อุบลราชธานี – ผู้ปกครองชาวอำเภอวารินชำราบเดือดร้อนช่วงเปิดเทอมเนื่องจากมีเงินไม่พอเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรหลาน ต่างจากช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เศรษฐกิจยังดีอยู่ ขณะที่โรงรับจำนำเตรียมสำรองเงินสดเพิ่มเป็น 60 ล้านเพื่อรองรับผู้ปกครองที่จะนำของมาจำนำ

เดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเปิดปีการศึกษาใหม่ส่งผลให้ผู้ปกครองต้องหารายได้เพิ่มเติมเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา เดอะอีสานเรคคอร์ดลงพื้นที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อสอบถามผู้ปกครองถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ได้รับหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจปกครองประเทศมาเกือบ 3 ปี

นางบุญช่วย โพธิ์พิมพ์ อายุ 61 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไปภายในหมู่บ้านหนองสองห้อง ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เธอเป็นผู้ปกครองของหลานชายหนึ่งคนที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เปิดเผยว่า ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมประมาณ 1,500 บาท แต่มีเงินติดตัวเพียง 1,300 บาทเท่านั้น จึงซื้อได้แค่ชุดนักเรียนและรองเท้านักเรียนจำนวน 1 ชุดให้หลานก่อนรวมเป็นเงินประมาณ 1,000 บาท แต่ยังต้องจ่ายค่ารถรับส่งนักเรียนอีก 500 บาท ตนจึงขอยืมเงินเพื่อนบ้านข้างเคียงจำนวน 1,000 บาทมาจ่ายค่ารถรับส่งหลานไปโรงเรียน ทำให้มีเงินติดตัวเพียง 800 บาทเท่านั้น

นางบุญช่วย โพธิ์พิมพ์ พร้อมจักรยานคู่กายที่ใช้ขับขี่ไปทำงานรับจ้างภายในหมู่บ้าน

นางบุญช่วยเล่าว่า ตนมีรายได้ประมาณปีละ 40,000 บาท หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 3,000 บาท รายได้ดังกล่าวมาจากเงินที่ลูกสาว (แม่ของหลานชาย) ที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่งเงินมาให้เดือนละ 2,000 บาท เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และมาจากการทำงานรับจ้างทั่วไปในหมู่บ้าน

“รายได้แต่ละเดือนแทบไม่พอรายจ่าย เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ให้หลานไปโรงเรียนก็ตกเดือนละ 1,500 บาทแล้ว ยังไม่นับรวมค่าช่วยงานบุญ งานศพในหมู่บ้าน รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งทำให้ตนแถบไม่มีเงินเหลือเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน” นางบุญช่วยกล่าว

นางบุญช่วยบอกว่า เดือนที่มีค่าใช้ข่ายสูงต้องขอยืมเงินเพื่อนบ้านมาใช้จ่ายก่อนประมาณเดือนละ 1,000 – 1,500 บาท แล้วค่อยทยอยคืนเงินต้องให้กับเพื่อนบ้าน ในอนาคตหากมีเงินไม่เพียงพอก็อาจจะให้หลานชายหยุดเรียนหนังสือหรือให้มาเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

นางบุญช่วยกล่าวทิ้งท้ายว่า สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตนเคยเช่าที่ดินประมาณ 5 ไร่เพื่อทำนาปลูกข้าวหอมมะลิขายข้าวเปลือกได้ราคาตันละ 20,000 บาท ทำให้ตนมีเงินสำรองเก็บประมาณปีละ 8,000-9,000 บาท แต่เมื่อปี 2557 โรงสีแห่งเดิมรับซื้อข้าวเพียงราคาตันละ 8,000 กว่าบาทซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมากตนจึงเลิกทำนาทำให้ไม่มีเงินเก็บ

นางสมควร ธานี อายุ 54 ปี แม่ค้าขายก๋วยจั๊บญวนในหมู่บ้านหนองสองห้อง ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีกล่าวว่า กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมของหลานทั้ง 2 คนที่ลูกชายฝากให้เลี้ยงดู โดยหลานชายคนโตศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านสุขสำราญ อ.วารินชำราบ ส่วนหลานสาวคนเล็กศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนบ้านหนองสองห้องซึ่งเป็นโรงเรียนในหมู่บ้าน

นางสมควร ธานี ถือซองสัญญาเช่าซื้อทองรูปพรรณจากบริษัทแห่งหนึ่งในจ.อุบลราชธานี โดยนางสมควรนำเอาทองไปขายเพื่อให้มีเงินมาใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมของหลานทั้ง 2 คน

นางสมควรกล่าวอีกว่า ก่อนเปิดเทอมตนเช่าซื้อทองรูปพรรณน้ำหนัก 2 สลึง จากบริษัทให้กู้เงินแห่งหนึ่งในจ.อุบลราชธานี จากนั้นตนนำทองไปขายให้กับร้านขายทองได้เงินมา 10,000 บาท เพราะต้องการเงินสำรองไว้ใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมของหลานและใช้จ่ายในแต่ละวัน โดยหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อทอง ตนต้องผ่อนจ่ายทองวันละ 160 บาทเป็นเวลา 64 วันเป็นเงิน 10,240 บาท ซึ่งมากกว่าราคาทองที่ตนนำไปขายอยู่ประมาณ 240 บาท

นางสมควรเล่าว่า หลังจากขายทองได้จึงไปซื้อชุดนักเรียน 2 ชุดและรองเท้านักเรียน 1 คู่ให้หลานทั้งสองคนรวมเป็นเงินประมาณคนละ 1,800 บาท รวม 3,600 บาท

“รู้สึกดีที่ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมของหลานทั้ง 2 คนเพราะรัฐบาลสนับสนุนให้เรียนฟรี 15 ปี แต่ก็ยังมีค่าหนังสือบางส่วนของหลานคนโตที่โรงเรียนไม่ได้แจกฟรี จึงบอกหลานไปว่าถ้ายังไม่ได้เรียนในเทอมนี้ก็อย่าเพิ่งซื้อเพราะควรประหยัดเงินไว้” นางสมควรกล่าว

แม่ค้าขายก๋วยจั๊บญวนคนนี้เล่าว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากำไรที่ได้จากการขายก๋วยจั๊บญวนเฉลี่ยวันละ 200 – 300 บาท หรือเดือนละประมาณ 6,000 – 9,000 บาท และยังมีเงินที่ลูกชายส่งมาให้เดือนละ 1,000-1,500 บาท ทำให้แต่ละเดือนมีรายได้ประมาณ 7,000 – 10,500 บาท แต่ตนต้องนำเงินที่ได้ไปผ่อนจ่ายค่าทองเดือนละ 4,800 บาททำให้เหลือเงินไว้ใช้จ่ายในครอบครัวเพียงวันละ 40 – 140 บาท

นางสมควรกล่าวว่า แต่ละวันตนต้องซื้อวัตถุดิบมาทำก๋วยจั๊บญวณวันละ 100 บาทแต่วัตถุดิบไม่จำเป็นต้องซื้อทุกวันเพราะของสดบางอย่างเก็บไว้ได้หลายวัน อีกทั้งยังต้องให้เงินหลาน 2 คนไปโรงเรียนวันละ 60 บาท รวมรายจ่ายช่วงเปิดเทอมตกเดือนละ 9,600 บาททำให้เดือนนี้มีรายได้ไม่พอต่อรายจ่าย

ส่วนการค้าขายช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นางสมควรบอกว่า ช่วงนั้นขายก๋วยจั๊บญวณได้กำไรวันละ 400 – 600 บาททำให้มีรายได้ตกเดือนละ 12,000 – 18,000 บาทมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 6,000 – 12,000 บาท เมื่อรวมกับเงินที่ลูกชายส่งมาให้ทำให้เหลือเงินไว้ใช้ในครอบครัวประมาณเดือนละประมาณ 10,000 บาท

“ช่วงนั้นมีเงินไว้จับจ่ายซื้อของ สามารถเช่าซื้อเตาแก๊สและเช่าซื้อเครื่องซักผ้า โดยผ่อนจ่ายทั้ง 2 อย่างเดือนละ 1,700 บาทได้อย่างสบายใจ แตกต่างจากช่วงนี้ไม่มีแม้แต่เงินเก็บไว้ใช้จ่าย” นางสมควรกล่าว

แม่ค้าขายก๋วยจั๊บญวนคนนี้กังวลว่า หลานจะไม่ได้เรียนในระดับสูงๆ เพราะการเรียนสูงจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรีทั้งหมดจนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

นายบุญโฮม นิลเกษ อายุ 41 ปี ชาวต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พ่อค้าขายปลาหมึกย่างบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวว่า ช่วงเปิดเทอมมีค่าใช้จ่ายสำหรับลูก 3 คนกว่า 10,000 บาท ได้แก่ ค่าเทอมของลูกสาวคนโตที่กำลังเรียนอยู่ระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 3,000 บาท ค่าชุดนักเรียนและค่ารองเท้าของลูกชายคนรองและลูกชายคนเล็กซึ่งเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ ประถมศึกษาปีที่ 1 อีกคนละ 3,500 บาท ทำให้ตนต้องนำทองคำรูปพรรณน้ำหนัก 2 สลึงไปจำนำ และได้เงินมาประมาณ 10,000 บาทเพื่อไว้ใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม

นายบุญโฮม นิลเกษ พ่อค้าขายปลาลูกชิ้นปิ้งและปลาหมึกย่างกับลูกชายคนเล็กที่กำลังจะเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนบ้านหนองสองห้อง ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

นายบุญโฮมเล่าว่า ตนมีรายได้จากการขายปลาหมึกย่างประมาณวันละ 400-500 บาท ส่วนภรรยามีรายได้จากการขายแตงโมตกวันละ 500-600 บาท รวมแล้วมีรายได้ประมาณวันละ 900 -1,100 บาท แต่เมื่อหักค่าวัตถุดิบแล้วจะเหลือกำไรประมาณวันละ 500 – 600 บาท เฉลี่ยแล้วจะมีเงินใช้เดือนละประมาณ 15,000 – 18,000 บาท ช่วงนี้ขายของยากลำบากแถมได้กำไรน้อยลงเพราะวัตถุดิบมีราคาแพงขึ้น ต่างจากช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ขายปลาหมึกย่างได้กำไรประมาณวันละ 1,000 บาท

นายบุญโฮมเล่าอีกว่า ตนและภรรยาทำนาข้าวเป็นอาชีพเสริมมีที่นาจำนวน 7 ไร่ เมื่อปีที่ผ่านมาตนลงทุนค่าทำนา 20,000 บาท ประกอบด้วย การเตรียมดิน การหว่านข้าวจนถึงการเก็บเกี่ยว แต่เมื่อจะนำข้าวไปขายกลับได้ราคาต่ำมากตนจึงไม่ขายข้าว

“ทำนาปีก่อน ตัดสินใจไม่ขายข้าวเพราะราคารับซื้อข้าวต่ำ ขายได้เพียงตันละ 12,000 บาท จึงเก็บข้าวไว้กิน ก็ยังดีที่ไม่ต้องซื้อข้าวกิน”  นายบุญโฮมกล่าว

นายบุญโฮมกล่าวว่า ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขายข้าวได้ราคาตันละ 20,000 บาทมีรายได้จากการขายข้าวปีละประมาณ 100,000 บาท ทำให้ครอบครัวมีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็นไม่เหมือนในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่มีรายได้จากการทำนา
พ่อค้าขายปลาหมึกย่างผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากขอให้รัฐบาลเปิดรับจำนำข้าวในราคาตันละ 15,000-20,000 บาทเหมือนอย่างที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยทำไว้เพื่อให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น และอยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนเรียนฟรี เพราะลูกสาวคนโตของตนที่กำลังเรียนอยู่ชั้นปวช. ต้องจ่ายค่าเทอมๆ ละ 3,000 บาท ซึ่งจะช่วยลดภาระผู้ปกครองในเรื่องการเรียนของลูกได้อีกทางหนึ่ง

นายปฏิวัฒน์ ศรีสงคราม ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีกล่าวว่า ช่วงเปิดเทอมมักจะมีลูกค้ามาใช้บริการโรงรับจำนำจำนวนมากกว่าช่วงปกติ เดือนพฤษภาคมเทศบาลวารินชำราบจึงได้เตรียมเงินสำรองไว้ถึง 60 ล้านบาท โดยปกติจะเตรียมเงินไว้ 20 ล้านบาท ในช่วง 10 วันแรกของเดือนพฤษภาคม สถานธนานุบาลแห่งนี้ได้รับจำนำไปแล้วประมาณ 20 ล้านบาท เกือบเท่ากับเดือนมกราคมทั้งเดือนที่รับจำนำประมาณ 28 ล้านบาท

นายปฏิวัฒน์ ศรีสงคราม ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

นายปฏิวัฒน์เล่าว่า ประชาชนที่นำสิ่งของมาจำนำบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอมทำให้มีภาระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเทอมของลูกและหลานจำนวนมาก จึงต้องนำสิ่งของมาจำนำเพื่อให้มีเงินไว้ใช้จ่าย ประชาชนที่นำสินค้ามาจำนำมีหลายอาชีพ ตั้งแต่ค้าขาย เกษตรกร ไปจนถึงข้าราชการ

นายภวิศ ลิ้มวงษ์ทอง ผู้จัดการร้าน A.N.C. ธุรกิจ ผู้ให้บริการซื้อ-ขายสินค้ามือสอง ภายใต้การจดทะเบียนเป็นการขายทอดตลาดและค้าของเก่า อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีกล่าวว่า ช่วงใกล้เปิดเทอมมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการร้านจำนวนมาก ลูกค้าที่มาใช้บริการมีทุกระดับไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านทั่วไปหรือพ่อค้าแม่ค้า โดยสิ่งของที่นำมาจำนำส่วนมากจะเป็นเครื่องมือช่างและเครื่องใช้ไฟฟ้า

นายภวิศ ลิ้มวงษ์ทอง ผู้จัดการร้าน A.N.C.ธุรกิจกล่าวว่า ลูกค้าบางรายบ่นให้ฟังว่าช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีไม่เหมือนช่วงที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นายภวิศเล่าว่า ช่วงเปิดเทอมจะมีลูกค้านำสิ่งของมาจำนำจำนวนมากแบบนี้ทุกปีเพราะลูกค้ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  ลูกค้าบางรายบ่นให้ฟังว่าช่วงเศรษฐกิจไม่ดีไม่เหมือนช่วงที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใครๆ ก็พูดถึงแต่ช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ช่วงนั้นเศรษฐกิจดีซึ่งแตกต่างจากช่วงนี้ที่เศรษฐกิจไม่ดีหากินลำบาก   

นายภวิศกล่าวว่า ร้านได้สำรองเงินไว้สำหรับลูกค้าที่เอาของมาจำนำไว้เพียง 1 แสนกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงปกติที่ไม่ใช่ช่วงเปิดเทอมก็ไม่แตกต่างกันมาก เพราะเงินที่สำรองไว้รองรับลูกค้าโดยส่วนมากเป็นกำไรที่ได้จากการขายของหลุดจำนำที่ลูกค้าไม่มีเงินมาชำระคืนของที่นำมาจำนำ

ผู้จัดการร้าน A.N.C. ธุรกิจกล่าวอีกว่า ช่วงนี้ร้านกำลังประสบปัญหาการระบายสินค้าหลุดจำนำโดยเฉพาะเครื่องมือช่างที่หลุดจำนำแตกต่างกับช่วงที่เศรษฐกิจดีในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ร้านสามารถระบายของหลุดจำนำได้คล่องตัวเพราะว่าเศรษฐกิจดีคนมีงานทำ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มีงานทำแล้วนิยมมาซื้อสินค้าหลุดจำนำจากร้านของตน

 

image_pdfimage_print