ศรีสะเกษ – การประชุมสุดยอดว่าด้วยการออกแบบเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศจัดขึ้นที่ไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์ม จ.ศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 21 ก.ค. – 5 ส.ค. นี้ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์นในภูมิภาค
ฤดูฝนล่วงมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ณ วันที่ผู้คนจากรอบโลกเดินทางมาสัมผัสดินหล่มชุ่มแห่งจังหวัดศรีสะเกษ ช่วงเวลาสองสัปดาห์นี้ ชุมชนในพื้นที่จะเข้ามาพบปะต้อนรับผู้มาเยือนจากกว่า 15 ประเทศ เพื่อร่วมริเริ่มโครงการภายใต้หัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการงานหัตถกรรม เกษตรอินทรีย์ และทรัพยากรน้ำ
“การประชุมสุดยอดว่าด้วยการออกแบบเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ” (The International Development Design Summit – IDDS) จัดขึ้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก เป็นการประชุมสุดยอดที่ทำงานงานกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อออกแบบ พัฒนา และเผยแพร่เทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับชีวิตของผู้ยากไร้ โดยการประชุมนี้เชื่อมโยงกับ D-Lab (องค์กรที่เชื่อมโยงการพัฒนาเข้ากับเทคโนโลยี) ของมหาวิทยาลัยเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา (สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเส็ตต์ส – Massachusetts Institute of Technology)
การจัดงานในปีนี้ ทาง IDDS ได้ร่วมมือกับ “ไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์ม” แห่งบ้านหางว่าว ต.ทุ่ม อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว “ไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์ม” นั้นเป็นองค์กรทางสังคมที่มีจุดมุ่งหมายต้องการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตท้องถิ่นกับลูกค้าผู้สนใจผลิตภัณฑ์อินทรีย์และเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์วิธีการต่างๆ
ระหว่างการประชุมสุดยอดฯ ที่ศรีสะเกษในครั้งนี้ ไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์มจะทำหน้าที่ปลุกปั้นศูนย์เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในภาคอีสาน ประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เดอะอีสานเรคคอร์ด ไม่พลาดโอกาสที่จะสนทนากับ เฮอร์มีส หวัง หนึ่งในทีมงานผู้จัดงานประชุมสุดยอดฯ ครั้งนี้ เพื่อสอบถามถึงวิสัยทัศน์ของการประชุมฯ รวมไปถึงการทำงานร่วมงานกับไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์มและชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: ทำไมถึงเลือกจังหวัดศรีสะเกษเป็นที่จัดการประชุม IDDS
สาเหตุที่เลือกจังหวัดศรีสะเกษก็เพราะไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์มเป็นองค์กรร่วมจัดของเรา จุดสำคัญเลยก็คือว่า พวกเราไม่อยากทำงานอย่างฉาบฉวยเหมือนบินเฮลิคอปเตอร์มาแล้วก็ไป ไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์มตั้งอยู่ที่บ้านหางว่าว ซึ่งเป็นที่ที่เราใช้จัดงาน พวกเขานี่แหละที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เป็นคนโฮมรวมพลังเข้าใส่ในงานนี้
โปรแกรมงานช่วงเริ่มต้น เราเพ่งไปที่ประเด็นต่างๆ ที่ชุมชน บริษัทเพื่อสังคม และนโยบายรัฐมาบรรจบกัน นั่นคือ ดูว่าความต้องการของชุมชนมีจุดร่วมตรงไหนบ้างกับความจำเป็นของไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์มที่เป็นองค์กรเพื่อสังคมและเป็นธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ แล้วนำจุดร่วมเหล่านี้มาจัดวางให้เข้ากับนโยบายของภาครัฐ เพื่อที่พวกเราจะได้สร้างกระแสที่มีพลังได้
การประชุมสุดยอดว่าด้วยการออกแบบเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (The International Development Design Summit – IDDS) จัดขึ้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก โดย IDDS ได้ร่วมมือกับ “ไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์ม” แห่งบ้านหางว่าว ต.ทุ่ม อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: คิดเห็นอย่างไรที่งาน IDDS Sisaket (ไอดีดีเอส ศรีสะเกษ) จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากที่ผ่านมา D-Lab ของเอ็มไอที ก็ไม่ค่อยได้มาทำอะไรใหญ่โตในเอเชียนัก เท่าที่ผ่านมาก็มีการประชุม IDDS ที่จัดในเอเชียแค่สองครั้ง ครั้งหนึ่งจัดที่เจนไน ประเทศอินเดีย ส่วนอีกครั้งจัดที่ลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน ผมก็เลยคิดว่า นี่เป็นโอกาสที่น่าสนใจดีทีเดียวที่จะได้ขยายเครือข่ายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ [ซึ่งจัดตั้งโดย MIT D-Lab] ไปสู่ภูมิภาคใหม่ ผมเห็นช่องที่จะใช้โอกาสนี้เพื่อส่งผ่านทรัพยากรระดับโลกให้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย และจังหวัดศรีสะเกษ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: มีวิธีเลือกประเด็นโครงการต่างๆ สำหรับ IDDS Sisaket อย่างไร
ตอนที่เราประกาศเรื่องการประชุมสุดยอดคราวแรกเมื่อราวๆ หนึ่งปีก่อน เราก็คุยๆ กันถึงเรื่องต่างๆ อย่างเช่น ทรัพยากรน้ำ เกษตรอินทรีย์ และการศึกษา เพื่อรวบรวมไว้เป็นไอเดีย แต่ถ้าจะให้พูดถึงโครงการที่เป็นชิ้นเป็นอัน ไอเดียพวกนี้ก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงปฏิบัติจริง เรื่องไหนๆ ก็ผสมเข้าหากันหมด
ธีมเรื่องดั้งเดิมธีมหนึ่งคือเรื่องการบริหารจัดการเงิน แต่พอไปคุยกับสมาชิกในชุมชนแล้ว เขาไม่ได้ระบุว่ามันเป็นประเด็นปัญหา พวกเราจึงรู้สึกไม่มั่นใจว่า คนในชุมชนจะทำงานประเด็นนี้กับคนภายนอกได้ถึง 16 วัน คือมันชัดเจนว่า มีเรื่องท้าทายในชุมชนแหละ แต่ว่าชุมชนไม่ได้ระบุมาว่าเรื่องท้าทายพวกนี้เป็นปัญหาทำนองว่า “ข้อยมีปัญหา ก. เรื่องเกี่ยวกับเงิน”
พวกเรารู้ว่ามีโอกาสตรงนั้นอยู่ แต่ตัวชุมชนเองเขาไม่ได้เลือกไงฮะ ตอนนี้พวกเราก็เก็บเรื่องนี้ไว้ในใจก่อน เผื่อเวลาผ่านไปแล้วพวกเราอาจจะสร้างโปรแกรมงานในประเด็นนี้ก็ได้ เพราะถึงวันนั้น พวกเราก็จะมีประสบการณ์ตลอดกระบวนการประชุมสุดยอดฯ มาเป็นพื้นฐานแล้ว
เดอะอีสานเรคคอร์ด: คุณเองร่วมงานกับไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์ม แต่ว่าการประชุมสุดยอดนี้ไม่ได้มุ่งทำแต่ประเด็นเรื่องออร์แกนิกใช่ไหม
พวกเราไม่ได้มุ่งทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมุ่งสนใจแต่เทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ที่เราโฟกัสจริงๆ คือกระบวนการ กระบวนการที่ต้องมีเพื่อสร้างระบบนิเวศที่มีนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ และเปิดกว้างสำหรับทุกคน เมื่อเราสร้างระบบและกระบวนการที่สร้างโอกาสให้ทุกคน และช่วยอำนวยให้พวกเขาสร้างความก้าวหน้าให้แก่ตัวเอง ครอบครัว และชุมชนของเขาได้ สุดท้ายแล้วประโยชน์ก็จะตกอยู่กับทุกคนถ้วนหน้า
แน่นอนอยู่แล้วว่า มันมีองค์ประกอบของความเป็นจริงในโลกความจริงที่มีอำนาจ มีอภิสิทธิ์ มีโครงสร้างพื้นฐาน มีการเข้าถึงการศึกษา อะไรต่อมิอะไรมากมาย พอเรามีอุดมคติเลิศเลออะไรทำนองนี้ ก็จะต้องถ่อมตัวลงบ้างเมื่อเจอสถานการณ์ของความเป็นจริง
พวกเราเปิดกว้างให้ปัจเจกชนทุกคนมาร่วมพูดคุย พวกเรายอมรับหมดไม่ว่าแต่ละคนจะมีพื้นเพทางอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ ยังไง พวกเราพยายามสุดความสามารถเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนมากขึ้นๆ เข้ามามีส่วนร่วม เมื่ออีกฝ่ายส่งสัญญาณว่าพร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เมื่อมีเจตนารมณ์แบบนี้แล้ว ไร่ทองฯ จึงไม่ได้สนใจแต่เกษตรอินทรีย์ แต่ยังสนใจยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนที่ไร่ทองฯ เป็นส่วนหนึ่งด้วย
เดอะอีสานเรคคอร์ด: งาน IDDS Sisaket กับไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์มจะนำความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนมาสู่ภูมิภาคนี้ได้อย่างไร
ไร่ทองฯ เองต้องการจัดตั้งเป็นศูนย์ฝึก ให้เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ การค้นคว้าวิจัยและวิทยาศาสตร์ เรื่องที่พวกเราคุยๆ กันมาตลอดเนี่ยก็จะมีพื้นฐานมาจากแนวคิดเรื่อง open science (วิทยาศาสตร์แบบเปิด) ซึ่งเป็นแนวคิดที่หมายถึงว่า การสร้างสรรค์ความรู้นั้นสามารถทำที่ไหนก็ได้ในโลก และก็ควรจะทำที่ไหนก็ได้ในโลกด้วย ไม่ใช่จำกัดอยู่แต่เพียงประเทศซีกโลกเหนือ (the Global North) หรือในรั้วสถาบันทางวิชาการ
รากฐานก็มีแล้ว ความกระตือรือร้นสนใจก็มีแล้ว เหลือแต่เรื่องที่จะต้องพาคนที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันมาล่มหัวจมท้าย พวกเราคาดหวังว่าจากการจัดงาน IDDS Sisaket จะทำให้พวกเราได้พบเจอคนที่มีความเชื่อคล้ายๆ กันมากขึ้น เพราะว่าถ้าไม่มีใครมารวมหัวกับเราแล้ว สุดท้ายทุกอย่างก็จะสูญเปล่า
เดอะอีสานเรคคอร์ด: การก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมที่ศรีสะเกษมีนัยสำคัญอย่างไร
ที่ชัดที่สุดในใจผมนะ ก็คือ การที่ศูนย์นวัตกรรมตั้งอยู่ในศรีสะเกษนี่แหละ ซึ่งมันเป็นสถานที่ที่ไม่เคยมีใครใส่ใจหรือให้ความสำคัญจริงๆ ไม่ว่าจะในระดับชาติหรือระดับนานาชาติมาก่อน ศูนย์นวัตกรรมนี้จะเป็นโอกาสทองสำหรับจังหวัดศรีสะเกษเลยที่จะได้รับการยอมรับนับถือเป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับการสร้างสรรค์ความรู้ขึ้นชื่อระดับเอ็มไอที กลายเป็นสถานที่ที่คนสามารถมาค้นคว้าวิจัย ทำงานทางวิทยาศาสตร์ และสร้างสรรค์องค์ความรู้ได้ ทั้งยังมีผู้หนุนหลังที่เชื่อมั่นในคุณค่าของความรู้ที่ผูกพันกับโลกแวดล้อม (contextualized knowledge) ด้วย
มันมีอยู่สองระบบสองแบบนะเวลาพูดถึงการสร้างสรรค์ความรู้ แบบที่สร้างเพื่อประโยชน์ของประชาชนในบริบทและเวลาที่เฉพาะนี่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ถ้าหากคุณแค่เอาความรู้ที่พัฒนาจากที่หนึ่งมาตัดตอนแล้วเอาไปปักชำใส่ให้พอดีกับอีกที่หนึ่ง มันไม่เวิร์กหรอก โอกาสดีอีกอย่างในการตั้งศูนย์ฯ ที่นี่ ก็คือ โอกาสที่จะกลับตาลปัตรแนวคิดที่ว่าประเทศซีกโลกเหนือเท่านั้นที่จะสามารถผลิตองค์ความรู้ได้ แล้วก็โอกาสที่จะได้มีผู้ร่วมวิสัยทัศน์มาสนับสนุนผลักดันให้มันเกิดขึ้นจริง
เดอะอีสานเรคคอร์ด : คิดว่าเดินหน้าไปแล้วจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคใหญ่หลวงอะไรบ้าง
อุปสรรคที่เห็นอยู่ต่อหน้าเลยก็คือเรื่องภูมิศาสตร์กับเรื่องการเงิน เรื่องภูมิศาสตร์ก็เพราะศรีสะเกษเนี่ยไกลจากศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทั้งหลายในประเทศไทยเหลือเกิน จึงเกิดปัญหาเรื่องการย้ายถิ่น เรื่องภูมิศาสตร์ เรื่องสมองไหล วิธีการแก้สถานการณ์ระยะสั้นก็คือ เราต้องหาหนทางให้มันเกิดโอกาสขึ้นที่นี่ เยอะๆ เพื่อผู้คนจะได้ตื่นเต้นและอยากมาศรีสะเกษ
ส่วนเรื่องการเงินเนี่ย ประเด็นก็อยู่ที่การตามหาและพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อุปการะ กับคนที่เต็มใจจะลงทุนเป็นเม็ดเงินและเวลาให้กับกระบวนการต่างๆ ที่ไม่เห็นผลทันตา ประเด็นอยู่ที่ว่าต้องหาเงินจากแหล่งประเภทที่เต็มใจจะนั่งฟัง ออกเดินทาง และลงไปคลุกฝุ่นบ้างสักหน่อย ผู้อุปการะจะต้องเข้าใจแบบลึกซึ้งว่าประเด็นปัญหาต่างๆ ของภูมิภาคนี้ มันไม่มีหรอกทางออกที่ง่ายๆ น่ะ
เดอะอีสานเรคคอร์ด: มีอะไรอยากเสริมเกี่ยวกับงาน IDDS ศรีสะเกษอีกไหม
ช่วงบ่ายวันที่ 4 สิงหาคมที่จะถึงนี้ พวกเราจะจัดเทศกาลนวัตกรรมสาธารณะ ซึ่งจะมีการทดลองตัวต้นแบบกัน พวกเราก็จะเชิญชุมชนในพื้นที่โดยรอบมาทดลองตัวต้นแบบกับเรา แล้วแบ่งปันประสบการณ์กันด้วย ถ้ามีใครอยากจะมาก็ติดต่อมาได้เลยฮะ ทางเรายินดีที่จะช่วยประสาน
เฮอร์มีส หวัง เป็นหนึ่งในคณะผู้นำการจัดงาน IDDS ศรีสะเกษ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร “Designing for Social Innovation & Leadership Global” เมื่อสามปีที่แล้ว เขาศึกษาหลักสูตรปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้ริเริ่มการทำงานร่วมกับไร่ทองออร์แกนิกส์ฟาร์ม งาน IDDS Sisaket จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2560 หากท่านสนใจเข้าร่วมเทศกาลจัดแสดงผลงานในวันที่ 4 สิงหาคม โปรดติดต่อ hermes@dsilglobal.com
ชมข้อมูลเพิ่มเติมที่ เว็บไซต์ หรือ เพจเฟซบุ๊ก ของทีมงานผู้จัดการประชุมฯ