ตอนที่ 2 เรื่องราวของชายป่วยคนหนึ่งที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดด้วยการพึ่งพาระบบบริการสุขภาพของประเทศที่หลายคนยกย่องว่าดีเยี่ยม แต่ทว่าเป็นระบบที่มักล้มเหลวในการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลมากที่สุด ตอนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องของโครงสร้างเชิงระบบที่ส่งผลกระทบต่อชะตาชีวิตของเดี่ยว

อ่าน “ตอนที่ 1 ชะตาชีวิตอันเลือนราง”

บทความพิเศษ โดย ประวีนา เฟร์นส และ แอบบี มาริโน รายงานจากอำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เรียบเรียงโดย พีระ ส่องคืนอธรรม

ตอนที่ 2: ชีวิตที่ต้องขึ้นอยู่กับระบบที่ไว้วางใจไม่ได้

ของเหลวสีขุ่นที่ขับออกจากร่างกายเดี่ยวไหลผ่านสายพลาสติกลงถุงน้ำยาล้างไตสีใส นางสุดตา คำเหมือน อายุ 58 ปี มารดาของเดี่ยว ยืนถือถุงน้ำล้างไตสีขุ่นใบนั้นที่ภายในหมุนวนไปมาด้วยน้ำล้างไตที่มาจากภาวะโรคโตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ลูกชายของเธอต้องทนทุกข์ทรมาน

ชีวิตของทั้งสองคนขึ้นอยู่กับการล้างไตที่ต้องปฎิบัติทุกวันกับความหวังที่ไหลรินเหือดแห้ง

เดี่ยวป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง โรคร้ายที่มีผลกระทบจากปัจจัยเชิงลบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โรคร้ายที่การรักษาอยู่ไกลเกินเอื้อม

สาเหตุที่ทำให้เดี่ยวป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังอาจมาจากการสัมผัสกับสารพิษเมื่อตอนทำงานรับจ้างพ่นสารเคมีในอดีต อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะพันธุกรรมที่ผิดปกติไป หรือแม้กระทั่งมาจากเรื่องของอาหารการกิน

ถึงตอนนี้ ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นอะไรก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป

เดี่ยวไม่มีทางเลือกอื่น เขาจำต้องฝากชีวิตตัวเองไว้กับระบบที่ไว้วางใจไม่ได้ ระบบที่ดูแลคนป่วยอย่างเดี่ยวไม่ได้

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เดี่ยวเข้ารับการรักษาตามสิทธิโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและอาการป่วยที่มีก็อยู่ติดตัวมาตลอดเป็นเวลาหกปี วิธีรักษาที่เดี่ยวใช้คือวิธีการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองที่บ้าน โดยมีมารดาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา อาการป่วยของเดี่ยวเกิดภาวะแทรกซ้อน เดี่ยวต้องเปลี่ยนวิธีการบำบัด จากเดิมที่ล้างไตเองที่บ้าน เขาต้องเข้ารับการบำบัดไตทดแทนโดยผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่อยู่ห่างออกไปประมาณหนึ่งชั่วโมงด้วยการขับรถ

ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยทุกคนต่างคิดว่าการรักษาที่ตนเองเข้ารับบริการได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ เมื่อปี 2551 ระยะเวลาหนึ่งปีก่อนหมอวินิจฉัยว่าเดี่ยวป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ขยายขอบเขตบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอ้างว่าคนไทยทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลจากรัฐบาล แต่ทว่า “ทุกคน” มักหมายถึงคนจำนวนเพียงเล็กน้อยที่จะมีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางมารักษาและค่าที่พักค้างคืน ด้วยเหตุนี้เอง เดี่ยวและคนอื่นอีกหลายคนจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยที่ได้รับการยกย่องและมีชื่อเสียง

อาคารหลังใหม่ที่โรงพยาบาล

บ้านของเดี่ยวอยู่อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ธุรกิจและการค้าขายที่ตั้งอยู่ตามถนนสายหลักของอำเภอ มีร้านอาหารที่เปิดอยู่เพียงไม่กี่ร้าน หมู่บ้านในชนบทอีสานก็เช่นกัน หลายแห่งเงียบเหงาซบเซาแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง ภาคเกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปและตำแหน่งงานที่ไม่มีให้ทำในพื้นที่ จึงทำให้หลายคนต้องอพยพไปทำงานที่อื่น ทิ้งลูกหลานและคนชราไว้เบื้องหลัง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โรงพยาบาลจะเป็นอีกสถานที่ภายในอำเภอแห่งนี้มีคนจอแจมากที่สุด

แต่ที่นี่ไม่มีศูนย์ไตเทียมไว้คอยบริการผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอย่างเช่นเดี่ยว

โรงพยาบาลที่ไม่มีเงินอุดหนุนเพียงพอจึงต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ แพทย์ประจำโรงพยาบาลอำเภอสุวรรณคูหาระบุว่า โรงพยาบาลแห่งนี้ก็เป็นอีกแห่งที่ไม่มีเงินอุดหนุนเพียงพอ ที่นี่มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 200 คนอยู่ในความดูแล ทั้งนี้ แพทย์ประจำโรงพยาบาลยังบอกอีกว่า มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 10 ที่ได้รับการล้างไต โดยแพทย์จะเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นประจำ พร้อมกับคอยดูแลเรื่องการล้างไตเองที่บ้าน

ส่วนผู้ป่วยอีกร้อยละ 90 ก็ต้องพบกับอุปสรรคในการเข้าถึงการบำบัดทดแทนไต ผู้ป่วยกลุ่มนี้เลือกรับวิธีการรักษาด้วยยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ โดยไม่ได้รับการรักษาอาการไตวายอย่างจริงจังแต่อย่างใด

โรงพยาบาลประจำอำเภอแห่งนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างสร้างอาคารหลังใหม่ กลุ่มผู้บริหารโรงพยาบาลตัดสินใจสร้างอาคารหลังนี้เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้บริการรักษาพยาบาลพระสงฆ์และผู้ป่วยระดับวีไอพีที่ต้องการห้องพักส่วนตัว

การที่โรงพยาบาลตัดสินใจสร้างอาคารหลังใหม่สะท้อนให้เห็นถึงการละเลยการรักษาพยาบาลโรคเรื้อรังโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นโรงมะเร็งและโรคไตเรื้อรัง ทั้งที่ โรงพยาบาลสามารถเลือกสร้างอาคารหลังใหม่แห่งนี้เป็นอาคารคลีนิกรักษามะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัดหรือเป็นศูนย์ไตเทียมประจำโรงพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้

ในอนาคต อาคารหลังใหม่แห่งนี้จะสร้างรายได้ให้กับโรงพยาบาลอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันในทางตรงกันข้าม หากโครงการดังกล่าวสร้างเป็นศูนย์ไตเทียม ก็ยิ่งจะสร้างรายจ่ายเพิ่มให้กับทางโรงพยาบาล เพราะศูนย์ไตเทียมจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝนด้านการบำบัดทดแทนไตเป็นพิเศษอยู่ประจำ และยังต้องมีระบบกรองน้ำบริสุทธิ์ที่มีราคาแพงติดตั้งไว้ใช้งานที่ศูนย์อีกด้วย

เป็นไปได้ว่า หลังจากสร้างอาคารหลังใหม่นี้เสร็จแล้ว รายได้ที่จะได้รับจากการเปิดให้บริการอาจนำมาใช้เป็นเงินทุนสร้างคลีนิกรักษาโรคเรื้อรังในอนาคตก็ได้ แต่เดี่ยวก็คงจะไม่มีวันได้เห็นศูนย์บำบัดทดแทนไตเรื้อรังประจำอำเภอสุวรรณคูหาตามที่เขาหวัง

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลถึงการระดมทุนสร้างอาคารที่พักสำหรับพระภิกษุสงฆ์ว่า “จริงๆ แล้วเป็นวิธีที่ช่วยให้โรงพยาบาลได้สร้างอาคารหลังใหม่ฟรี”

นายศรายุทธ สมศรี เป็นสมาชิกคณะกรรมการอำนวยการโรงพยาบาลและดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหน่วยบริการปฐมภูมิที่ตั้งใกล้กับโรงพยาบาลประจำอำเภอ ในฐานะที่ทำหน้าที่ดูแลและบริการรักษาพยาบาลเดี่ยวมาเป็นเวลาหลายปี นายศรายุทธกล่าวว่า สักวันหนึ่งเขาอยากให้โรงพยาบาลมีศูนย์บำบัดทดแทนไตเรื้อรังของตัวเอง

แต่สำหรับตอนนี้ จากข้อจำกัดที่มีดังกล่าว การรักษาชีวิตของคนป่วยที่กำลังจะตายอยู่แล้วจึงไม่ใช่เรื่องด่วนสำคัญ

การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในพื้นที่ทุรกันดาร

แต่ทว่าความหวังก็ยังอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ศูนย์ไตเทียมประจำโรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานีสามารถฟื้นฟูสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของเดี่ยวได้โดยปราศจากค่าใช้จ่าย แต่น่าเสียดายที่โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้ครอบคลุมค่าเดินทางหรือที่พักค้างคืนสำหรับผู้ป่วยที่ต้องเดินทางมาไกลมารักษาที่นี่

แม่ของเดี่ยวเองก็แทบจะหาเงินรายได้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายไม่ได้อยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เธอจะมีเงินมาจ่ายเป็นค่ารักษาเดี่ยว หากเดี่ยวต้องเดินทางมารับการฟอกไตที่ศูนย์ไตเทียมจังหวัดอุดรธานี เขาจต้องเดินทางมาที่นี่สามครั้งต่อสัปดาห์ รายได้ต่อเดือนของแม่เดี่ยวเองก็ไม่สม่ำเสมอ เฉลี่ยประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากการขายแตงโมหน้าบ้านตัวเอง ด้วยบุตรชายต้องได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง นางสุดตาจึงไปทำงานอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเธอคือคนเดียวที่ต้องอยู่บ้านคอยดูแลเดี่ยว

พิจารณาจากอาการของเดี่ยวแล้ว การต้องเดินทางเพื่อไปรับการบำบัดไตจำนวนหลายครั้งต่อเดือน เดี่ยวจะต้องเหมารถพร้อมคนขับเพื่อพาไป ซึ่งค่าใช้จ่ายจากการเดินทางจะสูงมากถึงสามเท่าของรายได้ที่แม่เดี่ยวเคยหามาได้ต่อเดือน แม้การเดินทางโดยรถโดยสารจะมีค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่การเดินทางด้วยวิธีนี้ก็อาจจะเป็นการเดินทางที่หนักเกินไปสำหรับเดี่ยว ทั้งเรื่องของความสะอาดและการต้องเปลี่ยนรถบัสหลายรอบกว่าจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล

ทางเดียวที่เดี่ยวจะสามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้คือ เมื่อตอนที่เขากำลังใกล้จะตาย และตอนนั้นเองก็คงจะสายเกินไปที่จะช่วยให้เขามีชีวิตรอด

จากข้อมูลการสำรวจโดยหน่วยงานรัฐเมื่อปี 2558 พบว่า จังหวัดทั่วอีสานทั้งหมด 20 จังหวัด มี 12 จังหวัดที่จำนวนแพทย์ผู้รักษามีน้อยกว่าคนไข้ โดยสัดส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วยควรอยู่ที่แพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 4,000 คน ข้อมูลอีกแห่งระบุว่า สัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ในกรุงเทพฯ เท่ากับแพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 850 คน ขณะที่สัดส่วนแพทย์ประจำจังหวัดกันดารในภาคอีสานหนึ่งคนเท่ากับคนไข้  5,308 คน

สัดส่วนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในประเทศไทยมีไม่เพียงพอ โดยสัดส่วนแพทย์ที่ต่ำที่สุดอยู่ในภาคอีสาน นักวิจัยคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องผลิตแพทย์อีก 9,000 คนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ

ผลการวิจัยแห่งหนึ่งคาดการณ์ว่า ประชาชนไทยประมาณ 4.1 ล้านคน จัดเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต น่าสังเกตว่าตัวเลขดังกล่าว หากเมื่อเทียบกับจำนวนนักวักกวิทยาหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตที่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 450 คนนั้น สัดส่วนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตต่อผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทยจึงเท่ากับ แพทย์ 1 คนต่อผู้ป่วย 15,000 คน สัดส่วนดังกล่าวถือว่าเป็นสัดส่วนที่เป็นไปไม่ได้หากประเทศไทยต้องการให้การรักษาพยาบาลประสบความสำเร็จและเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย

กระนั้นก็ตาม จังหวัดหนองบัวลำภูเองก็ถือว่ายังโชคดีอยู่ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาล โดยที่จังหวัดอื่นในภาคอีสานไม่มีเลยสักคน

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานจึงตกอยู่ในสถานะด้อยโอกาสกว่าภูมิภาคอื่น แต่ทว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านบริการสุขภาพก็ยังมีให้บริการอยู่ ยังมีแพทย์ผู้รักษา โรงพยาบาล และเครื่องมือทางการแพทย์ไว้ให้บริการ แม้สถานที่อำนวยความสะดวกด้านการดูแลรักษาพยาบาลจะแออัด แถมเจ้าหน้าทางการแพทย์ก็มีไม่พอต่อความต้องการ  แต่ตามข้อเท็จจริงในทางชีววิทยาของโรคแล้ว อย่างน้อยตามโรงพยาบาลในภาคอีสาน ผู้ป่วยก็ยังสามารถรับการรักษาทางการแทพย์ที่โรงพยาบาลได้

แต่นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ต้องแก้ไข ผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาพขึ้นอยู่กับระบบที่กดทับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคทางการเงิน นโยบายของรัฐ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมการดำเนินชีวิต ต่างล้วนรวมกันกลายเป็นสภาวะที่พร้อมทำให้ความเจ็บป่วยทางชีววิทยาเลยเกินเข้าไปในขอบเขตของสังคมและการเมือง

ร่างกายของเดี่ยวไม่สมควรถูกตำหนิ เพราะมีเพียงแต่การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมเท่านั้นที่จะช่วยรักษาซ่อมแซมร่างกายเดี่ยวได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยรักษาอาการของเขา สิ่งที่จะเป็นปัจจัยทำให้เขาเสียชีวิตจึงเป็นสิ่งอื่นนอกเหนือจากนี้

นางดอกไม้ ทองมา เปล่งรอยยิ้มขณะพบปะกับเพื่อนบ้านและทีมแพทย์ที่มาเยี่ยมเยือน พร้อมเล่าถึงอาการโรคไตเรื้อรังที่เธอต้องประสบ และพาเยี่ยมชมพื้นที่ที่จะก่อสร้างห้องฟอกไตแห่งใหม่ประจำบ้านตนเอง

ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะเป็นเหมือนเดี่ยว อย่างน้อยก็ผู้ป่วยที่มีอภิสิทธิ์หรือฐานะดีกว่าที่มีโอกาสก้าวข้ามผ่านอุปสรรคที่โชคชะตากำหนด

นางดอกไม้ ทองมา อายุ 69 ปี คือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันกับเดี่ยว เมื่อเปรียบเทียบกับเดี่ยวแล้ว อายุของนางทองมาถือว่าเป็นอายุเฉลี่ยทั่วไปของคนที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง

ครอบครัวของดอกไม้มีรายได้ค่อนข้างดี ทั้งนี้ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว หมอวินิจฉัยว่าดอกไม้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังและส่งตัวเธอไปรับการบำบัดทดแทนไตฉุกเฉินที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่ดอกไม้ไม่ไว้วางใจแพทย์ประจำโรงพยาบาลรัฐ เธอไม่ยอมแม้แต่จะยอมรับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าว

ดอกไม้ออกจากโรงพยาบาลด้วยหวังว่าเธอจะกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติเหมือนแต่ก่อน ด้วยไม่คาดคิดว่าโรคไตเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตหลายครั้งต่อสัปดาห์ อาการของดอกไม้จึงทรุดลงกว่าเดิมอย่างมาก

“เหตุผลเดียวที่เดินได้สบายดีอย่างทุกวันนี้ก็เพราะว่าไปรักษาที่คลีนิกเอกชน” ดอกไม้กล่าว

ดอกไม้ไม่พึงพอใจกับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ เธอกล่าวว่า “เขาก็มีแต่สั่งยาให้ แล้วก็ให้กลับบ้าน”

สถานะทางการเงินที่มั่นคงช่วยให้ดอกไม้สามารถเดินทางไปรักษากับหมอชื่อดังประจำคลีนิกรักเอกชนที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอสุวรรณคูหาโดยขับรถประมาณสองชั่วโมง

ดอกไม้เข้ารับการรักษาที่คลีนิกดังกล่าว เธอต้องค้างคืนที่นั่น และแพทย์ก็ควบคุมและรักษาอาการป่วยโรคไตเรื้อรังของดอกไม้ไว้ได้ หลังเข้ารับการรักษาที่คลีนิกเอกชนเท่านั้น ดอกไม้จึงตัดสินใจที่จะล้างไตด้วยตนเองที่บ้าน

ดอกไม้ต้องจ่ายเงินค่ารักษาที่คลีนิกเอกชนอย่างน้อย 33,000 บาท

ท้ายที่สุด ดอกไม้เองก็เลือกวิธีล้างไตแบบเดียวกันกับเดี่ยว หลังจากที่ต้องจ่ายเงินจำนวนมากมายให้กับคลีนิกเอกชน

นพ.พศวัต เวชพาณิชย์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลอำเภอสุวรรณคูหาผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจำนวนหลายคน เข้าใจว่า ผู้ป่วยเมื่อได้รับการวินิจฉัยด้วยโรคที่น่าหนักใจเช่นนี้ ก็ต้องการความคิดเห็นที่สองทางการแพทย์เพื่อมายืนยัน แต่ตนเองก็รู้สึกขุ่นเคืองเมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลไปค้นหาความคิดเห็นที่สอง และทำให้ได้รับการรักษาขั้นวิกฤตล่าช้าออกไป

แต่สิ่งที่ดอกไม้มีที่อาจช่วยชีวิตของเดี่ยวไว้ได้ นั่นคือ เงินค่าเดินทาง

การมีเงินเป็นถุงเป็นถังอาจช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้น แต่กรณีของดอกไม้ เงินทำให้การรักษาโรคไตเรื้อรังที่ตัวเองป่วยช้าลงกว่าเดิม ในภาพ ดอกไม้นั่งเคียงข้างแพทย์คนเดียวกัน คนที่จะทำการรักษาเธอตั้งแต่แรก หากว่าเธอไม่ได้เลือกที่ใช้เงินที่มีไปขอความคิดเห็นทางการแพทย์ที่สอง

ยอมรับชะตาชีวิต

เดี่ยวมีพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งในดำเนินกิจวัตรประจำวันของตนเอง เขาไม่รู้สึกเสียใจหรือโศกเศร้า จิตใจของเขาสงบและยอมรับชะตาชีวิตของตัวเอง เดี่ยวเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด หรือ สาสารวัฎ เขาเชื่อว่า ชะตาอาภัพที่ตนเองประสบนั้นเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม สิ่งที่ได้รับในชาตินี้เพราะชาติก่อนทำไว้ เดี่ยวยอมรับซึ่งชะตากรรมของตนเองด้วยภาวะจิตใจที่ตั้งมั่น เผยแผ่ความรักและความซาบซึ้ง แม้ตนเองจะกำลังเผชิญสถานการณ์อันยากลำบากก็ตาม

หมอบอกว่า ตอนนี้โรคไตเรื้อรังอาจพรากชีวิตของเดี่ยวไปได้ทุกวัน

“ผมเคยถามนะว่า ทำไมต้องเป็นผม ทำไมถึงเกิดขึ้นตอนนี้” เดี่ยวเล่า “ตอนนี้ ผมรู้ว่าการมีจิตใจที่เข้มแข็งเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความต้องการให้โรคนี้หายไป”

ช่วงเวลาที่เดี่ยวประทับใจมากที่สุดหลังจากเดินทางไปยังโรงพยาบาลหลายครั้งกลับไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาการป่วยของตนเอง เขาบอกว่า ที่โรงพยาบาล เขาได้เห็นเพื่อนผู้ป่วยคนอื่นอีกหลายคน และรู้สึกสงสารที่หลายคนมีอาการแย่กว่าตนเอง พลางคิดว่า บางคนอาจจะไม่มีวันได้ออกมาจากโรงพยาบาลทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นได้ ด้วยทัศนคติเช่นนี้ เดี่ยวจึงมองว่าชีวิตที่กำลังรอความตายของตนเองเป็นเรื่อง “ธรรมดา”

ระบบและวัฒนธรรมความเชื่อสะท้อนถึงความเข้าใจและวิธีการรับมือกับความยากลำบากในชีวิตของใครคนหนึ่ง อัตลักษณ์ตัวตนของเดี่ยวในฐานะที่เป็นคนไทยและพุทธศาสนิกชน ช่วยให้เขายอมรับชะตากรรมว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สำหรับชาวบ้านในชนบทไทยหลายคน ทัศนคตินี้ช่วยบรรเทาความขัดแย้งทางจิตใจได้อย่างดีทีเดียว

เดี่ยวบอกอย่างเจียมตัวว่า เขาไม่อยากให้ใครมารู้สึกสงสาร

แม้ว่าแต่ละครั้งเดี่ยวจะอ่านหนังสือได้ไม่เกินหนึ่งหรือสองหน้า แต่หนังสือธรรมะก็ช่วยทำให้เขารู้สึกสบายขึ้น

แต่สิ่งที่เขาต้องการคือ เขาอยากให้คนจดจำว่าตัวเองว่าเป็นคนที่ชอบให้เพื่อนและทีมแพทย์ผู้รักษามาเยี่ยมเยือน เขารู้สึกซาบซึ้งสำหรับการรักษาพยาบาลที่ตนเองได้รับเป็นอย่างดีมาโดยตลอด และรู้สึกเสียใจที่ร่างกายอ่อนแอเกินไปที่จะสานแหต่อให้เสร็จ หรือแม้จะอ่านหนังสือได้มากกว่านี้

แม้ว่าร่างกายอันผมแห้งแรงน้อยของเดี่ยวจะทำให้ทำกิจกรรมงานอดิเรกเหล่านี้ยากขึ้นกว่าเดิม แต่เดี่ยวเองก็ยังเผยรอยยิ้มกว้างให้ได้เห็นขณะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับกิจกรรมยามว่างของตนเอง

เดี่ยวนั่งอยู่หน้าบ้านตนเอง มีความสุขที่ได้ใช้เวลากับผู้มาเยือน

เวลาของเดี่ยวเหลือน้อยลง

ชื่อของเขามีความหมายว่า “โดดเดี่ยว” แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขากลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม่และแพทย์ผู้รักษาคอยอยู่เคียงข้างเดี่ยวอย่างมิผันเปลี่ยน

ขณะที่เดี่ยวและระบบแวดวงสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวและเพื่อนฝูง จะทำหน้าช่วยเหลือเดี่ยวได้มากเท่าที่จะทำได้ แต่ระบบที่ใหญ่กว่านั้น อย่างระบบบริการสุขภาพ ก็คงจะทำได้ไม่มากเท่าที่ควร

ระบบเศรษฐกิจและสังคมมีบทบาทสำคัญต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังของเดี่ยว แต่ประกันสุขภาพแห่งชาติก็ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเดินทางมารักษา

ชีวิตของเดี่ยวเคลื่อนเข้าไปสู่จุดจบ ชีวิตที่กำลังจะจบลงอีกไม่นานนัก เป็นชีวิตที่ธรรมดาสามัญไม่มีใครสนใจ ซึ่งไม่ต่างจากชีวิตคนจนส่วนใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเดี่ยวเป็นข้อพิสูจน์ชัดแจ้งให้กับอีกหลายคนที่ต้องประสบพบกับอุปสรรคที่กำหนดชะตาชีวิตของพวกเขา

เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน เดี่ยวยอมรับความตายอันเลือนรางของตนเอง

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประเทศไทยอ้าแขนต้อนรับเดี่ยวอย่างเป็นมิตรในตอนแรก แล้วก็ยืนเด่นอยู่ตรงนั้น ไกลเกินกว่าที่เดี่ยวจะเอื้อมถึง แล้วก็ยกย่องนับถือวีรบุรุษผู้กล้าเฉกเช่นเดี่ยวที่ทรหดอดทนพยายามเอื้อมให้ถึงสิ่งที่ระบบได้กล่าวอ้างจะมอบให้

“ตอนที่ 1 ชะตาชีวิตอันเลือนราง” อ่านได้ ที่นี่

ประวีนา เฟร์นส เป็นนักศึกษาสาขาสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยทูเลน เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา และ แอบบี มาริโน เป็นนักศึกษาสาขาสังคมวิทยาและเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยทัลซา รัฐโอคลาโฮมา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยภาคการศึกษาที่ผ่านมา ทั้งสองได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อร่วมศึกษาหลักสูตรด้านการพัฒนาและสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ถ่ายภาพโดย ประวีนา เฟร์นส

image_pdfimage_print