โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางไปเกาะโอกินะวะ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ที่ไม่สามารถสัมผัสได้ที่ประเทศไทย

ประสบการณ์แรกคือการสูดลมหายใจในดินแดนที่มีเสรีภาพซึ่งสิ่งนี้จางหายไปจากประเทศไทยมาครบ 3 ปีแล้ว

เสรีภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นมนุษย์ ถ้าขาดไร้ซึ่งเสรีภาพในการคิด การแสดงออก การรวมกลุ่ม หรือ เรื่องอื่นใด มนุษย์ย่อมไม่มีสภาพความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แม้แต่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ยังให้ความสำคัญต่อเสรีภาพ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ระบุว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน

แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค กลับถูกลิดรอนจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันที่บัญญัติมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ปี 2557 ยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง จึงเท่ากับว่าประเทศไทยยังเป็นดินแดนที่ไร้ซึ่งเสรีภาพ

ประสบการณ์ต่อมาคือการเคารพกฎจราจรและมรรยาทในการใช้รถใช้ถนน ตลอดเวลา 6 วันที่อยู่ที่เกาะโอกินะวะข้าพเจ้าได้ยินเสียงแตรรถยนต์เพียงแค่ 2 ครั้ง รถยนต์ส่วนใหญ่ขับรถตามความเร็วที่กำหนด เมื่อถึงทางแยกรถยนต์รถทางโทจะหยุดให้รถทางเอกไปก่อนทุกครั้ง ที่ชัดเจนที่สุดว่าแตกต่างจากประเทศไทยคือรถยนต์ทุกคันจะหยุดตรงทางม้าลายให้คนเดินข้ามถนนก่อน

เมื่อมองย้อนกลับมายังประเทศไทยทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมประเทศที่มีกฎระเบียบมากมายและบังคับผู้คนตั้งแต่เป็นเด็ก เช่น การกราบไหว้ผู้ใหญ่ การแต่งเครื่องแบบจนถึงชั้นปริญญาตรี และการบังคับให้นักเรียนตัดผมสั้น รวมถึงตัวอย่างล่าสุดคือโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม นำเจ้าหน้าที่ทหารมาปฐมนิเทศน์นักเรียน ถึงหย่อนยานเรื่องวินัยโดยเฉพาะเรื่องกฎจราจร

โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร เชิญทหารมาปฐมนิเทศน์และฝึกวินัยนักเรียนชั้น ป. 3 และ ป. 4

สถิติช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ปี 2560 พบว่า มีอุบัติเหตุสะสม 3,690 ครั้ง เสียชีวิต 390 ราย และบาดเจ็บ 3,808 ราย แม้การเสียชีวิตจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปี 2559 (442 ราย) แต่จำนวนอุบัติเหตุสะสมที่เกิดขึ้นกลับสูงกว่าปี 2559 (3,447 ครั้ง) สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุก็มาจากเรื่องเดิม คือ เมา ขับเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร ไม่สวมอุปกรณ์นิรภัย และสภาพรถชำรุด

อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามว่าการวางกรอบให้คนคิดเหมือนกันตั้งแต่เด็กสร้างวินัยให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หรือว่าการสร้างวินัยควรเกิดการจากเรียนรู้ร่วมกันมากกว่าการบังคับ ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้คือการปล่อยให้มีเสรีภาพในการคิดและใช้เหตุผลซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจความสำคัญของกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงกฎจราจรซึ่งเป็นกฎแห่งความปลอดภัย เมื่อประชากรมีความเข้าใจกฎจราจรแล้วการละเมิดกฎจราจรย่อมลดน้อยลงไป รวมถึงจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนนด้วย

เมื่อพูดถึงวินัยจราจรและมรรยาทในท้องถนนก็มีตัวอย่างของประเทศไทยที่ชวนให้เกิดคำถาม เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการปิดถนนมิตรภาพ 1 ช่องทางจราจรจาก 2 ช่องทางจราจร เป็นเวลาครึ่งวัน ที่บริเวณ ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อจัดงานแต่งงานระหว่าง พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ เสธ.พีท หัวหน้าชุดปฎิบัติการ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่ขอนแก่น กับ นางสาวจุฑารัตน์ พัฒน์จินดากุล เจ้าของธุรกิจความงาม ทำให้การจราจรติดขัดนับสิบกิโลเมตร  

การปิดถนนจัดงานแต่งงานทำให้เกิดการวิจารณ์ในวงกว้างถึงความเหมาะสม ความมีวินัยในตัวเอง และมีคำถามว่าถ้าเจ้าบ่าวไม่ใช่นายทหารที่มีบทบาทในจังหวัดขอนแก่นช่วงหลังการยึดอำนาจจะมีการปิดช่องทางจราจรหรือไม่ ทำให้ พ.ท.พิทักษ์พล ชี้แจงว่าได้ขออนุญาตปิดช่องทางการจราจรจริง  1 ช่องจราจร และขอโทษทุกคน  

แต่แทนที่เรื่องจะจบลงแค่นั้น พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ออกมาชี้แจงว่า จากการตรวจสอบไม่ได้มีการสั่งปิดถนน แต่การจราจรติดขัดเพราะมีแขกมาร่วมงานจำนวนมากเกินกว่าที่ประเมินไว้

จึงเกิดข้อสงสัยว่าแม้แต่เรื่องแค่นี้โฆษกกองทัพบกยังชี้แจงไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจะถือว่าการกระทำที่อยู่ในระเบียบวินัยหรือไม่ หรือเป็นเพราะว่าเสธ.พีทเป็นผู้กล่าวหา นายจตุภัทร์ บุญภัทรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ว่าทำผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จน ไผ่ต้องติดคุกถึงทุกวันนี้ กองทัพบกจึงต้องออกมาปกป้องเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่นายทหารยศพันโทผู้นี้

มีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ากองทัพไม่ใช่องค์กรที่เคร่งครัดวินัยตามที่ถูกกล่าวอ้างจาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่สนับสนุนการนำทหารมาปลูกฝังจิตสำนึกของการมีระเบียบวินัยให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร นั่นคือการทำรัฐประหารบ่อยครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดคือการอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะถ้ากองทัพมีวินัยก็จะรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ตัวเองว่าเป็นหน่วยงานราชการภายใต้สังกัดของรัฐบาล

หลายปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. มักเอ่ยอ้างอยู่เสมอว่าที่ต้องเข้ามายึดอำนาจเกิดความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงเคยเปรยว่าถ้ายังมีความขัดแย้งอยู่ก็จะไม่มีการเลือกตั้ง

แต่ถ้ามองสถานการณ์การเมืองช่วงปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 จะพบว่า สาเหตุที่นำมาสู่การติดขัดทางการเมืองจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้บ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน เกิดจากความร่วมมือของ กปปส. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ และกองทัพ เองมิใช่หรือ การรัฐประหารโดยไม่มีเหตุผลถือว่ากองทัพขาดวินัยหรือเปล่า อีกประเด็นคือถ้ายึดอำนาจมา 3 ปีแล้วยังมีความขัดแย้งอยู่แสดงว่าการยึดอำนาจไม่ใช่หนทางของการขจัดความขัดแย้งใช่หรือไม่

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือเรื่องราวของการปลูกฝังกฎระเบียบด้วยการบังคับและการบทบาทขององค์กรที่ได้ชื่อว่ามีวินัยระดับต้นๆ ของประเทศ ที่ไม่สามารถทำให้สังคมไทยมีวินัยได้จริง ฉะนั้นจึงควรคิดใหม่ทำใหม่หรือไม่ว่า ก่อนจะสร้างสังคมให้มีวินัยควรต้องทำให้สังคมมีเสรีภาพในการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อสร้างทำเข้าใจร่วมกันของคนที่หลากหลาย เมื่อนั้นก็อาจจะได้เห็นภาพที่คนไทยเคารพกฎจราจรเช่นเดียวกับคนญี่ปุ่น

แต่การคิดอย่างมีเสรีภาพคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในยุคที่กองทัพมีอำนาจ แล้วถ้าแค่เรื่องสร้างวินัยยังทำไม่ได้ คสช. จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร

 

 

image_pdfimage_print