โดย จิรสุดา สายโสม ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

ขอนแก่น – ผู้ประสานงานเครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งยอมรับตั้งใจยึดเวทีประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จ.ขอนแก่น เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ต้องการฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนการตั้งชื่อเครือข่ายเป็นภาษาอีสานเพราะอยากสื่อสารโดยตรงกับคนในพื้นที่

เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทองยึดเวทีประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โรงแรมอวานี จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง ที่มาจาก 75 องค์กรภาคประชาชนในภาคอีสาน เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเครือข่ายสตรี บุกล้มเวทีประชาพิจารณ์แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กฎหมายบัตรทอง 30 รักษาทุกโรค) ระดับภูมิภาคครั้งที่ 3 ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น

น.ส.จินตนา ศรีนุเดช ผู้ประสานงานเครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง

ส่วนการขัดขวางไม่ให้มีการทำประชาพิจารณ์ นางสาวจินตนา ศรีนุเดชบอกว่าเป็นการแสดงออกของประชาชนว่าจะไม่ยอมให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้นที่ภาคอีสาน และจะไม่ยอมให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกระบวนการที่รัฐบาลอยากทำเพียงเพื่อให้กระบวนการสิ้นสุดลง โดยไม่สนใจที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง

นางสาวจินตานากล่าวถึงเหตุผลของการล้มเวทีประชาพิจารณ์ว่า มีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย

-ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการแก้กฎหมาย คำสั่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น คณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการกันเอง

-รูปแบบการรับฟังความคิดเห็นใช้เวลาน้อยเกินไป ควรจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้าน วิธีรับฟังความคิดเห็นต้องทำให้หลากหลายและครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ใช่เปิดรับฟังความคิดเห็นแค่ภูมิภาคละ 300 คน แต่อยากให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทุกคนได้แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางที่สามารถทำได้ เช่น การลงประชามติ

-สิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับ ไม่ใช่ว่าประชาชนต้องมาเรียกร้องให้มีสิทธิ

-เมื่อดูในเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติแล้วพบว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นการรวบอำนาจการบริหารจัดการเรื่องบัตรทองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ไปไว้ที่กระทรวงสาธารณสุขตามเดิม

เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทองกล่าวว่า เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทองเป็นชื่อที่ตั้งกันมาก่อนการมีเวทีประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา การใช้ชื่อดังกล่าวเพราะต้องการสื่อสารกับคนอีสานเป็นหลัก ว่ามีการรับฟังความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง จึงควรใช้ชื่อเครือข่ายเป็นภาษาถิ่นที่เข้าใจง่ายที่สุด เลยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง”

ซาวอีสาน คือคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซอมเบิ่ง เป็นคำกริยาที่แปลว่า จับตาดู เฝ้าติดตาม ส่วน บัตรทอง หมายถึง การแก้ไขกฎหมายบัตรทอง” นางสาวจินตนากล่าว

จากเหตุการณ์ยึดเวทีไม่ให้มีการรับฟังความคิดเห็นนั้น เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทองหวังว่า รัฐบาลจะกลับไปทบทวนและเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขกฎหมายบัตรทองใหม่

นางสาวจินตนาบอกอีกว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านประเด็นการร่วมจ่าย จะทำให้ประชาชนที่ใช้บัตรทองได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่า จะต้องร่วมจ่ายจำนวนเท่าใดอีกทั้งยาบางตัวก็มีราคาสูง ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความกังวลใจหากเจ็บป่วยและต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคในครั้งนี้เป็นเหมือนการถอยหลังเข้าคลอง และสิ่งที่กังวลคือ ปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการ เรื่องการร่วมจ่าย อีกทั้งการทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะคณะกรรมการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ จากทั้งหมดจำนวน 27 คน มีภาคประชาชนเป็นกรรมการเพียง 2 คน ซึ่งตนมองว่าไม่โปร่งใส

นายเทพรักษ์ บุญรักษา แกนนำกลุ่มผู้ใช้บริการสิทธิบัตรทอง จ.ขอนแก่น

นายเทพรักษ์ บุญรักษา แกนนำกลุ่มผู้ใช้บริการสิทธิบัตรทอง จ.ขอนแก่น ให้ความเห็นว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นในภาคอีสานควรรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ไปนำความคิดเห็นของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้แล้วสรุปกันเอง แต่อยากให้ฟังเสียงของประชาชนด้วย ว่าประชาชนไม่รับร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้ อยากให้คณะกรรมการพิจารณาพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปทบทวนกันใหม่

“เราจะยึดเวทีต่อไป เพราะทุกขั้นตอนไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าทำแบบควรทำ ทำที่ทำเนียบรัฐบาลก็พอ เพราะรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน” นายเทพรักษ์ กล่าว

 

image_pdfimage_print