โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นวันครบ 3 ปีรัฐประหาร หรือการยึดอำนาจการปกครองไปจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วชีวิตหลังรัฐประหารของประชาชนทั่วไปรวมถึงประชาชนชาวอีสานได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พร้อมตั้งคสช.เข้ามาบริหารประเทศ ภาพจากไทยวิกิพีเดีย

ถ้าจะพูดถึงการทำงานของ คสช.ที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ 5 สาย (องค์กรที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ทั้ง 5 องค์กร ประกอบด้วย คสช. คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ) ในรอบปีที่ผ่านมา คงมีประเด็นและรายละเอียดจำนวนมากให้กล่าวถึง ฉะนั้น จึงควรพิจารณาเฉพาะประเด็นสำคัญและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงให้เห็นเป็นรูปธรรม

ย้อนกลับไป 1 ปีที่แล้ว พบว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่กรธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว และกำลังเดินหน้าไปสู่การออกเสียงประชามติ จึงเท่ากับว่าสิ่งที่แตกต่างระหว่างโอกาสครบรอบ 2 ปีกับ 3 ปีของคสช. คือ การมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หรือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านการลงเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมปีที่ผ่านมา ท่ามการข้อกังขาถึงความชอบธรรมของการจัดทำประชามติ เนื่องจากผู้ที่รณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญถูกจับกุมดำเนินคดี ขณะที่หัวหน้าคสช.กลับประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญได้

ผลของการที่ประชาชนส่วนใหญ่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2560 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ระบุว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแม็ปจะมีขึ้นในปี 2560 หรืออย่างช้าคือต้นปี 2561

ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นจริงตามที่นายมีชัยระบุ ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายของการปกครองระบบเผด็จการทหาร แต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพื่อนำประเทศไทยไปสู่การปกครองโดยประชาชนกลับล่าช้ากว่าที่กำหนด นั่นคือภายใน 90 วันหลังจากวันออกเสียงประชามติ หรือต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 เนื่องจาก สนช.แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติของประชาชนแล้วกลับมาแก้ไขใหม่ได้อีก

ผลสุดท้ายกว่าที่รัฐธรรมนูญจะประกาศต้องล่วงมาจนถึงวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมาหรือช้ากว่าโรดแม็ปเดิมถึง 5 เดือน ทำให้การเลือกตั้งที่นายมีชัยคาดว่าจะมีขึ้นในปลายปี 2560 ต้องถูกเลื่อนออกไปอีก 1 ปี เป็นไม่เกินปลายปี 2561

จึงสรุปได้ว่า การเข้ายึดอำนาจของคสช.ในรอบ 3 ปีก็ยังไม่มีความแน่นอนใดๆ ว่ากองทัพจะคืนอำนาจที่ยึดไปให้กลับประชาชนหรือไม่ และยังไม่มีความชัดเจนว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อใดกันแน่ เนื่องจากการเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 หรือ 1 เดือนหลังการยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. บอกว่า จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่เกินปลายปี 2558 ซึ่งถ้าหัวหน้า คสช. ทำตามคำพูดก็ควรมีการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้แล้วถึงหนึ่งปีครึ่ง แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ใครบอกได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด

หากยิ่งเมื่อพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 จะพบว่ามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ นั่นเท่ากับว่าอำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้า คสช. จะยังคงอยู่ต่อไป หรือหมายความว่า สภาวการณ์ในช่วงเวลานี้ไม่แตกต่างจากสภาวการณ์ช่วงก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จึงยังพบเห็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลที่ยังเกิดขึ้นอยู่ กรณีล่าสุดคือ การห้ามพูดคำว่า “คสช. เผด็จการ รัฐประหาร” ในการจัดงานครบ 3 ปีรัฐประหาร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา

นั่นเท่ากับว่า สามปีรัฐประหาร ประชาชนชาวไทยยังไม่ได้พบกับความสุขตามที่คสช.ตั้งใจจะมอบให้ตามเนื้อร้องของบทเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ที่บอกว่า “เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน” เพราะการขอเวลาอีกไม่นานหมายความว่าคสช. ตั้งใจจะปกครองประเทศในสภาวะยกเว้นโดยไม่มีการเลือกตั้งไม่นานนัก จากนั้นจะคืนความสุขให้ประชาชนหลังมีการเลือกตั้ง แต่ คสช. ก็ไม่ได้ทำตามที่บอกไว้ แถมยังคงไว้ซึ่งมาตรา 44 ที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่ คสช. อีกต่างหาก (รวมถึงการให้อำนาจนายทหารสัญญาบัตรควบคุมตัวบุคคลใดก็ได้เป็นเวลา 7 วันโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมาย)

ประเด็นต่อมาคือ คสช. ประสบความสำเร็จในการสร้างความปรองดองตามที่ประกาศไว้หรือไม่ ในเรื่องการสร้างความปรองดองคณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้นมา โดยมีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผลงานด้านความปรองดองที่เป็นรูปธรรม

สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการที่กองทัพทำตัวเป็นคนกลางในการสร้างความปรองดอง ทั้งที่ตามสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา กองทัพถือเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยเฉพาะคนเสื้อแดง ดังนั้นการเจรจาสร้างความปรองดองในปีที่สามของการทำงานของคสช.จึงยากจะประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับประเด็นก่อนหน้านี้คือ การกำหนดวันเลือกตั้งและการคืนความสุขให้ประชาชน

กลับมาที่ผลกระทบของการเข้ามาของคสช.ต่อคนอีสาน ประเด็นแรกคือเรื่องสิทธิมนุษยชน จะพบเห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงมีอยู่ เช่น กรณีที่นายจตุภัทร์ บุญภัทรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดขอนแก่นโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว สืบเนื่องจากการตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นเบื้องสูงหลังแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทยร่วมกับผู้อื่นอีกกว่า 2 พันคน แต่ไผ่กลับถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียว ไผ่ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนจากประเทศเกาหลีใต้แต่เดินทางไปรับรางวัลไม่ได้ กรณีดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันถึงการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เป็นอย่างดี

ครอบครัวของนายจตุภัทร์ บุญภัทรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” มอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนให้แก่ไผ่ ภาพจากเฟซบุ๊ควิบูลย์ บุญภัทร์รักษา

อีกกรณีเกิดขึ้นที่จังหวัดสกลนคร คือ กรณีที่นายศตานนท์ ชื่นตา แกนนำกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ถูกดำเนินคดีฐานทำผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากเป็นแกนนำคัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่

นายศตานนท์ ชื่นตา สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ผู้คัดค้านการสำรวจเหมืองแร่โปแตช เข้ารับทราบข้อหาทำผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธรณะ ที่สถานีตำรวจภูธรวานรนิวาส

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม คนทำงานในพื้นที่ต่างให้คะแนนคสช.สอบตก อาทิ นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลยระบุว่า การเข้ามาของคสช. ไม่ได้แก้ปัญหาให้กับกลุ่มฯ แต่ทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนยากลำบากขึ้น ส่วนนายกฤษกร ศิลารักษ์ บอกว่าการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลด้วยรูปแบบคณะกรรมการ ต้องถอยหลังเนื่องจากการเข้ามาของ คสช.

นี่ยังไม่นับถึงการสูญหายของ “พ่อเด่น” นายเด่น คำแหล้ นักเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินจังหวัดชัยภูมิที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2559 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะตามหาความจริงที่เกิดขึ้นได้

จากทั้งหมดที่กล่าวมา จึงพอสรุปได้ว่า ผลกระทบที่ชาวอีสานได้รับจากการเข้ามาของ คสช. ก็คงไม่แตกต่างจากสิ่งที่ประชาชนทั่วไปได้รับ นั่นคือ ทุกคนล้วนได้รับคำสัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้น แต่ตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีสิ่งใดที่ส่งผลในทางบวก รวมถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ยิ่งแย่ลง วัดจากจำนวนผู้มาลงทะเบียนคนจน (ผู้มีรายได้ไม่ถึง 1 แสนบาทต่อปี) ในปีนี้มีมากกว่า 12 ล้านคน มากกว่าปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน การที่มีคนจนเพิ่มขึ้นย่อมสื่อความหมายถึงสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับการได้รับความสุขคืนมาเป็นแน่

ถ้าจำนวนคนจนยังไม่ชัดเจนพอ ก็สามารถพิจารณาจากคำพูดของนายกรัฐมนตรีได้ว่า “การที่คนยากจนมาจากความเกียจคร้าน” คำพูดดังกล่าวสะท้อนตัวตนของพล.อ.ประยุทธ์ หลังยึดอำนาจครบ 3 ปีได้เป็นอย่างดีว่า นอกจากจะแก้ไขเรื่องความยากจนล้มเหลวแล้ว ยังมีปัญหาในการคิดอย่างมีวิจารณญาณอีกด้วย

จากเหตุการณ์ทั้งหมด คงไม่เกินไปที่จะกล่าวว่าสิ่งที่คนไทยทั่วไปและชาวอีสานได้รับในช่วงเวลาที่ คสช. เข้ามาทำหน้าที่ คือ การมีผู้นำที่ไม่รักษาสัญญา ทำงานด้อยประสิทธิภาพแต่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือ ซึ่งก็คือความหายนะของผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างแท้จริง

ถ้าพล.อ.ประยุทธ์คิดจะทบทวนคำพูดของตัวเองขณะที่เข้าสู่อำนาจใหม่ๆว่า “บริหารประเทศง่ายนิดเดียว” ก็คงยังไม่สายเกินไป เพราะอยู่มาจนครบ 3 ปีหัวหน้าคสช. คงตระหนักได้แล้วว่า การทำงานไม่ง่ายเหมือนการพูด

image_pdfimage_print