โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

ระหว่างจัดรายการที่บังคับให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องถ่ายทอดสดทุกคืนวันศุกร์ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ฝากคำถาม 4 ข้อถึงประชาชนว่า

“ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

หากไม่ได้ จะทำอย่างไร

การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร”

พล.อ.ประยุทธ์ให้ประชาชนส่งคำตอบถามยังศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมคำตอบมาให้ตนเอง

การตั้งคำถามของนายกรัฐมนตรีถูกขยายความภายหลังโดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า พล.อ.ประยุทธ์มุ่งหวังให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของบ้านเมือง

แต่ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงการตั้งคำถามของนายกรัฐมนตรี ควรพิจารณาถึงเหตุการณ์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาประกอบกันด้วย เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2560 เกิดเหตุระเบิด “ไปป์บอมบ์” ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แรงระเบิดทำให้มีผู้บาดเจ็บ 25 ราย เป็นทหาร 15 ราย พลเรือน 10 ราย โดยไม่มีผู้เสียชีวิต

เหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากเหตุระเบิด 2 ครั้งก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา เหตุเกิดที่หน้ากองสลากกินแบ่งรัฐบาล (หลังเก่า) ถนนราชดำเนิน มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย และเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่หน้าโรงละครแห่งชาติ มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย เช่นกัน

เหตุระเบิดใจกลางกรุงเทพมหานครทั้ง 3 ครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีครั้งใดที่กล้องวงจรปิดจับภาพเหตุการณ์หรือคนก่อเหตุได้ โดยเฉพาะเหตุระเบิดครั้งที่ 3 ที่เกิดขึ้นในเขตทหาร กล้องวงจรปิดในจุดเกิดเหตุมีทั้งหมด 11 ตัวใช้งานได้จริงเพียง 4 ตัวเท่านั้น

จึงเกิดคำถามว่าใครเป็นผู้ลงมือสร้างสถานการณ์ แล้วทำไปด้วยวัตถุประสงค์ใด  

ในขณะที่ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุการลอบวางระเบิด แต่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กลับระบุว่า “ถ้าบ้านเมืองยังเป็นอยู่แบบนี้ ทั้งการวางระเบิด การใช้อาวุธสงคราม การทำให้เกิดความขัดแย้งแล้วมีปัญหาเหมือนเดิม แล้วจะเลือกตั้งกันได้หรือไม่ ผมกำหนดไปก็เท่านั้น”

คำพูดลักษณะดังกล่าวทำให้ตีความได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะใช้เหตุระเบิดเพื่อประโยชน์ทางการเมืองด้วยการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง หลังจากที่ได้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ นับจากสัญญาครั้งแรกว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2558

จึงเห็นได้ว่า เหตุระเบิดปริศนา การประกาศว่าอาจเลื่อนเลือกตั้ง และการตั้งคำถาม 4 ข้อ มีความสอดคล้องกัน

ก่อนหน้าที่หัวหน้าคสช. จะได้อ่านคำตอบจากประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรม ขอเชิญมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนชาวอีสานบางส่วนก่อน โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ตอบคำถามของพล.อ.ประยุทธ์ ข้อแรกเรื่องการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ว่า “คงไม่มีรัฐบาลไหนมีธรรมาภิบาลสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะได้รัฐบาลที่มาจากประชาชน เป็นรัฐบาลที่มีกลไกตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินได้”

นายอดิศร กล่าวอีกว่า การที่นายกรัฐมนตรีนำเรื่องนี้มาพูดคงเพื่อเตือนกลุ่มเคลื่อนไหวก่อเหตุระเบิดมากกว่าส่งสัญญาณว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก เพราะถ้าเลื่อนการเลือกตั้งอีกจะผิดสัญญาต่อประชาชนในประเทศและประชาคมโลก

วันเดียวกัน นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเลือกใครมาเป็นผู้แทนก็ได้ ประชาชนมีวุฒิภาวะที่จะตัดสินอนาคตทางการเมืองได้ นายกรัฐมนตรีไม่เข้าใจกติกาการเลือกตั้ง จึงอยู่ที่ว่าพล.อ.ประยุทธ์พร้อมหรือไม่ที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง ธรรมาภิบาลจะมีหรือไม่อยู่ที่ประชาชนตัดสินใจ โรดแม็ปแปลว่าอะไรยังหาคำแปลไม่ได้

จากข้างต้น จับประเด็นได้ว่า คำตอบของนักวิชาการและนักการเมืองมีจุดร่วมกันคือ หัวหน้า คสช. ตั้งคำถามไปเพื่ออะไรกันแน่ และพล.อ.ประยุทธ์มีความเข้าใจการเมืองไทยในระดับไหน

ขณะเดียวกันก่อนจะตอบคำถามของ หัวหน้า คสช. ประชาชนสามารถตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการดำรงอยู่ของนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน เช่น

พล.อ.ประยุทธ์มีความชอบธรรมอย่างไรในการเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อมาตั้งคำถามต่อประชาชน

นายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต ให้คำนิยามถึงความชอบธรรมทางการเมืองว่า ความชอบธรรมทางการเมือง แตกต่างจากความถูกต้องทางกฎหมาย นักกฎหมายมักจะเน้นความถูกต้องตามตัวกฎหมาย โดยไม่เข้าใจว่าในทางการเมืองความถูกต้องตามกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอในระบอบประชาธิปไตย สำหรับความชอบธรรมทางการเมืองของผู้ใช้อำนาจรัฐ ประกอบด้วย

“การเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจ การปกครองแบบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน การลงคะแนนเสียงของประชาชนจึงเป็นที่มาของความชอบธรรมทางการเมือง

ความสัมฤทธิ์ผลในการปกครองบริหาร สิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นก็คือคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความกล้าหาญเข้ามาแก้ปัญหา

พฤติกรรมทางการเมือง พฤติกรรมทางการเมืองและบุคลิกภาพต้องสอดคล้องกับกฎหมาย ศีลธรรม วัฒนธรรม และประเพณี”

จากคำนิยามข้างต้น จึงพิสูจน์ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์สอบตกเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง ฉะนั้น การบริหารประเทศที่ผ่านมา รวมถึงการตั้งคำถาม 4 ข้อถึงประชาชนจึงขาดความชอบธรรมไปด้วย ประชาชนเองต่างหากที่สามารถตั้งคำถามกลับไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีของพวกเขาหรือไม่

คำถาม 4 ข้อของ หัวหน้าคสช. จึงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากว่า “เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ”

image_pdfimage_print