ขอนแก่น – ทนายความขอเลื่อนนัดส่งตัวผู้ต้องหาคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” ให้อัยการออกไปเป็นวันที่ 31 ก.ค. ที่จะถึงนี้ เนื่องจากผู้ต้องหาติดสอบกลางภาค ด้านนายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ หนึ่งในผู้ต้องหาเชื่อว่า เหตุผลที่ตำรวจออกหมายเรียกตอนนี้เพราะต้องการให้ผู้ต้องหาบางคนหยุดความเคลื่อนไหว
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพ จำนวน 11 คน มาพบเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนคดีและความเห็นสั่งฟ้องให้อัยการว่า ทีมทนายความผู้ต้องหาแจ้งขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกออกไปเป็นวันที่ 31 ก.ค. ที่จะถึงนี้ เนื่องจากหนึ่งในผู้ต้องหาอยู่ระหว่างการสอบกลางภาค และผู้ต้องหาคนอื่นๆ ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาในวันดังกล่าว ทั้งนี้ ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินคดี หลังจากพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้อัยการแล้ว อัยการจะเป็นผู้นัดผู้ต้องหาเพื่อเข้ามาฟังคำสั่งว่าจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ ถ้าหากอัยการสั่งฟ้อง คดีนี้จะถูกฟ้องที่ศาลทหารขอนแก่น
น.ส.ภาวิณีกล่าวเพิ่มเติมว่า ตามจริง คดีที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติไม่ควรต้องดำเนินคดีอีกต่อไปแล้ว เพราะการทำประชามติได้ผ่านพ้นมาแล้ว (ทำประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 – ผู้เขียน) และการกระทำตามข้อกล่าวหาก็เป็นการใช้สิทธิตามปกติทั่วไป ส่วนกรณีที่นายรังสิมันต์ โรม หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี ก็ไม่ได้เป็นเหตุให้นายรังสิมันต์ต้องถูกดำเนินคดีอื่นตามมา แต่นายรังสิมันต์อาจจะถูกออกหมายจับเพื่อให้เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี

ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพบางส่วน ประกอบด้วย นายฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ (คนซ้ายสุด) น.ส.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ (คนที่ 2 จากซ้าย) น.ส.ณัฐพร อาจหาญ (คนที่ 3 จากซ้าย) น.ส.นีรนุช เนียมทรัพย์ (คนที่ 4 จากซ้าย) นายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ (คนที่ 5 จากซ้าย) นายเอ (นามสมมติ) (คนที่ 6 จากซ้าย) นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (คนที่ 7 จากซ้าย) และนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ (คนขวาสุด) – แฟ้มภาพ
ทั้งนี้ คดีพูดเพื่อเสรีภาพเป็นคดีที่เกิดจากการจัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 เพื่อรณรงค์การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 แต่ผู้จัดงานกลับถูกตั้งข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป โดยมีผู้ต้องหารวม 11 คน อาทิ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา สมาชิกกลุ่มดาวดิน น.ส.นีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ น.ส.ณัฐพร อาจหาญ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และนพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
นายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น และนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ หนึ่งในผู้ต้องหา กล่าวว่า คดีนี้ถูกตั้งข้อหาว่าขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ซึ่งตามจริงแล้ว กิจกรรมที่จัดขึ้นไม่ได้เป็นการชุมนุม แต่เป็นการจัดวงเสวนาโดยมีนักวิชาการมาเป็นวิทยากร เช่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แต่สุดท้ายทั้งผู้จัดงาน ผู้สังเกตการณ์ และผู้เข้าร่วมงาน กลับถูกแจ้งข้อกล่าวหา
“ขนาดมหาวิทยาลัยที่เราเป็นนักศึกษา แล้วเราจัดงาน มันยังไม่ปลอดภัยสำหรับเราเลย ในการถูกคุกคามจากอำนาจของรัฐบาลทหาร ซึ่งงานนี้ มหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้เราจัดงานได้ แต่มายกเลิกงานทีหลัง แล้วมีการตัดน้ำ ตัดไฟ ทำให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยของเราไม่ได้เอื้อให้นักศึกษาใช้สิทธิในการจัดงาน ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยที่เราจ่ายค่าเทอม” นายณรงค์ฤทธิ์กล่าวและเสริมว่า เหตุผลที่มีการดำเนินคดีในช่วงนี้น่าจะเป็นเพราะมีผู้ต้องหาบางคนออกมาเคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่จึงนำคดีกลับมาเพื่อระงับการเคลื่อนไหวและบั่นทอนกำลังใจ