นครพนม – ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจังหวัดนครพนม 287 คน เข้ารับเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จำนวนคนละ 225,000 บาท แต่ยังมีสหายเก่าอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือนี้จากรัฐบาล

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่บริเวณอาคารพยาบาล ค่ายพระยอดเมืองขวาง จังหวัดนครพนม พล.ต.อรรถ สิงหัษฐิต ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 เป็นประธานพิธีมอบเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพให้แก่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครพนมทั้งหมด 287 คน คนละ 225,000 บาท โดยผรท.ทุกคนจะได้รับสมุดบัญชีธนาคารกรุงไทย จากนั้นวันต่อมารัฐบาลจะโอนเงินเข้าบัญชีให้

การมอบเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพแก่ ผรท. โดยคำนวนจากราคาที่ดิน 15 ไร่ และวัว 5 ตัว จึงเป็นเงินจำนวน 225,000 บาท

บรรยากาศในงานบริเวณอาคารพยาบาลและบริเวณรอบข้างมี ผรท. และญาติเดินทางมาอย่างหนาแน่น โดยผู้ที่มารับเงินช่วยเหลือจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดงเพื่อประกอบการยืนยันตัวตน ส่วนผรท.ที่เสียชีวิต ทายาทตามกฎหมายสามารถนำหลักฐานมาของรับเงินแทนได้

การมอบเงินครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 เพื่อช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพให้กับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยทั้งหมด 6,183 รายทั่วประเทศ จำนวน 1,391,175,000 บาท ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผรท.ที่ได้รับความช่วยเหลือ 1,365 ราย  คิดเป็นเงิน 307,002,500 บาท

นายบุญตา ศรีสมคราม หรือ สหายประยง อายุ 69 ปี หนึ่งในผรท.ที่เดินทางมารับเงินช่วยเหลือประกอบอาชีพกล่าวกับเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า ตนรู้สึกดีใจเพราะรอเงินส่วนนี้มานาน

“เรารอมานาน เหมือนรัฐบาลได้ทำตามสัญญาที่ให้ตอนออกจากป่า” นายบุญตากล่าว

ในอดีตที่ผ่านมา ผรท.ได้รวมตัวเรียกร้องเงินช่วยเหลือกับรัฐบาลมาโดยตลอด และได้มีการรวบรวมหลายชื่อของ ผรท.ในเขตจังหวัดนครพนนม จนกระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเข้ามาพิจารณาคัดเลือกว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ทำให้ผรท.ได้รับเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ในที่สุด

นายบุญตา ศรีสมคราม ผรท. จะนำเงินที่ได้รับไปลงทุนด้านการเกษตรให้กับลูก

ทั้งนี้ เงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพเป็นนโยบายตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยนโยบายดังกล่าวต้องการมอบเงินให้แก่สหายร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. ที่ตัดสินใจยุติการสู้รบกับรัฐบาลและออกจากป่าตามคำสั่ง 66/2523 เพื่อให้มาร่วมพัฒนาชาติไทย โดยรัฐบาลสัญญาว่าจะให้การช่วยเหลือเป็นปัจจัยเพื่อให้เป็นต้นทุนทำมาหากิน

ที่ผ่านมา มีการมอบเงินช่วยเหลือดังกล่าวรวมทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2525 โดยรัฐบาลได้จัดสรรที่ดิน 5 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัยและมอบวัว 5 ตัว ให้กับ ผรท. จำนวน 403 ครอบครัว คิดเป็น ผรท. จำนวน 806 ราย การมอบเงินช่วยเหลือครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 2545 โดยรัฐให้การช่วยเหลือเป็นรายบุคคลรายละ 125,000 บาท เทียบมูลค่าเท่ากับวัว 5 ตัวและที่ดิน 5 ไร่ ให้แก่ ผรท. จำนวน 2,444 ราย รวมเป็นเงิน 243,912,987 บาท และครั้งที่ 3 ในปี 2554 รัฐบาลให้การช่วยเหลือเป็นรายบุคคลรายละ 225,000 บาท จำนวน 5,484 ราย รวมเป็นเงิน 1,233,900,000 และครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2560

นายดอน เศษฤทธิ์ เห็นว่ายังมีอดีตสหายที่ตกหล่นจากการสำรวจยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลืออีกมาก จึงควรมีการสำรวจอีกครั้งต่อไป

นายดอน เศษฤทธิ์ ประธานกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจังหวัดนครพนมกล่าวว่า ผู้ที่มารับมอบเงินช่วยเหลือในครั้งนี้หลายคนเป็นผู้ตกสำรวจจากการมอบเงินครั้งที่ผ่านมา ตนและกลุ่มได้ต่อสู้เรียกร้องเงินช่วยเหลือตามกระบวนการทางราชการ รายชื่อผู้มีสิทธิก็มาจากการรวบรวมของแกนนำอดีตสหายในแต่ละพื้นที่เพื่อส่งรายชื่อให้คณะกรรมการพิจารณา แต่มียังคนอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้รับเงิน ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ทางการกำหนด หรือตกสำรวจจากการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์คุณสมบัติที่รัฐบาลกำหนดผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด 7 ข้อ ได้แก่

  1. ต้องเป็นผู้เกิดในปี 2509 หรือก่อนนั้น
  2. ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจากทางราชการ
  3. ต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยคณะกรรมการได้สอบสวนแล้วว่า มีรายได้ไม่เกิน 60,000 บาท  
  4. ต้องเป็นผู้มีความประพฤติกรรมดีโดยได้รับรองจากผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันท้องถิ่น
  5. ไม่เคยต้องโทษทางอาญามาก่อน
  6. ต้องเป็นอดีตคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ หรือ อดีตกองกำลังติดอาวุธที่เข้ามอบตัวกับทางการและมีหลักฐานการมอบตัว
  7. เป็นผู้เข้าฝึกอบรมโครงการการุณยเทพ ซึ่งมีรายชื่อในหน่วยงานทหารรับผิดชอบ

หลักเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ผรท.หลายกลุ่มมองว่ามีความไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดให้เงินเฉพาะคนที่เกิดในปี 2509 หรือก่อนนั้น เพราะหลายคนเป็นเข้าร่วม พคท.ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กหรือถือกำเนิดในป่าจากบิดาและมารดาที่เข้าร่วม พคท. รวมถึงการกำหนดว่าต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือต้องเป็นผู้เข้าฝึกอบรมโครงการการุณยเทพ

“จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ผรท.ในภาคอีสานไม่มีชื่อได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลรวมถึง 70,000 คน” นายอภินันท์ จันทร์สมาน หรือ สหายปรีดา อายุ 59 ปี แกนนำผรท.จ.อุบลราชธานี กล่าว

อ่านต่อ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ครวญไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล

 

image_pdfimage_print