โดยดานุชัช บุญอรัญ

วงเสวนาเรื่องการรับน้องของมรภ.มหาสารคาม เรียงจากซ้ายไปขวา ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ ติสันเทียะ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายดานุชัช บุญอรัญ ผู้เขียน นางสาวน. (นามสมมติ) สาขาภาษาต่างประเทศ นายอ. (นามสมมติ) สาขาปรัชญาและศาสนา และนายอวยชัย วาทะ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาสารคาม – นักศึกษาสาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารชี้การรับน้องไม่เหมาะสมของมรภ.มหาสารคามเกิดจากระบบที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นโดยมหาวิทยาลัย ด้านนักศึกษาสาขาปรัชญาและศาสนามองการรับน้องด้วยการบังคับดำรงอยู่ได้เพราะรุ่นน้องที่ถูกกระทำในปีนี้ต้องการไปบังคับรุ่นน้องในปีถัดไป

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรภ.มหาสารคาม) นักศึกษาและอาจารย์ รวม 6 คน จัดวงเสวนาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการรับน้องของมรภ.มหาสารคาม หลังจากมีการเผยแพร่ภาพนิ่งและคลิปวีดีโอการรับน้องไม่เหมาะสมผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดียสู่สาธารณะเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว จนทำให้มหาวิทยาลัยต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อเอาผิดนักศึกษาที่จัดกิจกรรมรับน้องดังกล่าว

โดยผู้เข้าร่วมวงเสวนา นายณัฐพงษ์ คุ้มบุ่งคล้า นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้ความเห็นว่าว่า  ต้นตอของการรับน้องที่ไม่เหมาะสมคือการขาดสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษา โดยบริบทของมรภ.มหาสารคามไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสะท้อนเจตนารมณ์เพื่อโต้แย้งกระบวนการที่ถูกกำหนดโดยมหาวิทยาลัย ลักษณะเช่นนี้นำไปสู่วิธีคิดที่ผิดของนักศึกษาจำนวนมาก

“การทำกิจกรรมของนักศึกษาถูกครอบไว้ด้วยระบบที่บังคับให้นักศึกษาทุกคนต้องมีชั่วโมงกิจกรรมครบตามเป้าจึงจะสามารถรับใบจบการศึกษาได้ (วุฒิบัตร – ผู้เขียน) ผมไม่มีปัญหากับการทำกิจกรรม แต่ควรเป็นกิจกรรมที่พวกเรามีสิทธิเลือก ไม่ใช่มาบังคับให้รับน้อง ให้เข้าเชียร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยคิดทั้งนั้น ถ้าจะให้นักศึกษาใช้เวลาไปกับการสะสมชั่วโมงกิจกรรม  ต้องเปิดให้พวกเราคิดเอง แล้วมหาวิทยาลัยค่อยมาสนับสนุนอีกที” นายณัฐพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ นักศึกษาสาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารผู้นี้กล่าวเสริมว่า  นักศึกษารุ่นพี่ที่จัดกิจกรรมรับน้องเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกปิดกั้นความคิดโดยระบบของมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้อำนาจให้มีความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งก่อให้เกิดผลร้ายตามมา  

ส่วนการแก้ปัญหาที่แท้จริง นายณัฐพงษ์แสดงความคิดเห็นว่า

ต้องมีการจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาเพื่อให้ความคิดเห็นของนักศึกษาสะท้อนกลับไปยังมหาวิทยาลัย

“ผมคิดว่า มีคนคิดต่างเยอะในมหาวิทยาลัยเรา  แต่ระบบกิจกรรมที่รับน้องเป็นคณะและบังคับให้นักศึกษาต้องเลือกเข้าชมรมประจำสาขาของตน ทำให้พวกเราห่างเหินและไม่มีโอกาสได้สร้างความสัมพันธ์กัน   

การตั้งชมรมอิสระที่รับคนจากทุกคณะ คือ แนวทางที่ดีสำหรับกิจกรรมทางเลือกที่มาจากความคิดนักศึกษา” นายณัฐพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

นายณัฐพงษ์ คุ้มบุ่งคล้า นศ. สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร เสนอให้ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา มรภ.มหาสารคาม

ด้านนาย อ. (นามสมมุติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่นักศึกษารุ่นพี่อ้างความชอบธรรมของกิจกรรมเพื่อแสดงอำนาจต่อนักศึกษารุ่นน้องว่า ในเชิงของปรัชญาแล้ว การที่มนุษย์ถูกบังคับให้กระทำในสิ่งที่ค้านต่อสามัญสำนึก จะส่งแรงสะท้อนต่อการกระทำในลักษณะเดียวกันขณะที่ตนกลายเป็นผู้เหนือกว่า ทำให้เกิดการสืบทอดระบบความเชื่อสืบต่อไป ปัญหาที่น่ากลัวคือ นักศึกษารุ่นน้องที่เป็นผู้ต่ำกว่าในปีนี้จะยอมอดทนอดกลั้นและพิทักษ์รักษาระบบรับน้องเอาไว้อย่างหวงแหน เพื่อสะท้อนแรงกดดันของตนเองในฐานะผู้ถูกกระทำต่อนักศึกษารุ่นน้องรุ่นต่อไป

ด้านวิธีการแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิของนักศึกษาทั้งจากกิจกรรมรับน้องและกิจกรรมอื่นๆ นาย อ.แสดงความคิดเห็นว่า มหาวิทยาลัยต้องบังคับใช้กฎระเบียบที่ตั้งขึ้นอย่างเคร่งครัด มีการลงโทษผู้กระทำผิดโดยเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อสร้างบรรทัดฐานของการรับน้องขึ้นมาใหม่ เพียงแต่ผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยต้องผลักดันให้มีความต่อเนื่องเท่านั้น

นอกจากนี้ นางสาว น. นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาตร์และสังคมศาสตร์  กล่าวถึงความย้อนแย้งของบทบาทของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพของนักศึกษา โดยอ้างถึงประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม  เรื่องมาตรการการจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ ประจำปี 2560 ได้แก่

ข้อ 1 กำหนดให้การจัดกิจกรรมต้องเคารพในสิทธิ เสรีภาพและยึดหลักความเสมอภาค ไม่มีความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งทางกายและทางใจของน้องใหม่ข้อ 2.1.1 และข้อ 2.1.2 ให้องค์การบริหารนักศึกษา/ชมรมนักศึกษา สโมสรนักศึกษา/ชุมนุมนักศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรม  โดยมีกองพัฒนานักศึกษาและคณะต้นสังกัดกำกับดูแล

โดยนางสาว น.บอกว่า หากมหาวิทยาลัยมีความจริงใจต่อการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาตามประกาศข้อ 1 จริง ก็ไม่ควรให้องค์การบริหารนักศึกษาและองค์กรต่างๆ ตามประกาศข้อ 2 เป็นผู้ควบคุมการให้ชั่วโมงกิจกรรมแก่นักศึกษารุ่นน้อง เนื่องจากองค์กรเหล่านี้คือต้นกำเนิดของการรับน้องด้วยการว๊ากและการใช้อภิสิทธิ์

นอกเหนือไปจากความคิดเห็นของนักศึกษาแล้ว นายอวยชัย วะทา อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ตนไม่เห็นด้วยกับเกี่ยวกับรูปแบบการจัดกิจกรรมประชุมเชียร์ของนักศึกษาใหม่ที่บังคับให้นักศึกษาต้องเข้าร่วมเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนครึ่งถึงสองเดือน เนื่องจากใช้เวลามากเกินไป นอกจากนี้ นักศึกษาใหม่ยังต้องเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ อีก เช่น การรับน้องคณะและการรับน้องสาขาที่รุ่นพี่แต่ละคณะแต่ละสาขาจัดกันขึ้นมาเอง ซึ่งมักเป็นกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสติปัญญา

“การเข้าคลาสเชียร์มันไร้สาระ สิ่งที่เด็กต้องทำคือ ตื่นแต่เช้า ว๊าก คลาน หมอบ ร้องเพลง ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมพิธีรับตราพระราชลัญจกร” นายอวยชัยย้ำ

ทั้งนี้ นายอวยชัยยังกล่าวอีกว่า ความพยายามจัดพิธีกรรมแปลกประหลาดต่างๆ ของนักศึกษาเก่ามีเพื่อกดนักศึกษาใหม่รู้สึกหวาดกลัวและยอมสยบอยู่ใต้การปกครอง

โดยการรับน้องรวมและกิจกรรมต่างๆ มีมานานแล้ว โดยผู้บริหาร อาจารย์ และรุ่นพี่ มรภ.มหาสารคามต่างก็มองว่าเป็นเรื่องปกติเพราะบรรยากาศชวนให้คิดเช่นนั้น แต่การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยสื่อมวลชนทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

“ที่สำคัญที่สุด คือ ทุกคนต้องยอมรับความผิดพลาดร่วมกัน  และมหาวิทยาลัยต้องมีความกล้าที่จะตัดประเพณีเก่าแก่ ล้าหลังและมีลักษณะสุดโต่งทิ้งไป” นายอวยชัยกล่าว

ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print