชว่ามีความเชื่อมโยงก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ โดยเฉพาะเมื่อสารเคมีเหล่านี้รวมกับสารเคมีโลหะหนัก ”

นายศรายุทธ สมศรี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุวรรณคูหา กล่าวว่าชาวบ้านในพื้นที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤติการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “ตอนที่ผมไปให้ความรู้เรื่องอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เขาก็จะถามย้อนกลับมาว่า ‘แล้วคุณมีทางอื่นดีกว่านี้หรอ บอกมาสิ ถ้าไม่ใช้สารเคมี อ้อยก็ไม่โต’”

ด้วยประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ในฐานะนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการมากว่า 30 ปี ศรายุทธได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยบทบาทที่ได้รับมอบหมายคือ การจัดทำรายการปัญหาสุขภาพ 10 อันดับ โดยใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ นับตั้งแต่นั้นมา ปัญหาจากการสัมผัสกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ได้กลายเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศ

ศรายุทธเชื่อว่า ประวัติการสัมผัสกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเดี่ยวอาจเป็นสาเหตุของภาวะไตล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเขา

ในอดีตเมื่อถึงฤดูแล้ง เดี่ยวเคยเดินทางออกจากหมู่บ้านตนเองไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพื่อหางานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเขาเคยรับจ้างพ่นสารเคมีตามไร่อ้อยที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเวลาหลายปี

เดี่ยวเผชิญกับการเจ็บป่วยครั้งแรกจากภาวะไตล้มเหลวขณะที่เขากำลังเริ่มงานที่ฟาร์มเลี้ยงปูในจังหวัดสตูล วันนั้นเดี่ยวรู้สึกไม่สบายและจากนั้นก็ลุกจากที่นอนไปไหนไม่ได้เลยเป็นเวลากว่า 9 วัน แพทย์โรงพยายาลจังหวัดสตูลบอกว่าเดี่ยวเป็นโรคไตเรื้อรัง เขาเลยต้องเดินทางกลับมาจังหวัดหนองบัวลำภูเพื่อรับการรักษาตามสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ฝังรากลึกลงบนผืนแผ่นดินแห่งหนองบัวลำภู อ้อยได้กลายเป็นพืชที่พรางกับดักยาพิษต่อเกษตรกรและแรงงานตามฤดูกาลเฉกเช่นเดี่ยวต้องเผชิญ ไม่ต่างกันกับเม็ดน้ำตาลที่ผ่านกระบวนการฟอกเป็นสีขาวปรุงใส่อาหารจานเด็ดเสริมรสของเกลือและเครื่องเทศอื่นๆ หากบริโภคน้ำตาลจำนวนมาก (ข้าวเหนียวด้วยเช่นกัน) ก็อาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ พื้นที่เพาะปลูกอ้อยจึงเป็นสาเหตุของโรคร้ายด้วยเช่นกัน

โรคไตเรื้อรัง

ประชากรทั่วโลกป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังมากถึงร้อยละ 10 และกลุ่มเศรษฐกิจสังคมที่อยู่ระดับล่างคือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรัง เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากกว่ากลุ่มเศรษฐกิจสังคมอื่น และยังเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างจำกัด โดยข้อมูลปัจจุบันพบว่า โรคไตเรื้อรังคือฆาตกรอันดับหนึ่งที่พรากชีวิตคนไทยแต่ละปี ในประเทศไทย โรคไตเรื้อรังติดสิบอันดับโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรชาวไทย ทั้งนี้ยังมี โรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ยังมักตรวจพบเกิดขึ้นกับประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบทอยู่เสมอ

โรคเบาหวานและความดันสูงคือสาเหตุหลักของโรคไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นสภาวะที่ไตถูกทำลาย ทำให้ความสามารถของไตในการทำงานลดลง ไม่สามารถกรองของเสียและขับน้ำส่วนเกินออกจากเลือดที่ผ่านหน่วยกรองเพื่อขับทิ้งไปทางปัสสาวะได้อย่างเต็มที่ ในกรณีไตวายระยะสุดท้าย หรือภาวะที่ไตสูญเสียประสิทธิภาพในการทำนห้าที่ดังกล่าวร้อยละ 85 ถึง 90 นักวักกวิทยา (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต) จะขอให้ผู้ป่วยรักษาด้วยการล้างไต (dialysis)

การล้างไต (dialysis) คือการบำบัดทดแทนไต เป็นกระบวนการการรักษาเพื่อทดแทนไตที่ไม่สามารถทำงานได้เองอย่างเพียงพอ โดยการใส่น้ำยาเข้าในช่องท้องทางสายพลาสติก เพื่อช่วยให้มีการกรองของเสียออกจากเลือด

การบำบัดด้วยวิธีการล้างไตมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน วิธีแรกเรียกว่า การล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) ซึ่งจะกรองของเสียในเลือดโดยอาศัยเยื่อบุช่องท้อง วิธีที่สองเรียกว่า การฟอกเลือด (hemodialysis) เป็นการกรองของเสียผ่านหลอดเลือดโดยตรงโดยผ่านหลอดเลือดดําที่คอหรือแขน

ตามสิทธิการรักษาภายใต้โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ป่วยจะได้รับความคุ้มครองการรักษาโดยสามารถรับการบำบัดด้วยวิธีการฟอกเลือดในกรณีที่ไม่สามารถรับการบำบัดด้วยวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้อง ทั้งนี้ การบำบัดด้วยวิธีการฟอกเลือก ผู้ป่วยจะต้องเดินทางมาที่ศูนย์ไตเทียมสองถึงสามครั้งต่อสัปดาห์

ความหวังที่กำลังถูกขับล้างออกไป

เมื่อปี 2553 เดี่ยวและภรรยาเดินทางกลับมาที่จังหวัดหนองบัวลำภู เดี่ยวเริ่มเข้ารับการบำบัดด้วยวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้อง

การบำบัดด้วยวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้องจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงต่อครั้ง และผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่จะต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไตวิธีนี้ 3 ครั้งต่อสัปดาห์

การบำบัดด้วยวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้องจะต้องปฏิบัติในห้องปลอดเชื้อ เนื่องจากฝุ่นและดินจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหลายเท่าตัว และภาวะการติดเชื้อคือสาเหตุที่อาจทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดทดแทนไตเสียชีวิตได้ รองจากภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง

เดี่ยวกำลังรอรับการบำบัดด้วยวิธีล้างไตรอบแรกรอบแรกของวัน

สำหรับเดี่ยวแล้ว ความเสี่ยงดังกล่าวมีมากกว่านั้น

ห้องล้างไตฉบับทำเองของเดี่ยวคือห้องก่ออิฐบล็อกตั้งอยู่นอกตัวบ้านที่ครอบครัวอาศัยอยู่ ผนังห้องสีเทาหม่น มีกลิ่นคล้ายกลิ่นชะมดจางๆ ทั่วห้อง ช่องบนกำแพงทำหน้าที่เป็นหน้าต่างชั่วคราว หรืออาจเป็นทางเข้าของฝุ่นสิ่งสกปรก พื้นซีเมนต์ผิวเรียบแต่โปรยด้วยกรวดทราย

ความกังวลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าวิธีปฏิบัติดังกล่าวนั้นอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ ควบคู่กับการสูญเสียซึ่งอำนาจที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ยิ่งทำให้ภาวะความเจ็บป่วยทางจิตใจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ ผลการศึกษาหลายแห่งพบว่าภาวะความเจ็บป่วยทางจิตใจหลักๆ ที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการล้างไตต้องเผชิญ คือภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล

เมื่อหมอบอกว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง เดี่ยวก็เริ่มเผชิญกับปัญหาทางการเงิน โดยปัญหานี้เกิดขึ้นควบคู่กับการที่เดี่ยวต้องพึ่งพาผู้ดูแล ไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้เหมือนแต่ก่อน ไปจนถึงสถานะผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาโดยทันทีในหลายๆ ครั้ง เหล่านี้ยิ่งทำให้เดี่ยวกลายเป็นบุคคลที่เสี่ยงที่จะมีตกอยู่ในภาวะความเจ็บป่วยทางจิตใจได้ง่ายยิ่งนัก

โรคไตเรื้อรังในวัย 29 ปีเป็นเรื่องแปลก ผลจากการศึกษาเรื่องอายุและความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรังในประเทศออสเตรเลียระบุว่า จำนวนผู้ป่วยเพศชายอายุระหว่าง 18 ถึง 45 ปีที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังมีน้อยกว่าร้อยละ 5 ไม่มีใครคาดคิดว่าโรคดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับคนหนุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงเช่นนี้

และยิ่งไปกว่านั้น เมื่ออยู่ในห้วงเวลาที่เขาต้องการกำลังใจมากที่สุด ความสัมพันธ์กับภรรยาคนที่ตนรักก็เริ่มลดเลือนลง สองปีหลังจากรู้ว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง ภรรยาของเดี่ยวได้เลิกลาจากเขาไป

การที่ต้องเลิกลากับภรรยาอาจนำพาซึ่งความโดดเดี่ยวมาบั่นทอนจิตใจ แต่ทว่าเดี่ยวไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยว แม่ของเขายังคงอยู่เคียงข้างและเป็นคนสำคัญที่ช่วยดูแลเขาตั้งแต่นั้นมา

เดี่ยวทนทรมานจากการล้างไตทางช่องท้องมาเป็นเวลากว่าหกปีแล้ว ร่างกายของเขาที่ต้องแขวนยึดกับเครื่องล้างไตอยู่ทุกวัน ความปรารถนาที่จะมีชีวิตรอดถูกขับออกจากตัวเขาเหมือนจังหวะของเหลวที่หยดลงบนถุงล้างไต

แต่เดือนพฤศจิกายนปีกลาย โชคชะตาวาสนาของเดี่ยวก็หมดลง การบำบัดด้วยวิธีดังกล่าวเริ่มไม่ได้ผล

ของเหลวในถุงน้ำยาล้างไตกลายเป็นสีขุ่น เป็นสัญญาณบอกว่ามีการติดเชื้อในช่องท้องซึ่งทำให้วิธีการบำบัดไม่ได้ผลอีกต่อไปและเสี่ยงที่จะเกิดภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายอวัยวะ

กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับเดี่ยวคือความหายนะ อาการโรคไตเรื้อรังแย่ลงกว่าเดิม ทำให้เดี่ยวต้องได้รับการล้างไตครั้งละ 30 นาทีถึงสามครั้งต่อวัน

ถุงมือลาเท็กซ์ช่วยปกป้องไม่ให้มือผอมแห้งแรงน้อยของเดี่ยวเป็นแผลและเลือดไหล ซึ่งอาจทำให้ชีวิตของเขายิ่งทรมานมากยิ่งขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่

ร่างกายของเดี่ยวเผชิญกับภาวะช็อกหลายครั้ง ภาวะช็อกแต่ละครั้งทำให้เขายิ่งเข้าใกล้ความตายมากขึ้นทุกครั้ง เมื่อร่างกายของเดี่ยวช็อก สิ่งที่แพทย์ผู้ช่วยเหลือกระทำได้ก็มีแค่ฉีดมอร์ฟีนระงับความเจ็บปวดกับให้ยาปฏิชีวนะจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้ช่วยรักษาอาการแบคทีเรียดื้อยาที่อยู่ในช่องท้องแต่อย่างใด

หากเดี่ยวอาศัยอยู่ที่อื่นหรือเกิดมาในช่วงเวลาอื่น เขาอาจรอดชีวิตด้วยวิธีการฟอกเลือกหรือเข้าคิวรับการผ่าตัดเปลี่ยนไต แต่ชีวิตของเดี่ยว ณ ปัจจุบันปราศจากทางเลือกดังกล่าว เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ฝ่าเท้าอันแห้งหยาบทรมานทุกย่างก้าว บวมเปล่งเจ็บร้าวด้วยเพราะย่ำฝ่าดงอ้อยอาบยาพิษ การขาดการหมุนเวียนเลือดอย่างเพียงพอทำให้เท้าของเดี่ยวบวมและเจ็บ

ผิวหนังบนร่างกายของเดี่ยวหยาบกร้านเหมือนกับเปลือกต้นไม้ แต่ก็บอบบางถูกทำลายง่ายคล้ายกับใบไม้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ร่วงหล่นอย่างง่ายดาย ขณะที่เดี่ยวกำลังเกาท้องแขนตัวเอง จังหวะการเคลื่อนไหวของเขาช่างเบาและอ่อนโยน เขาคงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากที่จะไม่เกาจนทำให้เยื่อบุผิวที่ยังมีเหลืออยู่บนร่างกายฉีกออกจากัน เยื่อบุผิวที่แทบจะโอบอุ้มร่างอันเจ็บปวดรวดร้าวเข้าไว้ด้วยกันไม่ไหว

หลังจากต้องทนทุกข์ทรมานมากว่าหกปีด้วยกัน เดี่ยวยอมรับชะตาชีวิตของตัวเองอย่างสงบ

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแวะเวือนมาหาเดี่ยวเป็นประจำ เพื่อคอยให้การช่วยเหลือและถามไถ่อาการ ทางโรงพยาบาลได้มอบเสาแขวนน้ำยาล้างไตไว้ให้เดี่ยวใช้ที่ห้องบำบัดของเขา ทั้งนี้ โรงพยาบาลยังคอยตรวจสอบให้แน่ใจว่าเดี่ยวได้รับวัสดุทางการแพทย์ที่ส่งตรงมาจากกรุงเทพฯอยู่เป็นประจำหรือไม่

เจ้าหน้าทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำชุมชนแวะมาเยี่ยมเยือนเดี่ยวที่บ้านเป็นประจำ เดี่ยวรู้สึกซาบซึ้งที่เจ้าหน้าที่ทุกคนเอาใส่ใจใส่เขา อย่างน้อยก็หนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ที่มีใครสักคนนอกเหนือจากมารดาผู้ที่อยู่เคียงข้างเขาจะมาสนใจคอยถามไถ่อาการเจ็บปวดของเขา

ที่จริงแล้วเดี่ยวรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจที่ไม่ต้องเรียกร้องอะไรมากไปกว่านี้ เขาและแม่ นางสุดตา คำเหมือน ต่างเข้าใจดีว่า การติดเชื้อจะทำให้ทุกอย่างสิ้นสุดลง พวกเขาจึงพยายามทำให้ห้องสะอาดอยู่เสมอ จึงแทบไม่เห็นว่ามีแม้แต่ฝุ่น แมลงหรือสัตว์สิ่งมีชีวิตอยู่ในห้อง

หลายเดือนแล้วที่เดี่ยวและแม่ค้นพบว่ามีสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เดี่ยวมีชีวิตรอดได้ ถ้าขาดสิ่งนี้ชีวิตของเขาอาจยุติลงได้ นั่นคือ โต๊ะสแตนเลส โต๊ะสแตนเลสที่ทั้งสองต้องการใช้ราคา 3,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากกว่าที่แม่ของเดี่ยวจะหาได้ต่อเดือน โต๊ะสแตนเลสนี้อาจถูกใช้เป็นที่วางสายสายสวนฟอกเลือด แผ่นเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค ไปจนถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การฟอกเลือกมีความสะอาดเพียงพอ ทั้งนี้ โต๊ะสแตนเลสจะยิ่งทำให้การบำบัดมีความสะอาดและปลอดเชื้อมากยิ่งขึ้น แถมยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย

แต่เดี่ยวและแม่ไม่กล้าขอให้ทางโรงพยาบาลจัดหามาให้

แม้เป็นเวลากว่าหกปีที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก เป็นเวลาหกปีที่ชีวิตของเดี่ยวยังอยู่รอด พวกเขาทั้งสองคนก็ยังไม่กล้าที่จะเอ่ยขอ

“เรารู้สึกเกรงใจเขา” แม่ของเดี่ยวกล่าวอย่างราบเรียบ “เราไม่อยากขอ เรารู้ว่ามันแพง เขาช่วยเรามาเยอะแล้ว”

เมื่อต้นปี เดี่ยวและแพทย์ผู้รักษาได้ลงนามสัญญาร่วมกัน เป็นสัญญาข้อตกลงที่ว่า เดี่ยวจะไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการกู้ชีพหากในอนาคตร่างกายของเขาเกิดภาวะช็อกอีกครั้ง โดยเดี่ยวจะใช้วิธีการล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) จนกว่าจะไม่ยื้อชีวิตของเขาไว้ต่อไปไม่ได้

เดี่ยวกำลังจะตาย

ทั้งๆ ที่ตามจริงแล้ว เขาไม่ควรจะต้องตาย


ประวีนา เฟร์นส เป็นนักศึกษาสาขาสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยทูเลน เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา และ แอบบี มาริโน เป็นนักศึกษาสาขาสังคมวิทยาและเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยทัลซา รัฐโอคลาโฮมา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยภาคการศึกษาที่ผ่านมา ทั้งสองได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อร่วมศึกษาหลักสูตรด้านการพัฒนาและสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ถ่ายภาพโดย ประวีนา เฟร์นส

image_pdfimage_print