โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

วัฒนธรรม open source จะเป็นอนาคตของเอกลักษณ์อีสานได้หรือไม่ หาคำตอบได้ผ่านป้ายลาวๆ และเป็ดสีเหลืองแห่งมหานครอุดรธานี

เมื่อราวสิบห้าปีที่แล้ว มีบริษัทออกแบบฟอนต์ไทยบริษัทหนึ่งไล่เรียกค่าละเมิดลิขสิทธิ์หลักหมื่นหลักแสนจากโรงพิมพ์ เว็บไซต์ ร้านอินเทอร์เน็ต นักออกแบบกราฟฟิกทั่วประเทศ เดือดร้อนกันจนมีการจัดเสวนาระดับชาติหัวข้อ “ใช้ฟ้อนต์ไทยต้องถูกจับด้วยหรือ” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2545 เชิญนักการเมือง “ชื่อพม่า หน้าลาว เว่าเขมร” แห่งบุรีรัมย์ซิตี้ขึ้นเวทีด้วย ซึ่งสมัยนั้นคุณเนวิน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ยุคแรก คุณเนวินได้ปรึกษากับคุณยรรยง พวงราช (คนยางชุมน้อย ศรีสะเกษ เสด็จเยือนบ้านเกิดทีไวนิ่ลเต็มเมืองแถมลาดถนนให้อย่างงาม) อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาสมัยนั้น แล้วได้ข้อสรุปว่า

“ฟอนต์ภาษาไทยถือเป็นมรดกของชาติ ไม่ถือเป็นลิขสิทธิ์ส่วนบุคคล”
“แบบตัวอักษรและลิสต์รายชื่อตัวอักษรไม่มีใครสามารถอ้างเป็นเจ้าของสิทธิ์ได้ แต่ซอฟต์แวร์ที่ใช้เลือกแบบตัวอักษรในการพิมพ์นั้น ผู้ผลิตซอฟต์แวร์มีสิทธิ์ในซอฟต์แวร์นั้นได้ และการประดิษฐ์ตัวอักษรไม่ถือเป็นงานสร้างสรรค์พอที่จะอ้างเป็นเจ้าของสิทธิ์ได้”

คำพูดที่ว่าฟอนต์ไทยเป็น “มรดกของชาติ” จะอ้างลิขสิทธิ์ไม่ได้ และการประดิษฐ์ตัวอักษรไม่ถือเป็นการสร้างสรรค์พอที่จะอ้างเป็นเจ้าของสิทธิ์ได้ (เพราะคุณไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหง) อ้างได้แต่เพียงการเป็นเจ้าของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สั่งให้มันลากเส้นอย่างนั้นอย่างนี้ — คำพูดเหล่านี้แอบอิงอยู่กับแนวคิดเอกลักษณ์ของชาติ (national identity) ไปพร้อมกับแนวคิดวัฒนธรรมสาธารณะ นั่นก็คือมีลักษณะทั้งเปิดกว้างและหวงแหนไปในจังหวะเดียวกัน

ในทางตรงกันข้าม ผู้ออกแบบฟอนต์ร่วมสมัยจำนวนมาก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นนักออกแบบที่ใช้ลิขสิทธิ์ประเภท “โอเพ่นซอร์ซ (open source)” คืออนุญาตให้สาธารณชนทั่วโลกเอาฟอนต์ไปใช้และพัฒนาต่อได้ โดยสงวนการใช้งานเฉพาะกรณี แต่ผู้ออกแบบก็ยังถือว่ามีลิขสิทธิ์ในผลงานที่ตนออกแบบอยู่เหมือนกับงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เป็นมุมกลับของมุมมองแบบเนวินและยรรยง คือลดความสำคัญของกำแพงระหว่างชาติลงแล้วเพิ่มความสำคัญของปัจเจกชนผู้สร้างสรรค์อย่างไม่หวงแหนขึ้นมาแทน

ฉันอยากส่องสำรวจ “ความเป็นอีสาน” ผ่านการใช้ฟอนต์พันทาง (hybrid fonts) โดยเฉพาะฟอนต์ “ไทยปนลาว” เพื่อดูว่าการใช้แบบตัวอักษรเหล่านี้มันสะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้างเกี่ยวกับความเป็นอีสานสมัยนี้ เพื่อจะได้คิดว่าสภาวะพันทางนั้นจะพอมีน้ำยาบ้างไหม หรือจะเป็นแค่แฟชั่นฉาบฉวย พร้อมจะถูกกลืนไปในวัฒนธรรมกระแสหลักโดยไร้ความหมายทางการเมือง

เรามาเริ่มสำรวจสภาวะพันทางที่อุดรธานีกันเลย

ความผสมผสานของสไตล์หลากหลายที่รวมกันเป็นเมืองอุดรธานี ตรงนี้คือภาพฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัด มี “ศาลาพิธีทุ่งศรีเมือง” แบบไท๊ยไทย ซึ่งมีสวนหย่อมด้านหน้าชื่อ “สวนศรีเมือง” (ฟอนต์พันทางคล้ายแบบบุญบ้าน) ประดับด้วยพุ่มไม้ตกแต่งทรงไหบ้านเชียงและทรงต้นสนยุโรป ถัดไปทางซ้ายมีศาลหลักเมืองสไตล์ไทยผสมลาว ถัดไปทางขวามีศาลหลักเมืองจีนขนาดใหญ่โตของสมาคมชาวจีนอุดรธานี

มหานครอุดรธานี

ทุกวันนี้ “อุดรธานี” เป็นเมืองขนาดใหญ่สุดในภาคอีสานควบคู่ไปกับเมืองโคราช และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดขยายตัวเลย คาเฟ่ใหม่ผุดขึ้นทุกหัวมุมถนน ร้านอาหารในตำนานอย่าง วีทีแหนมเนือง ยิ่งเพิ่มความอลังการขึ้นด้วยการไปเปิดห้างสร้างอาณาจักรใหม่ตรงชานเมือง โรงเรียนสอนภาษาเกาหลีเปิดกันหลายสำนักสำหรับผู้อยากมุ่งหน้าไปทำงานหาเงินที่ต่างประเทศโดยเฉพาะ

เช้าวันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ฉันกับเพื่อนคนอุดรไปเดินซื้อของที่ตลาดเทศบาลกลางเมือง อย่างที่คุณแม่ของเพื่อนเตือนไว้ ระวังอย่าซื้ออย่างละเยอะๆ เพราะของน่ากินมีไม่อั้น สุดท้ายเราได้กลับบ้านทั้งปลานิลนึ่งกับน้ำพริกหนุ่ม, หมกเห็ด, บวดฟักทอง, ตือคาโคว, ข้าวเกรียบปากหม้อ ผสมผสานทั้งความเป็นไทย ความเป็นญวน ความเป็นลาว ความเป็นจีน and everything in between. ตอนเดินตลาดนั้นพ่อค้าแม่ขายก็พูดกันเป็นภาษาลาวอีสานเสียเป็นส่วนใหญ่ — ภาษาลาวยังคงเป็นภาษากลางในการสื่อสารบางบริบทอย่างเช่นการค้าขายหรือการสั่งงานลูกน้อง (ที่มาจากรอบนอก) ไม่ได้จำเป็นต้องบ่งบอกชาติพันธุ์ของผู้พูด

คนอุดรเขามองว่าตัวเองเป็น “คนอีสาน” หรือเปล่านะ? หรือจะเป็นเหมือนคนโคราช คนภูเก็ต ที่มองว่าตัวเองเป็น “คนโคราช” “คนภูเก็ต” ไม่ใช่ “คนอีสาน” หรือ “คนใต้” อย่างเหนียวแน่นเหมือนหัวเมืองที่ขนาดเล็กลงไปอื่นๆ — แต่ไม่ว่าจะมองว่าตัวเองเป็นคนอีสานหรือไม่ แน่นอนอยู่ว่าคนอุดรคงไม่มีมองตัวเองเป็น “คนลาว” แต่อย่างใด
อุดรธานี เป็นคำที่ไม่มีความหมายในตัวมันเอง ในเมื่อคำว่า “อุดร” หมายถึง “ทิศเหนือ” (นั่นคือเป็น “ลาวฝ่ายเหนือ” ใต้การปกครองสยาม) เหมือนๆ กับคำว่าอีสานที่ไม่ได้มีความหมายอะไรนอกจากทิศตะวันออกเฉียงไหนของสยาม “อุดรธานี” ได้ดูดกลืนชื่อเดิมไว้ข้างใต้ ไม่ว่าจะเป็น “มณฑลลาวพวน” อันเป็นลักษณะทางชาติพันธุ์ หรือ “บ้านหมากแข้ง” อันเป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์

เมื่อไม่มีความหมายตายตัวเช่นนี้ เมืองอุดรก็พร้อมที่จะเสกสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้ทุกเมื่อ ไม่เชื่อก็ลองอ่านคำขวัญจังหวัดอุดรธานีดูสิ “น้ำตกจากสันภูพาน อุทยานแห่งธรรมะ อารยธรรมห้าพันปี ธานีผ้าหมี่ขิด แดนเนรมิตหนองประจักษ์ เลิศลักษณ์กล้วยไม้หอมอุดรชันไฌน์” ไม่มีอะไรที่เป็นของเมืองอุดร นอกจากสวนสาธารณะหนองประจักษ์ กับสวนกล้วยไม้ที่ปัจจุบันร่วงโรยไปแล้ว — เอ แต่รู้สึกคำขวัญทุกวันนี้จะตัดสองวรรคหลังสุดไปแล้ว แทนที่ด้วย “ธรรมชาติเนรมิตทะเลบัวแดง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแทน

ในปี 2017 นี้ สัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของอุดรธานีไม่ใช่ไหบ้านเชียงอีกแล้ว แต่กลับเป็น “เป็ดเหลือง” ในหนองประจักษ์ มาแรงแซงโค้งเสียจนทุกอีเว้นท์ในเมืองเดี๋ยวนี้จะต้องมีภาพ “เป็ดเหลือง” ฟีเจ้อร์อยู่เสมอ “เป็ดเหลือง” ตัวนั้นจากที่เคยลอยอย่างอิสระในสระน้ำ ทุกวันนี้ถูกตรึงแน่นอยู่กับที่ เพื่อให้คนได้เซลฟี่อย่างสะดวกกว่าที่เคย
จะว่าไปก็ตลกดี ที่ไอค่อนสำคัญที่สุดของเมืองอายุร้อยกว่าปีกลายเป็นเป็ดลมสีเหลืองไปได้

ภาพนี้ของฉันถ่ายไว้เมื่อปี 2014 หลังการรัฐประหารนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ตอนนั้นเป็ดยังลอยไปลอยมาได้ในหนองประจักษ์

ไทยปนฝรั่ง ไทยปนจีน ไทยปนลาว

สังเกตว่าภาษาลาวกลายเป็นภาษาหลักของป้ายโฆษณาแผ่นนี้ที่ศูนย์การค้ายูดีทาวน์ริมทางรถไฟอุดรธานี “ญินดีต้อนฮับสู่ วินล่ามาเก็ด สาขาใหม่ ยูดีทาว อุดอนทานี ซูบเปอมากเก็ดที่คัดสันคุนนะพาบทังในปะเทดไท และ ต่างปะเทด” รองลงมาคือภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาไทยปรากฏเป็นฟอนต์พันทางฝรั่งตัวเล็กๆ ตรงมุมขวาบน

ในเมื่อมหานครอุดรธานีเป็นเมืองที่เอกลักษณ์เลื่อนไหลไปเหมือนเป็ดในสระเช่นนี้ จะมีที่ไหนเหมาะแก่การวิเคราะห์ “สภาวะพันทาง” (hybridization) ได้เทียมเท่า

ต่างจากเมืองขอนแก่น ที่มีความพยายามจะรื้อฟื้นอักษรไทยน้อยกลับมาใช้ในป้ายบอกทางหรือสถานที่ราชการตามโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสานนำโดยอาจารย์จอห์น เดรเปอร์ แต่เมืองอุดรธานีกลับละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมไปอย่างไม่ไยดี

ต่างจากเมืองหนองคาย ที่ห้างร้านต่างๆ เช่นเทสโก้โลตัส ใช้ภาษาลาวคู่ไปกับภาษาไทยตั้งแต่ป้ายชื่อร้าน จนกระทั่งป้ายบอกหมวดหมู่สินค้าด้านในร้าน เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มใหญ่จากประเทศลาว ที่เมืองอุดรธานีก็มีตัวลาวเหมือนกัน แต่ไม่แพร่หลายเท่าหนองคาย

ที่เมืองอุดรธานีเห็นความเป็นพันทางสะท้อนออกมาชัดเจนกว่า ด้วยพื้นเพชาติพันธุ์อันหลากหลาย ผ่านประวัติศาสตร์การตั้งค่ายทหารโดยสหรัฐอเมริกา จนกลายเป็นมหานครบริโภคนิยมในปัจจุบัน การใช้ฟอนต์พันทางรูปแบบต่างๆ ก็มีให้เห็นอย่างหลากหลาย

จากการขับรถตะลอนดูตามถนนสายหลักในเมืองอุดร ตามถนนเลี่ยงเมืองและออกไปเรื่อยๆ พบว่าการใช้ฟอนต์พันทางมักมีให้เห็นเฉพาะในตัวเมืองเท่านั้น โดยฟอนต์ “ไทยปนจีน” มักไปอยู่บนป้ายร้านข้าวต้ม ฟอนต์ “ไทยปนฝรั่ง” ไปอยู่บนป้ายบิลบอร์ดและป้ายโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อ้างความเป็นสากล ส่วนฟอนต์ “ไทยปนลาว” ก็ปรากฏอยู่ตามสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยว (ดังเช่น “สวนศรีเมือง” และ “ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี”) ป้ายตามห้างร้านเอกชนก็เห็น

น่าสนใจว่า ป้าย “ยินดีต้อนรับ” ภาษาไทยแต่ใช้ฟอนต์พันทางของร้านอาหารระเบียงพัชนีริมหนองประจักษ์กลางเมืองอุดรนี้ มีไว้ต้อนรับใคร? สังเกตว่านี่ไม่ใช่การเขียนแบบลาว ที่ตัว น นก จะต้องไม่เป็นแบบนี้ และตัว ร รถ ต้องเขียนด้วยตัว ฮ เฮือน ตรงคำว่า “ต้อนรับ”

การใช้ฟอนต์ไทยปนฝรั่งกับไทยปนจีนที่ว่ามาคงไม่มีอะไรใหม่นัก เพราะที่ไหนๆ ในประเทศนี้ก็ใช้กันในลักษณะเดียวกัน แต่สำหรับฟอนต์ “ไทยปนลาว” นี้ออกจะเป็นเรื่องใหม่ ฉันขอกล่าวถึงฟอนต์ “ไทยปนลาว” นี้โดยเฉพาะ เพื่อที่จะสกัดเอาข้อสรุปบางอย่างเกี่ยวกับอัตลักษณ์ความเป็นอีสาน (Isaan identities) ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น “เอกลักษณ์”

อัตลักษณ์โอเพ่นซอร์ซ

ฟอนต์พันทาง “บุญบ้าน BoonBaan” (หรือชื่อเดิม “บุญโฮม BoonHome” — “โฮม” ที่หมายถึง “รวม” ทำนองว่าเอาอักขระไทยกับลาวมารวมกัน) เป็นฟอนต์แจกฟรีที่เปิดให้สาธารณชนดาวน์โหลดไปใช้และปรับแต่งได้อย่างเสรีตั้งแต่ต้นปี 2014 นั่นก็คือเมื่อสามปีครึ่งมานี้เอง

ผู้ออกแบบฟอนต์นี้ชื่อสังศิต ไสววรรณ (Sungsit) ฉันพยายามสืบดูว่าเขาเป็นคนมาจากที่ไหนในประเทศไทย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาฉันก็คิดได้ว่า มันสำคัญด้วยหรือ ว่าสังศิตเป็นคนอีสานหรือเปล่า? ถามแบบนี้คล้ายๆ กับการถามว่าอาจารย์จอห์น เดรเปอร์เป็นคนอีสานหรือเปล่า? ก็ในเมื่อเขาทำอะไรที่มีคุณูปการต่อคนทั่วไปในดินแดนนี้ สำคัญด้วยหรือว่าเขาจะมาจากไหน

ด้วยการออกแบบฟอนต์เป็นงานอดิเรก คุณสังศิตไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรจากการออกแบบฟอนต์ ข้อจำกัดการใช้งานฟอนต์ของเขามีเพียงอย่างเดียว คือห้ามเอาตัวฟอนต์ที่เขาออกแบบไปขายต่อ แต่จะเอาแบบอักษรไปดัดแปลงเป็นของตัวเอง หรือเอาไปประกอบชิ้นงานขายให้ลูกค้า ฯลฯ ก็ได้ทั้งนั้น ขอแค่ให้เปิดเผยซอร์ซการดัดแปลงใหม่แก่สาธารณชน

ปีที่แล้ว สมัยที่ฉันทำงานเป็นผู้ประสานงานโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ให้เดอะอีสานเรคคอร์ด ฉันได้เลือกใช้ฟอนต์นี้ของคุณสังศิตเพื่อออกแบบโปสเตอร์ตั้งพื้นสำหรับโครงการด้วย

ตอนที่ออกแบบโปสเตอร์ตั้งพื้นอันนี้ ฉันพยายามเลือกฟอนต์จั่วหัวอยู่หลายฟอนต์ ตอนแรกว่าจะใช้ฟอนต์ PGVIM (Princess Galyani Vadhana Institute of Music Typeface Design – ฟอนต์อัตลักษณ์สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา) ทั้งหมดเหมือนกับที่ใช้กับตราสัญลักษณ์ของ “เดอะอีสานเรคคอร์ด” แล้วก็คำโปรยสองสีด้านล่าง แต่รู้สึกว่ากรุงเท๊พกรุงเทพ เพราะนอกจากรูปลักษณ์จะกระเดียดไปทางตัวอักษรโรมันแล้ว ผู้ออกแบบฟอนต์ PGVIM ยังมีเจตนาจะถ่ายทอด “ความงดงามของดนตรีคลาสสิคที่ถ่ายทอดลงในการการออกแบบตัวอักษรไทยร่วมสมัย” ซึ่งไม่เข้ากับความเป็นพันทางของเดอะอีสานเรคคอร์ดเอาซะเลย สุดท้ายเมื่อลองค้นหาฟอนต์ดูแล้วไปเจอ “บุญโฮม” ดาวน์โหลดมาลองใช้แล้วถูกใจดี ดูก้ำๆ กึ่งๆ เป็นภาษาไทย แต่ก็ไม่ใช่ 100%

การใช้ฟอนต์ไทยปนฝรั่งกับไทยปนจีนที่ว่ามาคงไม่มีอะไรใหม่นัก เพราะที่ไหนๆ ในประเทศนี้ก็ใช้กันในลักษณะเดียวกัน แต่สำหรับฟอนต์ “ไทยปนลาว” นี้ออกจะเป็นเรื่องใหม่ ฉันขอกล่าวถึงฟอนต์ “ไทยปนลาว” นี้โดยเฉพาะ เพื่อที่จะสกัดเอาข้อสรุปบางอย่างเกี่ยวกับอัตลักษณ์ความเป็นอีสาน (Isaan identities) ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น “เอกลักษณ์”

อัตลักษณ์โอเพ่นซอร์ตอนที่ฉันโพสต์รูปโปสเตอร์นี้บนเพจเฟซบุ๊กของทางองค์กร น่าสนใจที่มีคนคนหนึ่งมาคอมเมนต์เชิงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “อยากให้เขียนเปนคำพาสาลาว อีสานเลยบ่ได้ติ จะได้อะนุลัก พาสาเก่าๆของบ้านเรัาไว้นำ” และ “เอาไปขๅนเป็นพาสาไทกาง เบิ่งแล้วบ่คื”

ความเห็นเชิงวิจารณ์นี้สะกิดเตือนฉันว่า สภาวะพันทางในฟอนต์ “บุญโฮม” นั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยกมาชื่นชมหรือช่วงใช้เสมอไป ในเมื่อมันละเลยเอกลักษณ์ความเป็นลาวอีสานแบบดั้งเดิมที่ยังคงมีอยู่อย่างรุ่มรวย ไม่จำเป็นต้องไปสร้างพันธุ์ผสมขึ้นมาใหม่จากรัฐชาติที่ชื่อไทยกับลาวผู้กำหนดให้ภาษาเข้าแถวตามแบบที่ตัวเองกำหนด
ฟอนต์ “บุญโฮม” เป็นของสาธารณะก็จริง แต่สาธารณะที่ว่านี้ มันสาธารณะไหนกัน?

ในหน้าเว็บของผู้ออกแบบ ได้อธิบายฟอนต์ตัวนี้ไว้ว่า

บุญบ้าน (หรือชื่อเดิม บุญโฮม) เป็นฟอนต์ลาวปนไทยที่หน้าตาตัวอักษรไทยกับลาวเหมือนกันจนแยกไม่ออก และประยุกต์เพิ่มตัวอักษรไทยบางตัวที่ไม่มีในภาษาลาว จากนั้นจึงออกแบบตัวละตินให้พอไปกันได้กับทั้งลาวและไทย สำหรับภาษาลาวน่าจะใช้บุญบ้านเป็นตัวเนื้อหาได้ แต่สำหรับภาษาไทยคงเหมาะจะใช้ในลักษณะพิเศษมากกว่า . . . ฟอนต์บุญบ้านรองรับภาษาไทยและลาวโดยกำเนิด และยังมีตัวอักษรละตินครอบคลุมมากกว่า Adobe Latin-4 หมายความว่าครอบคลุมเกือบทุกภาษาในยุโรป อเมริกา รวมถึงภาษาเวียดนามด้วย

สังเกตว่าแม้จะเป็นอักษรที่ “รองรับภาษาไทยและลาวโดยกำเนิด” นั่นคือสามารถพิมพ์ได้ด้วยคีย์บอร์ดไทยและคีย์บอร์ดลาว ฟอนต์นี้มิได้จำกัดตนเองไว้ในขอบเขตของรัฐชาติ มิได้มองว่าตนเป็น “มรดกของชาติ” หรือแม้แต่ “มรดกสองฝั่งของ” แต่อย่างใด

กลับกัน ผู้ออกแบบกลับมีวิสัยทัศน์กว้างไกลยิ่งกว่า ด้วยการออกแบบตัวอักษรนี้ให้ครอบคลุมอักขระพิเศษในภาษาเยอรมัน ภาษาตุรกี รวมถึงภาษาเวียดนาม

แต่ถึงจะเป็นฟอนต์ที่พยายามรองรับการใช้ของคนทั้งโลก แต่โลกนี้ก็ดูจะเป็นโลกของคนเมืองใหญ่มากกว่ากลุ่มสังคมแบบอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ฟอนต์พันทางที่ฉันพบเจอแถวอุดรธานี ล้วนแล้วแต่กระจุกอยู่ในตัวเมือง โดยเฉพาะฟอนต์ไทยปนลาวนี่นอกเมืองไปไม่เห็นเลย

แต่ก็ใช่ว่าคนชนบท คนเมืองเล็ก จะไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสาธารณชนผู้ใช้ฟอนต์พันทางได้ “ลักษณะพิเศษ” ของฟอนต์บุญบ้านไม่จำกัดแต่เฉพาะป้ายร้านค้าหรือโปสเตอร์ที่แสดงสภาวะพันทางของอีสานร่วมสมัยเท่านั้น ฉันเองยังได้ลองใช้ฟอนต์ไทยปนลาวนี้เพื่อถอดเสียงพูดลาวอีสานอีกด้วย ซึ่งเป็นประสบการณ์ถอดเทปที่น่าอัศจรรย์ใจ

เมื่อใช้ฟอนต์ “บุญบ้าน” บันทึกการถอดเทป ฉันก็เกิดความรู้สึกเป็นอิสระจากการสะกดแบบภาษาไทยมาตรฐานโดยสิ้นเชิง ไม่รู้สึกกระดากเวลาสะกดคำเดียวกันหลายๆ แบบตามแต่ที่ได้ยิน ทั้งยังเกิดความตื่นตาตื่นใจเมื่อเวลาเราพิมพ์ “บ่านหนิ/บาดหนิ” หรือ “เหมิดเลย” แล้วตัวอักษร ห หีบ มันเกี่ยวซ้อนเข้ากับตัวที่ตามมาโดยอัตโนมัติอย่างกับตัวลาวจริงๆ

วัฒนธรรมโอเพ่นซอร์ซมีศักยภาพทางการเมืองบ้างไหม แน่นอนว่าลำพังฟอนต์แจกฟรี หรือซอฟต์แวร์ที่พยายามโฮมอัตลักษณ์ความเป็นอีสานเข้ามาอย่างโอเพ่นๆ นั้นคงไม่สามารถจะไปต่อกรระบอบเผด็จการทหาร อุดมการณ์เพื่อชาติและราชบัลลังก์ (แบบเนวิน) หรืออำนาจเจ้าของทุนรายใหญ่ได้ แต่อย่างน้อยวัฒนธรรมโอเพ่นซอร์ซก็ได้เริ่มสร้างทางเลือกใหม่ๆ สำหรับการรับรู้สิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน ทั้งยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์โดยไม่มีศูนย์กลางและไม่มีพรมแดน มันต้องเป็นขุมพลังของอะไรสักอย่างได้บ้างสิ

คอยดูเถอะ ถ้าเด็กๆ คนอีสานในวันนี้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์โอเพ่นซอร์ซในวันหน้า มันอาจจะเกิดอัตลักษณ์พันทางที่ไม่ฉาบฉวย ฆ่าไม่ตาย และมีความหมายทางการเมืองขึ้นมาก็ได้.

image_pdfimage_print