โดย สุรวุฒิ ศรีนาม

การลาออกจากงานประจำมาประกอบอาชีพเกษตรกรเพื่อหยิบเงินแสนไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้เหมือนในหนังโฆษณา เนื่องจากวิถีชีวิตของเกษตรกรต้องประสบปัญหามากมาย ทั้งภัยธรรมชาติและความผันผวนของราคาพืชผล

สามปีในสมรภูมิชีวิตทั้งค้าขายและเป็นเกษตรกร ผมอยู่มาได้…เพราะฟูกที่บ้านหนาและนุ่มมาก

ดูเหมือนจะเป็นกระแสแรงมากสำหรับการลาออกจากงานประจำมาทำเกษตรหรือทำธุรกิจส่วนตัว ผมเองถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในกระแสนั้นเพราะไม่ได้ลาออกจากงานมาทำ แต่ผมก็ถือว่าเป็นเกษตรกรเต็มตัวหลังจากเรียนจบปริญญาโทที่รามคำแหง ด้วยความที่ชื่นชอบวิถีชีวิตในชนบทเป็นทุนเดิมและที่บ้านมีธุรกิจเกษตรในท้องถิ่นซึ่งพอจะฝากความหวังไว้ได้ว่ายังไงก็จะไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ จึงเลือกกลับมาทำเกษตรโดยอาศัยพื้นฐานและต้นทุนของครอบครัว

ตั้งแต่ทำเกษตรงกๆ เงิ่นๆ มา ผมก็เห็นข่าวสาร โครงการ ไปจนถึงโฆษณาชวนเชื่อที่บอกว่า ลาออกมาทำงานของตัวเองมีความสุข สบาย รวยเร็ว มาอย่างไม่ขาดสาย ยิ่งเจอพาดหัวข่าวอย่าง

“หนุ่มเรียนจบปริญญาตรีทิ้งเงินเดือนปลูก[…]ขายรายได้แสนต่อเดือน”

“บัณฑิตทิ้งปริญญาทำนาตามรอยพ่อใช้ชีวิตพอเพียง”

โอ้โห! ใครบางคนแทบอยากเขียนใบลาออกจากงานตั้งแต่อ่านพาดหัวข่าวจบ เพราะจากเนื้อข่าวทำให้เห็นสวรรค์รำไรๆ
เป็นขี้ข้าเขาไปทำไม๊…ทำธุรกิจตัวเองสิ มีโอกาสรวยมากกว่า
ทนเป็นมนุษย์เงินเดือนไปทำไม๊…นรกชัดๆ กลับบ้านไปทำเกษตรพอเพียง สบาย มีที่ทำกิน มีดิน มีน้ำ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูกก็อยู่ได้แล้ว แถมยังมีความสุขกว่าการทำงานกินเงินเดือนที่ต้องทำงานตามคำสั่งของคนอื่น เป็นนายตัวเองอิสระกว่าเยอะ

แต่ท่านหารู้ไม่ว่าสิ่งที่ได้รับจากข่าวไม่ใช่ความจริงทั้งหมดเบื้องหลังชีวิตสุขสบายของเกษตรกรเน็ตไอดอลทั้งหลายมีอะไรอีกมากมายที่เขาไม่ได้เล่าให้เราฟัง

ผมเชื่อว่าหลายคนที่เป็นวัยรุ่นทำธุรกิจทำเกษตรแล้วประสบความสำเร็จจริงๆ นั้นมีหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น ที่บ้านมีเงินทุน มีโอกาสให้ลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า บ้างต่อยอดธุรกิจของพ่อแม่ และบางคนมีคุณสมบัติเฉพาะตัวอีกมาก ซึ่งไม่ใช่จะทำตามกันได้ง่ายๆ

อย่างผมนี่นะ เอาจริงๆ เถอะ ผมยังทำอะไรไม่สำเร็จจริงๆ สักอย่างเลย ที่อยู่ได้เพราะเงินพ่อแม่ให้มาตั้งหลักใหม่อยู่บ่อยๆ ถ้าผมเป็นคนค้ากำปั้นอย่างหลายๆ คนที่อยากลาออกจากงานมาสู้ละก็ ผมคงน็อกไปตั้งแต่ครึ่งปีแรก แต่ที่อาจสามารถเป็นชาวไร่ที่นั่งเครื่องบินมานอนโรงแรมกลางกรุง เพื่อรอไปงานไทยเฟคที่เมืองทองธานี แล้วมีเวลาว่างๆ นั่งดื่มกาแฟในร้านกาแฟหรูกลางใจเมืองหลวงเขียนบทความอยู่นี่ได้เพราะมีพ่อแม่คอยป้อนเงินไม่ขาด และมีคนงานคอยดูแลสวนให้นั่นไง

สามปีมานี้ ผมขลุกอยู่กับการทำเกษตร ค้าขายทั้งกับผู้ส่งออกใกล้ๆ ในละแวกอาเซียนอย่างมาเลเซีย และไกลๆ อย่างยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดบนที่ดูเหมือนราคาจะดีกว่า รู้เลยว่าไม่หมู เงินแสนเงินล้านที่เขาเอามาอวดเราในสื่อต่างๆ นั้น อยู่บนยอดเขาโน่น ต้องเข็นครกขึ้นไปตั้งไกลกว่าจะถึง กลางดงของโลกธุรกิจก็มีเสือสิงห์กระทิงดุมากมายที่จ้องจะกัดกินเหยียบขย้ำคุณตลอดเวลา อีกทั้งยังมีปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรงซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมาก และยิ่งตลาดสินค้าเกษตรบ้านเราก็ผันผวนไม่ต่างอะไรกับตลาดหุ้น ก็ยิ่งทำให้การที่จะสามารถยืนอยู่ด้วยลำแข้งของเกษตรกรยุคใหม่ดูยากเข้าไปอีก

ทุกวันนี้ผมอยู่ได้เพราะพ่อแม่คำเดียว โดนเสือสิงห์ฆ่าหรือเจอปัญหาหนักๆ เมื่อไหร่แม่ก็ให้เงินมาชุบชีวิตขึ้นมาสู้ใหม่ ผมเองยังหวั่นอยู่เลยว่าอนาคตเป็นอย่างไรถ้ายังไม่สามารถหยัดยืนได้อย่างมั่นคงจริงๆ เพราะเส้นทางนั้นไม่เคยมีกลีบกุหลาบ มันมีแต่ขวากหนามให้เราถางฝ่าไปเท่านั้น

วาทะสวยหรูโรแมนติกที่บอกเราว่าทำเกษตรไม่ยาก รายได้ดี มีความสุขนั้นเป็นคำพูดของคนที่ไม่ได้ทำมาหากินด้วยการทำการเกษตจึงไม่รู้ซึ้งว่ากว่าที่เกษตรกรส่วนใหญ่จะสำเร็จได้นั้น เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ไม่ใช่ว่าเกษตรกรรุ่นใหม่จะประสบความสำเร็จไม่ได้ คนที่สู้จริง สำเร็จจริง อยู่ได้จริงก็มีให้เห็น เพียงแค่ให้ถามตัวเองให้แน่ว่า “คุณคือคนที่จะทำสำเร็จได้จริงๆ หรือเปล่า” โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เราไม่อาจหวังพึ่งพาใครได้ โดยเฉพาะรัฐบาลที่ควรจะเป็นผู้ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของชาวไร่ชาวนาซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในประเทศ แต่เท่าที่ได้สัมผัสมา ผลประโยชน์ที่แท้จริงของเกษตรกรกลับไม่เคยได้รับการปกป้องอย่างแท้จริงเลย

อย่างทุกวันนี้ หากเราเดินไปในตลาดสดจะพบว่ามีพืชผักผลไม้มากมายที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่าพืชผักที่เราผลิตได้ ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลเปิดช่องให้ต่างชาติส่งพืชผักผลไม้เข้ามาได้โดยง่ายเพื่อแลกกับผลประโยชน์บางอย่างที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ของเกษตรกร คนทำการเกษตรจึงต้องฝ่าฟันปัญหารอบด้านไปอย่างโดดเดี่ยว

ภาพเซลฟี่กับแปลงพริกที่ล้มเหลวมูลค่าเกือบแสนบาท

ผมมาซึ้งกับคำว่า “เจ๊ง” ก็เมื่อผมลงทุนปลูกพริกไปกว่าแสนบาท ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมาคือประสบการณ์ที่ไม่อาจลืมเลือน เพราะผมขายพริกกว่าสิบไร่ได้เพียง 1,000 บาท เท่านั้น

พริกเป็นหนึ่งพืชที่กำลังเป็นกระแสความนิยมของชาวไร่ชาวสวนทั้งมือเก่าและมือใหม่ ผมก็เป็นหนึ่งคนที่กระโจนเข้าไปในกระแสของพริกที่ร้อนแรงจนใครๆ ก็อยากเข้ามาร่วมวง

ปีก่อนหน้านั้น ผมทดลองปลูกพริกยำหรือที่รู้จักกันในชื่อพริกชี้ฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักปลูกกันทางภาคเหนือ เพราะพริกชนิดนี้ต้องการอากาศที่ไม่ร้อนเกินไป ด้วยความที่เป็นพริกที่ไม่ชอบอากาศร้อนจึงทำให้ในฤดูร้อนปีนั้นราคาสูงมากเพราะมักจะปลูกกันไม่ค่อยสำเร็จ

ด้วยความลำพองใจ คิดว่าตัวเองแน่ เรียนรู้เรื่องพริกมาก็มาก เลยอยากลองปลูกพริกยำผ่าแล้งดูสักหน จึงทำการติดต่อตลาด วางแผนการผลิตทันที

มีพี่บางคนเตือนด้วยความเป็นห่วงว่า พริกยำผ่าแล้งในพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลเพียงร้อยสองร้อยเมตรเป็นเรื่องยากมาก แต่เพราะมั่นใจในตัวเองสูงมากผมจึงไม่ฟังคำทักท้วงเดินหน้าเต็มกำลัง ผมวางแผนการปลูกไว้ที่ 20 ไร่ ปลูกเอง 10 ไร่ และให้เกษตรกรในเครือข่ายปลูกอีก 10 ไร่ เพื่อจะได้เพียงพอส่งไปให้ลูกค้าที่ตลาดไทและตลาดหัวอิฐนครศรีธรรมราชด้วยรถกระบะบรรทุกครั้งละไม่ต่ำกว่า 3 ตัน

ปัญหาเริ่มส่อแววให้เห็นเมื่อตอนย้ายต้นกล้าลงแปลงในช่วงปลายเดือนเมษายน ช่วงนั้นอากาศร้อนมาก ดินโดนแดดเผา รดน้ำได้แค่ครู่เดียวก็กลับมาแห้ง ทำให้ต้นกล้าพริกยำที่อวบใหญ่โดนแดดเผาตายลงทีละต้นๆ ผมต้องปลูกซ่อมอยู่หลายรอบ กว่าต้นกล้าจะเริ่มติด และเมื่อมีต้นพริกเจริญเติบโตแตกยอดใหม่ใบอ่อนให้เราพอมีความหวัง เพลี้ยไฟศัตรูตัวฉกาจก็เข้าทำลายอย่างหนัก ผมต้องพ่นสารเคมีกำจัดเพลี้ยไฟบ่อยขึ้น ใช้สารเคมีรุนแรงขึ้น จึงจะสามารถกอบกู้แปลงพริกคืนมาได้

ปลายเดือนพฤษภาคม เมื่อพริกอายุได้เดือนกว่าๆ ฝนก็เริ่มตกหนัก ต้นพริกที่กำลังติดผลต้องการไม้ค้ำ ผมจึงสั่งซื้อไม้สำหรับค้ำพริกมาจากสุโขทัยเพื่อมาค้ำต้นพริกที่กำลังออกเม็ดพริกโตๆ ให้มีความหวังถึงเม็ดเงินมากมาย

แต่แล้วค้ำต้นพริกได้ไม่ทันครบ ฝนที่ตกหนักก็ทำให้พริกเกิดโรคเชื้อราและแบคทีเรีย พริกยำที่แสนจะอ่อนแอถูกฝนติดต่อกันหลายวันเกิดใบเหลืองร่วงทั่วแปลง มองไปเห็นเพียงพริกเม็ดสีเขียวโตเท่าหัวแม่มือห้อยอยู่บนต้นที่ไร้ใบพร้อมๆ กับหญ้าที่งามขึ้นๆ สุดท้ายผมจึงต้องยุติกิจกรรมทุกอย่างในแปลงเพราะไม่อาจหวังอะไรได้อีกแล้ว

ทุกๆ เย็นผมจะออกไปที่แปลงพริกเพื่อเก็บพริกที่พอมีอยู่บ้างมาขายให้แม่ค้าในหมู่บ้าน รวมๆแล้วผมได้เงินจากการปลูกพริกยำผ่าแล้งเพียงหนึ่งพันบาทซึ่งไม่ได้แม้แต่เศษเสี้ยวของเงินที่ลงทุนไปเป็นแสน

ผมได้แต่บอกกับตัวเองว่า การทำเกษตรไม่ใช่เพียงต้องระวังคนอื่นเท่านั้น แต่ต้องระวังตัวเองให้มากด้วย เพราะการเกษตรอาศัยปัจจัยมากมาย บางอย่างที่เราคิดว่าจัดการได้แต่พอถึงเวลาจริงๆ อาจไม่สามารถจัดการได้ ผมคิดว่าคงไม่ใช่เพียงผมเท่านั้นที่ต้องล้มเหลวในการทำการเกษตรทั้งที่เตรียมการทุกอย่างไว้เป็นอย่างดี อย่างผมเอง ก่อนปลูกพริกยำผมรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เตรียมทุกอย่างไว้หมด แต่พอถึงเวลาทำจริงๆ บางครั้งอุปสรรคก็ไม่อนุญาตให้เราข้ามพ้นไปได้ เราถูกน็อกเหมือนกับนักมวยที่เจอหมัดรัวๆ จนไม่อาจจะลุกขึ้นมาสู้ต่อได้เลย

สำหรับคนที่มีใจรักทางการเกษตรจริงๆ โดยไม่มีทุนทรัพย์มากมายนอกจากบ้านและที่ดินเล็กน้อยพอปลูกอาหารตามต้องการ การเกษตรก็ยังถือว่าเป็นทางรอด เพราะว่าสามารถสร้างความมั่นคงขั้นพื้นฐานให้กับตัวเองได้ ยังไงก็ไม่อด มีปัจจัยสี่ครบ แต่สำหรับคนที่กระโจนเข้ามาแล้วหวังว่าจะรวยอย่างยั่งยืนนั้น ขอให้คิดให้ดี

ถ้าจะถามว่า ถ้าผมยังไม่เคยสำเร็จเลย ผมจะทำต่อไปทำไม? สามปีผ่านมาแล้วก็พอมีดอกผลอะไรให้ผมมีกำลังใจทำต่อไปได้บ้าง ความสำเร็จที่เห็นได้ในตอนนี้ก็คือ พ่อแม่ ตายาย คนในชุมชน เริ่มมองเห็นบ้างว่าเรากำลังพยายามที่จะทำเกษตรที่ดูเหมือนจะไม่มีความหวังให้สามารถมีความหวังได้อีกครั้ง เริ่มยอมรับเส้นทางการเลือกเป็นเกษตรกร-พ่อค้าของเรา แทนที่จะไปเป็นปลัด ไปนั่งสบายในห้องแอร์เป็นเจ้าคนนายคนอย่างที่คนจำนวนมากอยากให้เป็น

แต่ถึงชาวบ้านจะเริ่มยอมรับแล้ว เขาก็ยังติดตรงความคิดที่ว่า “พ่อแม่มันรวย มันจะทำอะไรก็ได้” อยู่ดี!

เกษตรพอเพียงกินข้าวแบบพอเพียงฟังเพลงจากลำโพงบลูทูธยี่ห้อ JBL ตัวละสี่ห้าพัน

 

image_pdfimage_print