โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

หลักฐานชิ้นสำคัญจาก เฟซบุ๊ก Anek Sangkamanee เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2560 ทำให้เห็นว่าอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ต.พังกว้าง อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร แตกจริง

จะบอกว่าเป็นโชคดีของข้าพเจ้าและทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดก็ได้ที่ไม่ต้องติดน้ำท่วมอยู่ที่โรงแรมในตัวเมืองสกลนคร ตั้งแต่ช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากพวกเราออกเดินทางจาก จ.สกลนครไปยัง จ.นครพนมตั้งแต่ช่วงเย็นวันพฤหัสบดี แต่ยังก็ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้พบข้อน่าสังเกตหลายประการ รวมทั้งการขบคิดว่าประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้ตลอดไปหรือไม่

การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจ.สกลนครของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากการปล่อยให้เป็นหน้าที่ของราชการประจำทำกันเองแล้ว ยังให้โฆษกรัฐบาลออกมากล่าวหารัฐบาลเก่าอีก

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. หลังจากน้ำท่วมจ.สกลนครได้ 3 วัน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า สถานการณ์ครั้งนี้เกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยประเทศเพื่อนบ้านก็ได้รับความเสียหายหนักเช่นกัน

“พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการให้นักการเมืองฉวยโอกาสที่ประชาชนเดือดร้อนแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองด้วยการกล่าวโจมตีรัฐบาล และสร้างข่าวลือเพื่อให้ผู้คนเกิดความตื่นตระหนก เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 จะพบว่าสาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด แม้รัฐบาลรู้ว่ามีปริมาณฝนตกมากแต่ไม่เร่งระบายน้ำ จนเกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างมหาศาล” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

วันเดียวกัน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ฝนตกหนักส่งผลให้ระบายน้ำไม่ทัน คสช.และรัฐบาลได้แจ้งเตือนประชาชนและเจ้าหน้าที่แล้ว แต่มีผู้ไม่หวังดีพยายามบอกทำนองว่ารัฐบาลไม่ได้แจ้งเตือนประชาชน โดยเอาเรื่องการเมืองมาเป็นส่วนผสม น้ำท่วมครั้งนี้แตกต่างจากปี 2554 เพราะครั้งนั้นฝนไม่ได้ตกลงมาอย่างเฉียบพลันเท่าครั้งนี้

ตีความคำพูดของพล.ท.สรรเสริญและพ.อ.วินธัยได้ว่า นี่คือการลอยตัวต่อเหตุอุทกภัยโดยโยนปัญหาให้เป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ รัฐบาลแจ้งเตือนแล้ว และฉวยโอกาสโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อเพิ่มประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ว่าใครคือ “ศัตรู” ของชาติในมุมมองของรัฐบาลและคสช.

ส่วนประเด็นที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่เร่งระบายน้ำนั้น ถ้าพิจารณาจากข้อมูลเมื่อปี 2554 จะพบว่า ได้เกิดเหตุอุทกภัยตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน เขื่อนหลักคือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จึงไม่สามารถเร่งระบายน้ำได้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อประชาชนที่อยู่ปลายน้ำ อีกทั้งเมื่อปี 2554 มีพายุเข้าประเทศไทยหลายลูก

การที่รัฐบาลและคสช.ให้โฆษกแถลงข่าวทำให้เกิดความกังขาว่า แล้วหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าคสช.หายไปไหน ทำไมไม่ออกมาพูดเอง เมื่อไปตรวจสอบวาระงานของพล.อ.ประยุทธ์ในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พบว่าไม่มีวาระงาน จึงตีความได้ว่านายกรัฐมนตรีหยุดงานระหว่างชาวสกลนครและประชาชนอีกหลายสิบจังหวัดรอความช่วยเหลือ

สิ่งนี้สะท้อนถึงวิธีคิดในการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ว่าเหมาะสมต่อการรับใช้ประชนชนมากน้อยขนาดไหน จริงอยู่ว่าถึงแม้จะมีหน่วยงานราชการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว แต่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการงานจากหลายกระทรวง อาทิ มหาดไทย กลาโหม สาธารณสุข คมนาคม เกษตรและสหกรณ์ ฉะนั้นถ้านายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารจัดการเอง การช่วยเหลือประชาชนจะคล่องตัวกว่านี้หรือไม่    

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พายุโซนร้อนเซินกาพัดถล่มจังหวัดสกลนครทำให้เกิดน้ำท่วมตัวเมืองสกลนครและบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 28 ก.ค. จึงมีคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดน้ำท่วม ทำไมจึงไม่มีการแจ้งเตือนก่อน และเขื่อนแตกจริงหรือไม่

หากพิจารณาถึงสาเหตุน้ำท่วม ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ม.เกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการถามตรงๆ ทางไทยรัฐทีวี เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ว่า ยังไงน้ำก็ต้องท่วมเพราะฝนตกที่ตัวเมืองสกลนครในช่วงเวลา 2 วันมากถึง 250 ม.ม. ซึ่งเทียบเท่าสถิติฝนตกตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม ส่วนระบบระบายน้ำก็ใช้การไม่ได้ดี ด้านน้ำที่หนองหารซึ่งเป็นแหล่งระบายน้ำก็เต็ม อีกทั้งตัวเมืองสกลนครเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2517 จึงไม่มีใครคาดคิดว่าครั้งนี้จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เพราะไม่ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่มานานถึง 43 ปีแล้ว

ข้อมูลตรงจุดนี้ยังไม่มีใครออกมาโต้แย้ง จึงเชื่อได้ว่าพายุเซินกาหอบน้ำมามากกว่าที่จ.สกลนครจะรองรับได้จริง แต่ก็อดกังขาไม่ได้ว่าประเทศไทยไม่มีวิธีรับมือต่อพิบัติภัยได้ดีกว่านี้อีกแล้วหรือ และเมื่อไม่เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่มา 43 ปีใครจะคาดคิดว่าจะเกิดน้ำท่วมสูง 1-2 เมตรถ้าไม่บอกให้ทราบอย่างชัดเจน เนื่องจากตัวเมืองสกลนครคุ้นกับการเกิดน้ำท่วมธรรมดาเมื่อฝนตกหนัก ซึ่งมักระบายออกไปในเวลาไม่นาน

ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค. ข้าพเจ้าเข้าร่วมสัมมนาที่ จ.สกลนครซึ่งจัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย วันที่ 26 ก.ค. ได้เดินทางไปที่อ.วานรนิวาสเพื่อสอบถามความกังวลของประชาชนต่อการสำรวจเหมืองแร่โปแตชซึ่งมีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น และวันที่ 27 ก.ค.ได้ไปติดตามกรณีใช้กฎหมายและการฟ้องร้องเป็นกลยุทธ์ระงับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ต่อต้านโรงงานน้ำตาลเหตุเกิดที่อ.กุสุมาลย์

แม่น้ำอูน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ถ่ายจากสะพานคำรุ่งเรือง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560 ก่อนน้ำท่วมใหญ่สกลนครเพียงแค่วันเดียว

ทั้ง 2 วันที่ลงพื้นที่มีฝนตกเกือบตลอดทั้งวันหนักบ้างเบาบ้างสลับกันไป โดยวันที่ 27 ก.ค. คณะได้ไปที่แม่น้ำอูนซึ่งเป็นแม่น้ำที่รับน้ำมาจากตัวเมืองสกลนคร พบว่า น้ำมีปริมาณสูงซึ่งน่าจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้น้ำระบายออกจากตัวเมืองสกลนครได้ช้า

คำถามประการต่อมาคือรัฐบาลได้แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าหรือไม่ ในเรื่องนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศฉบับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. 2560 ว่าเกิดพายุโซนร้อนเซินกาที่ทะเลจีนใต้ และในวันที่ 27 ก.ค. ก่อนน้ำท่วมเพียงวันเดียว ได้ออกประกาศฉบับที่ 17 ว่า พายุเซินกาจะทำให้เกิดฝนตกหนักหลายจังหวัด เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

แต่นั่นก็คือประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ไม่มีการระบุว่าจะเกิดน้ำท่วมสูง 1-2 เมตรต่อเนื่องนับสัปดาห์ที่ตัวเมืองสกลนคร นอกจากนั้นก็ยังไม่พบประกาศหน่วยงานอื่นใดอีก ฉะนั้นการที่โฆษกคสช.บอกว่า ได้แจ้งเตือนแล้วจึงฟังไม่ขึ้น และเหมือนเป็นการโยนความผิดให้ชาวสกลนครว่าที่เสียหายจากน้ำท่วมเพราะไม่ฟังคำเตือนของทางการเอง

สภาพอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 ภาพจากไทยพีบีเอส

คำถามสุดท้ายเรื่องเขื่อนแตก ประเด็นนี้ไม่ต้องสืบสวนให้เสียเวลาเนื่องจากขณะนี้มีภาพถ่ายและคลิปวิดีโอจากสื่อมวลชนและประชาชนยืนยันแล้วว่า อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นซึ่งอยู่เหนือตัวเมืองสกลนครแตกจริง น้ำในอ่างได้หายออกไปเกือบหมด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากการให้ข่าวของกรมชลประทาน เมื่อเย็นวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ระบุว่า อ่างเก็บน้ำไม่แตก และทุกอ่างที่สกลนครแข็งแรงดี

จึงน่ากังลว่า น้ำท่วมตัวเมืองเพราะเขื่อนแตกหรือไม่ แล้วจะให้ประชาชนไว้ใจการทำหน้าที่ของกรมชลประทานซึ่งคือหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหน แล้วจะมีการสอบสวนเรื่องนี้หรือไม่ หรือว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้แพร่กระจายถึงหน่วยงานราชการต่างๆ แล้ว ในยุคที่มีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจซึ่งเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานกบฎ ต้องระวางโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แต่คสช.ไม่ต้องรับความผิดเพราะนิรโทษกรรมตัวเองไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 อีกทั้งสมัยนี้รัฐบาลทหารกวดขันเรื่องการทุจริตอย่างยิ่ง แต่กลับมีข่าวความไม่โปร่งใสเสียเอง อาทิ ข่าวหลานชายพล.อ.ประยุทธ์ตั้งบริษัทในค่ายทหารแล้วได้รับงานจากกองทัพ ข่าวทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และข่าวนายกรัฐมนตรีได้เงินมรดกจากการขายที่ดินให้บริษัทที่ตั้งอยู่บนเกาะบริติชเวอร์จิ้น จนพล.อ.ประยุทธ์ต้องขอให้สื่อหยุดขุดคุ้ยข่าวนี้

แม้จะฟังได้ว่าน้ำท่วมตัวเมืองสกลนครครั้งนี้เป็นเรื่องสุดวิสัย แต่ก็มีข้อสงสัยว่าภายหลังจากเกิดน้ำท่วมแล้ว ทางการได้ช่วยเหลือประชาชนเต็มที่แล้วหรือไม่ ทำไมถึงให้ประชาชนดารานักร้องไปช่วยเหลือและแจ้งเตือนภัยกันเอง งบประมาณและบุคลากรที่มีไปไหนกันหมด  

เรื่องการให้ความช่วยเหลือก็เป็นประเด็นอีกจนได้ เมื่อมีผู้ลงไปช่วยน้ำท่วมไปเห็นว่าที่จ.สกลนครมีเรือท้องแบนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆ ทำให้อธิบดีกรมป้องกันฯ ต้องออกมาชี้แจงว่า เรือบางลำที่ต้องใช้คนขับที่มีความเชี่ยวชาญ ทำเกิดข้อสงสัยต่อว่า แล้วทำไมไม่วางแผนการทำงาน ไปซื้อเรือมาจอดทิ้งไว้เพื่ออะไร ซึ่งก็ย้อนกลับไปที่การบริหารจัดการว่า ถ้าให้นายกรัฐมนตรีสั่งการเองก็คงสามารถสั่งการให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นมาขับเรือไปช่วยประชาชนได้หรือไม่

กลับมาที่คำถามแรกคือประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้ตลอดไปหรือไม่ เรื่องนี้คงคาดการณ์ได้ยาก แต่สามารถบอกได้ว่าหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้จัดทำโครงการเพื่อการวางแผนบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 มูลค่า 3.5 แสนล้านบาทเพื่อจัดการน้ำทั้งระบบมาแล้ว แต่เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2557 รัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีมติให้ยกเลิกการดำเนินการตามแผนงาน และให้ใช้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี พ.ศ. 2558-2569) แทน  

จึงน่าสงสัยว่าถ้าให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดำเนินโครงการต่อไปการบริหารจัดการน้ำจะเป็นระบบมากกว่านี้หรือไม่ถ้ารู้ซึ้งแล้วว่าการแก้ไขปัญหาของประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 คสช.มายึดอำนาจการปกครองทำไม ถ้ายึดไปแล้วบริหารจัดการน้ำไม่ได้ แถมยังไปยกเลิกโครงการของรัฐบาลเก่าอีก

นับถึงวันนี้ผู้นำเผด็จการทหารปกครองประเทศมานาน 3 ปี 3 เดือนแล้ว ถ้าแค่เรื่องบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบยังไม่มีความสามารถ แล้วเรื่องยากกว่าคือการปฏิรูปประเทศและปราบปรามการทุจริตคสช.จะทำได้หรือ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ตรวจราชการที่จ.สกลนคร ซึ่งประสบอุทกภัย เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560

image_pdfimage_print