โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

(เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์)

“ฉันกับแกนี่เหมือนกันเลยเนาะ–แก่ อ้วน ไม่มีบ้านให้อยู่” เมื่อรสรักจากหวานกลายเป็นขมขื่น เมื่อการงานจากดาวรุ่งกลายเป็นดาวโรย ธนาบ่นพึมถึงชะตาชีวิตของตนให้ช้างข้างกายฟัง ช้างที่เขาเจอบนท้องถนนเมืองหลวง แล้วเขาเกิดจำได้ว่านั่นมันคือ “ป๊อปอาย” ตัวเดียวกับที่เขาเคยเลี้ยงเมื่อครั้งยังเด็กในบ้านเกิดที่อีสาน

ป๊อปอาย มายเฟรนด์ ผลงานเรื่องยาวชิ้นแรกของเคิร์สเทน ธาน ผู้กำกับชาวสิงคโปร์ที่อาศัยอยู่ที่บรุ๊กลิน นิวยอร์กซิตี้ เล่าเรื่องการเดินทางของชายวัยกลางคนกับช้างเพื่อนเก่า หนังเรื่องนี้ดูเพลิน มีความดราม่าแต่ไม่ฟูมฟาย มีความฮาแต่มาแบบไม่เอิกเกริก ที่ออกจะประดักประเดิดไปหน่อยก็เพียงฉากติดเรตทั้งหลายซึ่งไม่ค่อยได้ผลนัก คำโปรยหนังบอกว่า ป๊อปอาย มายเฟรนด์ เป็นเรื่องของชายผู้พาช้างกลับบ้าน แต่จริงๆ ช้างเป็นผู้พาชายกลับบ้านเสียมากกว่า พูดให้ถึงที่สุดแล้วเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับช้างด้วยซ้ำไป

ธนาเป็นสถาปนิกชาวกรุงเทพที่จริงๆ แล้วมาจากเมืองเลย สายใยสุดท้ายที่ยังเชื่อมต่อพระเอกเข้ากับบ้านเกิดอยู่ก็คือผู้เป็นลุง ที่จะหาเบอร์โทรศัพท์ก็ไม่เจอเสียแล้ว ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ผู้รับบทเป็นธนา พูดลาวไม่ได้ ซึ่งกลับกลายเป็นอะไรที่เหมาะเหม็งดี หนังทั้งเรื่องพ่อพูดลาวแค่ประโยคเดียวว่า “บ่เป็นหญัง” เหมือนนกแก้วขานตอบคำถามของลุงว่า “บ่เป็นหญังอีหลีติ” นอกจากประโยคนี้แล้ว เขาพูดคุยตอบคำคนที่เว่าลาวใส่เขาเป็นภาษาไทยมาตรฐานเท่านั้น อย่างนี้แหละธเนศจึงถ่ายทอดความแปลกแปร่งของการกลับ “บ้าน” ที่ถูกทิ้งไปนาน จนเมื่อไปเห็นอีกทีก็จำไม่ได้แล้ว

ป๊อปอาย มายเฟรนด์ ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังนานาชาติ ผลงานเรื่องยาวชิ้นแรกของเคิร์สเทน ธาน ผู้กำกับชาวสิงคโปร์ เข้าฉายทั่วประเทศไทยในโรงภาพยนตร์เครือเอสเอฟ สุดสัปดาห์ปลายเดือนมิถุนายนนี้

เมื่อกลับถึงบ้านอีกครั้ง ธนาก็ต้องถูกความจริงตบหน้าว่า ความทรงจำถึงบ้านมันก็เป็นแค่ความทรงจำ บ้านเกิดในอีสานทุกวันนี้ไม่ได้เหมือนอีสานสมัยเด็ก ที่เขาจะมานั่งดูการ์ตูน “ป๊อปอาย” บนจอทีวีที่ตั้งกลางลานหน้าบ้านลุงกับเด็กน้อยคนอื่นๆ อาหารการกินบ้านๆ อย่างข้าวโป่ง (อีกชื่อหนึ่งคือ “ขนมหูช้าง”–ทีมงานเข้าใจเลือกขนมเนาะ) ที่เคยได้กินแบบปิ้งสดจากเตาถ่านเดี๋ยวนี้หาซื้อเป็นแพ็คสองในซองพลาสติกจากร้านเทสโก้โลตัสได้ง่ายกว่าตามหมู่บ้านเสียอีก

การณ์ปรากฏว่า ธนาเองก็มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย ในเมื่อเขาโหยหาอาลัยถึงสิ่งที่ถูกทำลายลงด้วยน้ำมือของเขาเอง อาการโหยหาอดีตนั้นก็คล้ายคลึงกับทัศนคติของนักล่าอาณานิคมในนามจักรวรรดิศิวิไล

เมื่อธนาเดินทางมาถึงเมืองเลย ผู้ชมก็ได้รับรู้ปูมหลังของธนาผ่านถ้อยคำของลุงว่า ธนาเองนั่นแหละที่เป็นคนขายป๊อปอายไปเพื่อเงินที่จะย้ายไปกรุงเทพฯ ตามความฝันอยากเป็นสถาปนิก ผู้ในที่สุดก็ได้ออกแบบตึกระฟ้ามากมายให้เมืองกรุง

“หายไปสามสิบปี บัดนี้คึดฮอดบ้านละติ” คือคำตัดพ้อของลุงของธนา ซึ่งรับบทโดยนพดล ดวงพร นักแสดงชื่อดังจาก “เพชรพิณทอง” คณะตลกอีสานในตำนาน ถึงแม้ว่าการจัดวาง “อีสาน” กับ “กรุงเทพ” ให้เป็นขั้วตรงข้ามกันอาจจะดูหนักมือไปบ้าง แต่ในกรณีนี้ก็ถือว่าเวิร์ก ในเมื่อนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนตจว.ที่ทิ้งบ้านเกิดไปชุบตัวที่มหานคร การจะหวนกลับมาที่เดิมอาจเป็นเรื่องเกินจริง

ตัวละครที่ธนาพบพ้อระหว่างทางเป็นช่วงตอนที่น่าจดจำที่สุดของหนัง ไม่ว่าจะเป็นกะเทยที่เริ่มแก่เกินวัย หากินได้ในกรุงเทพ หมอดูลายมือผมเผ้ารุงรังที่อยู่ไปวันๆ ในปั๊มน้ำมันร้าง คนรักของเขาที่ได้จากไปมีชีวิตของตัวเองแล้ว และชายวัยเจ็ดสิบกว่าๆ ที่มีลูกชายอายุแปดขวบ ส่วนเพ็ญพักตร์ ศิริกุล ผู้รับบทเป็นโบ เมียไฮโซของธนา ก็ช่วยรักษาความต่อเนื่องทางอารมณ์ของหนังไว้ด้วยการแสดงแบบน้อยได้มาก จากความห่างเหินเย็นชาในตอนต้น จนถึงความอ่อนโยนอบอุ่นในตอนปลาย

งานด้านภาพของ ป๊อปอาย มายเฟรนด์ สามารถถ่ายทอดกลิ่นไอของตึกระฟ้ากรุงเทพฯ ทางหลวงเขตอุตสาหกรรมบริเวณปริมณฑล และภูเขา ท้องนา ถนน และบ้านเรือนแถบเทือกเขาเพชรบูรณ์ได้อยู่มือ งานภาพนี้ก็ยิ่งได้อารมณ์ road movie ขึ้นไปอีกด้วยดนตรีประกอบที่เล่นเพลงแบบปล่อยยาว พร้อมทั้งโปรดักชันดีไซน์ที่ละเมียดละไม ใส่ใจรายละเอียดภูมิทัศน์และสำเนียงลาวที่หลากหลายในภาคอีสาน

พลายป๋อง (ภาพบน) และน้องอรทัย (ภาพล่าง) ช้างจากอ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ผู้รับบท “ป๊อปอาย” วัยใหญ่และวัยเด็กตามลำดับ ช้างทั้งสองพร้อมตัวประกอบอีกหกเชือกร่วมเดินพรมแดง ณ งานฉายภาพยนตร์ “ป๊อปอาย มายเฟรนด์” รอบปฐมทัศน์เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟซิตี้ซีเนม่า โรบินสันไลฟ์สไตล์เซ็นเต้อร์ เมืองสุรินทร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ป๊อปอาย มายเฟรนด์ จัดฉายรอบปฐมทัศน์ในอีสานก่อนที่จะฉายทั่วประเทศ นับเป็นเรื่องน่าสนใจที่งานปฐมทัศน์จัดที่สุรินทร์ “เมืองช้าง” ใกล้นิดเดียวกับประเทศกัมพูชา แต่ไกลทีเดียวจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ขาประจำของอีเว้นท์ประเภท “ดาราเดินพรมแดง” ก่อนการฉายหนังมีการจัดแสดงงานหลากหลายจนงง ตั้งแต่รำซอกันตรึมโชว์ความเป็นพื้นถิ่นขะแมรฺสุรินทร์ ไปจนถึงการร้องเพลงเชิดชูศิลปาธรอันเจิดจรัสประภัสสรของ “ชาวสยาม” ประธานในพิธีก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ผู้มอบเกียรติบัตรหลายสิบใบ (ทั้งหมดกี่ใบไม่แน่ใจ เพราะฉันลุกไปรอในโรงหนังก่อน) มอบแต่ละใบก็ต้องไม่ลืมที่จะแช่มือและหันไปทางกล้องเพื่อจะได้รูปสวยๆ ที่มีพลายป๋องเป็นตัวประกอบตรงขอบเฟรม

หนึ่งในรายการก่อนการฉายหนัง เป็นการนำเสนอประเด็นการอนุรักษ์ธรรมชาติของกลุ่ม “ธรรมช้าง” (คำลูกผสมระหว่าง “ธรรมชาติ” กับ “ช้าง”) กลุ่มธรรมช้างเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานโดยคนสุรินทร์ล้วนๆ มีเจตนารมณ์ที่จะช่วย “คืนช้างสู่ป่า” ด้วยการฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ของช้าง กลุ่มธรรมช้างมองว่าช้างเป็น keystone species หรือสปีชีส์ที่มีส่วนรักษาสมดุลของภูมิทัศน์ป่า และเป็นข้อต่อสำคัญในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศป่า ช้างถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของอะไรต่อมิอะไรมาตั้งแต่โบราณ ปรากฏบนธงชาติสยามและเวียงจันทน์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทุกวันนี้ก็ยังปรากฏบนโลโก้และแคมเปญขององค์กรการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ใกล้ตอนจบของหนัง ธนาเปรยว่าจะส่งป๊อปอายไปให้ศูนย์ดูแลช้างสักแห่ง ผู้ชมไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วป๊อปอายเป็นตายร้ายดียังไง ไม่รู้แน่ด้วยซ้ำว่าตกลงป๊อปอายเนี่ยมีตัวมีตนจริงแค่ไหน หากจะตีความว่าช้างชื่อ “ป๊อปอาย” ว่าเป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นแค่อุปมาของอุปไมยบางอย่างก็ย่อมทำได้

หากย้อนกลับไปนึกถึงคำที่ธนาใช้เทียบเทียมชะตาระหว่างเขากับป๊อปอายว่า “อ้วน แก่ ไม่มีบ้านให้อยู่” ฉันเห็นว่าข้อสุดท้ายนี้น่านำมาขบคิดต่อที่สุด ช้างที่ถูกคนเลี้ยงมา “บ้าน” เขาคืออะไรกัน? แน่นอนว่าไม่ใช่ป่าคอนกรีต สถานที่ที่มีควาญคอยชักเชือกครูดใบหูป๊อปอายจนเป็นแผล บนพื้นยางมะตอยแผดเผาฝ่าเท้ามันจนเลือดไหล แต่ทว่า บ้านของเขาก็ไม่ใช่ชุมชนมนุษย์ในต่างจังหวัดที่เขาเติบโตขึ้นมาอีก ในเมื่อทุกวันนี้ “ชนบท” นั้นได้กลายเป็นเมืองที่มีแต่อพาร์ตเมนต์แล้ว

ส่วนเขตสงวนพันธุ์สัตว์สำหรับช้างก็ท่าทางจะเป็นได้แค่ที่อาศัย ไม่ใช่บ้านที่แท้จริง เมื่อเราพิจารณาถ้อยความในวิดีโอที่ทางกลุ่มธรรมช้างได้นำมาฉาย ที่บอกว่าช้างที่โตมาในหมู่คนไม่คิดว่าตัวเองเป็นช้าง แต่คิดว่าตัวเองเป็นคน การจะคืนช้างเลี้ยงกลับเข้าป่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านกระบวนการยาวนานเพื่อ “ปลุกสัญชาตญาณช้างให้ฟื้นตื่นขึ้นมา” และต้องย้ำว่าไม่ใช่ช้างทุกเชือกที่จะสามารถ “คืน” สู่ป่าได้สำเร็จ

ธนาสามารถเดินทางกลับเมืองเลยและทำใจได้ที่จะใช้ชีวิตต่อไปที่ “บ้าน” ในกรุงเทพ เราก็ไม่รู้เลยว่าป๊อปอายได้กลับถึงบ้านของตัวเองหรือไม่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีบ้านจริงๆ หรือเปล่า

บังเอิ๊ญบังเอิญว่า ช้างยังทำหน้าที่เป็นตัวช่วยประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ที่ได้ผล ด้วยความที่มันสามารถขนพาเอาความหมายของอุดมการณ์หลากหลายไว้กับตัว ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นนิยม (ความเป็นสุรินทร์), อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ (วิถีการโพนช้างของชาวกูย), ชาตินิยม (ความเป็นไทย), อุดมการณ์อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (keystone species)

ภาพลักษณ์ของช้างนั้นเป็นสิ่งเสริมสร้างออร่าของสิ่งอื่นมากเสียจน ณ วันนี้ มันได้ช่วยพาชายวัยกลางคนกลับบ้าน ข้ามผ่านวิกฤตวัยกลางคนได้รอดฝั่ง ป๊อปอาย มายเฟรนด์ เป็นเรื่องของชายวัยกลางคนกับวิกฤตของชีวิต เป็นโร้ดมูฟวี่ที่พาตัวละครไปสู่จุดที่โอเคกับการใช้ชีวิตและการตายจาก หนังเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับช้างหรอก แต่ให้ตายสิ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ช้าง

image_pdfimage_print