หมาในมหาวิทยาลัย
คุณจะเลือกชื่นชมสัตว์ชนิดใดระหว่างสุนัขจรจัดที่ยืนตรงและเห่าหอนเวลาได้ยินเสียงเพลงชาติและกระรอกตัวน้อยที่มีอิสระจากเสียงเพลงปลุกใจ เรื่องสั้น “หมาในมหาวิทยาลัย” ชายคาเรื่องสั้นชวนตั้งคำถาม
โดย วิทยากร โสวัตร
I.
ภายหลังเหตุการณ์ล้อมฆ่าประชาชนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เมืองไทยอยู่ในสภาพเหมือนคนที่เดินหลงเข้าไปในป่าช้า
แต่พลันที่วารสารอ่าน ฉบับที่ 3 ปีที่ 3 เดือนมกราคม – มีนาคม 2554 ตีพิมพ์บทความ ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน ของ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักวิชาการ/นักวิจารณ์วรรณกรรมชั้นนำในยุคปัจจุบัน ก่อนที่จะครบรอบ 1 ปีของการล้อมฆ่าประชาชนเสื้อแดง (แต่ถ้านับเวลาที่เขียนก็น่าจะใกล้ๆ กับเหตุการณ์นั้น) โดยชูศักดิ์ชี้ว่า
ในฐานะที่เคยผ่านเหตุการณ์นองเลือดใหญ่ 3 เหตุการณ์ อันได้แก่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในสมัยที่ยังนุ่งกางเกงขาสั้นไปเรียนหนังสือ, เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในสมัยที่เป็นนักศึกษาปี 1 ที่ธรรมศาสตร์ และเหตุการณ์ 17 พฤษภา 2535 เมื่อมาเป็นอาจารย์อยู่ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำหรับผมแล้วเหตุการณ์นองเลือดเดือนเมษาและพฤษภา ปี 2553 เป็นการปราบปรามประชาชนอย่างอำมหิตที่สุดเท่าที่ได้ประสบพบเห็นมา…
การสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เกิดขึ้นอย่างโหดเหี้ยม รุนแรง เฉียบขาด แต่ก็จบลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงคือนับตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 6 ถึงก่อนพลบค่ำในวันเดียวกัน แต่การไล่ล่าและเข่นฆ่าผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินและราชประสงค์นั้นเป็นไปอย่างยืดเยื้อและเลือดเย็น เกิดการปะทะย่อยๆ ในหลายจุดหลายครั้งหลายครา แต่ละชั่วโมงแต่ละวันที่ผ่านไปมีผู้ชุมนุม นักข่าว และผู้สังเกตการณ์ ถูกยิงจากกองกำลังทหารที่โอบล้อมอยู่โดยรอบที่ชุมนุมจนล้มตายและบาดเจ็บทีละคนสองคน ยังไม่นับการลอบยิงด้วยทหารแม่นปืนเพื่อเด็ดชีพผู้ชุมนุมรายแล้วรายเล่า ทั้งหมดนี้ได้รับการแพร่ภาพถ่ายทอดไปทั่วโลก ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของคนเมืองบางกลุ่ม และการนิ่งดูดายของบรรดาผู้อวดอ้างตนเองมาตลอดว่ารักสันติ ต่อต้านความรุนแรง รักประชาชนและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ความอำมหิตของเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 คือความโหดเหี้ยมในการฆ่าของฝ่ายรัฐ และความเลือดเย็นของคนเมืองที่ปล่อยให้การเข่นฆ่าดำเนินไปโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เสียงสะท้อนอันแหลมคมตรงไปตรงมาต่อเหตุการณ์สะเทือนขวัญสะเทือนใจนี้กลับได้ดังขึ้นมาจากนักวิชาการ แทนที่จะเป็นเหล่าศิลปิน/นักเขียนไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณลักษณะพิเศษคือความรู้สึกไว (sensitive) ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ของชีวิตและสังคม จนถึงขั้นที่ชูศักดิ์ต้องออกตัวว่า
ในฐานะคนในวงการวรรณกรรม ผมอดจะถามไม่ได้ว่า บรรดาเหล่ากวี นักเขียน ที่ได้รับอานิสงส์จากความเป็นนักเขียนเพื่อประชาชน จนสามารถเชิดหน้าชูตาในฐานะตัวแทนของเสียงแห่งมโนธรรม พวกเขาไปอยู่ที่ไหนกันในช่วงเวลาดังกล่าว หรือเพราะเขาไม่เห็นผู้ชุมนุมเหล่านั้นเป็นคน ดังนั้นการตายของพวกเขาจึงไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น
พูดง่ายๆ ก็คือในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านได้เกิดปรากฏการณ์วิปริตวิปลาสในวงการวรรณกรรมที่อุบาทว์พอๆ กับอาการวิปลาสนานาชนิดที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงตุลาการ สื่อมวลชน นักวิชาการ และปัญญาชน ที่เห็นได้ชัดก็คือในระหว่างการล้อมปราบและเข่นฆ่าสังหารผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเดือนเมษา-พฤษภา 2553 เราพบว่าบรรดานักเขียนและกวีผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชน และเคยมีบทบาทสร้างงานเพื่อเพรียกหาความยุติธรรมในสังคม ต่างพากันปิดปากเงียบ ไม่ยอมออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ ราวกับว่าพวกเขาพร้อมใจกันกลายเป็นคนหูหนวก ตาบอด และเป็นใบ้กันไปหมด
จากนั้นก็ได้เกิดกระแสเสียงสะท้อนที่รุนแรงทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบทความ (ส่วนใหญ่เป็นนักเขียนฝ่ายที่เกลียดคนเสื้อแดง ซึ่งต่อมาก็ร่วมหรือมีท่าทีเห็นด้วยกับการเป่านกหวีดซึ่งถือเป็นนั่งร้านให้กับการก่อรัฐประหารของ คสช.) และฝ่ายที่เห็นด้วย (แน่ล่ะว่าย่อมเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นกระทั่งจุดยืนทางการเมืองต่างจากฝ่ายแรก) ก็ออกมาขึ้นสเตตัสในเฟสบุ๊คโต้ตอบกันอยู่พักใหญ่
II.
เมื่อผมอ่าน ตะวันออกเฉียงเหนือ รวมเรื่องสั้นของ ธีร์ อันมัย ผมเกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า รวมเรื่องสั้นเล่มนี้มีความสัมพันธ์กับบทความ ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน ของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อย่างประหลาด นับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่งานวิจารณ์วรรณกรรมจะเป็นต้นธารให้แก่งานวรรณกรรมที่เกิดตามมา
เช่นเมื่อชูศักดิ์ตั้งคำถามถึงคุณค่าของงานเขียนในอดีตของกวี นักเขียน ซึ่งนำมาซึ่งชื่อเสียงจนถึงปัจจุบันแล้ววันนี้กลับอยู่ฝั่งตรงข้ามทั้งตัวงานและตัวตน แล้วยังจะให้คุณค่าอานิสงค์กับงานเก่าๆ เหล่านั้นอยู่หรือไม่? ธีร์ อันมัย ก็ขานรับเรื่องนี้ในเรื่องสั้น ฝนน้ำตา ว่า “…เธอหยิบ “ฟ้าบ่กั้น” “ฉากและชีวิต” “แผ่นดินอื่น” สามเล่มที่เหลือรอดจากฝนน้ำตามาแนบอก ปาดน้ำตา ก่อนปรายตาทอดอาลัยกองหนังสือที่เปื่อยยุ่ยเกินเยียวยา “เพียงความเคลื่อนไหว” “ม้าก้านกล้วย” “นาฏกรรมบนลานกว้าง” “ความสุขของกะทิ” “ใบไม้ที่หายไป” และ“ฉันจึงมาหาความหมาย” ทุกเล่มมีลายเซ็นนักเขียน เธอหยิบหนังสือเปื่อยลงถุงดำ ทีละเล่มๆ รอฝนน้ำตาซาลง ถุงดำอันหนักอึ้งนี้จะไปอยู่ในถังขยะสีเหลืองหน้าแมนชั่น…”
และในบทสัมภาษณ์นักเขียนในส่วนของภาคผนวก “…คนอีสานถูกกระทำเยอะ แม้แต่ความตายของพวกเขาเต็มถนนราชดำเนิน แยกคอกวัว เต็มราชประสงค์ ถูกฆ่าแล้วเกิดอะไรขึ้น คุณก็ล้างถนน คุณก็ Together We Can ภายในพริบตา…ที่สำคัญคือพวกพี่กวี ศิลปิน นักเขียนเองก็เหยียบซ้ำด้วยงานที่ออกมาหลังจากนั้นไม่นานคือชาวบ้านที่ถูกฆ่ากลายเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ก่อความวุ่นวาย เผาบ้านเผาเมืองไปซะ…”
เท่านั้นยังไม่พอ ธีร์ อันมัย ยังส่งเสียงต่อเหตุการณ์ในพื้นที่ที่เขามีชีวิตอยู่จริงๆ ในกรณีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีไว้ในเรื่องสั้น ไม่ปรากฏในข่าวภาคค่ำ และนี่ถือเป็นความฉับไวในฐานะ (อดีต) นักข่าวที่ผันตัวเองมาสอนให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยให้เขียนข่าวและมีวิญญาณของนักสื่อสารมวลชน “พลันแถวตำรวจซีกตะวันออกเฉียงเหนือถูกสั่งให้ล่าถอย แล้วทหารราว 50 นายถูกสั่งให้เข้าประจำการแทนที่ ฝูงชนนับร้อยหันเหความสนใจจากกิจกรรมเผายางนอกรั้วศาลากลางจังหวัด แล้วก็หันมาโห่ไล่แถวทหาร จากนั้นขวดพลาสติก รองเท้าแห่งความโกรธแค้นก็ลอยละล่องข้ามรั้วศาลากลางจังหวัดซัดใส่กองทหารอย่างบ้าคลั่ง… ในที่สุดรั้วศาลากลางจังหวัดก็พังลง ฝูงชนทะลักกรูเข้าสู่สนามหญ้าหน้าศาลากลาง ฝ่ายแถวทหารล่าถอยสู่เบื้องหลังตัวอาคาร… จากนั้น เสียงผู้ชายข้างๆ ก็ตะโกนออกมาว่า “มีคนถูกยิง” เสียงแป๊กๆ ๆ เมื่อครู่คือเสียงปืน เธอถูกยิงและเมื่อเธอถูกนำตัวมาขึ้นรถก็พบว่า มีอีก 4 คนที่ถูกยิงเหมือนกัน… ฟากทหาร ตำรวจและอาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือนหลายร้อยคน หลังผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตรวจแถวแล้วมีคำสั่งบางอย่าง ต่างร่นถอยกลับไปยังเบื้องหลังศาลากลางจังหวัด จากนั้นก็ปล่อยให้ผู้โกรธแค้นบางคนทะลุทะลวงเข้าใกล้ตัวอาคารศาลากลางจังหวัดทั้งขว้างปาก้อนหิน บ้างขว้างปาท่อนไม้ กระจกหน้าต่างแตกโพล้งเพล้ง บ้างเห็นเปลวเพลิงเริ่มต้นจากชั้นสอง บ้างว่ามาจากชั้นล่าง บ้างเห็นกลุ่มชายชุดดำพร้อมอาวุธรุดลงมาจากชั้นสอง บ้างเห็นชายชุดดำยืนถือขวดใส่น้ำมันอยู่รอบตัวอาคารแล้วระดมขว้างเข้าใส่เปลวเพลิง…”
III.
ในฐานะของหนังสือเล่มหนึ่ง ไม่ว่ามันจะเป็นรวมเรื่องสั้นหรืออะไรก็แล้วแต่ หนังสือเล่มนี้ก็ได้ตอบสนองจุดมุ่งหมายของผู้เขียนแล้วเป็นอย่างดี ในฐานะของ “คำขานรับ” เสียงที่ถูกทำให้ไม่เป็นเสียงของประชาชนบนแผ่นดินที่ราบสูง – มาตุภูมิของเขา, ที่เขาให้ชื่อมันว่า ตะวันออกเฉียงเหนือ
เข้าใจว่านักเขียนและบรรณาธิการต้องวางแผนเตรียมการมาเป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่รูปหน้าปก เอียงหน้า หลับตา เม้มปาก ไม่ว่าที่มาของภาพจะเป็นอย่างไร แต่จากภาพวาดนี้ ผมก็รู้สึกว่าเป็นอาการ “เหลือใจ” ยิ่งอยู่ในปกที่เป็นโทนสีขาวดำแล้ว เบื้องหลังคล้ายเป็นภาพเมฆหมอกหม่น ยิ่งทำให้รู้สึกหม่นเศร้าประหนึ่งว่าหนังสือเล่มนี้ “ไว้อาลัย” ต่อบางสิ่งบางอย่าง (อันนี้ก็แล้วแต่จะตีความว่า ไว้อาลัยให้ประชาชนที่จากไปหรือไว้อาลัยแก่เหล่าผู้กระทำการเหี้ยมโหด ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลัง ก็เท่ากับนี่เป็นการประท้วงแบบซื่อๆ แบบผู้ชายบ้านนอก)
ส่วนประกอบในเล่ม ที่เปิดด้วยข้อเขียนเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คนไทยในประวัติศาสตร์มีบรรพชนเป็นไทยน้อย ซึ่งทำให้คนอ่านเห็นความจริงที่อยู่นอกตำราหรือหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับทางการที่ใช้เรียนใช้สอนกัน แน่ละว่า ย่อมทำให้เห็นถึงคุณค่าของคนตะวันออกเฉียงเหนือ ตามมาด้วยข้อเขียน วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บรรณาธิการ (เจ้าของสำนักพิมพ์) ซึ่งจะทำให้รู้จักตัวตนของ ธีร์ อันมัย โดยไม่ต้องแนะนำอะไรมากไปกว่านี้ และตบท้ายด้วย ฎีกาประชาชน บทสัมภาษณ์ที่ตีแสกหน้าราชสำนักกรุงเทพฯ และนักเขียนฝ่ายที่โหนห้อยไปกับอำนาจเผด็จการทั้งหลาย
แต่ชื่อเล่มนี่สิ! ตะวันออกเฉียงเหนือ มันไม่สามารถเป็นอื่นไปได้นอกจาก ภาคอีสานของไทย และอะไรไม่รู้ที่ทำให้นึกกระทบไปถึงรวมเรื่องสั้นที่ชื่อ มาจากที่ราบสูง หนังสือเล่มแรกของ สุรชัย จันทิมาธร ที่ถูกตีพิมพ์ขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้วและดำรงทรงฐานะเป็นตำนานไปแล้วทั้งคนเขียนและหนังสือ เมื่อพิจารณาในแง่นี้แล้ว ทั้งชื่อเรื่องที่บ่งถึงที่มาของคนเขียน จุดยืนทางการเมืองของคนเขียนตอนพิมพ์ผลงานเล่มแรก ซ้ำยังเป็นแถบๆ คนทุ่งกุลาเหมือนกันอีก
จึงน่าสนใจว่าอีก 50 ปีของ ธีร์ อันมัย เขาจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร
รวมเรื่องสั้นแนวสัจนิยมกึ่งภาพประทับ มาจากที่ราบสูง ของสุรชัย จันทิมาธร นักเขียนและนักดนตรีแห่งวงคาราวาน พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกปี 2512 และได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2530 จนถึงปัจจุบัน
หมายเหตุ
ควรกล่าวไว้ด้วยว่า รวมเรื่องสั้นชุดนี้ในส่วนที่เป็นประหนึ่ง “คำขานรับ” ที่ว่านั้นคือจำนวนเรื่องสั้นยุคหลังของเขาจำนวน 5 เรื่อง ซึ่งเริ่มจาก ฝนน้ำตา (ตีพิมพ์ในชายคาเรื่องสั้น 2 ร่างกลางห่ากระสุน กรกฎาคม 2554) ซึ่งถือว่าเป็นก้าวกระโดดของเนื้อหาของเรื่องสั้นของเขาก็ว่าได้ และถ้าจะพูดกันในประเด็นนี้ก็ควรให้เครดิต ชายคาเรื่องสั้น ของ คณะเขียน ที่ก่อตั้งและสร้างงานประหนึ่งคำขานรับเหมือนกัน เฉกเช่นเดียวกับ คณะกวีราษฎร์ แต่อย่างไรก็ตามการออกมาเดี่ยวๆ ในนามนักเขียนภูมิภาคอีสานก็ต้องนับถือหัวใจของ ธีร์ อันมัย สำหรับ ตะวันออกเฉียงเหนือ และอีกคนที่ออกรวมเรื่องสั้นมาในทำนองเดียวกันกับทางภาคเหนือคือ นิติพงศ์ สำราญคง สำหรับ เขต Like กระสุนจริง