โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงภาคอีสานจำนวนไม่น้อยไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จได้ในพื้นที่ เนื่องจากปัญหาเหล่านี้มีต้นตอมาจากส่วนกลาง

ระหว่างวันที่ 23 – 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ร.ร.สกลแกรนด์ พาเลซ เดอะอีสานเรคคอร์ด จัดอบรมนักข่าวภาคอีสาน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2560 โดยช่วงแรกของการจัดอบรมได้เปิดโอกาสให้นักข่าวนำเสนอเนื้อหาของข่าวสารที่ได้ไปรวบรวมข้อมูลมา มีข่าวที่น่าสนใจหลายข่าว ได้แก่

กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจำนวนหนึ่งไปลงทะเบียนคนจนรอบสองตามนโยบายของรัฐบาล ประเด็นที่น่าสนใจของกรณีนี้คือ นักข่าวผู้เข้าอบรมได้ตั้งข้อสังเกตว่า นักศึกษาส่วนมากไม่น่าจะเป็นผู้ที่มีฐานะยากจน แต่ก็เข้าเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีเปิดโอกาสให้คนไทยที่มีอายุมากกว่า 18 ปี และมีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปีลงทะเบียนได้ จุดนี้จึงน่าจะเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้คนไม่จนได้ใช้สิทธิของคนจน  

กรณีต่อมาเกิดขึ้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดบึงกาฬ เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่บังคับให้นักเรียนตัดผมสั้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในเมื่อมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเรื่องทรงผมของนักเรียนอยู่แล้วว่าไว้ทรงผมยาวได้เท่าใด แล้วเหตุใดผู้อำนวยการโรงเรียนจึงสามารถบังคับให้นักเรียนตัดผมสั้นได้ การบังคับให้นักเรียนตัดผมสั้นมีประโยชน์ต่อการศึกษาอะไร และเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ที่จังหวัดมุกดาหารก็มีเรื่องน่าสนใจเช่นกัน นั่นคือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจมุกดาหารที่เกิดขึ้นตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 17/2558 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ไม่มีความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ด้านสาธารณูปโภคและด้านอื่นๆ เพื่อรองรับการเป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่

โฆษณาขายชุดทำกิจกรรมรับน้องใหม่ของมมส. ประจำปี 2560

อีกกรณีเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เมื่อเพจเฟซบุ๊ค “น้องใหม่ มมส. 2560” ประกาศขายชุดพละศึกษาสีดำปักตัวอักษรย่อ “มมส” เพื่อเอาใช้ในช่วงการรับน้อง แต่ปรากฎว่า ผู้ที่ขายชุดพละศึกษาเป็นเอกชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยกลับไม่ดำเนินการใดๆ จนทำให้นิสิตปี 1 จำนวนไม่น้อยหลงเชื่อโฆษณา และซื้อชุดพละศึกษาดังกล่าวตามๆ กันไปเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้สวมใส่เมื่อเข้ากิจกรรมรับน้อง ในส่วนของกรณีนี้ นอกจากประเด็นเรื่องความเหมาะสมของการขายชุดพละศึกษาแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องการรับน้องที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

อีกกรณีคือ การพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยหินกอง จ.สกลนคร โครงการดังกล่าวเกิดจากการที่ประชาชนบริจาคที่ดินให้ทางการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อไว้ใช้อุปโภคบริโภค แต่ประชาชนเริ่มเกิดความสงสัยว่า จะมีการนำน้ำไปใช้ในโครงการเหมืองแร่โปแตชตามที่มีการให้อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตช ในพื้นที่อ.วานรนิวาส จำนวน 12 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 120,000 ไร่หรือไม่ จึงทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าในอนาคตจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินกอง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร อาจจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการเหมืองแร่

กรณีสุดท้ายคือ ข่าวเบื้องหลังเครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทองบุกล้มเวทีประชาพิจารณ์ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ ร่างกฎหมายบัตรทอง ที่จ.ขอนแก่น เนื่องจากเครือข่ายเห็นว่าการจัดทำเวทีประชาพิจารณ์เพียง 4 แห่งทั่วประเทศไม่เพียงพอต่อการรับฟังความคิดเห็นผู้ใช้บริการบัตรทอง อีกทั้งเกิดความกังวลว่าหากร่างกฎหมายผ่านออกมาบังคับใช้ ในอนาคต ประชาชนอาจจะต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่จ่ายเพียงครั้งละ 30 บาทเท่านั้น

ประเด็นข่าวทั้ง 6 เรื่องข้างต้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคอีสานแต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สำเร็จได้ในภาคอีสาน เนื่องจากเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากส่วนกลาง

เรื่องแรกคือการลงทะเบียนคนจนตามนโยบายของรัฐบาล กรณีนี้ถ้าอยู่ในสถาวะการณ์ปกติที่มีการเลือกตั้ง แน่นอนว่าต้องมี ส.ส.เป็นผู้สะท้อนความคิดเห็นของประชาชน และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่ามีช่องโหว่อะไรบ้าง มากกว่าสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารที่ไม่มี ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่

เรื่องที่สองเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง เนื่องจากผู้อำนวยการโรงเรียนมาจากการแต่งตั้งของกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นส่วนราชการส่วนกลางที่ไม่มีความยึดโยงกับท้องถิ่นและประชาชน ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงทำงานสนองส่วนกลางมากกว่ารับใช้ประชาชนใช่หรือไม่ การออกกฎระเบียบใดๆ จึงไม่ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของคนในท้องถิ่น

เรื่องที่สามคือเรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ประเด็นนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีคำสั่ง คสช. ซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากส่วนกลาง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจนี้ถ้าให้ท้องถิ่นมีอำนาจริเริ่ม ท้องถิ่นย่อมทราบดีว่าพื้นที่ของตัวเองมีศักยภาพและความเป็นไปได้เพียงพอหรือไม่ที่จะมีเมืองอุตสาหกรรม

เรื่องที่สี่เป็นเรื่องที่ มมส.ไม่สร้างความชัดเจนต่อการรับน้องด้วยการบังคับนิสิตซึ่งอาจขัดต่อระเบียบของมหาวิทยาลัยว่าต้องการให้คงอยู่หรือไม่ ถ้ามีความชัดเจนว่าจะไม่มีการบังคับให้รับน้องการซื้อชุดพละศึกษาเพื่อใช้ในกิจกรรมรับน้องคงไม่เกิดขึ้น อีกประเด็นคือ มมส.เป็นส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลางจึงไม่จำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่หรือไม่

เรื่องที่ห้าชัดเจนว่าปัญหาอยู่ที่ราชการส่วนกลางที่เป็นเจ้าของอ่างเก็บน้ำห้วยหินกอง ดังนั้นส่วนกลางจึงถือสิทธิในการพัฒนาแหล่งน้ำ เรื่องนี้แก้ปัญหาได้ด้วยการให้ชุมชนทุกชุมชนเป็นเจ้าของแหล่งน้ำ การดำเนินการใดๆ ต่อทรัพย์สินของชุมชนต้องผ่านความเห็นชอบของชุมนุมก่อน ส่วนการสำรวจแร่อำนาจก็อยู่ที่ส่วนกลาง ทางออกก็เช่นกัน วิธีแก้คือต้องมีโฉนดสาธารณะที่ชุมชนเป็นเจ้าของ ฉะนั้นการจะดำเนินการใดๆ รวมถึงการสำรวจแร่ในพื้นที่ของชุมชนต้องให้คนในชุมชนอนุญาต

เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง รับประทานอาหารกลางวัน หลังล้มเวทีประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.
บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่โรงแรมอวานีฯ จ.ขอนแก่น

เรื่องสุดท้ายปัญหาอยู่ที่ส่วนกลาง คือ อำนาจการในบริหารจัดการโครงการบัตรทองอยู่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ถ้ามีการกระจายอำนาจของสปสช.ให้ส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนบริหารจัดการ โครงการบัตรทองย่อมสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนมากกว่าให้ สปสช. ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนดำเนินการ

จึงเห็นได้ว่าการกระจุกตัวของอำนาจ (กฎหมาย งบประมาณ และบุคลากร) ที่ส่วนกลางคือปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การกระจุกตัวของอำนาจการตัดสินใจเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงอย่างเป็นรูปธรรมอาจจะเนื่องมาจาก

ความเคยชินจากการอยู่กับรัฐระบบราชการกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยจนมองข้ามสาเหตุของปัญหา หรือความมีอิทธิพลของระบบรัฐราชการที่ครอบงำประเทศไทยมานานจนทำให้ประชาชนอ่อนแอ หรือเรื่องที่ประชาชนยังไม่ตระหนักว่าอำนาจเป็นของประชาชน  

ดังนั้นถ้าไม่มีกระจายอำนาจมายังส่วนท้องถิ่น ชุมชน หรือประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน การทำลายสิ่งแวดล้อม และการแย่งชิงทรัพยากรในทุกภูมิภาค คงเกิดขึ้นซ้ำซากจากการกระทำหรือยินยอมของส่วนกลาง ประชาชนต้องเป็นฝ่ายตั้งรับเพื่อรอเวลาว่าเมื่อไหร่จะถูกละเมิด แล้วค่อยต่อสู้เรียกร้องจากส่วนราชการที่ยึดกุมอำนาจเอาไว้

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลายมาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ครบ 85 ปีในปีนี้

ฉะนั้นอำนาจต้องกระจายออกไปให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคหาใช่กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ อย่างเช่นทุกวันนี้  

image_pdfimage_print